ผู้ใช้:Kamon2525/กระบะทราย

องค์การบริหารส่วนตำบลลำปำ

           ตำบลลำปำเป็นตำบลที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์การสร้างเมืองพัทลุง กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าได้มีการตั้งตัวเป็นอิสระอยู่หลายชุมนุมทางหัวเมืองแหลมมลายูหรือบริเวณภาคใต้ในปัจจุบัน พระปลัดหนูผู้รักษาราชการเมืองนครศรีธรรมราชได้ตังชุมนุมเจ้านครขึ้นปกครองหัวเมืองแหลมมลายู เจ้านคร (หนู) ได้ส่งหลานชายมาปกครองเมืองพัทลุง โดยตั้งเมืองที่ท่าเสด็จ ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ปกครองเมืองอยู่สองปีก็ถึงแก่อนิจกรรม เจ้านคร (หนู) ให้เจ้าพระยาพิมลขันธ์ สามีท้าวเทพกษัตริย์ตรี เมืองถลางมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่บริเวณด่านมะพร้าว ปัจจุบันคือ บ้านพญาขัน อำเภอเมือง ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จมาตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ พระยาพิมลขันธ์ได้หนีไปกับเจ้านคร (หนู) สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านราสุริยวงศ์ ผู้ป็นพระญาติไปปกครองเมืองนครศรีธรรมราช และให้ดูแลหัวเมืองมลายูแทนราชธานีที่เมืองพัทลุง โปรดกล้าฯ ให้นายจันทรมหาดเล็ก มาว่าราชการตั้งเมืองที่บ้านม่วง นายจันทรว่าราชการอยู่สามปีก็ถูกถอดออก และได้โปรดเกล้าฯ ให้นายขุน (ตระกูล ณ พัทลุง) บุตรพระยาราชบังสัน (ตะตา) เป็นแทน ตั้งเมืองที่บ้านโคกลุง (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลลำปำ อำเภอเมือง) ชาวเมืองเรียกกันว่า พระยาพัทลุงคางเหล็ก เมื่อถึงแก่อนิจกรรมก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระศรีไกรลาสจากราชธานีมาแทน ตั้งเมืองที่ศาลาโต๊ะวัก ตำบลลำปำ เจ้าเมืองคนนี้ถูกถอกอีกคนหนึ่งทางกรุงเทพฯ ได้ให้ หลวงนายศักดิ์ (ทองขาว) นายเวรมหาดเล็ก บุตรพระยาพัทลุงคางเหล็กมาเป็นเจ้าเมือง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๔ ตั้งเมืองที่ฝั่งเหนือคลองลำปำ โดยมีเชื้อสายของตระกูล ณ พัทลุง ซึ่งเปลี่ยนจากการนับถือศาสนาอิสลามมานับถือศาสนาพุทธ และมีอำนาจสืบต่อยาวนานเกือบร้อยปี โดยมีเชื้อสายตระกูล ณ นคร เข้ามาปกครองในช่วงสั้น ๆ
           ในสมัยพระยาพัทลุง (ทองขาว) เมืองพัทลุงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับหัวเมืองประเทศราชมลายูมากขึ้น หลังจากเมืองถลางเมืองหน้าด่านทางชายฝั่งตะวันตกถูกพม่าโจมตีเสียหายในปี พ.ศ. ๒๓๕๒ แล้วทำให้ ทางกรุงเทพฯต้องให้เมืองใหญ่อย่างนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง ทำหน้าที่รักษาเมืองทางชายฝั่งทะเลตะวันตกไว้ เพื่อป้องกันการโจมตีจากพม่า โดยให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชรักษาเมืองตรังที่ปากน้ำเมืองตรัง เมืองปากน้ำสตูลและละงู ส่วนเมืองพัทลุงให้รักษาปากน้ำปะเหลียน ในกรณีที่ข้าศึกเข้ามาโจมตีจะได้ช่วยกัน ตีโอบขนาบพร้อมกันทั้งสามด้าน แต่ปรากฏว่าสงครามกับพม่าน้อยลงกลับมีปัญหาหัวเมืองประเทศราชมลายูมากกว่าในปี พ.ศ. ๒๓๕๖ กลุ่มผู้ปกครองเมืองไทรบุรีทะเลาะวิวาทกันเอง ทางกรุงเทพฯ ได้สั่งให้เจ้าพระยาพัทลุง (ทองขาว) ออกไประงับเหตุ เมื่อพระยาพัทลุง (ทองขาว) ถึงแก่อนิจกรรม ในปี พ.ศ. ๒๓๖๐ ทางกรุงเทพฯ ได้แต่งตั้งคนในตระกูล ณ พัทลุง มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงอีกคนคือ นายพลพาย (เผือก) นายเวรมหาดเล็ก น้องชายพระยาพัทลุงคางเหล็กมาเป็นพระยาพัทลุง และเลื่อนหลวงยกกระบัตร (จุ้ย) บุตรพระยาสุรินทราชา (จันทร์) ต้นตระกูลจันทรโรจน์วงศ์ เป็นปลัดเมือง มีอำนาจรองลงมาจากเจ้าเมือง
           ในห้วงเวลาที่พระยาพัทลุง (เผือก) เป็นเจ้าเมืองพัทลุงระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๖๐ – ๒๓๖๙ ทางเมืองนครศรีธรรมราชมีเจ้าพระยานคร (น้อย) ตระกูล ณ นคร เป็นเจ้าเมือง ในปี พ.ศ. ๒๓๖๕ มีข่าวลือว่าพม่าจะยกกองทัพมาตีไทย ประกอบกับในขณะนั้นไทยผนวกหัวเมืองไทรบุรีได้อีก และอังกฤษก็กำลังขยายอิทธิพลเข้ามาในหัวเมืองประเทศราชมลายูของไทยด้วย เจ้าพระยามหานคร (น้อย) ได้รับมอบหมายจากทางกรุงเทพฯ ให้กำลังส่วนใหญ่ในหัวเมืองมลายู ได้แก่ เมืองพัทลุง ไชยา ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง ในปี พ.ศ. ๒๓๖๖ ให้เกณฑ์ชาวเมืองพัทลุงมาช่วยเจ้าพระยานคร (น้อย) 

ต่อเรือที่เมืองตรังด้วยเพื่อขยายอำนาจลงไปในหัวเมืองประเทศราชมลายู ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ทางกรุงเทพฯ ได้เรียกพระยาพัทลุง (เผือก) เข้าไปรับราชการที่กรุงเทพฯ แล้วแต่งตั้ง พระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่) บุตรชายคนโตเจ้าพระยานคร (น้อย) มาเป็นเจ้าเมืองพัทลุงแทน

           - สมัยตระกูล ณ นคร ในสมัยพระเสน่หามนตรี (น้อยใหญ่ ณ นคร) ปกครองเมืองพัทลุงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๖๙ – ๒๓๘๒ คงตั้งที่ว่าราชการเมืองที่ตำบลลำปำเดิม เมืองพัทลุงต้องตกอยู่ในฐานะเมืองบริวารของเมืองนครศรีธรรมราช
           - สมัยตระกูล ณ พัทลุง กับ จันทรโรจวงศ์ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๘๒ – ๒๔๓๙ มีการย้ายที่ตั้งที่ว่าการเมืองถึง ๓ แห่ง แห่งแรกอยู่บริเวณที่เรียกว่า วังเก่า ในสมัยพระยาพัทลุง (จุ้ย) และพระยาพัทลุง (น้อย) ที่มาจากต้นตระกูลจันทโรจวงศ์ แห่งที่สองเรียนว่า วังกลาง ในสมัยพระยาพัทลุง (ทับ) แห่งตระกูล ณ พัทลุง และแห่งสุดท้ายคือบริเวณที่เรียกว่า วังใหม่ ในสมัยพระยาพัทลุง (เนตร) ซึ่งบิดาเป็นตระกูลจันทโรจวงศ์ มารดาเป็นตระกูล ณ พัทลุง รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 
           ในช่วงนี้เมืองพัทลุงมีผู้นำที่มีความสำคัญในการสร้างความเจริญและความมั่นคงให้กับบ้านเมืองหลายท่าน อาทิ พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก) พระยาวิชิตเสนา (ทองขาว) พระยาอภัยบริรักษ์ (จุ้ย จันทโรจวงศ์) ส่วนประชาชนชาวเมืองพัทลุงก็ได้มีบทบาทในการ่วมมือกับผู้นำต่อสู้ป้องกันเอกราชของชาติมาหลายครั้ง เช่น เมื่อสงครามเก้าทัพ (พ.ศ. ๒๓๒๘ – ๒๓๒๙) พม่าจัดกองทัพใหญ่ ๙ ทัพ ๑ ใน ๙ ทัพ มีเกงหวุ่นแมงยีเป็นแม่ทัพยกลงมาตีทางใต้ ตีได้เมืองกระบุรี ระนอง ชุมพร ไชยา และนครศรีธรรมราชตามลำดับ ขณะที่กำจัดไพร่พลอยู่ที่นครศรีธรรมราชเพื่อจะยกมาตีเมืองพัทลุงและสงขลานั้น พระยาพัทลุงโดยความร่วมมือจากพระยามหาช่วยแห่งวัดป่าลิไลยก์ได้รวบรวมชาวเมืองพัทลุงประมาณ ๑,๐๐๐ คน ยกออกไปขัดตาทัพที่คลองท่าเสม็ด จนกระทั่งทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ ๑ ทรงยกกองทัพมาช่วยหัวเมืองปักษ์ใต้ตีทัพพม่าแตกหนีไป พระมหาช่วยได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ลาสิกขาแล้วแต่งตั้งเป็นพระยาทุกขราษฎร์ช่วยราชการเมืองพัทลุง 
           นอกจากสงครามกับพม่าแล้วชาวเมืองพัทลุงยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติในหัวเมืองภาคใต้ เพราะปรากฏอยู่เสมอว่าทางเมืองหลวงได้มีคำสั่งให้เกณฑ์ชาวพัทลุงพร้อมด้วยเสบียงอาหารไปทำสงครามปราบปรามกบฏในหัวเมืองมลายู เช่น กบฏไทรบุรี พ.ศ. ๒๓๗๓ และ พ.ศ. ๒๓๘๑ ซึ่งบทบาทดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของเมืองพัทลุงทางด้านการเมืองการปกครองในอดีตเป็นอย่างดี

สถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งเมืองพัทลุงมาแล้ว ได้แก่

           โคกเมืองแก้ว ปัจจุบันคือ หมู่ที่ ๔ ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน 
           บ้านควนแร่ ปัจจุบันคือ หมู่ที่ ๑ ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุง 
           เขาชัยบุรี (เขาเมือง) ปัจจุบันคือตำบลชัยบุรี อำเภอเมืองพัทลุง 
           ท่าเสม็ด ปัจจุบันคือตำบลท่าเสม็ด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช 
           เมืองพระรถ ปัจจุบันคือ หมู่ที่ ๑ ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุง 
           บ้านควนมะพร้าว ปัจจุบันคือ หมู่ที่ ๒ ตำบลพญาขัน อำเภอเมืองพัทลุง 
           บ้านม่วง ปัจจุบันคือ หมู่ที่ ๒ ตำบลพญาขัน อำเภอเมืองพัทลุง 
           บ้านโคกลุง ปัจจุบันคือ หมู่ที่ ๔ ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง 
           เห็นได้ว่าตำบลลำปำเคยเป็นที่ตั้งเมืองพัทลุง และมีบุคคลที่มีบทบาทในการทำศึกสงครามหลายท่าน นอกจากด้านการเมืองการปกครองแล้ว สิ่งที่น่าสนในอีกประการหนึ่งคือ ด้านศาสนสถานซึ่งเกิดขึ้นคู่กับ การตั้งเมือง ลำปำที่เป็นที่ตั้งเมืองก็ได้มีการสร้างศาสนสถานขึ้นหลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมีความสำคัญแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคม

ตราสัญลักษณ์องค์การบริหารส่วนตำบลลำปำ Seal of Lampam Subdistrict Administration Organization ตราสัญลักษณ์ขององค์การบริหารส่วนลำปำประกอบไปด้วย ปลาลำปำ หมายถึง “ปลาลำปำ” เป็นปลาที่พบมากในเขตตำบลลำปำ ในทะเลสาบสงขลาที่มีความอุดมสมบูรณ์ รูปมือรองรับ หมายถึง ความร่วมมือร่วมใจระหว่างส่วนราชการ วัด โรงเรียน และประชาชนในพื้นที่ตำบลลำปำ พื้นน้ำสีฟ้า สื่อถึง “ทะเลสาบสงขลา” หรือ “ทะเลลำปำ” ทะเลสาบอันอุดมสมบูรณ์ที่เป็นแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตคนในตำบลลำปำมาอย่างยาวนาน หลังคาเรือนไทย หมายถึง “วังเจ้าเมืองพัทลุง” สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์อันมีชื่อเสียงซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลลำปำ นอกจากนั้นยังสื่อถึงการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีอีกด้วย สีพื้นสีเหลือง หมายถึง ความสว่างสดใส ความเจริญก้าวหน้า

สภาพทั่วไป ตำบลลำปำเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ซึ่งตั้งอยู่ที่ ม.3 ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง ห่างจากที่ทำการอำเภอเมืองพัทลุง ประมาณ 12 กิโลเมตร มีเนื้อที่จำนวน 26,343.75 ไร่ หรือจำนวน 42.15 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ ซึ่งจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 มีหมู่บ้านในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลลำปำ รวม 11 หมู่บ้าน

การศึกษา

           โรงเรียนบ้านเตาปูน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ 
           โรงเรียนวัดปากประ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ 
           โรงเรียนวัดโพเด็ด ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ 
           ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าน้ำ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ 

สถาบันและองค์กรทางศาสนา

           วัดเตาปูน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ 
           วัดป่าขอม ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ 
           วัดกุฎิภักดีสังวร ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ 
           วัดป่าลิไลย์ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ 
           วัดปากประ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ 
           วัดโพเด็ด ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙

ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.lampam.go.th