ปี่ใน เป็นปี่ที่มีขนาดใหญ่และมีเสียงต่ำ ในบรรดาเครื่องเป่าที่มีลิ้นตระกูลปี่ใน ลักษณะเป็นปี่ท่อนเดียว ลำปี่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวขยายเสียงเรียกว่า"เลา" เป็นเครื่องเป่าที่มีลิ้น ผสมอยู่ในวงปี่พาทย์มาแต่โบราณ ที่เรียกว่า " ปี่ใน " ก็เพราะว่า ปี่ชนิดนี้ เทียบเสียงตรงกับระดับเสียงที่เรียกว่า " เสียงใน " ซึ่งเป็นระดับเสียงที่วงปี่พาทย์ไม้แข็ง บรรเลงเป็นพื้นฐาน ปี่ในใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์เครี่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องคู่ วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ และได้ใช้ประกอบการแสดงละครใน

ลักษณะของปี่ใน แก้

เลาปี่ทำมาจากไม้ เช่น ไม้พยุง ไม้ชิงชัน มีความยาวประมาณ 42 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร มีลักษณะหัวบานท้ายและป่องตรงกลาง เจาะรูกลางตลอดเลา ด้านบนมีรูเล็กใช้เสียบลิ้นปี่ ด้านล่างรูจะใหญ่ บริเวณเลาปี่ที่ป่องตรงกลางจะเจาะรู 6 รู ลิ้นปี่ทำจากใบตาลนำมาตัดซ้อนกัน 4 ชั้น ตัดผูกกับท่อทองเหลืองเล็กๆ เรียกว่า"กำพวด" ตัวเลาทำด้วยไม้ชิงชัน หรือไม้พยุง กลึงให้ป่องกลาง และบานปลายทั้งสองข้าง ตัวเลาปี่นอกจากจะทำด้วยไม้ แล้วยังพบปี่ซึ่งทำด้วยหิน เป็นของเก่าแต่โบราณ

ภายในเจาะ เป็นรูกลวงตลอดหัวท้ายมีรูสำหรับเปิดปิดนิ้ว 6 รู โดยให้ 4 รูบนเรียงลำดับเท่ากันเว้นห่างพอควร อีก 2 รูอยู่ระหว่างช่องตอนกลางของแต่ละรู ตอนท้ายของเลาปี่จะมีวัสดุกลมแบน ทำด้วยยาง หรือไม้มาเสริม โดยเฉพาะตอนบน สำหรับสอดใส่ลิ้นปี่ เรียกว่า " ทวนบน " ส่วนตอนล่างจะใช้ตะกั่วมาต่อสำหรับลดเลื่อนเสียงเรียกว่า " ทวนล่าง " ลิ้นปี่ประกอบด้วย กำพวด ทำด้วยโลหะ ลักษณะกลมเล็ก เรียว ภายในโปร่งข้างหนึ่งเล็ก ข้างหนึ่งใหญ่ ใบตาล ใช้ใบตาลแก่และแกร่งตัดซ้อน เป็น 4 ชั้น หรือ 4 กรีบ ผูกรัดด้วยเชือกในลักษณะเงื่อน" ตะกรุดเบ็ด " ให้ติดกับกำพวดทางด้านเล็กส่วน ทางด้านใหญ่จะถักหรือเคียนด้วยเส้นเล็กๆ มีขนาดพอดีกับรูปี่ด้านบน (รูเป่า) เพื่อสอดใส่ลิ้นปี่ให้แน่น

วิธีการเล่น แก้

จากหลักการเป่าปี่ดังกล่าว ก่อให้เกิดวิธีเป่าและเสียงปี่ที่เป็นพื้นฐานดังนี้

  • เสียงตือ คือเสียงเร
  • เสียงฮอ คือเสียงเร (เสียงเดียวกับ เสียงที่ 1 แต่นิ้วต่างกัน)
  • เสียงแฮ คือเสียงมี
  • เสียงฮือฮอๆ คือเสียงซอล-มี
  • เสียงตอ คือเสียงลา
  • เสียงแต คือเสียงที
  • เสียงอือ คือเสียงเรบน (แหบ)
  • เสียงอื๊อ คือเสียงมีบน (แหบ)
  • เสียงอือ คือเสียงเรบน (แหบ)เหมือนกับ เลข 7
  • เสียงตอ คือเสียงลา (เหมือนกับหมายเลข 5)
  • เสียงตือ คือเสียงซอล (แต่เป็นเสียงบน ที่ใช้บังคับนิ้วเช่นเดียวกับตือ-เรแต่ใช้ลมดันต่างกัน)
  • เสียงแต่ คือเสียงฟา
  • เสียงตือ คือเสียงซอล (เหมือนหมายเลข 11)
  • เสียงตอล็อก คือเสียงลา (แต่ต่างกันเนื่องจากการบังคับลิ้นปี่)