ปิออตร์ ชูรอฟสกี

ปิออตร์ อันเดรเยวิช ชูรอฟสกี (รัสเซีย: Пётр Андреевич Щуровский) เป็นคีตกวี และนักดนตรีชาวรัสเซีย ที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมี

ปิออตร์ ชูรอฟสกี

ประวัติ

แก้

ชูรอฟสกี เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1850 (พ.ศ. 2393) ในครอบครัวขุนนาง มีพี่ชายเป็นแพทย์ชื่อดัง และเป็นแพทย์ประจำตัวของอันโตน เชคอฟ นักประพันธ์ชาวรัสเซียผู้มีชื่อเสียง ใช้ชีวิตช่วงแรกอยู่ที่กรุงมอสโก และสนใจดนตรีมาตั้งแต่ยังเด็ก ต่อมาได้เข้าศึกษาที่สถาบันศิลปะแห่งกรุงมอสโกที่โด่งดัง ชูรอฟสกีโดดเด่นมากในเรื่องเปียโน หลังจบการศึกษา เขาเริ่มอาชีพด้วยการเป็นนักเปียโน แต่ก็สนใจเรื่องการเป็นหัวหน้าวงดนตรี ข้อเขียนเชิงวิจารณ์ดนตรีรวมทั้งเริ่มเขียนบทโรมานซ์และโน้ตเพลงสำหรับเปียโน

ค.ศ. 1870 (พ.ศ. 2413) เป็นหัวหน้าวงดนตรีโรงโอเปร่าเมืองคาร์คอฟ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศยูเครน) ต่อมาได้เป็นหัวหน้าคณะดนตรีโรงละครบอลชอยที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ก็ลาออกเพื่อเดินทางไปตามหัวเมืองเพื่อไปปาฐกถาเรื่องดนตรีและศิลปะการแสดง ซึ่งเขาก็ทำได้ดี

นอกจากผลงานเพลงแล้ว ชูรอฟสกีก็ยังมีข้อเขียนเกี่ยวกับดนตรีอยู่หลายชิ้น รวมถึงการแปลผลงานเขียนเกี่ยวกับดนตรี เขาได้พิมพ์หนังสือคู่มือเกี่ยวกับดนตรี รวบรวมชีวประวัตินักดนตรีที่มีชื่อเสียง และในปี ค.ศ. 1890 (พ.ศ. 2433) เขาได้รวบรวมเพลงชาติต่างๆ และจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งในจำนวนนี้ก็รวมถึงเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยรวมอยู่ด้วย

แต่งานประพันธ์เพลงของเขาไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเท่ากับงานด้านอื่น ๆ เหตุผลส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเขาเป็นคนที่สุภาพ ถ่อมตัว และเก็บตัวอย่างมาก ตอนหลังเขากลับมาจับงานประพันธ์เพลงอีก แต่ก็ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ บทละครอุปรากรสำคัญของเขา 2 เรื่อง คือ "บอกดาน คเมลนิตสกี้" และ "สมิธ วาคูล่า" ก็ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์

งานของเขาหลายชิ้นชี้ว่า ชูรอฟสกีสนใจประเทศแถบตะวันออก และเขาเคยเดินทางมาท่องเที่ยวแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีหลักฐานที่ระบุว่าเขาเคยเดินทางมายังประเทศไทย

ในส่วนที่เกี่ยวกับการประพันธ์ท่วงทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมี มีระบุไว้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสดับเสียงดนตรีเป็นครั้งแรก ก็ทรงพอพระทัย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1892 (พ.ศ. 2435) ได้พระราชทานกล่องยานัตถุ์ทำด้วยเงินสลักพระปรมาภิไธยให้แก่ผู้ประพันธ์

ปิออตร์ ชูรอฟสกี เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) อายุ 53 ปี

อ้างอิง

แก้
  • อเล็กซานเดอร์ อ. คาร์ตชาวา. 90 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต รัสเซีย - ไทย. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], [ม.ป.ป.].