ตราทางสะดวก (token) เป็นวัตถุอย่างหนึ่งอย่างใดเช่นลูกกลม เหรียญ ตั๋ว หรืออาณัติสัญญาณอย่างอื่น ซึ่งพนักงานสัญญาณต้องมอบหรือแสดงให้แก่พนักงานรถจักร ก่อนที่จะนำขบวนรถเข้าสู่ทางช่วงระหว่างสถานีสองสถานี (นิยมเรียกว่า ตอน) ตามที่ตรานั้นได้ระบุไว้ ในกรณีที่ง่ายที่สุด พนักงานสัญญาณจะโทรศัพท์หรือโทรเลขสอบถามสถานีข้างเคียงว่าทางที่ขบวนรถจะไปนั้นมีขบวนรถกีดขวางหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ได้ชื่อว่าทางสะดวก และสามารถออกตั๋วทางสะดวกแก่พนักงานขับรถได้

เครื่องตราทางสะดวกแบบมีลูกตรา มือจับของเครื่องแสดงท่า "ขบวนรถจะถึง" คืออนุญาตให้รถจากสถานีข้างเคียงเดินเข้าสู่สถานีนี้ได้

ในเวลาต่อมา ตราทางสะดวกอาจใช้เป็นโลหะ เรียกว่าเหรียญตราทางสะดวก หรือลูกตราทางสะดวก ติดตั้งไว้ที่ทั้งสองข้างของตอนต่อทางรถไฟหนึ่งทาง หากเป็นทางคู่ ก็จะมีสี่เครื่อง (สองเครื่องสำหรับด้านหนึ่งของแต่ละสถานี) เพื่อใช้ขอและให้ทางสะดวกแยกกันระหว่างขบวนรถขึ้นกับขบวนรถล่อง เมื่อจะใช้งาน พนักงานสัญญาณจะเคาะเครื่องทางสะดวกเป็นสัญญาณกระดิ่งสอบถามกับสถานีข้างเคียง หากสถานีข้างเคียงตอบกลับมาว่า "ขบวนรถจะถึง" เจ้าหน้าที่จะดึงมือจับเครื่องทางสะดวก บิดไปที่ตำแหน่ง "ขบวนรถออกแล้ว" เพื่อให้ลูกตราหรือเหรียญตราหล่นออกจากเครื่อง ลูกตราที่ได้นี้จะต้องส่งมอบให้พนักงานรถจักร เสมือนว่าเป็นสัญญาณอนุญาตให้ขบวนรถผ่านเข้าสู่ทางช่วงที่ระบุได้ ตราทางสะดวกที่ได้นี้จะไม่สามารถออกใหม่ได้ถ้าขบวนรถยังไม่ได้ส่งคืนตราให้สถานีถัดไป ดังนั้นตราทางสะดวกจึงเป็นหลักประกันว่าไม่มีขบวนรถใดอยู่ในทางระหว่างสถานีมากกว่าหนึ่งขบวน

เนื่องจากการใช้ตราทางสะดวก พนักงานรถจักรต้องเบารถลงบ้างเพื่อให้สามารถรับตราทางสะดวกผ่านทางห่วงหนังที่พนักงานสัญญาณยื่นให้หรือแขวนไว้กับเสาซึ่งเป็นการลำบากไม่ใช่น้อย จึงได้มีการพัฒนาให้เครื่องทางสะดวกไม่ปล่อยลูกตราอีกต่อไป แต่จะไปควบคุมอาณัติสัญญาณประจำที่อันนอกสุดมิให้แสดงท่าอนุญาตหากสถานีถัดไปไม่อนุญาต เรียกเครื่องทางสะดวกนี้ว่าเครื่องทางสะดวกสัมพันธ์สัญญาณประจำที่ เมื่อสัญญาณประจำที่แสดงท่าอนุญาตก็ได้ชื่อว่าพนักงานรถจักรได้ตราทางสะดวกแล้ว ในปัจจุบันระบบตราทางสะดวกได้รวมเข้าเป็นหนึ่งกับแผงควบคุมแบบรีเลย์และแบบคอมพิวเตอร์

ในบางกรณี อาจต้องให้มีขบวนรถในทางระหว่างสถานีมากกว่าหนึ่งขบวน โดยให้ขบวนรถที่ไม่ได้ทางสะดวกยึดถือตั๋วไม่ได้ทางสะดวก เพื่อให้ขับรถอย่างช้า ไม่ชนกับขบวนรถที่ได้ตั๋วทางสะดวกแล้ว ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงอย่างยิ่งจึงไม่นิยมทำ เป็นเหตุให้ในเวลาต่อมาได้มีการพัฒนาระบบตอนอัตโนมัติ หรือตอนย่อย ซึ่งจะมีสัญญาณประจำที่ตั้งไว้ระหว่างสถานีที่ไกลกันมาก ๆ เมื่อขบวนรถออกจากสถานีหนึ่งและพ้นตอนอัตโนมัติอันแรกสุดแล้วก็จะสามารถให้ทางสะดวกได้อีก วิธีนี้นิยมทำในเขตที่มีการจราจรหนาแน่น

อ้างอิง แก้

  • Vanns, Michael A (1997): An Illustrated History of Signalling. Ian Allan Publishing, Shepperton, England.
  • ฝ่ายการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย (2549). ข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2549.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้