นิกายชอนแท (ฮันกึล 천태종 ฮันจา 天台宗) เป็นคณะสงฆ์ของเกาหลีใต้ ตรงกับนิกายเทียนไถ (天台宗) ของจีน หรือทิกายเทนได (天台宗) ของญี่ปุ่น มีกำเนิดตั้งแต่สมัยราชวงศ์โครยอ หรือราวศตวรรษที่ 11 มีบูรพาจารย์คือพระอึยชอน เดิมเป็นเชื้อพระวงศ์ระดับสูง ต่อมาผนวชเป็นภิกษุศึกษาคำสอนของนิกายเทียนไถจนแจ่มแจ้ง แล้วจึงสถาปนานิกายนี้ขึ้นในเกาหลี ใช้ชื่อเดียวกับจีน แต่คำว่า "เทียน" เกาหลีออกเสียงเป็น "ชอน" ส่วนคำว่า "ไถ" ออกเสียงเป็น "แท" พระอาจารย์อึยชอนเป็นที่เชื่อถือศรัทธาของสมาชิกราชวงศ์โครยอมาก ยังได้รับสถาปนาเป็นพระมหาพุทธิรัฐคุรุ (แทกัก กุกซา - 大覺國師) ช่วงนั้นนิกายชอนแทรุ่งเรืองอย่างมาก [1]

แต่นับจากสิ้นราชวงศ์โครยอเป็นต้นมาจนถึงราชวงศ์โชซอน พุทธศาสนาถูกเบียดเบียนหนัก คณะสงฆ์จึงต้องรวมตัวเป็นกลุ่มก่อนเดียวเพื่อความอยู่รอด คณะชอนแทจึงรวมเข้ากับคณะวิปัสนา หรือซอน จากนั้นศาสนจักรเกาหลีจึงแบ่งออกเป็น 2 สาย สายปฏิบัติเน็นแนวทางสำนักซอน หรือเซ็น ใช้การวิปัสสนาเป็นแนวทางหลัก อีกสายคือฝ่ายปริยัติ ศึกษาพระสูตรเป็นหลัก พระสูตรสำคัญคืออวตังสกะสูตร ของสำนักฮวาออม (บัดนี้สูญสิ้นไปแล้ว) วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตรของสำนักซอน และสัทธรรมปุณฑรีกสูตรของสำนักชอนแท อนึ่ง สำนักชอนแทเองก็มีแนวทางวิปัสนากรรมฐานของตนเอง แตกต่างจากสำนักซอน [2]

หลังเกาหลีได้รับเอกราช คณะชอนแทรวมอยู่กับคณะโชเกอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะแยกตัวออกมาฟื้นฟูสำนักอีกครั้ง มีศูนย์กลางที่วัดคูอินซา มีพระซางวอล วอนกัก เป็นบูรพาจารย์รุ่นใหม่ แต่เดิมท่านสืบสานสายชอนแท มาบำเพ็ญเพียรอย่างสันโดษกลางเขา แต่ก็มีปณธานแน่วแน่ที่จะฟื้นฟูพุทธศาสนาในเกาหลี จึงสถาปนาสำนักขึ้นอีกครั้ง ปัจจุบันมีสานุศิษย์ราว 2 ล้านคน แต่แนวทางต่างจากคำสอนของสำนักชอนแทเมื่อ 900 ปีก่อนพอสวมควร [3] [4]

อ้างอิง แก้

  1. Daigak Guksa
  2. Guinsa - South Korea
  3. Guinsa Temple (구인사)
  4. Guinsa - South Korea

บรรณานุกรม แก้