ฉบับร่าง:ชมรมศิษย์เก่าดนตรีไทย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ความเป็นมา ของชมรมศิษย์เก่าดนตรีไทย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย


เล่าความเป็นมาของกิจกรรมดนตรีไทย ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

......ชุมนุมดนตรีไทยสวนกุหลาบฯ ผ่านร้อนผ่านหนาวมา ๕๐ ปีแล้วหรือเนี่ย....

เป็นคำถามที่ชวนให้ระลึกถึงตนเองที่ในวันที่เหยียบกระไดห้องหน้ามุขของอาคารหอประชุมสวนกุหลาบรำลึกหลังเก่าตามเพื่อนรักที่เรียนชั้น ม.๑ รุ่นแรกห้องเดียวกันถึงสี่คนเข้ามาขอสมัครเป็นสมาชิกชุมนุมฯ เมื่อปี ๒๕๒๑ เมื่อชุมนุมฯมีอายุได้เพียง ๕ ปี อะไรที่เป็นมนต์เสน่ห์ที่ผูกพันให้จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาสี่สิบห้าปีที่เป็นนักดนตรีไทยมายังต้องวนเวียนกลับมาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยถิ่นที่เคยเนาว์ยามเยาว์วัย ผูกพัน และส่งไม้ต่อให้น้องๆ รุ่นต่อๆ ไปให้สืบเนื่องมิรู้จบสิ้น เพราะ...กลิ่นกุหลาบกำซาบตราบฟ้าดินสิ้นสุดสูรย์

ก่อนการก่อตั้งชุมนุมดนตรีไทยและนาฏศิลป์ฯ

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๔๒๔ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยะมหาราชของทรงคุณานุปการต่อเอกราชของประเทศสยาม และการพัฒนาประเทศให้มีระบบการศึกษาที่มีความทัดเทียมกับอารยะประเทศในสมัยนั้น แม้ว่าวันเวลาจะผ่านมากว่า ๙๒ ปี ไม่เคยมีการจัดตั้งกิจกรรมชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะดนตรีและการแสดงนาฏศิลป์ไทยอย่างเป็นรูปธรรม มีแต่ชุมนุมด้านวิชาการ ด้านกีฬา และกิจกรรมเชิงสังคมอื่นๆ นักเรียนที่มีสามารถทางด้านดนตรีไทยและนาฏศิลป์นี้ต้องออกไปร่ำเรียนศึกษาศาสตร์ด้านนี้ด้วยตนเองจากครูบาอาจารย์ข้างนอก และนำเอาความรู้ส่วนนี้มาช่วยงานของโรงเรียนในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดมา หนึ่งในนั้น คือ นายบุญจันทร์  โตวิสุทธิ์ (ต่อมาคือ ครูจันทร์ โตวิสุทธิ์ นั่นเอง) นักเรียนสวนกุหลาบฯ หมายเลข ๓๘๕๖ เข้าเรียนในปี ๒๔๖๓ ซึ่งก่อตั้งโรงเรียนมาได้ ๒๘ ปี และอาคารหลังยาวยังใหม่เอี่ยมมีอายุเพียง ๙ ปี เท่านั้น ทั้งรุ่นมีนักเรียนเพียง ๑๐๓ คน ครูจันทร์มีความสนใจด้านการบรรเลงดนตรีไทย เมื่อหมดจากเวลาเรียนที่โรงเรียน ท่านได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูจี๊ด มาลัยแมน ครูสักรวาชื่อดังในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียนขับร้อง และขลุ่ย เรียนซอด้วงและซออู้จากครูโปรย และเรียนการตีกลองหน้าทับต่างๆ จากครูทิณ ทวีศรี (จนขึ้นชื่อจนมาถึงปัจจุบันว่าเป็นต้นแบบการตีโทนรำมะนาที่มีลูกเล่นแพรวพรายเพราะพริ้ง หากอยากฟังลวดลายลีลาให้ไปขอให้ลูกศิษย์ครูจันทร์ ครูอุดม ชุ่มพุดซา บรรเลงให้ฟังนะครับ แถมครูจันทร์ยังสามารถตีกลองไปร้องเพลงไปได้โดยยังคงรักษาความไพเราะเพราะพริ้งทั้งสองอย่างต่างหาก นับเป็นความสามารถพิเศษโดยแท้) และท้ายที่สุดก็เป็นศิษย์ของปรมจารย์แห่งยุค คือท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) ต่อเพลงทั้งทางขับร้อง และทางเครื่องสายหลากหลายจนสามารถเล่นเครื่องดนตรีเครื่องสายได้เกือบครบวง และเมื่อปี ๒๕๑๙ ท่านก็ได้กลับมาสอนพวกเราที่ชุมนุมดนตรีไทยฯ ในฐานะครูและศิษย์เก่าที่มีความผูกพันและความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะวางรากฐานอันแข็งแกร่งแก่ชุมนุมดนตรีไทยฯ สวนกุหลาบ สร้างบุคลากรคุณภาพทางดนตรีไทยหลากหลายคนที่สร้างชื่อเสียงให้กับชุมนุมดนตรีไทยฯ สวนกุหลาบฯ ในช่วงระยะแรกของการก่อตั้ง

เมื่อกุหลาบเริ่มผลิบาน (พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๒๕)

คุณครูพังงา เทียนทอง ผู้ก่อตั้งชุมนุมดนตรีไทยฯ เป็นคุณครูผู้สั่งสอนวิชาภาษาไทยแก่ลูกศิษย์สวนกุหลาบฯ มาตั้งแต่รุ่น ๗๘ และครูท่านอื่นๆ ผู้ร่วมอุดมการณ์อีกหลายท่านที่มีความชื่นชอบดนตรีและนาฏศิลป์ได้ร่วมกันเรียนปรึกษาครูใหญ่ (ตำแหน่งในยุคนั้น) คุณครูสุวรรณ จันทร์สม เพื่อริเริ่มก่อตั้งชุมนุมดนตรีไทยและนาฏศิลป์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยขึ้นมาในปี ๒๕๑๖ โดยมีคุณครูลิขิต ศุขสายชล (พี่ชายของครู วรยศ (จงกล) ศุขสายชล ผู้เชี่ยวชาญการบรรเลงเครื่องสายที่โด่งดังในปัจจุบัน) เป็นครูพิณพาทย์และขับร้อง และเป็นผู้ทำพิธีไหว้ครูให้กับชุมนุม และครูจำเนียร เสนียวงศ์ ณ อยุธยา เป็นครูผู้สอนทางเครื่องสายและชำนาญขิมอย่างมาก ต่อมาทางชุมนุมฯ ได้รับเกียรติจาก ครูโองการ กลีบชื่น ศิษย์เอกครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะด้านปี่พาทย์มาเป็นครูผู้สอน ที่ต่อมาเมื่อท่านล้มเจ็บลงท่านได้แนะนำครูจันทร์ ศิษย์หลวงประดิษฐ์ไพเราะอีกท่านมาสืบแทนก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรม แล้วยังมีครูเตือน พาทยกุล ครูผู้ชำนาญรอบวงอีกท่านมาร่วมสอนอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะมีครูสม เมธา หมู่เย็น จากกรมประชาสัมพันธ์มาสอนปี่พาทย์ครบวงจรต่อมา สมาชิกของชุมนุมฯ ยุคแรกที่ยังเล่นดนตรีไทยจนปัจจุบัน ได้แก่ พี่หม่อง สุรพล ลิ้มพาณิชย์ OSK 89 (93) พี่เธียร เธียรดนัย ธรรมดุษฎี OSK 90 (94) ระนาดเอก พี่ต๊ะ ภิชาต เลณะสวัสดิ์ OSK 97 ผู้ชำนาญด้านซอด้วงและอู้ พี่ชุมเดช เดชภิมล OSK 94 ชำนาญทางร้อง จะเข้ และโปงลาง พี่หนุ่ม xxx สถานที่ตั้งชุมนุมฯ ยุคแรกตั้งอยู่ที่ตึกยาวชั้นสอง ใกล้มาทางด้านศาลพ่อปู่ สมัยนั้นครูพังงา เทียนทอง ท่านได้ทุ่มเท ดูแล และปั้นนักดนตรีที่มีความสามารถด้วยการติดต่อประสานพาไปออกงานต่างๆ เช่น งานถวายพระพรเนื่องในโอกาสต่างๆ อันเป็นมงคลของประเทศในนามของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ออกรายการทีวี ออกรายการแสดงทางวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ฯลฯ เพื่อส่งเสริมประสบการณ์และความชำนิชำนาญของการบรรเลงร่วมกันอย่างประสานกลมกลืนไพเราะจนวงดนตรีไทยชุมนุมดนตรีไทยและนาฏศิลป์ฯ เป็นที่รู้จักดีในระดับหนึ่ง

เมื่อสถานที่ตั้งชุมนุมเดิมคับแคบเพราะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น อีกทั้งอาจเกิดเสียงรบกวนแก่ชุมนุมอื่นๆ ขณะฝึกซ้อม ครูพังงาท่านได้เรียนปรึกษาครูใหญ่ในขณะนั้น เพื่อขอย้ายลงมาห้องหน้ามุขชั้นล่างของอาคารหอประชุมสวนกุหลาบรำลึก (หลังเก่า) ที่เดิมเป็นห้องประชาสัมพันธ์ และกำลังมีดำริให้เป็นห้องพยาบาล ในที่สุด ชุมนุมฯ ก็ได้ใช้ห้องหน้ามุขนี้เป็นที่ตั้งของชุมนุมฯ ที่เด่นเป็นสง่ากว่าทุกชุมนุมในโรงเรียน เพราะใครก็ตามที่ได้เดินเข้ามาทางประตูถนนตรีเพชร จะต้องผ่านห้องนี้ และได้ยินสำเนียงไพเราะเพราะพริ้งจากการบรรเลงดนตรีไทย ไม่นับการร่ายรำต่างๆจากเหล่านาฏศิลป์รูปแบบต่างๆ เช่น โขน และการฟ้อนรำอื่นๆเนื่องในการซ้อมเพื่อใช้ในการแสดงของโรงเรียน ทำให้ผู้ปกครอง และนักเรียน รวมทั้งครูอาจารย์ของโรงเรียนเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุน รวมทั้งมีนักเรียนรวมทั้งตัวผมเองเดินเข้ามามีส่วนร่วม จนมีอยู่ปีหนึ่งคือ พ.ศ. ๒๕๒๑ ที่มีการรับนักเรียนเข้ามารวดเดียว 1,600 คนเพราะมีทั้ง ม.ศ. 1 และ ม.1 อย่างผม ทำให้ปีนั้น ชุมนุมฯ มีสมาชิกระดับร้อยคนเป็นครั้งแรก เล่นเอาเครื่องไม้เครื่องมือที่จะซ้อมแทบไม่พอ ไม่นับรายวิชาของ ม.1 มีการเรียนการสอนขลุ่ย ทำให้ผมอยากเรียนอยากรู้อยากมีโอกาสได้บรรเลงเพลงเพราะๆ กับเขาบ้างมากขึ้นจนขอสมัครมาเป็นสมาชิก ขณะนั้น มีครูผู้สอนอยู่สามท่าน คือครูจันทร์ โตวิสุทธิ์ สอนขับร้อง และเครื่องสาย/ขลุ่ย/ขิม/ออร์แกน รวมทั้งถ่ายทอดกลเม็ดเด็ดพรายในการตีโทนรำมะนา ครูเมธา (ครูสม) หมู่เย็น สอนเครื่องปีพาทย์และเครื่องกำกับจังหวะปีพาทย์ทั้งหมด ครูระตี วิเศษสุรการ สอนจะเข้ ศิษย์เก่าชุมนุมฯ ที่โด่งดังในยุคนี้ ได้แก่ รุ่น ๙๘ พี่ตั้ว ประดิษฐ์  ปราสาททอง นักร้องของวง ศิลปินแห่งชาติ พี่กบ กฤษณพงศ์ เกียรติศักดิ์ ซออู้และซอสามสาย สถาปนิกและนักแสดงความคิดเห็นทางการเมืองชื่อดัง พี่เพชร นายแพทย์เพชร รอดอารีย์ ซอด้วง พี่แป๊ะ พิทักษ์ ทองพาศรี ขลุ่ย รุ่น ๙๙ พี่ตั๊ก พลเอกธณรัฐ (อธิษฐาน) ยังเฟื่องมนต์ ระนาดเอก และรุ่น ๑๐๐ พี่ชัย สิทธิชัย ศรกาญจน์ จะเข้ ฯลฯ

พอเล่ามาถึงพวกพี่ๆ กลุ่มนี้ก็อดกล่าวถึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญตอนหนึ่งของชุมนุมฯ ของเราไม่ได้ นั่นคือ การที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดงานดนตรีไทยมัธยมศึกษาครั้งที่ ๔ ในปลายปี ๒๕๒๑ ไม่ได้ จากคำบอกเล่าจากพี่กบ กฤษณพงศ์ เกียรติศักดิ์ มือซออู้และสามสาย รุ่น ๙๘ ซึ่งสมัยนั้นเรียนอยู่ชั้น มศ. ๔ แล้ว รุ่นพี่ยุคนั้น นำโดยพี่เพชร รอดอารีย์ ประธานชุมนุมฯ มือซอด้วง พี่ตั้ว ประดิษฐ์ ปราสาททอง นักร้อง พี่ฉิ่ง สุรพล รอดปรีชา มือฉิ่ง และพี่กบเอง และพี่ๆท่านอื่นๆ ตกลงกันว่า ศักดิ์ศรีของการเป็นเจ้าภาพนั้นค้ำคอพวกเราให้ต้องสร้างประวัติศาสตร์ให้ลือลั่นไม่แพ้เจ้าภาพ ครั้งที่ ๑ - ๓ ที่ผ่านมา สำหรับครั้งที่ ๔ นี้ครูจันทร์ กำหนดเพลงฝรั่งกลาย เถา ที่ท่านประพันธ์ไว้เป็นเพลงชูโรงในงาน ท่านพี่ทุกท่านก็ประชุมกันเห็นพ้องว่าเราต้องจัดให้เต็มพื้นที่เวทีหอประชุมสวนกุหลาบรำลึกสมัยนั้น โดยการใช้บุคลากรเกือบทั้งหมดของชุมนุมฯ รวมทั้งน้อง มศ.๑ (รุ่น ๑๐๑) และ ม.๑ (รุ่น ๑๐๒) ทั้งวงร่วมร้อยชีวิตจนแน่นเวทีไปหมด รางระนาดธรรมดาเราไม่เอา ต้องรางทองตราโรงเรียนเท่านั้น ซอธรรมดาไม่จี๊ดใจ ต้องซอประกอบงาเท่านั้น รวมทั้งการจัดหาอุปกรณ์ เครื่องดนตรีจำนวนมากทั้งการจัดซื้อและการหยิบยืม ไม่นับการนำอุปกรณ์ส่วนตัวของทุกคนมาทุ่มเทให้กับอีเว้นท์นี้แบบไม่กั๊กกันเลย ทุกคนทำงานนี้กันแบบถวายหัวเพื่อชื่อเสียงของโรงเรียน รวมทั้งครูผู้ควบคุมชุมนุมฯ คือครูพังงาและองคาพยบที่เกี่ยวข้อง ครูผู้สอนทุกท่านทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้วงดนตรีขนาดใหญ่ขนาดนั้นบรรเลงได้พร้อมเพรียงและไพเราะ เป็นความสุดโต่งที่พวกเราไม่เคยทำกันมาก่อนแต่ก็ออกมาอย่างงดงามและประสบความสำเร็จอย่างสูงจนเป็นที่กล่าวถึงและมีเสียงจากบางโรงเรียนอยากแสดงแบบเดียวกันบ้าง และท้ายที่สุดได้กลายสภาพเป็นวงมหาดุริยางค์ในเวลาอีกหลายปีต่อมา และในการนี้พี่กบ กฤษณพงศ์ ถึงกับหอบซอสามสายไปที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ (ปัจจุบันคือสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นั่นเอง) เพื่อขอฝากตัวเป็นศิษย์ซอสามสายของ ครูเฉลิม ม่วงแพรศรี เพื่อให้วงดนตรีไทยอันเกรียงไกรของสวนกุหลาบฯ ครบองค์ประกอบการเป็นวงมโหรีโดยสมบูรณ์

เนื่องจากงานดังกล่าวมีการแสดงเป็นเวลาสองวันเพราะมีโรงเรียนต่างเข้าร่วมงานเกือบสี่สิบโรงเรียน ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด วงดนตรีไทยสวนกุหลาบของเราก็ไม่หยุดความปังไว้เพียงแค่นั้น ขณะที่โรงเรียนอื่นๆ ยังบรรเลงหวานๆ ไพเราะน่าฟังเพลินๆ ตามความนิยม ครูผู้สอนดนตรีทั้งสามท่านของชุมนุมฯ ก็ได้ซุ่มถ่ายทอดเคล็ดวิชาชั้นสูงให้กับรุ่นพี่เมื่อมั่นใจแล้วว่า พี่ๆแต่ละท่านมีฝีมือจัดจ้านเพียงพอรับมือกับการบรรเลงเพลงใหญ่เพื่อโชว์ฝีมืออย่าง “ทยอยใน เถา” โดยในทุกรายละเอียดของเพลงมีการถ่ายทอดกลเม็ดเด็ดพรายทั้งทางร้องที่มีลูกเล่นเช่นเดียวกับครูชั้นผู้ใหญ่ เช่น ครูเหนี่ยว ดุริยพันธ์ ได้เคยร้องไว้ (ครูจันทร์เคยเล่าให้ผมฟังว่า แก้วเสียงและระดับเสียงของพี่ตั้ว ประดิษฐ์ฯ นั้นเหมือนครูเหนี่ยวมาก จนต้องขอนำลูกเล่นทางร้องของครูเหนี่ยวนำมาต่อให้ร้อง และท้ายที่สุดก็ได้ผลลัพธ์ที่ประสพความสำเร็จอย่างงดงาม) ทางซอที่ครูจันทร์ต่อกลอนเพลงให้ซอด้วงและซออู้ทีละประโยคจนจบเพลง ส่วนครูระตีท่านต่อทางจะเข้ให้พี่อั๋น สรวุฒิ ฉัตรกุล ณ อยุธยา แบบจัดเต็ม ส่วนครูสม เมธา หมู่เย็น ก็ถ่ายทอดทางระนาดเอกทุกเม็ดให้กับ พี่ตั๊ก อธิษฐาน (ชื่อในยุคนั้น) ยังเฟื่องมนต์ กลายเป็นวงเครื่องสายผสมระนาดที่ทุกคนกล่าวว่าสุดยอดที่สุดในยุคนั้น นักร้องเสียงเพราะร้องเพลงที่มีเอื้อนยาวยืด มีลูกเล่นทั้งหยุด ทั้งโหนเสียงจนนึกว่าครูเหนี่ยวที่ท่านเสียไปนานแล้วมาประทับทรง ระนาดเอกรูปหล่อระดับดาราที่ตีได้ไหวเสียจนระนาดไฟแทบลุก (แล้วก็เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวจนปัจจุบัน) และเครื่องสายทั้งสามเครื่องมือที่ทั้งสีและดีดสอดรับกันเหมือนจับวาง ได้รับคำชมและเสียงฮือฮาจากผู้ชมและเสียงปรบมือกึกก้องไปทั้งหอประชุมสวนกุหลาบรำลึก ภาพจำเหล่านี้คือสิ่งที่ผมยังรำลึกอยู่มิวาย และเป็นสาเหตุของการเดินตามเพื่อนเข้ามาขอเล่นดนตรีที่นี่ และท้ายที่สุดที่ชะตาพลิกผันเพราะไม่มีใครสืบต่อการร้องเพลง ครูจันทร์จึงเรียกไปทดสอบเสียงและมอบหมายให้กลายเป็นนักร้องรางวัลกาละมังทองคำแตกในเวลาต่อมา

งานดนตรีไทยมัธยม ครั้งที่ 5 ใน พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม ครูผู้สอนดนตรีไทยของชุมนุมฯ ก็ยังไม่ยุติความปังของฝีมือบรรเลงของพี่ๆ รุ่นนี้ ได้นำเพลงโบราณที่ประพันธ์โดยบรมครู พระยาประสานดุริยะศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ซึ่งเป็นเพลงทยอยที่ไม่ค่อยมีใครบรรเลงกัน “สุธากันแสง เถา” หรือเพลงธรณีร้องไห้ เถา นั่นเอง เพื่อให้รักษาระดับความปังของฝีมือเพราะ โรงเรียนอื่นที่มีครูปี่พาทย์เก่งๆ เช่น ปทุมคงคา ก็เริ่มบรรเลงเพลงทยอยเขมร ด้วยปี่พาทย์ไม้แข็งแล้ว ในปี ๒๕๒๒ นี้ วงของเราเสียมือดีไปสองท่าน เช่น พี่ตั๊ก อธิษฐานฯ คนหล่อหน้าตาของชุมนุมฯ ได้ไปเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร และพี่อั๋น สรวุฒิ เลิกเล่นจะเข้เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ครูระตีจึงต้องฝึกดาวจะเข้ดวงใหม่ พี่ชัย สิทธิชัย ศรกาญจน์ (แต่พี่ๆ ในชุมนุมทุกคนเรียก “เห็ด” อันนี้ไม่ทราบเหตุผลจริงๆ จนน้องๆ เรียกว่าพี่เห็ดตามทั้งโขยง พอๆกับผมแหละที่เจอครูจันทร์ เรียกว่า “เจ้าแก่” ทีเดียว เลยกลายเป็นพี่แก่ จนถึงทุกวันนี้) และมีมือโทนรำมะนาอนาคตไกลอย่าง นุ้ย ฐนัตถ์ สุวรรณานนท์ รุ่น ๑๐๒ ที่โดนผันตัวจากมือขลุ่ยให้มาตีกลองโดยการสนับสนุนของครูสม เมธา หมู่เย็น และมีพี่ฉิ่ง สุรพล รอดปรีชา เป็นมือฉิ่งคุมวง ในการนี้ผมเองที่ตอนนั้น นั่งฟังพี่ตั้ว ประดิษฐ์ฯ ต่อทางร้องกับครูจันทร์จนจำได้ จนเสมือนได้ต่อเพลงนี้ไปด้วย ทั้งที่เพลงของตัวเองยังร้องผิดร้องถูกบนเวทีเพราะความตื่นเวทีอย่าง ฝรั่งกลาย เถา ที่ขึ้นเวทีวันสมานมิตรปี ๒๕๒๒ แต่ดันจำเพลงที่รุ่นพี่ร้องได้ เวรกรรมจริงๆ

ศักราชใหม่มาถึง เสมือนการล้างไพ่ เพราะพี่ มศ.๕ จบการศึกษาไปแล้ว รุ่นที่สามของชุมนุมก็ต้องเข้ามารับช่วงต่อจากพี่ๆ ต้องเริ่มการฝึกฝนฝีมือไต่ระดับกันใหม่ ครูจันทร์ต่อเพลง สุดาภิรมย์ เถา ออกจีนรำพัด เพลงสำเนียงจีนทำนองกระหนุงกระหนิงน่าฟัง พร้อมสุภาษิตสอนหญิงเรื่องความรัก และเพลงสำเนียงแขก เช่น แขกอาหวัง เถา (ครูจันทร์ท่านชอบเพลงสำเนียงแขก รุ่นพี่ๆเคยบ่นว่า รุ่นพวกเขา ครูให้เล่น แขกขาว เถา จนเบื่อ รุ่นผมก็แขกอาหวังเนี่ยแหละ เล่นบ่อยจนร้องได้ขึ้นใจ) เพื่อนๆ ผมก็ทยอยหายไป เหลือคนที่เล่นดนตรีจริงจังอยู่ไม่ถึงสิบคน ซึ่งผมกลายเป็นนักร้องหลักของโรงเรียนทั้งที่เสียงกะละมังแตกอย่างนี้แหละ ครูพังงาให้วงไปบรรเลงที่ไหนก็แห่กันไป เพลงการก็ต่อแค่พอใช้งานผสมปนเปกันระหว่างเพลงครูจันทร์ และเพลงใช้งาน สมัยนั้นมือระนาด เป็นพี่จิรพงศ์ เล่นระนาดเอก ประกบด้วย อ๊อบ อภิชัย เลี่ยมทอง รุ่น ๑๐๓ และพี่วิโรจน์ รุ่น ๑๐๐ เล่นระนาดทุ้ม ประกบด้วย เป็ด มณวัฒน์ เงินฉ่ำ รุ่น ๑๐๔ ส่วนฆ้อง จะมี แดง ประภัสสร รุ่น ๑๐๒ กับพี่แต๊ก สัญชัย หิรัณยนิรมล รุ่น ๑๐๑ สลับกัน บางครั้งก็มี ป้อน คมภิญญ์ เข็มกำเนิด รุ่น ๑๐๒ มาร่วมเล่น ส่วนจะเข้ต้องยกให้ พี่ชัย สิทธิชัย ศรกาญจน์ คุมโดยมีน้อง ๑๐๔ อย่าง ตรีรัตน์ ยังรอต และชัชวาลย์ สมพงษ์ เข้ามาเป็นอนาคตของชุมนุมฯ ฝั่งซอมีพี่จักรี มงคล ดูแล มีน้องๆ สลับไปมา แต่ซออู้จะมี เจ้าจิ๊บ วโรดม อิ่มสกุล รุ่น ๑๐๓ ดูแลประจำ คู่กับ กบ อาณัติ วัฒนเนสก์ รุ่น ๑๐๒ ซอด้วง จะเป็น ปกรณ์ กลิ่นชม รุ่น ๑๐๒ และอีกคนชื่อ อรรครุจน์ อะไรสักอย่างขอกราบประทานโทษที่จำไม่ได้จริงๆ นะเพื่อน ส่วนขลุ่ยแล้วแต่ใครว่างก็มาเป่า ผมเองก็ต้องมาเป็นคนขลุ่ยจำเป็นอยู่หลายครั้ง

ในยุคที่ผมมีส่วนร่วม จะมีเหตุการณ์สำคัญอยู่ ๓ เหตุการณ์ เหตุการณ์แรกคือการที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมีอายุครบรอบ ๑๐๐ ปี ที่ชุมนุมของเราต้องมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่นี้ด้วย ทั้งในส่วนของการบรรเลงประกอบการแสดงและการร่ายรำ การแสดงดนตรีที่ต้องต่อเพลงเพื่อใช้ในการแสดงเพิ่มเติมหลายเพลง รวมทั้งเพลงโหมโรงสวนกุหลาบรำลึก ที่ครูจันทร์ประพันธ์ไว้สำหรับโอกาสนี้ด้วย ตอนนี้ ชุมนุมของเรามีครูจะเข้สาวน้อยวัย ๘๐ ครูแอบ ยุวนวณิชย์ แต่เก่งกาจจนน้องๆพี่ๆ ชาวจะเข้ที่เอ่ยถึงข้างต้นมีการพัฒนาการแบบก้าวกระโดดสามารถบรรเลงเพลงยากๆและเพลงเดี่ยวต่างๆแบบคล่องแคล่วเป็นที่น่าชื่นชมในฝีมือ เสียงดีดจะเข้ไล่มือทุกเช้าเป็นเสียงที่ผมได้ยินเป็นเวลาหลายปีจนกลายเป็นความเคยชิน เห็นพวกเรามีพัฒนาการจนครูจันทร์ไว้ใจในฝีมือ ทั้งในส่วนเครื่องสาย และปีพาทย์จึงมอบหมายให้ต่อเพลง ใบ้คลั่ง เถา ไว้และต่อทางร้องให้ผมเรียบร้อยรอซ้อมรวมวงเพื่อนำไปแสดงที่งานดนตรีไทยมัธยมครั้งที่ ๗ ที่โรงเรียนสตรีวิทยา แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้เล่น เพราะมีเหตุการณ์ที่สองมาแทรกเสียก่อน

ก่อนงานดนตรีไทยมัธยมครั้งที่ ๗ ปี ๒๕๒๔ ที่โรงเรียนสตรีวิทยา เป็นเจ้าภาพประมาณเดือนกว่าๆ ที่เราเตรียมเพลง ใบ้คลั่ง เถา ไว้บรรเลงนั้น เย็นวันหนึ่งที่ผมนั่งรอครูจันทร์มาสอนที่กระไดหน้าชุมนุมตามปรกติ ครูจันทร์เดินยิ้มร่าให้ผมมาแต่ไกลพลางเอ่ยกับผมว่า “มาเจ้าแก่ มาต่อเพลงชนะเลิศรางวัลพิณทองกัน” แล้ววันนั้น ครูจันทร์ก็มอบงานยากให้ผมกลับบ้านไปทบทวนเพียบ เพราะครูใช้วิธีต่อเพลงทีละประโยค ทีละกลเม็ดทุกเม็ด ทุกเอื้อน ต้องให้ได้ตามที่ครูสอนจนพอใจ ครูบอกว่าให้เอาไว้เล่นงานที่สตรีวิทย์ เล่นเอาพวกเราตกใจ เพราะต้องซ้อมให้แม่น ห้ามผิดเพราะกำลังเป็นกระแสในวงการดนตรีไทย ถ้าเล่นผิดนี่แบบเสียชื่อโรงเรียนและผู้สอนแน่นอน แถมการบรรเลงด้วยวงมโหรีมันจะมีรสชาติแตกต่างจากการบรรเลงด้วยวงเครื่องสายอย่างมาก แต่ท้ายที่สุดเราก็ทำได้อย่างสวยงามในสไตล์สวนกุหลาบเหมือนเดิม จนวงดนตรีสวนกุหลาบถือว่าเป็นวงดนตรีไทยวงแรกที่ได้บรรเลงเพลงนี้ และผมเป็นนักร้องคนแรกที่ต่อเพลงนี้จากครูโดยตรง (พี่จ้อ จันทรา สุขะวิริยะ - นักร้องวงชนะเลิศ   ท่านต่อเพลงมาจากคุณครูของพี่เค้าที่เป็นสุภาพสตรีเหมือนกัน จึงได้วิธีการร้องและกลเม็ดการร้องแบบผู้หญิงไปครับ อันนี้เพิ่งมาทราบภายหลัง เมื่อมาทวนเพลงด้วยกันแล้วมีความแตกต่างกันเล็กน้อยบางเอื้อนที่ผู้หญิงและผู้ชายเอื้อนได้ไม่ไพเราะเท่ากัน)

เหตุการณ์ที่สามเกิดขึ้นในปีถัดมา ครูจันทร์ ท่านขอลาออกจากการเป็นครูผู้สอน ทำให้ขาดครูผู้ชำนาญการในการปรับวง ขาดครูร้อง ครูเครื่องสาย เมื่อมีงานแสดงเข้ามา ประธานชุมนุมฯ และรองฯ อย่างฐนัตถ์กับผม และน้องๆร่วมประชุมว่าจะทำเช่นไรดี งานแสดงดนตรีไทยครั้งที่ ๘ ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ด้วยความที่เป็นพี่ ม.5 แล้ว มีฝีไม้ลายมือกันตามสมควร จิ๊บ วโรดม กับผมเชื่อมั่นในความสามารถของทีมเราว่าแต่ละคนแกร่งพอจะเล่นเพลงใหญ่ได้ จึงกำหนดเพลง เขมรราชบุรี ๓ ชั้น ไว้  จิ๊บ วโรดม แบกซอไปขอเป็นศิษย์ครูฉลวย จิยะจันทน์ ปี่พาทย์ได้รับการซ้อมอย่างหนักหน่วงจากครูสม เมธา หมู่เย็น ซออู้ และ ซอสามสาย พี่จักรี เป็นหัวเรือซ้อมให้ น้องหฤทธิ์ ซอสามสาย ไม่แน่ใจว่ารุ่น ๑๐๔ หรือเปล่า และ เจ้ากบ อาณัติ วัฒนเนสก์ รุ่นผม ขลุ่ยจำไม่ได้ว่าใครเป่า น่าจะเป็นชัชวาล  สมพงษ์ ส่วนตัวผมจำเพลงเขมรราชบุรีได้แล้วไปกราบเท้าครูจันทร์ถึงบ้านให้ท่านปรับทางให้ ท่านก็ชมว่าใช้ได้แล้ว ไม่อายใครหรอก ระหว่างการฝึกซ้อมช่วงท้ายๆ พวกเราได้รับความกรุณาจากครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต และครูฉลวย  จิยะจันทน์ มาเป็นที่ปรึกษาในการปรับวงให้มีความกระชับและเป็นมืออาชีพมากขึ้น ต้องขอกราบขอบพระคุณความกรุณาของคุณครูทั้งสองที่เมตตาศิษย์น้อยๆ ที่กำลังขาดหางเสืออย่างวงของเรา

ในขณะเดียวกัน ครูพังงา อาจารย์ผู้ควบคุมและที่ปรึกษา ได้แจ้งให้ฐนัตถ์และผมทราบว่า จะมีการประกวดวงดนตรีไทยระดับมหาวิทยาลัย และระดับมัธยมทั่วประเทศเพื่อความมั่นคง ครั้งที่ ๑ ให้ทางชุมนุมฯ จัดขุมกำลังที่ดีที่สุดของเราลงสนามประลองที่ สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น ดินแดงกับเขาด้วยในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๒๕ (ก่อนวันบรรเลงงานดนตรีไทยมัธยม วันที่ ๑๐ ธันวาคม เพียงวันเดียว) เราสองคนมองหน้ากันแบบพูดไม่ออก ครูผู้สอนและปรับวงก็ไม่มี แล้วงานนี้ไฟท์บังคับห้ามหลบ เพราะท่านผู้อำนวยการคนใหม่เพิ่งรับตำแหน่งหลัง อาจารย์สำเริง นิลประดิษฐ์ ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่อื่น ท่าน ผอ. ใหม่จึงคาดหวังมากว่าต้องได้รางวัลอะไรกลับมาเพื่อชื่อเสียงของโรงเรียน ตัวผมวิ่งแจ้นไปหาครูจันทร์ที่บ้านของท่าน เมื่อไปถึงท่านกำลังฝึกซ้อมให้น้องๆ โรงเรียนบูรณะศึกษา ฟังน้องๆ เค้าซ้อมพอถึงท่อนสาม เฮ๊ยดังมาก...มีทางเปลี่ยนที่กิ๊บเก๋ยูเรก้ามาก เพราะกติกาไม่ได้กำหนดว่าต้องเล่นตามโน้ตที่ให้มาทุกตัว ตอนนั้นได้แต่จำทางเปลี่ยนใส่สมองไว้กลับบ้านมาปรับทางเปลี่ยนใหม่ให้คล้ายๆ แต่ไม่เหมือน จะมีบางส่วนละม้ายเพลง สุดสายใจ เถา ใครฟังปั๊บก็จะบอกได้ทันทีว่า DNA ของครูจันทร์แน่นอน เราก็เล่นทางนั้นแหละ ส่วนทางร้องครูสุดจิตต์ท่านกรุณาร้องให้ฟังรอบหนึ่ง ผมก็เก็บกลเม็ดของท่านมาใช้ในการปรับปรุงการร้องของผมให้ได้มาตรฐานการประกวด ถึงเวลาประกวดจริงพวกเราทำกันได้ดีมาก วงภาพรวมได้รองชนะเลิศอันดับ ๓ แพ้แค่วงมืออาชีพ จากจังหวัดอ่างทอง ประเภทเครื่องมือรายประเภท ฐนัตถ์ ชนะเลิศขลุ่ย ส่วนผมรองชนะเลิศด้านขับร้องในระดับมัธยม แต่ในขณะที่ระดับมหาวิทยาลัย พี่ต๊ะ ภิชาติ เลณะสวัสดิ์ รุ่น ๙๗ ชนะเลิศซอด้วงครับ

แต่สิ่งที่พวกเราชาวชุมนุมดนตรีไทยฯ สวนกุหลาบฯ ไม่คาดคิดก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อพวกเราได้สูญเสียครูแอบ ยุวนวณิชย์ไปอย่างไม่มีวันกลับ ในเดือนธันวาคม ๒๕๒๕ ประกอบกับการเกษียณอายุราชการของครูพังงา เทียนทอง ผู้ก่อตั้งชุมนุมฯ ในเดือนกันยายน ๒๕๒๖ นั้นเอง รวมทั้งตัวผมเองที่สอบเทียบไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในปีเดียวกัน จึงเป็นการปิดยุคแรกของชุมนุมดนตรีไทยและนาฏศิลป์โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยอย่างสมบูรณ์


กุหลาบกำจายกลิ่นขจรไกล (๒๕๒๖ – ๒๕๓๕)

           ชุมนุมดนตรีไทยฯ ของเราเปลี่ยนผ่านมาอยู่ภายใต้อาจารย์ที่ปรึกษาท่านใหม่ที่สอนดนตรีไทยอยู่ในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยยุคนั้น ได้แก่ อาจารย์ระอวน  สุขเจริญ และอาจารย์ประโลม  ทับทิม และยังมีคณะอาจารย์ที่มีความสนใจในด้านดนตรีไทย ได้แก่ อาจารย์ยรรยง ทัศนพยัคห์ อาจารย์วารุณี พินทุสมิต อาจารย์ณรงค์  สุขสวัสดิ์ เป็นอาทิ เข้ามาส่วนร่วมในการประคับประคองและฟื้นฟูชุมนุมของเราหลังยุคของครูพังงา เทียนทอง ที่ท่านได้เกษียณอายุไปแล้ว อีกทั้งสถานที่ตั้งของชุมนุมดนตรีไทยฯ มีการโยกย้ายอีกครั้งกลับไปยังชั้น ๒ อาคารหลังยาวใกล้ที่ตั้งของชุมนุมดุริยางค์ ก่อนย้ายอีกครั้งไปอยู่ชั้นล่างฝั่งห้องสมุดของโรงเรียนจนกระทั่งมีการสร้างอาคารตึกปิยะมหาราชานุสรณ์เมื่อปี 2530 จึงมีการย้ายมาประจำอยู่ที่ชั้น ๒ ของอาคารจนถึงปัจจุบัน

         ทางฝั่งครูผู้สอนดนตรีก็ได้มีการปรับกระบวนทัพครั้งใหญ่เช่นกัน โดยได้รับความเมตตาจากครูเฉลิม ม่วงแพรศรี คุณครูผู้มีความสามารถด้านเครื่องสายอย่างเอกอุในยุคนั้น มาเป็นครูผู้สอนและควบคุมวง ครูทองดี สุจริตกุล หนึ่งในคุณครูจะเข้ที่ขึ้นชื่อที่สุดแห่งยุค รับมาสอนจะเข้ ครูศรีนาฏ เสริมสิริ ศิษย์เอกขับร้องจากสำนักบ้านบาตร ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นครูขับร้องที่ได้ชื่อว่าเป็นคลังทางร้องแห่งยุคเช่นกัน มาเป็นคุณครูสอนร้อง และรับช่วงต่อโดยคุณครูละเมียด ทับสุข ครูขับร้องที่มีน้ำเสียงแหลมสูงเป็นเอกลักษณ์ เมื่อคุณครูศรีนาฏมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ส่วนคุณครูสม เมธา หมู่เย็นก็ยังสอนปี่พาทย์ฯ ต่อมาอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนมือเป็นครูณัฐพงศ์ โสวัตร นักดนตรีปีพาทย์ผู้มีชื่อเสียงอีกท่านมาดูแลแทน การที่ชุมนุมดนตรีไทยฯ สวนกุหลาบ ได้รับการสอนสั่งจากทีมครูดนตรีที่มีฝีมือระดับพระกาฬ และมีประสบการณ์การบรรเลงสูงขนาดนี้ ชุมนุมฯ ได้ปั้นดาวรุ่นใหม่ประดับวงการดนตรีไทยไว้หลายท่าน ได้แก่ นายแพทย์ อนุชา  ก้องมณีรัตน์ รุ่น ๑๐๗ ผู้ที่มีฝีมือทางการขับร้องได้รับรางวัลระดับชาติถึงสองครั้ง ได้รับคำชมเชยว่าเป็นนักร้องที่มีเสียงไพเราะที่สุดเท่าที่มีมา จนทางโรงเรียนสวนกุหลาบมอบหมายให้อัดเสียงเพลงโรงเรียนทั้งหมดในยุคนั้น ไม่นับฝีมือการสีซอด้วงที่ไม่เป็นรองใครในยุคนั้น นายแพทย์ธัญญะพงศ์ ณ นคร รุ่น ๑๐๖ ผู้ชำนาญการสีซออู้และซอสามสาย รวมทั้งเป็นมือจะเข้ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง นายแพทย์พิเศษ พิเศษพงศา ผู้ชำนาญด้านการสีซอด้วงจนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับชาติ พิเศษ สะอาดเย็น รุ่น ๑๐๗ มือรางวัลซออู้อีกท่าน รวมทั้ง ปรากฏ ลิมปพัทธิ์ นักจะเข้ รุ่น ๑๐๗ มือล่ารางวัลอีกคน ไม่นับนักร้องเสียงทอง อย่าง นายเต๋า ตะวัน สุขน้อย ประพจน์ แอตาล หรือน้องโย สุริยะ สิทธิชัย รุ่น ๑๐๕ ที่สร้างผลงานที่น่าประทับใจฝากไว้เป็นชื่อเสียงของชุมนุมดนตรีไทยฯ สวนกุหลาบฯ ในวาระโอกาสต่างๆ จนสามารถเรียกว่า วงดนตรีชุมนุมดนตรีไทยฯ สวนกุหลาบฯ เป็นนักกวาดรางวัลก็สามารถอนุมานคำกล่าวนั้นได้

         เปิดศักราช ในปี ๒๕๒๖ งานประกวดวงดนตรีไทยเพื่อความมั่นคง ครั้งที่ ๒ ข้อกำหนดการประกวดให้ระดับมัธยม ให้ขับร้องและบรรเลงเพลง สาลิกาชมเดือน ๓ ชั้น และไม่ได้มีข้อบังคับว่าจะต้องเป็นวงที่ส่งประกวดจากโรงเรียนเท่านั้น น้องสวนกุหลาบฝีมือจัดจ้าน ๓ คน คือ อภิชัย เลี่ยมทอง มือระนาดเอก และวโรดม อิ่มสกุล มือซออู้ผู้ไม่มีคำว่าจนทาง รุ่น ๑๐๓ และเอกราช วงศ์เกียรติขจร รุ่น ๑๐๕ แต่รู้เพียงว่าสมัยที่ผมยังอยู่ น้องเล่นจะเข้ และช่วยพี่ๆเล่นเครื่องกำกับจังหวะ ได้ร่วมก่อตั้งวง “กอไผ่” ที่ต่อมาเป็นวงดนตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดังจนถึงปัจจุบัน ร่วมกับน้องสาธิตจุฬา อัษฎาวุธ สาคริก เหลนตาของคุณครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) ประสาร วงศ์วิโรจน์รักษ์ ผู้ชนะเลิศการบรรเลงจะเข้ในการประกวดครั้งที่แล้ว จากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ อานันท์ นาคคง นักโทนรำมะนามือฉมัง และนักร้องสาว ปิยะนุช นาคคง กวาดรางวัลชนะเลิศมาแบบวงอื่นไม่เห็นฝุ่น ภายใต้การปรับวงของครูวรยศ (จงกล)  ศุขสายชล

         หลังจากนั้น ก็เริ่มมีการประกวดต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาตามนโยบายของภาครัฐ ที่ต้องการให้เยาวชนมีความสนใจดนตรีไทยมากขึ้น และให้มีการเรียนการสอนในวงกว้างไม่ใช่กระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่น้องตะวัน สุขน้อย นักร้องรุ่นที่ ๔ (มีหลายคน)

ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ นับเป็นปีที่วงดนตรีไทยของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยมาถึงจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด วงของชุมนุมฯ ของเราชนะงานประกวดดนตรีในระดับชาติมากมายหลายรายการ มีงานบรรเลงออกอากาศวิทยุและแสดงดนตรีสู่สาธารณชนมากมาย เช่น งานแสดงดนตรี "นัจคีตา" ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ แต่งานที่น่าจะถือเป็นที่สุดของการแสดงดนตรีในขณะนั้น คือ การบรรเลงเครื่องสายไทย เพลงทยอยนอก ๓ ชั้นในงานงานสุนทรีย์ดนตรีไทย ๘๐ ปี คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ณ สโมสรทหารอากาศ บางซื่อ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน และทรงดนตรีร่วมกับครูอาวุโสในช่วงแรก งานนั้น มีครูผู้ใหญ่เกือบทุกท่านมาร่วมในงานและนำวงดนตรีมาร่วมบรรเลงตั้งแต่ช่วงเที่ยงจนกระทั่งถึงราวสามทุ่ม วงดนตรีของเราเป็นวงเด็กเพียงวงเดียวที่ได้มาร่วมบรรเลงในงานนี้ และได้รับจัดลำดับให้อยู่วงท้ายสุด ในครั้งนั้น ครูเฉลิม ม่วงแพรศรีซึ่งเป็นผู้ควบคุมวงท่านได้กำหนดให้เราบรรเลงเครื่องสายเครื่องเดี่ยวในแนวทางที่ครูโองการ กลีบชื่น ซึ่งเป็นครูของท่านและเป็นลูกศิษย์เอกคนหนึ่งของครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะท่านได้ปรับไว้ให้ โดยเฉพาะในท่อน ๓ ที่ได้กำหนดให้มีการหยุด การออกภาษาด้วยเพลงโยสลัมในช่วงโยนแรก และการเดี่ยวเครื่องจังหวะ จำได้ว่าเราต้องซ้อมกันอย่างหนักกว่าจะเล่นได้ถูกใจครู เพลงทยอยนอกนี่เลยกลายเป็นเพลงทยอยที่วงเราเล่นกันบ่อยที่สุด (พอๆกับเขมรราชบุรี) จนเมื่อถึงคราวอัดเสียงเพลงกลุ่มศิษย์ครูเฉลิม ม่วงแพรศรี ครั้งใหญ่ (ยังสามารถหาฟังได้ตาม YouTube) ในอีก ๔ ปีถัดมา โดยมี ครูละเมียด ทับสุขเป็นผู้ขับร้อง โดยศิษย์รุ่น ๑๐๔ – ๑๐๗ ได้เข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัยกัน ธัญญพงศ์ที่เรียนหมอจุฬาสีซออู้ อนุชาเรียนหมอศิริราชสีซอด้วง ญัฐพล (คนตีโทนในคลิป) สีซอสามสาย ชัชวาลย์ดีดจะเข้ และประสาร วงกอไผ่ มาเป่าขลุ่ย หน่องอานันท์ นาคคง วงกอไผ่ มาตีโทนรำมะนา เราก็ยังคงใช้แนวทางการบรรเลงเช่นนี้ และกลายเป็นเวอร์ชั่นที่หลายๆคนชื่นชอบมาจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นยุคทองอีกยุคหนึ่งของชุมนุมดนตรีไทยฯ สวนกุหลาบทีเดียว

กุหลาบบานต้องสืบสานต่อไปด้วยใจที่เข้มแข็ง

         จากรุ่นก่อนหน้านี้ การประกวดต่างๆ ตามนโยบายของภาครัฐเพื่อเสริมสร้างความกระตือรือร้นในการพัฒนาและเพิ่มจำนวนนักดนตรีไทยที่มีความรู้ความสามารถ น้องๆดนตรีไทยสวนกุหลาบก็จะมีความรับผิดชอบในการวิ่งไปประกวดตามงานต่างๆ ที่ดาหน้าเข้ามา ในขณะที่ครูบาอาจารย์ท่านก็อ่อนล้าลงตามวัยวุฒิ คุณครูทองดี คุณครูศรีนาฏ คุณครูเฉลิม ก็ค่อยๆ ทยอยเลิกสอนน้องๆ รุ่น 11x แต่ก็นับเป็นโชคดีที่ได้คุณครูละเมียด ทับสุข นักร้องเสียงระฆังทอง ที่ได้ถือว่าเป็นคลังมหาสมบัติของทางร้อง เป็นที่ยอมรับของวงการดนตรีไทยว่าไม่เป็นรองใครมาเป็นอาจารย์ผู้สอนหลัก และยังมีครูณัฐพงศ์ โสวัตร และครูประโลม (กิตติชัย) ทับทิม ดูแลทางปี่พาทย์ ภายใต้การควบคุมของอาจารย์ระอวน (สุขเจริญ) แก่นโกมล และอาจารย์ ยรรยง ทัศนพยัคฆ์ (แต่ช่วงต่อมา อาจารย์ท่านพบกับความยุ่งยากในชีวิตจากปัญหาที่เพื่อนครูด้วยกันก่อให้ทางการเงิน และท้ายที่สุดป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดจนเสียชีวิตในที่สุด)

ในช่วงเวลานี้แม้สมาชิกชุมนุมดนตรีไทย สวนกุหลาบไม่ได้มีผลงานเด่นๆ มากนัก แต่ก็มีน้องๆที่มีฝีมือเก่งกาจหลายท่าน ได้แก่  ชินวัฒน์ สุรัสวดี สีสามสายเก่งๆ ลูกศิษย์ครูเฉลิม ม่วงแพรศรี ส่วนจะเป็นรุ่นที่เท่าไรไม่มีใครบันทึกไว้ เล่ากันแต่เพียงว่าเป็นคนที่มีฝีมือมากบรรเลงได้ไพเราะจนกวาดรางวัลมาหลายรายการ อาจารย์ราชันย์ ศรชัย รุ่น115 ก็สีซออู้และด้วงได้ดีมากจนเป็นอาจารย์สอนพิเศษประจำชุมนุมดนตรีไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมีอาจารย์ซี ประชากร รุ่น 119 ที่ต่อมากลับมามีส่วนร่วมในการฝึกสอนปรับปรุงวงดนตรีไทยสวนกุหลาบวิทยาลัยในภายหลังให้กลับมามีความเข้มแข็งจนสามารถกวาดรางวัลต่างๆ กลับมาสร้างชื่อเสียงแก่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และชุมนุมดนตรีไทยของโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง

กุหลาบแตกกิ่งก้านผลิบานอีกครั้ง

ผมเนี้ยบ ปราชญา สายสุข สวนกุหลาบรุ่น ๑๒๔ ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ ผมสอบเข้าสวนกุหลาบฯ   ด้วยความสามารถพิเศษทางด้านดนตรีไทย (ระนาดเอก) ครั้งนั้นมีกรรมการสอบหลายท่าน อาทิ ครูละเมียด ทับสุข ,ครูกิตติชัย(ประโลม) ทับทิม ,ครูระอวน แก่นโกมล โดยครูกิตติชัย จะเป็นผู้สอนปี่พาทย์   ครูสอนนักเรียนได้ทั้งวง และถ่ายทอดเพลงให้ไว้มากมาย ทั้งเพลงเถา เพลงเรื่อง เพลงประจำกัณฑ์ ตลอดจนเพลงเดี่ยว และยังส่งเสริมให้ลูกศิษย์ฝึกออกงานโดยต่อเพลงมอญให้ โดยการชวนไปเรียนที่บ้านเพิ่มเติมในวันหยุด โดยไม่คิดสตางค์ เพลงที่ครูต่อให้และบรรเลงกันบ่อย ๆ เช่น เพลงโหมโรงสวนกุหลาบ ต่อยรูป ใบ้คลั่ง บังใบ  ทยอยเขมร ทยอยนอก สี่บท เย็นย่ำ พม่าเห่ ฯลฯ ส่วนเพลงเดี่ยวระนาดเอกที่ครูได้ถ่ายทอดไว้ให้ผม เช่น ลาวแพน เชิดนอก สารถี พญาโศก นกขมิ้น แขกมอญ ต่อยรูป ตลอดจนเดี่ยวขั้นสูง ท่านถ่ายทอดให้โดยมิได้ปิดบังอำพราง ถ้าลูกศิษย์สามารถปฏิบัติได้ ท่านก็จะต่อให้หมด

วงดนตรีไทยสวนกุหลาบในยุคนี้เริ่มเข้มแข็งขึ้น จึงได้มีการส่งเข้าประกวดในรายการต่าง ๆ ทั้งนี้ ครูระอวน แก่นโกมล เป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนหลัก ถึงขั้นที่ต้องออกทุนทรัพย์ส่วนตัวท่านก็ยินดี  เพื่อให้วงดนตรีไทยนี้มีโอกาสเข้าร่วมในเวทีต่าง ๆ ณ เวลานี้จึงเริ่มมีการเชิญครูท่านต่าง ๆ จากภายนอกมาปรับวงเพื่อเข้าร่วมประกวดวงมโหรีรายการประลองเพลง ประเลงมโหรี โดยเชิญครูยุทธ (รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์) เข้ามาปรับวงเพื่อส่งประกวด ซึ่งท่านได้ศึกษาการปรับวงจากคุณครูประสิทธิ์ ถาวร ทำให้การเข้าร่วมประกวดนี้ประสบผลสำเร็จได้รางวัลมากมาย นอกจากนี้ครูยุทธยังได้เชิญครูลำยอง โสวัตร และครูอัมพร โสวัตร เข้ามาปรับพื้นฐานกลุ่มเครื่องตีและขับร้องอีกด้วย และยังมีกลุ่มพี่ ๆ จากวิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพฯ มาช่วยบรรเลงเติมเต็มในวงมโหรีอีกด้วย ทั้งพี่บอย (ขับร้อง ซอด้วง) พี่น้ำค้าง (จะเข้) พี่ดวงดาว (ขับร้อง ซอสามสาย) พี่บุ๋ม สุชาดา โสวัตร (ขับร้อง) ฯลฯ นอกจากประกวดในรูปแบบวงแล้ว ยังได้ส่งประกวดเดี่ยวระนาดโดยครูยุทธได้เชิญอาจารย์ถาวร ศรีผ่อง มาถ่ายทอดทางเดี่ยวระนาดให้ผมเพิ่มเติม

นักดนตรีในรุ่นราวคราวเดียวกันกับผมที่สอบความสามารถพิเศษเข้ามา มีกัน ๓ คน ได้แก่ ๑.ผมเอง เนี้ยบ ปราชญา สายสุข ระนาดเอก ปัจจุบันเป็นอาจารย์ ประจำสาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี  ๒.ไอซ์ ณัฐพงษ์ อุดมลาภธรรม ระนาดเอก ภายหลังผันไปตีระนาดทุ้มและปัจจุบันเป็นทันตแพทย์ ๓.เอ้ก เจนพิจารณ์ จตุรธำรง ระนาดเอก ปัจจุบันคือมือแอคคอร์เดียนชื่อดัง ยังมีมือฆ้องวงเล็กรุ่นเดียวกันที่ครูกิตติชัย  จับฝึกจนตีได้ดี คือ เปอร์ สุวิกรม อัมระนันทน์ นอกจากนี้ยังมีพี่ ๆ น้อง ๆ อีกหลายคนที่สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนอีกหลานท่าน เช่น น้องเพลง ธราธร เอี่ยมละออ คนฆ้องวงใหญ่ ศิษป๋าหมัด สมชาย ดุริยประณีต ปัจจุบันท่านคือ พระมหาชลาธร อยู่ที่วัดนิมมานรดี บางแค และ น้องกัน นภัทร อินทร์ใจเอื้อ เป็นอาทิ

รางวัลที่ได้จากการเข้าร่วมประกวดในรายการต่าง ๆ

รางวัลที่ ๒ การประกวดประลองเพลง ประเลงมโหรี ปี ๒๕๔๓ ประเภทวงมโหรี (บรรเลงระนาดเอก)

รางวัลชนะเลิศ การประกวดประลองเพลง ประเลงมโหรี ปี ๒๕๔๔ ประเภทวงมโหรี (บรรเลงระนาดเอก)

รางวัลชนะเลิศ การประกวดประลองเพลง ประเลงมโหรี ปี ๒๕๔๕ ประเภทวงมโหรี (บรรเลงระนาดเอก)

รางวัลที่ชนะเลิศ การประกวดประลองเพลง ประเลงมโหรี ปี ๒๕๔๖ ประเภทวงมโหรี (บรรเลงระนาดเอก)

รางวัลชนะเลิศ การประกวดประลองเพลง ประเลงมโหรี ปี ๒๕๔๖ ประเภทเดี่ยวระนาดเอก

รางวัลชนะเลิศ การประกวดศิลปหัตถกรรมนักเรียน (สมุทรสาคร) ปี ๒๕๔๓ ประเภทเดี่ยวระนาดเอก

รางวัลชนะเลิศ การประกวดศิลปหัตถกรรมนักเรียน (สระบุรี) ปี ๒๕๔๔ ประเภทเดี่ยวระนาดเอก

รางวัลชนะเลิศ การประกวดดนตรีไทยเทิดพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราชินี ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ (นอกจากนี้ยังได้รางวัลเครื่องมือดีเด่นกันเกือบยกวง) จัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต            ปี ๒๕๔๗

รางวัลชนะเลิศ การประกวดเดี่ยวระนาดเอก ระดับประชาชน จัดโดยมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี ๒๕๔๘

         นอกจากนี้วงดนตรีไทยสวนกุหลาบวิทยาลัย ยังมีกิจกรรมทางดนตรีอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ

- เข้าค่ายปรับวงมโหรี ที่บ้านคุณครูประสิทธิ์ ถาวร โดยคุณครูประสิทธิ์ ได้เดินทางมาจากเชียงใหม่ เพื่อมาปรับวงด้วยตัวท่านเอง ในช่วงปี ๒๕๔๓ – ๒๕๔๔ ที่บ้านซอยตรอกไผ่ จรัญสนิทวงศ์

- บรรเลงออกอากาศในรายการดนตรีไทย “ทิพวาทิต” ทางช่อง ๑๑

- บรรเลงดนตรีไทย ณ บ้านโสมส่องแสง ครูมนตรี ตราโมท

- เข้าร่วมบรรเลงดนตรีในมหกรรมดนตรี ณ โรงละครแห่งชาติ



การประกวดดนตรีไทยเทิดพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราชินี ปี ๒๕๔๗


รางวัลชนะเลิศ การประกวดดนตรีไทยเทิดพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราชินี ปี ๒๕๔๗

ลงวารสารสวนกุหลาบ


วงดนตรีไทยสวนกุหลาบวิทยาลัย ชนะเลิศ ๓ ปีซ้อน รายการประลองเพลง ประเลงมโหรี


รายการทิพวาทิต ช่อง ๑๑



งานโรงเรียน (เปอร์ สุวิกรม บรรเลงฆ้องวงเล็ก)

กุหลาบแตกช่อเป็นกอใหญ่

ชุมนุมดนตรีไทยในช่วงเวลาของผม นุ้ก OSK 132 (พ.ศ.2551 - พ.ศ. 2556) และหมอมูฟ OSK 133 (2552 - 2557)

1. อาจารย์ประจำชุมนุมฯ

- อ.กิตติชัย (ประโลม) ทับทิม (อดีตข้าราชการครู) (เสียชีวิต)

- อ.เสวก โสวัตร (ข้าราชการครู ย้ายจากโรงเรียนศึกษานารีมาประจำที่สวนกุหลาบปี พ.ศ.2554)

- อ.ปานจันทร์ ปล้องทอง (ครูอัตราจ้าง ย้ายไปรับราชการครูที่จังหวัดระยองปี พ.ศ. 2552)

- อ.เรืองนนท์ นักฟ้อน (ครูอัตราจ้างปี พ.ศ.2553 - 2560 ปัจจุบันรับราชการครูที่โรงเรียนวัดช่างเหล็ก)

- อ.ปิยวรรณ แสงวิเศษ (ครูอัตราจ้างปี พ.ศ.2556 - 2560 ปัจจุบันรับราชการครูที่โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์)


2. อาจารย์พิเศษ

- อ.นัฐพงศ์ โสวัตร (ครูเฉียบ)

- อ.มัณฑนา อยู่ยั่งยืน (ครูม้วน)

- อ.จักรายุทธ ไหลสกุล(ครูยิ้ม)

- อ.ฐกฤต สุกุลกิตติไกร (ครูแชมป์)

- อ.ยุทธนา ยาจันทร์(พี่หนู)

- จ่าอากาศเอก เดชาวัต เมธีอัษฎาวุฒิ (พี่ป๊อป)


3. วงดนตรีที่ใช้ในการบรรเลงและการประกวด

- วงเครื่องสายผสมปี่พาทย์

- วงมโหรี

- วงปี่พาทย์ไม้แข็ง

- วงกลองยาว

- วงพิเศษ


4. เพลงบรรเลง

- โหมโรงสวนกุหลาบรำลึก

- โหมโรงมหาราช

- ชมแสงจันทร์ เถา

- ชเวดากอง เถา

- นกเขาขะแมร์ เถา

- แปดบท เถา

- ไส้พระจันทร์ เถา

- คีรีไพเราะ เถา

- การเวกเล็ก เถา

- เขมรละออองค์ เถา

- แขกมอญบางช้าง เถา

- มุล่ง เถา

- ทยอยเขมร สามชั้น

- เขมรไทรโยค ออกมยุราภิรมย์

- สุดสงวน สองชั้น

- นางครวญ สองชั้น

- แขกมอญบางขุนพรหม สองชั้น

- ลางจ้อย

- ลาวครวญ

- ลาวดวงเดือน

- ลาวดำเนินทราย

- เพลงอาเซียน (เรียบเรียงโดย ออก.เสวก โสวัตร)


5. ผลงานการบรรเลง

- พ.ศ. 2556 บรรเลงวงปี่พาทย์ไม้แข็ง เพลงคีรีไพเราะ เถา งานจุฬาวาทิต ครั้งที่ 180 ครูจันทร์ โตวิสุทธิ์

- พ.ศ. 2556 บรรเลงวงปี่พาทย์ไม้แข็ง เพลงคีรีไพเราะ เถา เพลงแปดบท เถา และเพลงไส้พระจันทร์ เถา และบรรเลงวงมหาดุริยางค์ เพลงลาวดวงเดือน ร่วมกับพี่ๆ ศิษย์เก่าชุมนุมดนตรีไทย สวนกุหลาบวิทยาลัย ในงานเสนาะเสียงมโหรี ฟังดนตรีในสวน ครั้งที่ 5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ณ สถาบันคึกฤทธิ์ ปราโมท

- พ.ศ.2557 งานบันทึกเทปถวายพระพรในหลวงรัชกาลที่ 9 ในนามโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สถานีวิทยุกองทัพบกช่อง 7

6. ผลงานการประกวด

- พ.ศ. 2555 รางวัลชนะเลิศ วงเครื่องสายผสมปี่พาทย์ (โดยความร่วมมือกับวงดนตรีโรงเรียนสายน้ำผึ้ง) เพลงลาวดวงเดือน รายการดนตรีไทยแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น)

- พ.ศ. 2555 รางวัลชนะเลิศ วงเครื่องสายผสมปี่พาทย์ (โดยความร่วมมือกับวงดนตรีโรงเรียนสายน้ำผึ้ง) เพลงดาบของชาติ  รายการดนตรีไทยแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ชิงถ้วยพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์และบ้านดนตรีไทยศรีผ่อง

- พ.ศ. 2556 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 วงมโหรี เพลงมุล่ง เถารายการประลองเพลง ประเลงมโหรี ครั้งที่ 27

- พ.ศ. 2557 รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 วงเครื่องสายผสมปี่พาทย์ เพลงการเวกเล็ก เถา รายการศิลปหัตถกรรม ครั้งที่ 63


กลิ่นกุหลาบกรุ่นกำจายไม่เคยจาง


ผม นายคมณัช กลิ่นสุคนธ์ (ตูน) OSK140 กุหลาบคิมหันต์ เป็นศิษย์เก่าของชุมนุมในช่วงปี

พ.ศ.2559-2565 และเป็นอดีตประธานชุมนุมดนตรีไทย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปีการศึกษาพ.ศ. 2563 ในสมัยที่ผมยังคงมีสถานะเป็นนักเรียนปัจจุบันได้มีเรื่องราวหลายอย่างเกิดขึ้น

โดยจะแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ดังต่อนี้ 1.อาจารย์ประจำชุมนุม ในช่วงที่ผมเข้ามาเป็นนักเรียนสวนกุหลาบ ชุมนุมดนตรีไทยมีครูผู้ฝึกสอน

ประจำชุมนุมหลายท่าน อาทิเช่น 1.อาจารย์ปานจันทร์ ปล้องทอง (ครูกิ๊ฟ) ผู้ฝึกสอนขับร้องและเครื่องสาย 2.อาจารย์ปิยวรรณ แสงวิเศษ (ครูกิ๊ก) ผู้ฝึกสอนขับร้อง 3.อาจารย์เรืองนนท์ นักฟ้อน (ครูนนท์) ผู้ฝึกสอนปี่พาทย์ 4.อาจารย์ดาเรศ เทวโรทร ผู้ฝึกสอนเครื่องโดยเข้ามาปิฏิบัติหน้าที่แทนอาจารย์ปิยวรรณและอาจารย์เรืองนนท์ ซึ่งได้ย้ายไปรับราชการที่โรงเรียน 2.อาจารย์พิเศษ นอกจากอาจารย์ประจำที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้วยังมีอาจารจ์พิเศษอีกหลายท่าน

เช่น 1.อาจารย์กิตติชัย(ประโลม)

ทับทิม เป็นผู้ฝึกสอนเครื่องปี่พาทย์ให้สมาชิกชุมนุมโดยท่านเป็นลุกศิษย์ของคุณครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปะบรรเลง) และเคยรับราชการเป็นอาจารย์ของสวนกุหลาบ ภายหลังจาก ท่านเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านได้สอนนักเรียนสวนกุหลาบจวบจนท่านอายุ 80 กว่าปี ท่านเพิ่งหยุดเมื่อ 2 ปี ก่อนและได้เสียชีวิตเมื่อปลายปี พ.ศ. 2566

2.รองศาสตราจารย์ ดร. ยุทธนา ฉัพพรรณรัตน์ (ครูยุทธ) จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ในช่วงที่ประกวด “ประลองเพลง ประเลงมโหรี” ท่านได้เป็นผู้ปรับวงให้ 3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประชากร ศรีสาคร (พี่ซี OSK119) จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ปรับวงและผึกสอนเครื่องสาย 4.อาจารย์ปีติกร เทียนจีน (พี่ฟลุ้ก OSK127) ผู้ฝึกสอนปี่พาทย์  5.อาจารย์วีระกิจ สุวรรณพิทักษ์ (พี่เดิ้ล OSK129) ผู้ฝึกสอนเครื่องสาย 6.อาจารย์ภาคภูมิ รุ่งเรือง (พี่อาร์ม OSK130) ผู้ฝึกสอนปี่พาทย์  7.อาจารย์พงษ์ศิริ ยอดเพชร (พี่เจ) นิสิตฝึกสอนจะเข้ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา


อ้างอิง

แก้

ลิงก์ภายนอก

แก้