คลองราชมนตรี
คลองพระยาราชมนตรี หรือที่เรียกกันสั้น ๆ คือ คลองราชมนตรี เป็นคลองใช้สำหรับการระบายน้ำ การสัญจรทางน้ำ และการท่องเที่ยว โดยคลองนี้เป็นคลองที่ขุดโดยพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยขุดแยกจากคลองบางเชือกหนัง เชื่อมกับคลองสนามชัย เป็นคลองเส้นตรงจากเหนือลงใต้
ในเวลาต่อมาได้มีการขุดคลองภาษีเจริญตัดกับคลองนี้ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้การค้าขายและการคมนาคมสะดวกขึ้น โดยคลองพระยาราชมนตรีในปัจจุบันนี้มีความกว้างประมาณ 10–25 เมตร ระยะทางตั้งแต่คลองบางเชือกหนังถึงคลองสนามชัยประมาณ 15 กิโลเมตร
ในอดีตบริเวณคลองราชมนตรี เมื่อมีคนเริ่มมาบุกเบิกตั้งที่อยู่อาศัยโดยมากจะทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ต่อมาเกิดตลาดน้ำขึ้นคือตลาดน้ำบางแคหรือตลาดน้ำหน้าวัดนิมมานรดีเป็นจุดนัดพบของพ่อค้าแม่ค้าชาวสวนเพื่อมาแลกเปลี่ยนพืชผลต่าง ๆ ตลาดน้ำบางแคตั้งอยู่ในคลองราชมนตรีตรงจุดเชื่อมต่อกับคลองภาษีเจริญ[1]
คลองราชมนตรีเป็นคลองที่ช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเล เมื่อครั้งที่น้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2526 คลองนี้มีส่วนช่วยลดแรงกดดันของมวลน้ำ[2]
เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการเวนคืนที่ดินแขวงบางแค เขตบางแค และแขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ เพื่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กและขยายบริเวณคลองพระยาราชมนตรีแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตั้งแต่ช่วงคลองหนองใหญ่ถึงคลองภาษีเจริญ มีความกว้าง 60 เมตร ยาวประมาณ 1,600 เมตร (1.6 กิโลเมตร)[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ อภิญญา นนท์นาท. ""ภาษีเจริญ" บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลง". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-15. สืบค้นเมื่อ 2022-07-03.
- ↑ "ภูมิปัญญาชาวฝั่งธนฯ ใช้คลองราชมนตรีดึงน้ำออกทะเล ไม่ต้องผ่านเจ้าพระยา". สำนักข่าวอิศรา.
- ↑ "เช็คจุดเวนคืนที่ดิน สร้างเขื่อน-ขยายคลองพระยาราชมนตรี แก้น้ำท่วม กทม". ฐานเศรษฐกิจ.