คลองบางบ่อ
คลองบางบ่อ เป็นคลองแยกจากคลองแม่กลอง ตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ไหลลงอ่าวไทยบริเวณตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม คลองมีความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร[1] ดอนหอยหลอดซึ่งเป็นสันดอนทรายมีอาณาเขตตั้งแต่ปากคลองฉู่ฉี่ถึงปากคลองบางบ่อนี้[2] ปากคลองที่ไหลลงสู่อ่าวไทยมีความกว้างประมาณ 30 เมตร สภาพน้ำในคลองเป็นคลองน้ำกร่อยตลอดปี
พื้นที่ป่าชายเลนคลองบางบ่อมีพื้นที่ประมาณ 1,242.27 ไร่ มีคลองบางบ่อตัดผ่านพื้นที่ป่าชายเลนลงสู่ทะเล ปากคลองเป็นสันดอนเชื่อมต่อกับดอนหอยหลอด บริเวณป่าชายเลนมักได้รับผลกระทบจากคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม การกัดเซาะชายฝั่งและขยะที่พัดพามาติดที่ป่าชายเลน[3]
ชุมชนริมคลองบางบ่อได้อาศัยทรัพยากรจากป่าชายเลนดำรงชีวิตและเป็นอาชีพหลัก เช่น ใช้ไม้โกงกาง โพธิ์ทะเล และใบจาก ในการก่อสร้างบ้านเรือน การเผาถ่านจากไม้โกงกาง การทำประมงชายฝั่ง เป็นต้น[4] รูปแบบบ้านพื้นถิ่นริมคลอง มีการยกใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำขังสูงจากการหนุนของทะเล ชุมชนแห่งนี้ประสบปัญหาแผ่นดินถูกกัดเซาะจากน้ำทะเล บ้านเรือนหลายสิบหลังจึงต้องรื้อถอน และอพยพครอบครัวหนีจากภัยธรรมชาติ[5]
อ้างอิง
แก้- ↑ "บทนำ". สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3.
- ↑ "การสำรวจพื้นที่เพื่อการศึกษาการแพร่กระจายแหล่งพันธุ์หอยหลอด บริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-27. สืบค้นเมื่อ 2023-04-27.
- ↑ นฤชล ภัทราปัญญาวงศ์ และ วีรกิจ จรเกตุ. (2561). การศึกษาความหลากชนิดและความชุกชุมของปูแสมในพื้นที่ป่าชายเลนคลองบางบ่อ จังหวัดสมุทรสงคราม. เรื่องเต็มการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 56: สาขาพืช, สาขาสัตว์, สาขาสัตวแพทยศาสตร์, สาขาประมง, สาขาส่งเสริมการเกษตรและคหกรรมศาสตร์. การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 56. (หน้า 769-777). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
- ↑ กึกก้อง เสือดี. "การศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในฐานะสถาปัตยกรรมยั่งยืนในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็ว : กรณีศึกษาชุมชนริมคลองบางบ่อ จังหวัดสมุทรสงคราม" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ "ผู้ใหญ่แดง นักอนุรักษ์ป่าชายเลน". ไทยพีบีเอส.