ขันธปริตร
ขันธปริตร เป็นหนึ่งพระปริตร และบทสวด 7 ตำนาน และ 12 ตำนาน รวมถึงภาณวาร ชาวพุทธนิยมสวดเพื่อป้องกันภยันตรายจากอสรพิษและสัตว์เลื้อยคลาน เนื่องจากมีเนื้อหากล่าวถึงการแผ่เมตตาให้อสรพิษประเภทต่าง ๆ แล้วขอให้สัตว์มีพิษเหล่านี้อย่าได้เบียดเบียนกัน พร้อมกับยกคุณอันประมาณมิได้ของพระรัตนตรัยขึ้นมาประกาศว่า แม้แต่สัตว์มีพิษต้องยอมสยบ
ที่มา
แก้ขันธปริตรเป็นส่วนหนึ่งของอหิราชสูตร บทว่าด้วยพระสูตรที่กล่าวถึง พญางูทั้ง 4 สกุล หรือ เรียกย่อว่า ขันธปริตต์เพียงแต่ว่า ขันธปริตร สวดเฉพาะคาถา หรือบทกวีท้ายอหิราชสูตร โดยเนื้อหาในพระไตรปิฎกอยู่ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (อง. จตุกฺก. 21.67.83) และในพระวินัยปิฎก จูฬวรรค (วิ. จูฬ. 7.251.8) อีกทั้งยังพบในชาดก ทุกนิบาต (ขุ. ชา. 27.105.56) [1]
สำหรับประวัติของพระปริตรนี้มีอยู่ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน กรุงสาวัตถี มีภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด เหล่าภิกษุจึงได้กราบทูลเรื่องนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ภิกษุดังกล่าวถูกงูกัดเพราะไม่ได้แผ่เมตตาแก่พญางูทั้ง 4 ตระกูล คืองูตระกูลวิรูปักขะ งูตระกูลเอราปถะ งูตระกูลฉัพยาปุตตะ และงูตระกูลกัณหาโคตมกะ แล้วตรัสสอนให้แผ่เมตตางูทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งก็คือคาถาขันธปริตรนั่นเอง [2]
เนื้อความในอหิราชสูตรกล่าวถึงที่มาของขันธปริตร ไว้ดังนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งในกรุงสาวัตถีถูกงูกัด ทำกาละแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งในเมืองสาวัตถีนี้ถูกงูกัด ทำกาละแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง 4 เป็นแน่ ก็ถ้าเธอพึงแผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางูทั้ง 4 ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ ตระกูลพญางู 4เป็นไฉน คือ ตระกูลพญางูชื่อวิรูปักขะ 1 ตระกูลพญางูชื่อเอราปถะ 1 ตระกูลพญางูชื่อฉัพยาปุตตะ 1 ตระกูลพญางูชื่อกัณหาโคตมกะ 1 ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุนั้นชะรอยจะไม่ได้แผ่เมตตาจิตไปยังสกุลพญางู 4 จำพวกนี้เป็นแน่ ก็ถ้าเธอพึงแผ่เมตตาไปยังตระกูลพญางูทั้ง 4 นี้ไซร้ เธอก็ไม่พึงถูกงูกัดทำกาละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุแผ่เมตตาจิตไปยังตระกูลพญางู 4 จำพวกนี้เพื่อคุ้มครองตน เพื่อรักษาตน เพื่อป้องกันตน [3]
ขณะที่อรรถกถาชาดก ยังมีตัวบทเอ่ยถึงที่ของขันธปริตรเช่นกัน โดยเรื่องมีอยู่ว่า ภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัด พระพุทธองค์ตรัสว่า ตถาคตเคยสอนขันธปริตรเมื่อครั้งที่ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นฤๅษีที่ป่าหิมพานต์ได้พำนักอยู่ร่วมกับฤๅษีเป็นอันมาก ขณะนั้นมีฤๅษีตนหนึ่งถูกงูกัดเสียชีวิต จึงสอนขันธปริตรแก่พวกฤๅษีเพื่อป้องกันภัยจากอสรพิษ [4]
เนื้อหา
แก้โดยทั่วไปแล้วพระปริตร จะเริ่มต้นด้วยบทขัด ซึ่งอธิบายที่มาที่ไปและอานิสงส์ของการสวดสาธยายพระปริตรนั้น ๆ ซึ่งขันธปริตรก็เช่นเดียวกัน โดยเริ่มจากบทขัดขันธปริตร แล้วจึงตามด้วยคาถา ซึ่งยกมาจากอหิราชสูตร
เนื้อหาของบทขัดของขันธปริตรมีดังนี้ "สัพพาสีวิสะชาตีนัง/ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ/ยัง นาเสติ วิสัง โฆรัง/เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง/อาณาเขตตัมหิ สัพพัตถะ/สัพพะทา สัพพะปาณินัง/สัพพะโสปิ นิวาเรติ /ปะริตตัง ตัง ภะณามะ เห ฯ" โดยมีคำแปลดังนี้ "พระปริตรย่อมป้องกันพิษและอันตรายอื่น ๆ ของสัตว์ทั้งปวงได้ตลอดเขตแห่งอำนาจทุกแห่งเสมอ เหมือนทิพยมนต์และโอสถทิพย์ที่ขจัดพิษร้ายของอสรพิษทั้งปวง ขอเราทั้งหลายจงร่วมกันสวดพระปริตรนั้นเถิด" [5]
จากนั้นจึงเริ่มคาถาของพระปริตร โดยมีเนื้อหาในภาษาบาลีพร้อมคำแปลภาษาไทย ดังนี้
ตัวบทภาษาบาลี
วิรูปักเขหิ เม เมตตัง/เมตตัง เอราปะเถหิ เม/ฉัพฺยาปุตเตหิ เม เมตตัง/เมตตัง กัณหาโคตะมะเกหิ จะ/อะปาทะเกหิ เม เมตตัง/เมตตัง ทวิปาทะเกหิ เม/จะตุปปะเทหิ เม เมตตัง/เมตตัง พะหุปปะเทหิ เม/มา มัง อะปาทะโก หิงสิ/มา มัง หิงสิ ทวิปาทะโก/มา มัง จะตุปปะโท หิงสิ/มา มัง หิงสิ พะหุปปะโท/สัพเพ สัตตา สัพเพ ปาณา/สัพเพ ภูตา จะ เกวะลา/สัพเพ ภัทฺรานิ ปัสสันตุ/มา กิญจิ ปาปะมาคะมา
อัปปะมาโณ พุทโธ, อัปปะมาโณ ธัมโม, อัปปะมาโณ สังโฆ, ปะมาณะวันตานิ สะรีสะปานิ, อะหิวิจฉิกา สะตะปะที อุณณะนาภิ สะระพู มูสิกา/กะตา เม รักขา กะตา เม ปะริตตัง ปะฏิกกะมันตุ ภูตานิ/โสหัง นะโม ภะคะวะโต นะโม สัตตันนัง สัมมาสัมพุทธานัง ฯ [6]
คำแปลภาษาไทย
ความเป็นมิตร ของเรา จงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อวิรูปักขะ, ความเป็นมิตรของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อเอราปถะ, ความเป็นมิตร ของเราจงมีกับ สกุลพญางู ทั้งหลาย ชื่อฉัพยาปุตตะ, ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสกุลพญางูทั้งหลายชื่อกัณหาโคตมกะ, ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า, ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก 2 เท้า, ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวก 4 เท้า, ความเป็นมิตรของเราจงมีกับสัตว์จำพวกมีเท้ามาก, สัตว์ไม่มีเท้าอย่าเบียดเบียนเรา, สัตว์ 2 เท้าอย่าเบียดเบียนเรา, สัตว์ 4 เท้าอย่าเบียดเบียนเรา, สัตว์มีเท้ามากอย่าเบียดเบียนเรา, ขอสรรพสัตว์ทั้งปวงที่มีลมปราณ มีชีวิตเป็นอยู่ จงได้พบเห็นความเจริญเถิด อย่าได้มาถึงโทษอันลามกน้อยหนึ่งเลย ฯ
พระพุทธเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ พระธรรมมีคุณหาประมาณมิได้ พระสงฆ์มีคุณหาประมาณมิได้ สัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย คือ งู แมลงป่อง จะขาบ แมลงมุม ตุ๊กแก หนู ล้วนมีประมาณ ความรักษาอันเรากระทำแล้ว ความป้องกันอันเรากระทำแล้ว ขอหมู่สัตว์ทั้งหลายจงหลีกไปเสีย เรานั้นกำลังนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอยู่ กำลังนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์อยู่ ฯ [7]
อ้างอิง
แก้- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 32. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์. คำนำ
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 32. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์. หน้า 17
- ↑ พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม 2 - หน้าที่ 214-215
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 32. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์. หน้า 17
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 32. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์. หน้า 17
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 8. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์ หน้า 28 - 30
- ↑ พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม 2 - หน้าที่ 215
บรรณานุกรม
แก้- พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม 2
- พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 8. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์
- พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). 2550. บทสวดมนต์พระปริตรธรรม 32. กรุงเทพฯ ไทยรายวันการพิมพ์