กลอนสุภาพ
กลอนสุภาพ เป็นกลอนประเภทหนึ่ง ซึ่งลักษณะคำประพันธ์ของภาษาไทย ที่เรียบเรียงเข้าเป็นคณะ ใช้ถ้อยคำและทำนองเรียบ ๆ ซึ่งนับได้ว่ากลอนสุภาพเป็นกลอนหลักของกลอนทั้งหมด เพราะเป็นพื้นฐานของกลอนหลายชนิด หากเข้าใจกลอนสุภาพ ก็สามารถเข้าใจกลอนอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น
คำประพันธ์ ที่ต่อท้ายว่า "สุภาพ" นับว่าเป็นคำประพันธ์ที่แสดงลักษณะเป็นไทยแท้ ด้วยมีข้อบังคับในเรื่อง "รูปวรรณยุกต์" ในกลอนสุภาพนอกจากมีบังคับเสียงสระเป็นแบบแผนเช่นกลอนปกติแล้ว ยังบังคับรูปวรรณยุกต์เพิ่ม จึงมีข้อจำกัดทั้งรูปและเสียงวรรณยุกต์ [1] เป็นการแสดงไหวพริบปฏิภาณและความแตกฉานในการใช้ภาษาไทยของผู้แต่งให้เด่นชัดยิ่งขึ้น
คำประพันธ์กลอนสุภาพนิยมเล่นกันมากตั้งแต่สมัยอยุธยา จวบจนถึงปัจจุบัน ในต้นรัตนโกสินทร์นั้นงานกลอนสุภาพเด่นชัดในรัชกาลที่ 2 ซึ่งเฟื่องฟูถึงขนาดมีการแข่งขันต่อกลอนสด กลอนกระทู้ ตลอดรัชสมัยมีผลงานออกมามากมาย เช่น กลอนโขน กลอนนิทาน กลอนละคร กลอนตำราวัดโพธิ์ เป็นต้น บทพระราชนิพนธ์เรื่อง เงาะป่า ก็เกิดขึ้นในยุคนี้ ยังมีกวีท่านอื่นที่มีชื่อเสียง เช่น สุนทรภู่ เป็นต้น และในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีปราชญ์กวีทางกลอนสุภาพที่สำคัญหลายท่านเช่นกัน
กลอน 4
แก้ตามหลักฐานทางวรรณคดีไทย กลอน 4 ที่เก่าที่สุดพบในมหาชาติคำหลวงกัณฑ์มหาพน (สมัยอยุธยา) แต่ต่อมาไม่ปรากฏในวรรณคดีไทยมากนัก มักแทรกอยู่ตามกลอนบทละครต่าง ๆ
ตัวอย่างกลอน 4 ในวรรณคดีไทยที่พบมี 2 แบบ [2] คือ
กลอน 4 แบบที่ 1
แก้คณะ กลอน 4 แบบนี้ บทหนึ่งจะประกอบด้วย 2 บาท บาทละ 2 วรรค วรรคละ 4 คำ (1 คำอาจมีหลายพยางค์) ตามผัง
วรรค1 วรรค2 ┌───┐ ○○○● ○●○● <--- บาทที่ 1 ─┐ ┌─────┘ วรรค3 วรรค4 รวม 2 บาท = จบ 1 บท │ ○○○● ○○○●─┐ <--- บาทที่ 2 ─┘ ┌───┐ │ ○○○● ○●○●─┘ <--- (เริ่มบทใหม่)
สัมผัส แบบกลอนทั่วไป คือ คำสุดท้ายวรรคหน้าสัมผัสกับคำที่สองของวรรคหลัง และคำสุดท้ายวรรคที่สองสัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สาม ส่วนสัมผัสระหว่างบทก็เช่นเดียวกัน คือ คำสุดท้ายวรรคที่สี่ของบทแรก สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สองของบทถัดไป (ดูตัวอย่าง)
- ตัวอย่าง กลอน 4 แบบที่ 1
เหวยเหวยอีจันทรา | ขึ้นหน้าเถียงผัว | |
อุบาทว์ชาติชั่ว | ไสหัวมึงไป |
นางจันทาเถียงเล่า | พระองค์เจ้าหลงใหล | |
ไล่ตีเมียไย | พระไม่ปรานี |
เมียผิดสิ่งใด | พระไล่โบยตี | |
หรือเป็นกาลี | เหมือนที่ขับไป | |
— บทละครครั้งกรุงเก่า เรื่อง สังข์ทอง |
กลอน 4 แบบที่ 2
แก้คณะ กลอน 4 แบบนี้ บทหนึ่งประกอบด้วย 4 บาท บาทละ 2 วรรค วรรคละ 4 คำ ตามผัง
วรรค1 วรรค2 ┌───┐ ○○○● ○●○● <--- บาทที่ 1 ─┐ ┌─────┘ วรรค3 วรรค4 │ ○○○● ○○○●─┐ <--- บาทที่ 2 │ │ รวม 4 บาท = จบ 1 บท วรรค5 วรรค6 ┌───┐ │ ○○○● ○●○●─┘ <--- บาทที่ 3 │ ┌─────┘ ○○○● ○●○●─┐ <--- บาทที่ 4 ─┘ ------------------------------ วรรค1 วรรค2 (เริ่มบทใหม่) ┌───┐ │ ○○○● ○●○● <--- บาทที่ 1 ┌─────┘ │ วรรค3 วรรค4 │ ○○○● ○○○●─┘ <--- บาทที่ 2
สัมผัสนอก ในทุกบาท คำสุดท้ายของวรรคหน้า สัมผัสกับคำที่สองของวรรคหลัง มีสัมผัสระหว่างบาทที่สองกับสาม คือ คำสุดท้ายวรรคที่สี่สัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่หก ส่วนสัมผัสระหว่างบทนั้นจะแตกต่างจากแบบแรก เนื่องจากให้คำสุดท้ายของบทแรกสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สี่ของบทถัดไป (ดูตัวอย่าง)
- ตัวอย่าง กลอน 4 แบบที่ 2
จักกรีดจักกราย | จักย้ายจักย่อง | |
ไม่เมินไม่มอง | ไม่หมองไม่หมาง |
งามเนื้องามนิ่ม | งามยิ้มงามย่าง | |
ดูคิ้วดูคาง | ดูปรางดูปรุง |
ดั่งดาวดั่งเดือน | ดั่งจะเลื่อนดั่งจะลอย | |
พิศเช่นพิศช้อย | พิศสร้อยพิศสุง |
ช่างปลอดช่างเปรื่อง | ช่างเรืองช่างรุ่ง | |
ทรงแดดทรงดุ่ง | ทรงวุ้งทรงแวง | |
— กลบทจาตุรงคนายก, ศิริวิบุลกิตติ, หลวงปีชา (เซ่ง) |
สัมผัสใน ไม่บังคับ แต่กวีมักจัดให้มีสัมผัสระระหว่างคำที่สองและคำที่สามของทุกวรรค
กลอน 6
แก้ตามหลักฐานทางวรรณคดีไทย กลอน 6 พบครั้งแรกในกลบทศิริวิบุลกิตติ สมัยอยุธยาตอนปลาย[2] นอกนั้นก็แทรกอยู่ในกลอนบทละคร แต่ที่ใช้แต่ตลอดเรื่องเริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ กนกนคร ของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.)
คณะ กลอนหก บทหนึ่งประกอบด้วย 2 บาท บาทละ 2 วรรค วรรคละ 6 คำ ตามผัง
O O O O O O | O O O O O O | |
O O O O O O | O O O O O O |
สัมผัสนอก ให้มีสัมผัสระหว่างคำสุดท้ายวรรคหน้ากับคำที่สองของวรรคหลังของทุกบาท และให้มีสัมผัสระหว่างบาทคือคำสุดท้ายของวรรคที่สองสัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สาม ส่วนสัมผัสระหว่างบท กำหนดให้คำสุดท้ายของบทแรก สัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สองของบทถัดไป
สัมผัสใน ไม่บังคับ แต่หากจะให้กลอนสละสลวยควรมีสัมผัสระหว่างคำที่สองกับคำที่สาม หรือระหว่างคำที่สี่กับคำที่ห้าของแต่ละวรรค
- ตัวอย่างกลอน 6
วันหนึ่งสากลย์คนธรรพ์ | พร้อมกันสังคีตดีดสี | |
เป็นที่เหิมเหมเปรมปรี | ต่างมีสุขล้ำสำราญ |
บางองค์ทรงรำทำเพลง | บังคลบรรเลงศัพท์สาร | |
บันเทิงเริงรื่นชื่นบาน | ในวารอิ่มเอมเปรมใจ | |
— กนกนคร, กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ |
กลอน 7
แก้ตามหลักฐานทางวรรณคดีไทย กลอน 7 พบครั้งแรกในกลบทศิริวิบุลกิตติ สมัยอยุธยาตอนปลาย[2] นอกนั้นก็แทรกอยู่ในกลอนบทละคร ไม่ค่อยมีใครใช้แต่งยาวๆ จนถึงสมัยกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ที่ท่านนำมาใช้ในพระนิพนธ์ ลิลิตสามกรุง
คณะ กลอนเจ็ด บทหนึ่งประกอบด้วย 2 บาท บาทละ 2 วรรค วรรคละ 7 คำ ตามผัง
O O O O O O O | O O O O O O O | |
O O O O O O O | O O O O O O O |
สัมผัสนอก ให้มีสัมผัสระหว่างคำสุดท้ายวรรคหน้ากับคำที่สองของวรรคหลังของทุกบาท และให้มีสัมผัสระหว่างบาทคือคำสุดท้ายของวรรคที่สองสัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สาม ส่วนสัมผัสระหว่างบท กำหนดให้คำสุดท้ายของบทแรก สัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สองของบทถัดไป
สัมผัสใน ไม่บังคับ แต่หากจะให้กลอนสละสลวยควรมีสัมผัสระหว่างคำที่สองกับคำที่สาม หรือระหว่างคำที่สี่กับคำที่ห้าหรือคำที่หกของแต่ละวรรค
- ตัวอย่างกลอน 7
เสตเตลงเกรงกริ่งนิ่งรำลึก | คัดคึกข่าวทัพดูคับขัน | |
จักเตรียมค่ายใหญ่ก็ไม่ทัน | จำกั้นกีดขวางหนทางยุทธ์ |
ตั้งขัดตาทับรับไว้ก่อน | เพื่อผ่อนเวลาให้ช้าสุด | |
จวนตัวกลัวว่าศัตราวุธ | หวิดหวุดหมดหวังในครั้งนี้ | |
— สามกรุง, กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ |
กลอน 8
แก้ตามหลักฐานทางวรรณคดีไทย กลอน 8 พบครั้งแรกในกลบทศิริวิบุลกิตติ สมัยอยุธยาตอนปลาย[2] ซึ่งค้นพบกันว่าจังหวะและลีลาลงตัวที่สุด จึงมีคนแต่งแบบนี้มากที่สุด และผู้ที่ทำให้กลอน 8 รุ่งเรืองที่สุดคือท่าน สุนทรภู่ ที่ได้พัฒนาเพิ่มสัมผัสอย่างเป็นระบบ ซึ่งใกล้เคียงกับกลบทมธุรสวาทีในกลบทศิริวิบุลกิตติ์
กลอนแปด นั้นถือว่าเป็นขนบกวีนิพนธ์พื้นฐานที่นิยมที่สุดในไทย เหตุเพราะมีฉันทลักษณ์ที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน สามารถแสดงอารมณ์ได้หลากหลาย และคนทั่วไปสามารถเข้าถึงเนื้อความได้ไม่ยาก หนึ่งในรูปแบบของกลอนแปดก็คือ รูปแบบกลอนแปดของสุนทรภู่ ซึ่งความแพรวพราวด้วยสัมผัสใน และขนบดังกล่าวนี้ก็ได้รับการสืบทอดต่อมาในงานกวีนิพนธ์ยุคหลังๆ กระทั่งปัจจุบัน
คณะ กลอนแปด บทหนึ่งประกอบด้วย 2 บาท บาทละ 2 วรรค วรรคละ 8 คำ ตามผัง
O O O O O O O O | O O O O O O O O | |
O O O O O O O O | O O O O O O O O |
สัมผัสนอก ให้มีสัมผัสระหว่างคำสุดท้ายวรรคหน้ากับคำที่สามของวรรคหลังของทุกบาท และให้มีสัมผัสระหว่างบาทคือคำสุดท้ายของวรรคที่สองสัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สาม ส่วนสัมผัสระหว่างบท กำหนดให้คำสุดท้ายของบทแรก สัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สองของบทถัดไป
สัมผัสใน ไม่บังคับ แต่หากจะให้กลอนสละสลวยควรมีสัมผัสระหว่างคำที่สามกับคำที่สี่ หรือระหว่างคำที่ห้ากับคำที่หกหรือคำที่เจ็ดของแต่ละวรรค
หลักการใช้เสียงวรรณยุกต์
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ ใช้เสียง สามัญ เอก โท ตรี จัตวา แต่ไม่นิยมเสียงสามัญ
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ห้ามใช้เสียง สามัญ หรือ ตรี นิยมใช้เสียง จัตวา เป็นส่วนมาก
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ ห้ามใช้เสียง เอก โท จัตวา นิยมใช้เสียง สามัญ หรือ ตรี
- คำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ ห้ามใช้เสียง เอก โท จัตวา นิยมใช้เสียง สามัญ หรือ ตรี
- ตัวอย่างกลอน 8
อตีเตแต่นานนิทานหลัง | มีนัครังหนึ่งกว้างสำอางศรี | |
ชื่อจัมบากหลากเลิศประเสริฐดี | เจ้าธานียศกิต์มหิศรา |
ดำรงภพลบเลิศประเสริฐโลกย์ | เปนจอมโจกจุลจักรอรรคมหา | |
อานุภาพปราบเปรื่องกระเดื่องปรา- | กฎเดชาเป็นเกษนิเวศน์เวียง | |
— กลบทมธุรสวาที , ศิริวิบุลกิตติ, หลวงปรีชา (เซ่ง) |
กลอน 9
แก้ตามหลักฐานทางวรรณคดีไทย กลอน 9 พบครั้งแรกในกลบทศิริวิบุลกิตติ สมัยอยุธยาตอนปลาย[2] เช่นเดียวกัน แต่กวีไม่ค่อยนิยมแต่งกันมากนัก เนื่องจากเห็นว่ากลอนแปดลงตัวมากที่สุด
คณะ กลอนเก้า บทหนึ่งประกอบด้วย 2 บาท บาทละ 2 วรรค วรรคละ 9 คำ ตามผัง
O O O O O O O O O | O O O O O O O O O | |
O O O O O O O O O | O O O O O O O O O |
สัมผัสนอก ให้มีสัมผัสระหว่างคำสุดท้ายวรรคหน้ากับคำที่สามของวรรคหลังของทุกบาท และให้มีสัมผัสระหว่างบาทคือคำสุดท้ายของวรรคที่สองสัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สาม ส่วนสัมผัสระหว่างบท กำหนดให้คำสุดท้ายของบทแรก สัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สองของบทถัดไป
สัมผัสใน ไม่บังคับ แต่หากจะให้กลอนสละสลวยควรมีสัมผัสระหว่างคำที่สามกับคำที่สี่หรือคำที่ห้า หรือระหว่างคำที่หกกับคำที่เจ็ดหรือคำที่แปดของแต่ละวรรค
- ตัวอย่างกลอน 9
นายชายพรานหนึ่งชาญไพรล่ำใหญ่ขยับ | ได้ยินกลองเดิรย่องกลับดูขับขัน | |
มือป้องหน้ามุ่งป่าแน่วแนวแถววัน | สุนัขย่องสุดมองขยันติดพันตาม |
มุ่งปะทะมาปะที่คนตีกลอง | เพื่อนทักจ๋าพูดหน้าจ้องพรานร้องถาม | |
เดิมแรกหูได้รู้เหตุสังเกตความ | ว่าทรงนามว่าทรามนาฎนิราศจร | |
— กลบทระลอกแก้วกระทบฝั่ง, ศิริวิบุลกิตติ, หลวงปรีชา (เซ่ง) |
กวีที่นิยมใช้กลอนเก้า คือท่านพุทธทาสภิกขุ และท่านยังนิยมเขียนแยกตามจังหวะอ่าน ทำให้คนอ่านได้ถูกต้องตามจังหวะ อ่านง่ายและเข้าใจง่าย
- ตัวอย่าง
ศีลธรรมเลว คนก็ได้ กลายเป็นผี | หาความดี ไม่ประจักษ์ สักเส้นขน | |
ศีลธรรมดี ผีก็ได้ กลายเป็นคน | ที่เลิศล้น ภูมิใจ ไหว้ตัวเอง |
ศีลธรรมต่ำ เปลี่ยนคน จนคล้ายสัตว์ | จะกินกัด โกงกัน ขมันเขม็ง | |
ศีลธรรมสูง คนสดใส ไม่อลเวง | ล้วนยำเกรง กันและกัน ฉันเพื่อนตาย | |
— ศีลธรรมกับคน : พุทธทาสภิกขุ |