กรณีอัยน์อัลเราะมานะฮ์

กรณีอัยน์อัลเราะมานะฮ์ (อาหรับ: مجزرة بوسطة عين الرمانة ,مجزرة عين الرمانة; Ain el-Rammaneh incident) หรือ การสังหารหมู่บนรถบัสในเบรุต ปี 1975 (1975 Beirut bus massacre) เป็นชื่อเรียกรวมเหตุการณ์การปะทะกันสั้น ๆ ระหว่างกองกำลังกะตาอิบ กับ แนวร่วมปาเลสไตน์ บนถนนในนครเบรุต ประเทศเลบานอน ซึ่งนิยมมองกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองเลบานอนที่กินระยะเวลาอีกนับสิบปีหลังจากนั้น[1]

กรณีอัยน์อัลเราะมานะฮ์
เป็นส่วนหนึ่งของสงครามกลางเมืองเลบานอน
โบสถ์น็อทร์ดามในอัยน์อัลเราะมานะฮ์ จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์
สถานที่เบรุต ประเทศเลบานอน
วันที่13 เมษายน 1975
เป้าหมาย แนวร่วมปลดแอกอาหรับ
ชาวปาเลสไตน์
ตาย27
เจ็บ19
พรรคกะตาอิบ
เหตุจูงใจคติต่อต้านปาเลสไตน์

ในเช้าวันที่ 13 เมษายน 1975 ด้านนอกโบสถ์นอทร์ดามเดอลาเดลีวร็องซ์ (Church of Notre Dame de la Delivrance) ในชุมชนชาวแมรอนไนต์ อัยน์อัลเราะมานะฮ์ ในเบรุตตะวันออก เมื่อสมาชิกกองโจรของกองกำลังปลดแอกปาเลสไตน์ (PLO) ราวยี่สิบคนแกว่งยิงปืนกลขึ้นฟ้ากันตามธรรมเนียม (อาหรับ: Baroud) จากบนรถ[2] ในขณะที่นักรบในเครื่องแบบของกองกำลังตรวจตรากะตาอิบ (KRF) ของพรรคกะตาอิบ[3] กำลังปิดถนนด้านหน้าโบสถ์ซึ่งในเวลานั้นกำลังประกอบพิธีศีลจุ่มครอบครัวอยู่ กลุ่มปาเลสไตน์ปฏิเสธที่จะขับรถออกไปทางอื่น กลุ่มกะตาอิบซึ่งกังวลใจจึงพยายามเข้าไปปรามโดยใช้กำลัง ซึ่งนำไปสู่การตะลุมบอนกันจนมีผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องประหลาดระหว่างสองกลุ่ม และดูไม่ได้เป็นประเด็นใด ๆ ในเวลานั้น กระนั้น ในราวชั่วโมงให้หลัง ที่เวลาประมาณสิบโมงครึ่ง กลุ่มชายพกอาวุธปืนกลุ่มหนึ่งลงจากรถที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ของแนวหน้าประชาชนเพื่อปลดแอกปาเลสไตน์ (PFLP) ซึ่งเป็นกองพันย่อยของ PLO และทำการกราดยิงภายในโบสถ์หลังดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตสี่ราย[4][5][6] ทั้งหมดเป็นทหารของกะตาอิบ โดยหนึ่งรายเป็นนายทหารระดับสูงและบิดาของเด็กที่กำลังประกอบพิธีศีลจุ่ม

หลังจากเหตุการณ์นี้ กองกำลัง KRF ร่วมกับ NLP กองพันพยัคฆ์ ทำการปิดกั้นถนนต่าง ๆ ตั้งจุดหยุดรถเพื่อตรวจเอกสารประจำตัวในย่านอัยน์อัลเราะมานะฮ์และย่านชาวคริสต์อื่น ๆ ในเบรุตตะวันออก[7] ส่วนในเบรุตอีกฟากหนึ่งซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมเป็นหลักก็มีกองกำลังของปาเลสไตน์ทำเช่นเดียวกัน

ฝั่งกะตาอิบเชื่อว่าผู้ก่อเหตุที่โบสถ์เป็นกองโจรปาเลสไตน์ จึงทำการวางแผนตอบโต้ขึ้นทันที[8] ในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้น รถบัสของ PLO ซึ่งบรรทุกสมาชิกของแนวหน้าปลดแอกอาหรับ (ALF) และพลเมืองชาวเลบานอนที่สนับสนุนปาเลสไตน์ซึ่งกำลังเดินทางกลับจากการเดินขบวนการเมืองที่เตลเอลซะอาอ์ตะร์[9] ขับผ่านถนนในย่านอัยน์อัลเราะมานะฮ์ มุ่งหน้าค่ายผู้ลี้ภัยซะบรา ขณะที่รถบัสกำลังขับผ่านซอยแคบ ๆ หน้าโบสถ์ ได้ถูกทหารของ KRF ซุ่มโจมตีกราดยิงเข้าใส่ เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บ 19 คน รวมคนขับ[10][11][12]

อ้างอิง แก้

  1. Jureidini, McLaurin, and Price, Military operations in selected Lebanese built-up areas (1979), Appendix B, B-2.
  2. O'Ballance, Civil War in Lebanon (1998), p. 1.
  3. Jureidini, McLaurin, and Price, Military operations in selected Lebanese built-up areas (1979), Appendix B, B-2.
  4. Jureidini, McLaurin, and Price, Military operations in selected Lebanese built-up areas (1979), Appendix B, B-2.
  5. Gordon, The Gemayels (1988), p. 48.
  6. Katz, Russel & Volstad, Armies in Lebanon (1985), p. 4.
  7. Katz, Russel & Volstad, Armies in Lebanon (1985), p. 5.
  8. Jureidini, McLaurin, and Price, Military operations in selected Lebanese built-up areas (1979), Appendix B, B-2.
  9. Hirst, Beware of small states: Lebanon, battleground of the Middle East (2011), p. 99.
  10. Jureidini, McLaurin, and Price, Military operations in selected Lebanese built-up areas (1979), Appendix B, B-2.
  11. Weinberger, Syrian Intervention in Lebanon: The 1975–76 Civil War (1986), p. 147.
  12. Kassir, La Guerre du Liban: De la dissension nationale au conflit régional (1994), p. 103.