ไสว วงษ์งาม มีชื่อจริงว่า ไสว สุวรรณประทีป ศิลปินพื้นบ้าน เพลงอีแซว ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินพื้นบ้าน (สาขาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2525

ไสว วงษ์งาม
ชื่อเกิดไสว สุวรรณประทีป
เกิดพ.ศ. 2465
ที่เกิดตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
เสียชีวิต18 ตุลาคม พ.ศ. 2535 (70 ปี)
แนวเพลงเพลงอีแซว
อาชีพนักดนตรีพื้นบ้าน
ช่วงปีพ.ศ. 2478 - 2535
คู่สมรสบท สุวรรณประทีป[1]
บัวผัน จันทร์ศรี

ประวัติ แก้

เบื้องต้น แก้

ไสวเกิดเมื่อปีจอ พ.ศ. 2465 ที่ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายไปล่ นางวิง ชื่อจริงคือ นายไสว สุวรรณประทีป ปู่ของท่านเป็นญาติกับภรรยาคนหนึ่งของหลวงอนุกูลราชกิจ (ทอง สุวรรณประทีป) กำนันตำบลบ้านไร่ ในฐานะเกี่ยวพันเป็นลูกหลาน จึงขอใช้นามสกุลตามท่านกำนันที่ได้รับพระราชทานมานี้ สมัยโน้นจะติติงว่านักแสดงว่าเต้นกินรำกิน เกรงคนในสกุลจะว่าได้ จึงใช้ชื่อสกุลในการแสดงว่า "วงษ์งาม"

อาชีพพ่อเพลง แก้

พ่อไสว เริ่มหัดเพลงอีแซวครั้งแรกจากนายเฉลียว ช้างเผือก ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน จากนั้นได้ฝึกฝนเพลงจากป้าพวง ที่ดอนประดู่ และนายหลาบ บ้านห้วยเจริญ อำเภอศรีประจันต์ และครูเพลงชื่อ ครูเคลิ้ม ปักษี แห่งบ้านดอนเจดีย์ ต่อมาสามารถเขียนและด้นกลอนเองได้ และสามารถร้องเพลงพื้นบ้านได้ทุกชนิด ที่ชำนาญคือเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพวงมาลัย เพลงระบำบ้านไร่ เพลงยั่ว และเพลงขอทาน ต่อมาได้มาหัดเพลงเรือกับนางบัวผัน จันทร์ศรีผู้เป็นภรรยา ไสว ใช้ชื่อในการแสดงเพลงอีแซวว่า "ไสว วงษ์งาม" เป็นพ่อเพลงที่รู้เพลงมาก ฝึกหัดเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ และจดจำเพลงเก่า ๆ เอาไว้เป็นทุน เมื่อแสดงหน้าเวทีจึงยืนเล่นได้ทั้งคืน ว่าเพลงไม่มีวันหมดและเป็นศิลปินเพลงอีแซวจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

ชีวิตคู่ แก้

พ่อไสวใช้ชีวิตคู่อยู่กินกับนางบดภรรยาคนแรก มีลูกด้วยกัน 4 คน ต่อมาเมื่อคราวมีงานเทศกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า พ่อเพลงแม่เพลงก็มารวมกันว่าเพลงในงาน หนึ่งในนั้นก็มีนางบัวผันแม่เพลงคนสำคัญที่ว่าเพลงมาแล้วพ่อไสวแก้เพลงไม่ได้ จึงตั้งใจว่าจะต้องผูกรักแม่เพลงคนนี้ให้ได้ สุดท้ายพ่อไสวก็ได้ใช้ชีวิตคู่กับแม่บัวผัน และได้ร่วมกับแม่บัวผัน จันทร์ศรี ฝึกหัดลูกศิษย์เป็นจำนวนหลายร้อยคน โดยลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียง เช่น ขวัญจิต ศรีประจันต์ ขวัญใจ ศรีประจันต์ แหยม เถื่อนสุริยา สุจินต์ ศรีประจันต์ สำเนียง ชาวปลายนา เป็นต้น

บั้นปลายชีวิต แก้

ในบั้นปลายชีวิตพ่อไสว สุวรรณประทีป ได้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร และได้เสียชีวิตลงด้วยอาการสงบด้วยโรคปอด เมื่อวันที่ 18 ตุลาตม พ.ศ. 2535 สิริอายุ 71 ปี

รางวัลเกียรติยศ แก้

- ศิลปินพื้นบ้าน (สาขาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2525

- รางวัลพระสิทธิธาดาทองคำ พ.ศ. 2535 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2536 โดยมีผู้ได้รับรางวัลหลายสาขาที่เข้ารับรางวัลกับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีการแสดงประวัติและผลงานของผู้ได้รับพระราชทานรางวัล อาทิ การขับร้องถวายพระพรโดยครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ประกอบวงปี่พาทย์ไม้นวมคณะครูบุญยัง เกตุคง เดี่ยวซอสามสายเพลงกระบองกัณฑ์โดยศาสตราจารย์อุดม อรุณรัตน์ เดี่ยวขลุ่ยเพลงวิเวกเวหา โดยครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ เดี่ยวฆ้องวงใหญ่เพลงพญาโศก โดยครูถวิล อรรถกฤษณ์ การสาธิตเชิดหนังตะลุงโดยครูจูเลี่ยม กิ่งทอง และการแสดงเพลงพื้นบ้านภาคกลางโดยแม่ครูบัวผัน จันทร์ศรี

อ้างอิง แก้

  1. [http://gotoknow.org/blog/maneewong1/130964 ประวัติและผลงานของนักเพลงพื้นบ้าน (ตอนที่ 4)