โรงแรมเอราวัณ

โรงแรมในอดีตของประเทศไทย

โรงแรมเอราวัณ (อังกฤษ: The Erawan Hotel) เป็นอดีตโรงแรมหรูในกรุงเทพมหานคร เป็นโรงแรมสมัยใหม่แห่งแรกที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจการบินระหว่างประเทศ ดำเนินการโดยบริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2499 หลังจากเกิดความล่าช้าหลายครั้งซึ่งส่งผลให้มีการก่อสร้างศาลพระพรหมเอราวัณ เพื่อปัดเป่าเคราะห์ร้าย

โรงแรมเอราวัณในปี พ.ศ. 2503

หลังจากประสบปัญหาในช่วงปีแรกของการดำเนินงาน โรงแรมเจริญรุ่งเรืองในทศวรรษ 1960 ภายใต้การบริหารของพลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ ผู้ให้ความสำคัญกับบรรยากาศแบบไทยในการตกแต่งและการบริการ แต่โรงแรมเข้าสู่ภาวะเสื่อมถอยในทศวรรษต่อมา เนื่องจากต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น โรงแรมถูกรื้อถอนในปี พ.ศ. 2531 เพื่อสร้างโรงแรมขึ้นมาใหม่ในชื่อ แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

ประวัติ แก้

การก่อตั้ง แก้

ในช่วงหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการบริการ เพื่อรองรับธุรกิจการบินระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ต่อมาประยูร ภมรมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างโรงแรมหรูที่ทันสมัย เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 45 ในปี พ.ศ. 2499 โดยดำเนินการผ่านบริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2496 โดยมีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นประธานกรรมการคนแรก[1]

เดิมบริษัทมีแผนจะสร้างโรงแรมที่สวนลุมพินี แต่แนวคิดนี้ถูกปฏิเสธ จึงเลือกสถานที่บริเวณมุมตะวันออกเฉียงใต้ของแยกราชประสงค์ ซึ่งเดิมสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้ให้บริษัท โรงแรมพระนคร จำกัด กู้เงินซื้อสำหรับสร้างโรงแรม แต่ไม่สามารถตกลงเจรจากันได้ รัฐบาลจึงได้ซื้อที่ดินดังกล่าวมูลค่า 6.6 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นหุ้นให้สำนักงานทรัพย์สินฯ จำนวน 5 ล้านบาท และชำระเป็นเงินสด 1.6 ล้านบาท อนึ่ง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เจ้าของที่ดินดังกล่าว ได้เข้าถือหุ้นของบริษัทสหโรงแรมไทยฯ ด้วย[1]

การก่อสร้างเริ่มขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน แต่โครงการประสบกับความล่าช้าและอุบัติเหตุหลายครั้ง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากแผน 20 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท มีกระแสข่าวลือที่ว่าความล้มเหลวนั้นเกิดจากสาเหตุเหนือธรรมชาติ ต่อมาบริษัทได้เชิญพลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ (อั๋น สุวรรณภาณุ) ผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์เข้ามาเพื่อหาฤกษ์ในการเปิดโรงแรม

พล.ร.ต. หลวงสุวิชานแพทย์ ท้วงติงว่า ในการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม "เอราวัณ" นั้น เป็นชื่อของช้างทรงของพระอินทร์ ถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องมีการบวงสรวงที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขจะต้องขอพรจากพระพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป และจะต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากการก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรม[2][3][4]

อาคารโรงแรมออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ [5] มีหลังคาจั่วประดับบนโครงสร้างสี่ชั้นซึ่งมีห้องพัก 175 ห้อง (ต่อมาขยายเป็น 250 ห้อง) โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เดินทางมาทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499[2] [3]

การดำเนินงาน แก้

ในช่วงแรกของการดำเนินงาน โรงแรมประสบปัญหาเนื่องจากขาดความเชี่ยวชาญในหมู่พนักงานชาวไทย แต่กลับประสบความสำเร็จเมื่อพลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ ที่เพิ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคนแรก (ปัจจุบันคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ได้รับการว่าจ้างให้บริหารโรงแรมในปี 2503 เฉลิมชัยปรับปรุงโรงแรมโดยเน้นภาพลักษณ์ความเป็นไทยซึ่งสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของโรงแรม[2] การปรับปรุงนี้รวมถึงการตกแต่งภายในโรงแรม ส่งเสริมภาพลักษณ์พนักงานต้อนรับโดยใช้สตรีวัยรุ่น การให้บริการอาหารไทยในร้านอาหาร และการสวมชุดไทยของพนักงาน ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้นำไปใช้ที่โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล และโรงแรมดุสิตธานี ในเวลาต่อมา[6]

โรงแรมเอราวัณเจริญรุ่งเรืองในทศวรรษ 1960 โดยมีบุคคลสำคัญและคนดังจากต่างประเทศจำนวนมาก แต่ได้เสื่อมถอยในช่วงทศวรรษ 1970 เนื่องจากไม่สามารถเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากโรงแรมเอกชนอื่น ๆ ภาครัฐมีความพยายามฟื้นฟูกิจการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 จนกระทั่งคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการปรับปรุงกิจการโรงแรมเอราวัณ โดยการร่วมทุนกับภาคเอกชน ซึ่งบริษัทที่ได้เข้าร่วมทุนในครั้งนั้นคือ บริษัท อัมรินทร์ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปัจจุบันคือกลุ่มเอราวัณ) โดยมีการแถลงข่าวร่วมทุน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 เพื่อดำเนินการจัดตั้งบริษัท โรงแรมเอราวัณ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทร่วมทุน และปิดกิจการโรงแรมเอราวัณเดิม เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2531[1][7] เพื่อก่อสร้างโรงแรมใหม่ คือ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เปิดตัวในปี พ.ศ. 2534 โดย Hyatt Hotels and Resorts Corporation.

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "ประวัติบริษัทฯ ยุคแรกปี พ.ศ. 2499–ปี พ.ศ. 2530". www.sahathaihotel.com. The Syndicate of Thai Hotels and Tourists Enterprises. สืบค้นเมื่อ 3 September 2021.
  2. 2.0 2.1 2.2 Ünaldi, Serhat (2016). Working Towards the Monarchy: The Politics of Space in Downtown Bangkok. Honolulu: University of Hawaii Press. pp. 128–129. ISBN 9780824855758.
  3. 3.0 3.1 Grossman, Nicholas, บ.ก. (2009). "Erawan Hotel opens after series of delays". Chronicle of Thailand: Headline News Since 1946. Singapore: Editions Didier Millet. p. 89. ISBN 9789814217125.
  4. "เทวดาสี่แยกราชประสงค์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-28. สืบค้นเมื่อ 2022-03-18.
  5. ชาตรี ประกิตนนทการ (2004). Kānmư̄ang læ sangkhom nai sinlapa sathāpattayakam : Sayām samai Thai prayuk chātniyom การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. Bangkok: Matichon. p. 432. ISBN 9743233237.
  6. Chua, Lawrence (2021). Bangkok Utopia: Modern Architecture and Buddhist Felicities, 1910–1973. Honolulu: University of Hawaii Press. p. 181. ISBN 9780824887735.
  7. Grossman, Nicholas, บ.ก. (2009). "Landmark Erawan Hotel closes its doors". Chronicle of Thailand: Headline News Since 1946. Singapore: Editions Didier Millet. p. 281. ISBN 9789814217125.