วัดราชา (จังหวัดลพบุรี)

วัดร้างในจังหวัดลพบุรี

วัดราชา เป็นโบราณสถานร้าง ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองชั้นในด้านทิศใต้ ในตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

วัดราชา
แผนที่
ที่ตั้งตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
ประเภทโบราณสถานร้าง
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดราชาน่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่าง พ.ศ. 2208–2220 ยังไม่พบหลักฐานว่าใครสร้างเมื่อใดแน่[1] มีโบราณสถานบางแห่งในกลุ่มวัดราชาที่พบหลักฐานว่าถูกสร้างเพิ่มเติมขึ้นในสมัยหลัง ได้แก่ อาคารไม้ทรงปั้นหยา 2 ชั้น จำนวน 2 หลัง ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลพบุรี 1 หลัง อาคารสำนักงานศิลปากรที่ 4 ลพบุรี อีก 1 หลัง อาคารไม้สักทั้ง 2 หลังนี้ สร้างขึ้นโดยท่านพระครูลวบุรีคณาจารย์ (เนียม ภุมมสโร) เจ้าอาวาสวัดเสาธงทองเมื่อราว พ.ศ. 2473 น่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้เป็นประมุขของบรรดาพระสงฆ์ในเมืองลพบุรี ต่อมาภายหลังวัดราชานี้ได้เปลี่ยนสภาพเป็นวัดร้างไปและได้มีการสร้างโรงเรียนและตัดถนน รวมถึงมีการสร้างสิ่งก่อสร้างบริเวณนี้

วัดราชาได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานสำหรับชาติ ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 หน้า 904 วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479 และเล่มที่ 101 ตอนที่ 146 วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2527 กำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ จำนวน 6 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 123 วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2523 สิ่งที่ขึ้นทะเบียน ได้แก่ ตึกสมเด็จพระสังฆราช ช่องระบายอากาศ และฐานอุโบสถ[2]

วัดราชาได้รับการขุดแต่งและเสริมความมั่นคงแล้วเมื่อ พ.ศ. 2536 ตึกสมเด็จพระสังฆราชมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมีต้นไม้และวัชพืชขึ้นปกคลุม ส่วนช่องระบายอากาศได้รับการดูแลให้อยู่ในสภาพดีอยู่ในสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขต 2 ตึกทรงปั้นหยา 2 หลังได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมแล้ว อยู่ในสภาพดี[3]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดราชา". สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-09-27. สืบค้นเมื่อ 2022-09-27.
  2. "วัดราชา (ร้าง)". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  3. "วัดราชา(ร้าง)". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.