วัดพระธาตุดอยตุง

วัดในจังหวัดเชียงราย

วัดพระมหาชินธาตุเจ้า (ดอยตุง) (ชื่อตามจารึกหินอ่อนที่กรอบประตูพระอุโบสถ) (ไทยถิ่นเหนือ: ) หรือเรียกโดยทั่วไปว่า วัดพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่เรียกว่าหน้าอกของดอยนางนอน ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ซึ่งดอยตุงมีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายประมาณ 46 กม. และมีพระธาตุดอยตุงประดิษฐานอยู่บนยอดดอย สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลเนื่องจากพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณสองพันเมตร

วัดพระธาตุดอยตุง
พระธาตุดอยตุง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระธาตุดอยตุง
ที่ตั้งตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 57220
นิกายเถรวาท มหานิกาย
ความพิเศษพระธาตุประจำปีเกิด ปีกุน
หมายเหตุทางแคบ ชัน คดเคี้ยว มีโค้งรัศมีแคบจำนวนมาก ควรขับรถด้วยความระมัดระวัง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

 
หลุมปักเสาตุงตามตำนานการก่อสร้างพระธาตุดอยตุง

ตามตำนานสิงหนติโยนกและตำนานพระธาตุดอยทุงเมืองเชียงแสนกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยดินแดง ประทับบนหินก้อนหนึ่งมีรูปทรงเหมือนมะนาวผ่าซีก และทำนายว่าที่นี่จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) และบอกพระอานนท์ว่า หลังพระองค์ปรินิพพาน ให้พระมหากัสสปะนำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่นี่

พ.ศ. 1 สมัยพญาอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นองค์ที่ 3 พระมหากัสสปะได้อัญเชิญโกศแก้วปัทมราช บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) มายังเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่น แล้วบอกเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าได้ทำนาย พญาอชุตราชยินดี จึงให้สร้างโกศเงิน โกศทองคำเข้าซ้อนโกศแก้วปัทมราช บูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้ แล้วแห่ออกจากเมืองไปยังยอดดอยดินแดง พระมหากัสสปะตั้งโกศประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนหินที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ แล้วอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุจมลงในหินประมาณ 8 ศอก พญาอชุตราชขอซื้อที่จากปู่เจ้าลาวจกและย่าเจ้า 1,000 คำ ด้านละ 3,000 วา และถวายครัวมิลักขุ 500 ครัวดูแลพระธาตุ พระมหากัสสปะได้ให้ทำตุง (ทุง) เสายาว 8,000 วา ตุงยาว 7,000 วา กว้าง 500 วา ปักบูชาพระธาตุ จึงเรียกว่า ดอยทุง (ดอยตุง) แต่นั้นมา

กัมมะโลฤๅษีได้มาอยู่อุปัฏฐากพระธาตุบริเวณดอยมุงเมือง ต่อมาแม่กวางตัวหนึ่งมาดื่มน้ำปัสสาวะพระฤๅษี ตั้งท้องเกิดลูกเป็นกุมารีน้อย กัมมะโลฤๅษีเก็บมาเลี้ยง ตั้งชื่อว่านางปทุมมาวติ เมื่ออายุได้ 16 ปี พญาอชุตราชได้มาสู่ขอนางไปเป็นมเหสีด้วยทองคำ 400,000 คำ กัมมะโลฤๅษีให้นำทองคำนั้นไปหล่อเป็นรูปกวางสมมุติเป็นแม่ให้นางปทุมมาวติกราบไหว้ทุกวัน

พ.ศ. 100 สมัยพระองค์มังรายนราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นองค์ที่ 4 ตำนานสิงหนติโยนกว่า พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 150 องค์ ส่วนตำนานพระธาตุดอยทุงเมืองเชียงแสนว่า สุรเทโวฤๅษีได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 50 องค์ พระองค์มังรายนราชยินดี ให้ทำโกศเงิน โกศทองคำ โกศแก้วเข้าซ้อนกัน แล้วแห่ออกจากเมืองไปยังยอดดอยทุง (ดอยตุง) ตั้งโกศประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนหินที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุสมัยพญาอชุตราช แล้วอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุจมลงในหินประมาณ 7 ศอก พระองค์มังรายนราชให้ก่อเจดีย์ครอบหินสูง 7 ศอก บุเงินจังโก ทองจังโก ประดับแก้ว 7 ประการ ฉลองพระธาตุ 3 เดือน แล้วซื้อครัวมิลักขุ 500 ครัวที่พญาอชุตราชเคยถวายมาถวายพระธาตุอีกครั้ง ปู่เจ้าลาวจกและย่าเจ้าได้อุปัฏฐากพระธาตุ ด้วยอานิสงค์จึงไปจุติเป็นเทวบุตรและเทวธิดาบนสวรรค์

พ.ศ. 219 สมัยพระองค์เพิง กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนครไชยบุรีราชธานีศรีช้างแส่นองค์ที่ 8 พระมหารักขิตเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมา 9 องค์ พระองค์เพิงให้ทำโกศเงิน โกศทองคำ โกศแก้วเข้าซ้อนกัน แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งบรรจุที่ดอยโยนกปัพพตะ ส่วนหนึ่งบรรจุที่พระธาตุดอยทุง (ดอยตุง) ส่วนหนึ่งบรรจุที่พูกวาวหัวเวียงไชยนารายณ์เมืองมูล แต่เนื่องจากไม่สามารถประดิษฐานในหินที่เดียวกับที่เคยฝังพระบรมสารีริกธาตุได้ เพราะมีการสร้างเจดีย์ครอบทับแล้ว จึงสร้างเจดีย์อีกองค์ทางทิศตะวันออกของเจดีย์องค์เดิม เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในครั้งนี้ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 221 ฉลองพร้อมกันทุกแห่ง ทำให้พระธาตุดอยทุง (ดอยตุง) มีเจดีย์ 2 องค์

พ.ศ. 270 สุรเทพาฤๅษีได้มาอุปัฏฐากพระธาตุดอยทุง (ดอยตุง) สร้างศาลาอยู่ที่ทางทิศตะวันตก ได้นำพระบรมสารีริกธาตุ 15 องค์มาอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุจมลงในหินรูปร่างเหมือนช้างมูบ (ช้างหมอบ) ประมาณ 5 ศอก แล้วก่อเจดีย์บนหินสูง 7 ศอก สุรเทพาฤๅษีอยู่รักษาอุปัฏฐากพระธาตุ 100 ปีก็จุติยังพรหมโลก คนทั้งหลายเรียกพระธาตุช้างมูบ พ.ศ. 300 กัมปติสโลเทวบุตรได้นำต้นนิโครธจากเมืองกุสินารามาปลูกทางทิศเหนือของพระธาตุช้างมูบ สูง 7 ศอก มีกิ่งก้านสาขา 4 กิ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่ค้นพบหลักฐานที่เก่าถึงยุคสมัยโยนกนครตามที่ตำนานอ้างไว้

สมัยพญามังราย ได้เสด็จขึ้นมาไหว้พระธาตุ และให้เวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ

สมัยพญาไชยสงคราม ได้เสด็จขึ้นมาไหว้พระธาตุ และให้เวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ พร้อมถวายที่ดินด้านละ 3,000 วา

สมัยพญากือนา ได้เสด็จขึ้นมาไหว้พระธาตุ และให้เวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ พร้อมถวายที่ดินด้านละ 3,000 วา

สมัยพระเจ้าติโลกราช ได้เสด็จขึ้นมาไหว้พระธาตุ โปรดฯ ให้ทำเอกสารคัมภีร์เกี่ยวกับบริเวณที่พระธาตุประดิษฐานอยู่ เพื่อ “ตั้งตำนาน” ของพระธาตุ และให้ทำตราหลาบเงินเพื่อเวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ พร้อมถวายที่ดินด้านละ 3,000 วาเช่นเดิม

สมัยพญายอดเชียงราย เชียงใหม่เกิดฝนแล้ง พระราชมารดาจึงถามพลพวกดาบเชียงแสนว่าเมืองเชียงแสนแล้งหรือไม่ พลพวกดาบทูลว่าเมืองเชียงแสนยังฝนตกบริบูรณ์ เพราะมีการสรงน้ำพระธาตุดอยทุง (ดอยตุง) ทำให้เกิดฝนตกลงมา พระราชมารดากับพญายอดเชียงรายจึงปลงพระราชอาชญาให้นำน้ำ 7 รินมาอบด้วยมธุรสต่างๆ ใส่ในไหจีนพร้อมเครื่องสักการะบูชา 2 ไห นำไปสรงน้ำพระธาตุดอยทุงในเดือน 8 เพ็ง (เหนือ) ทำให้เกิดฝนตกทั่วเมืองเชียงใหม่ พญายอดเชียงรายจึงให้ทำตราหลาบเงินเพื่อเวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ พร้อมถวายที่ดินด้านละ 3,000 วาเช่นเดิม พระราชมารดาให้ทานกลอง 1 พร้อมเครื่องบูชากหาปณะพันหนึ่ง

สมัยพญาแก้ว เสด็จมาบำเพ็ญทานศีลในเมืองเชียงแสน พวกน้อยปากเชียงได้นำตำนานวัดดอยทุงและบรรณาการเข้ากราบทูลไหว้สาพญาแก้ว พญาแก้วให้ทำโกศทองคำน้ำหนักพันหนึ่งกับทองคำพันหนึ่งและเครื่องบูชาถวายพระธาตุ พร้อมเวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ ถวายที่ดินด้านละ 3,000 วา

พ.ศ. 2122 นรธามังช่อ มาครองเมืองเชียงใหม่ หมื่นวัดดอยทุงและสังฆโมลีเจ้านำตำนานมหาธาตุและคัมภีร์ที่พระเจ้าติโลกราชให้ทานนั้นกับบรรณาการเข้ากราบทูล นรธามังช่อให้ทำหลาบเงินเวนทานครัวมิลักขุ 500 ครัวไว้อุปัฏฐากดูแลรักษาพระธาตุ[1] [2] [3]

พ.ศ. 2147 บรมบพิตรพระเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน (เจ้าฟ้ากาเผือก) พระมหาสมเด็จราชครูเจ้าวัดพระหลวง พระสังฆโมลี พร้อมอำมาตย์ ได้สร้างรูปหล่อพระฤๅษีกัมมะโลพร้อมคำจารึกคำไหว้พระธาตุบนดอยตุง ตำนานพระธาตุดอยตุงโดยย่อ ตั้งไว้บนบริเวณดอยตุง (ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัรฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน)[4]

ต่อมาพระธาตุดอยตุงทรุดโทรมมาก พ.ศ. 2470 ครูบาศรีวิชัยได้มาบูรณะองค์พระธาตุขึ้นใหม่ โดยสร้างครอบองค์เดิมให้มีทรงแบบเดิม สูงประมาณ 5 เมตร สร้างรูปปั้นเสือไว้ทั้ง 4 มุม สร้างวิหารสำหรับไหว้พระธาตุ 1 หลังพร้อมพระประธานปูนปั้นภายในวิหาร 1 องค์ ใช้ระยะเวลาบูรณะ 4 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2470-2474 ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 3,205 รูเปีย

ภายหลังวิหารกับพระประธานได้ถูกภัยธรรมชาติทำให้ทรุดโทรม ส่วนองค์พระธาตุยังมีสภาพปกติแต่หมองคล้ำไป พ.ศ. 2499 นางทองคำ ฮั่นตระกูลได้รับเป็นเจ้าภาพลงรักปิดทองพระธาตุดอยตุงทั้ง 2 องค์

พ.ส. 2500 องสรภาณมธุรส (บ๋าวเอิง) เจ้าอาวาสวัดสมณานัมบริหาร ร่วมกับนางทองคำ ฮั่นตระกูล สร้างอุโบสถและพระประธาน พร้อมรูปเคารพหมอชีวกโกมารภัจจ์[5]

ในปี พ.ศ. 2516 กระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างพระธาตุองค์ใหม่ครอบพระเจดีย์เดิมไว้ องค์พระธาตุเป็นสีทองขนาดเล็กสององค์ สูงประมาณ 5 เมตร บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซุ้มจระนำสี่ทิศ องค์ระฆังและปลียอดมีขนาดเล็ก ออกแบบโดยนายประกิต (จิตร) บัวบุศย์ การสร้างพระธาตุองค์ใหม่นั้นใช้วิธีหล่อคอนกรีตมาประกอบครอบเจดีย์คู่ทั้งสององค์ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงแบบขององค์พระธาตุดังกล่าวสามารถอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมไว้ภายในได้[6]

ในปี พ.ศ. 2549 กรมศิลปากรมีโครงการรื้อถอนรูปแบบศิลปกรรมของพระธาตุดอยตุงที่กระทรวงมหาดไทยได้ก่อครอบพระธาตุองค์เดิมไว้[7][8] โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นไปตามร้องขอของคนท้องถิ่นไปทางจังหวัด และส่งต่อมายังสำนักโบราณคดีเชียงใหม่ ให้ช่วยฟื้นฟูพระสถูปในสมัยที่ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะไว้ตามภาพถ่ายที่ปรากฏอยู่ในวิหารพระธาตุดอยตุง ซึ่งคณะทำงานได้มีการหารือต่อเจ้าคณะอำเภอแม่สายแล้ว และได้ให้นำพระสถูปครอบที่ถอดออกมาไปตั้งไว้ที่วัดน้อยพระธาตุดอยตุงซึ่งอยู่ด้านล่างก่อนขึ้นดอยพระธาตุ จากนั้นจึงทำการบูรณะพระสถูปเจดีย์ให้กลับมาอยู่ในสภาพดั้งเดิมสมัยครูบาศรีวิชัยให้แล้วเสร็จก่อนเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 21 ล้านบาท โดยรวมค่าปรับปรุงภูมิทัศน์ อาทิ ปรับปรุงพื้นที่ลานพระธาตุให้กว้างขึ้น รื้อโรงเก็บวัสดุอุปกรณ์ เคลื่อนย้ายพระสังกัจจายน์และพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางต่างๆ ไปตั้งประดิษฐานในสถานที่ที่เหมาะสม ปรับปรุงภูมิทัศน์ฐานบันไดนาคทางขึ้น เพื่อความสะดวกต่อพุทธศาสนิกชนซึ่งไปนมัสการพระธาตุเป็นจำนวนมากของทุกปี

รูปแบบศิลปกรรม แก้

รูปแบบสมัยล้านนาและการบูรณะของครูบาศรีวิชัย

ส่วนฐาน ฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ถัดจากฐานเขียงเป็นส่วนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ประดับลูกแก้วอกไก่เพียงเส้นเดียวที่ท้องไม้ (ครูบาศรีวิชัยปรับเป็นลูกแก้วธรรมดา) อยู่ในผัง 8 เหลี่ยม

ส่วนกลาง ส่วนรองรับองค์ระฆังทำเป็นฐานเขียงซ้อนกัน 2 ฐานในผัง 8 เหลี่ยม รองรับบัวปากระฆังและองค์ระฆัง 8 เหลี่ยม (ครูบาศรีวิชัยบูรณะส่วนองค์ระฆังให้สูงขึ้นกว่าเดิม)

ส่วนยอด บัลลังก์แบบชุดฐานบัวรูป 8 เหลี่ยม เหนือบัลลังก์ปั้นรูปกลีบบัวหวายรายรอบรับบัวฝาละมีรูปบัวคว่ำในแผนผังทรงกลม รองรับปล้องไฉน ปลียอด

รูปแบบดังกล่าวเป็นเจดีย์ทรงระฆังแปดเหลี่ยม ศิลปกรรมล้านนาตอนปลายราวพุทธศตวรรษที่ 21 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ได้เสนอว่าพระธาตุดอยตุงเปรียบเทียบรูปแบบได้กับพระธาตุดอยสุเทพที่สร้างขึ้นในสมัยพระเมืองเกษเกล้า โดยมีการทำส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นเหลี่ยม พระธาตุดอยสุเทพเป็น 12 เหลี่ยม ส่วนพระธาตุดอยตุงเป็น 8 เหลี่ยม ซึ่งเชื่อว่าการทำส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นเหลี่ยมนี้ไม่เก่าไปกว่าพระธาตุดอยสุเทพ จึงเชื่อว่าพระธาตุดอยตุงน่าจะสร้างในราวปี พ.ศ. 2129 เพราะมีการพรรณาถึงการทำนุบำรุงพระธาตุดอยตุงถึง พ.ศ. 2129 โดยนรธามังช่อ[9]

รูปแบบของอาจารย์ประกิต (จิตร) บัวบุศย์

ส่วนฐาน ฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกสูง รับชั้นฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขององค์เจดีย์แต่ละองค์ที่แยกออกจากฐานชั้นล่าง รองรับชุดฐานปัทม์ที่มีลวดบัวลูกแก้วแทรกระหว่างหน้ากระดานท้องไม้ 1 ชุด

ส่วนกลาง องค์พระธาตุทำเป็นทรงเรือนธาตุยกสูงย่อมุม (12 มุม) แต่ละด้านของเรือนฐานทั้ง 4 ด้านทำเป็นซุ้มจระนำยื่นออกมาด้านละ 1 ซุ้ม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนด้านละ 1 องค์

ส่วนยอด เหนือเรือนธาตุขึ้นไปเป็นชุดฐานปัทม์หรือฐานบัวรูป 8 เหลี่ยม รองรับบัวปากระฆังและองค์ระฆังทรงกลม โดยที่องค์ระฆังทำเป็นบัวลูกแก้วรัดอกคั่นกลางองค์ระฆัง ส่วนบนขององค์ระฆังไม่ตั้งบัลลังก์ แต่ทำเป็นปล้องไฉนแบบลูกแก้วกลมขนาดใหญ่ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 3 ชั้น รับปลียอดทรงน้ำเต้า 2 ชั้นและเม็ดน้ำค้างรูปดอกบัวตูม

บริเวณฐานไพทีและฐานเขียงรองรับองค์พระธาตุทั้ง 2 ประดับผิวด้วยกระเบื้องดินเผาผิวเรียบมันปูทะแยง องค์พระธาตุตั้งแต่ชุดฐานปัทม์ถึงเม็ดน้ำค้างประดับด้วยโมเสคสีทองตลอดทั้งองค์ โดยรอบฐานไพทีทำเป็นช่องทางขนาดเล็กเป็นทางประทักษิณภายใน แนวกำแพงแก้วเตี้ย เปิดช่องทางเข้าออกทางด้านท้ายอุโบสถ ตั้งฉัตรที่มุมกำแพงแก้วทั้ง 4 มุม[10]

ระเบียงภาพ แก้

ความหมายของตุง แก้

ตุง นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของชาวล้านนา หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง การมีชัยชนะ ในวัดจะมี รอยปักตุง เป็นรอยแยกบนพื้น ยาวประมาณ 1 ฟุต อยู่ด้านหน้าพระธาตุ เชื่อกันว่า เป็นรอยแยกที่ใช้ปักฐานตุงบูชาพระธาตุ สร้างมาประมาณ 1,000 ปีแล้ว พระบรมธาตุดอยตุงเป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 3

อ้างอิง แก้

  1. กรมศิลปากร. ประชุมตำนานพระธาตุ ภาคที่ 1 และภาคที่ 2. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางเอิบ อุมาภิรมย์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2513.
  2. . ใบลานตำนานโยนกนครเชียงแสน ฉบับวัดเชียงมั่น เชียงใหม่.
  3. . ใบลานตำนานสิงหนติโยนก ฉบับวัดลำเปิง เชียงราย.
  4. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1441
  5. * สมาคมชาวลำพูน. ครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่ม ๓ : ตามรอยการปฏิสังขรณ์ก่อสร้างปูชนียสถานโบราณวัตถุ จังหวัดลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก และสุโขทัย. กรุงเทพฯ : พี.พี.เค.การพิมพ์, 2561. ISBN 978-616-93082-0-1
  6. เผยโฉมพระธาตุดอยตุงฉบับล้านนา
  7. หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2549
  8. "ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-03-10.
  9. พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. "พระธาตุดอยตุง" ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 11 ฉบับที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2533
  10. กรมศิลปากร. พระธาตุเจ้าดอยตุง : บันทึกว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนา. กรุงเทพฯ : ถาวรกิจการพิมพ์, 2552. ISBN 978-974-417-978-4

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดแผนที่ แก้

20°19′40″N 99°49′32″E / 20.327726°N 99.825636°E / 20.327726; 99.825636