ตุง คือ ธงแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา พบเห็นได้ในภาคเหนือของประเทศไทย ทำด้วย ผ้า ไม้ โลหะ ด้าย หรือกระดาษ เป็นรูปแถบยาว ห้อยลง ใช้ประดับ หรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ โดยมีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับพิธีกรรมที่ใช้ตุง

ประเภทของตุง แก้

  • ตุงช่อ หรือตุงจ้อ ทำด้วยกระดาษสีต่าง ๆ (ส่วนมากเป็นกระดาษว่าว) และตัดให้มีลายต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสวยงามของตุง (ส่วนมากมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก) ใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งในพิธีกรรมเช่น พิธีสืบชะตา พิธีส่งเคราะห์ และพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่เป็นต้น [1]
  • ตุง 12 ราศี หรือตุง 12 นักษัตร ชาวล้านนาเรียกว่าตุงปี๋ใหม่เมือง ผืนตุงทำด้วยกระดาษว่าวหรือกระดาษสา บนผืนตุงพิมพ์รูป 12 นักษัตรลงไป ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาพร้อมกับเจดีย์ทรายในป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองของชาวล้านนา [2]
  • ตุงไส้หมู ทำด้วยกระดาษตัดเป็นรูปลวดลายสวยงาม ใช้ถวายเป็นพุทธบูชาพร้อมกับเจดีย์ทรายในป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองของชาวล้านนา เช่นเดียวกับตุง 12 ราศี หรือตุง 12 นักษัตร [3]
  • ตุงผ้า (ตุงทอหรือไย) ทำด้วยผืนผ้าหรือทอด้วยเส้นไยฝ้าย บางแห่งใช้ผ้าดิบ (ปัจจุบันใช้ผ้าลูกไม้แทนก็มี) ขนาดความยาวตั้งแต่ 2 เมตร ไปจนถึง 4-5 เมตร บางแห่งอาจจะทอให้มีความยาวกว่านั้นตามวัตถุประสงค์ หรือที่เรียกว่าตุงซาววา (ซาว หมายถึง 20) ผืนตุงถักทอให้มีลวดลายสวยงาม ปัจจุบันชาวบ้านนิยมใช้กระดาษสีต่าง ๆ ฉลุลายติดลงไปบนผืนตุงให้เกิดความสวยงามมากขึ้น ตุงประเภทนี้ใช้สำหรับงานมงคลทั่วไปหรือใช้ถวายเป็นพุทธบูชา และงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ [4]
  • ตุงแดง มีลักษณะเช่นเดียวกับตุงผ้าหรือตุงทอ แต่พื้นตุงทำด้วยผ้าสีแดงเท่านั้น ตุงแดงนี้ชาวล้านนาจะใช้สำหรับงานอวมงคลหรือใช้เป็นตุงถอน (ตุงถอน หมายถึง ตุงที่ใช้ถอนเอาสิ่งไม่ดีออกไป) ซึ่งส่วนมากจะใช้สำหรับคนตายที่เสียชีวิตแบบไม่ปกติ เช่น อุบัติเหตุหรือถูกฆาตกรรม (ภาษาชาวบ้านเรียกว่าตายโหง) โดยมีความเชื่อว่าเป็นการถอดถอนเอาดวงวิญญาณออกไปจากสถานที่แห่งนั้น เพื่อให้หลุดพ้นจากสถานที่นั้น ๆ และไปเกิดหรือไปอยู่ในที่แห่งใหม่ หากจะสังเกตให้ดีเวลาเดินทางในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนบน แล้วเห็นว่ามีตุงแดงปักไว้ตามข้างถนนต่าง ๆ แสดงว่า ณ จุดนั้นมีคนเสียชีวิตและมีพิธีถอนตามความเชื่อของชาวล้านนา ที่น่าสังเกตคือจำนวนผืนตุงที่ปักไว้ในสถานที่นั้น ๆ จะบ่งบอกถึงจำนวนผู้ที่เสียชีวิต ณ ที่นั้นด้วย [5]
  • ตุงร้อยแปด ทำด้วยกระดาษสี ใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์
  • ตุงค่าคิง ทำด้วยกระดาษว่าวสีขาว ใช้ในพิธีสะเดาะเคราะห์และงานสงกรานต์
  • ตุงเปิ้ง เป็นตุงประจำปีเกิด
  • ตุงไชย หรือตุงไจ ทำด้วยผ้ารูปสามเหลี่ยม มีหลายหลากสี บนผืนผ้ามักจะสลักลายหรือทำลวดลายรูปนักษัตรต่าง ๆ ที่เป็นมงคล หรือฉลุลายอื่น ๆ ให้เกิดความสวยงาม ตุงไชยนี้ในสมัยโบราณจะใช้ในการออกศึกสงครามด้วย เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความโชคดีและชัยชนะ ปัจจุบันเราจะเห็นชาวล้านานำเอาตุงไจมาเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญกฐิน
  • ตุงสามหาง ทำด้วยผ้าทอ และกระดาษประเภทต่าง ๆ เช่น กระดาษสา กระดาษแก้ว กระดาษว่าว ใช้ในงานอวมงคล เป็นธงสัญลักษณ์ของตุงที่ใช้ในงานศพ โดยเป็นตุงที่ใช้นำหน้าศพไปสุสาน โดยจะมีปู่อาจารย์เป็นผู้แบกตุงสามหางนำขบวนศพ ตุงสามหางจะมีรูปร่างเหมือนคนแต่ตั้งแต่เอวลงไปจะเป็น 3 แฉก เรียกว่า 3 หาง ซึ่งตุงสามหางนี้อาจเปรียบได้กับปริศนาธรรม คือ อาจหมายถึงไตรวัฏฏ์ คือ วงจรแห่งทุกข์ ได้แก่ กิเลส กรรม และวิบาก หรือไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยงแท้ ความเป็นทุกข์ ความมิใช่ตัวตน คือความไม่เที่ยงของสังขาร คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
 ทั้งยังเป็นอุทาหรณ์และเครื่องเตือนสติให้ได้คิดไปหลายอย่าง ผู้ถือตุงสามหางนิยมให้ผู้มีความฉลาดหลักแหลม และเป็นผู้ที่ที่มีความประพฤตตนอยู่นความดีงามของศีลธรรมด้วย บ้างว่าตุงสามหางนี้เมื่อคนเราละสังขารไปแล้ว  ต้องได้ไปรับกรรมที่ตนทำไว้ขณะยังมีชีวิตอยู่  และต้องขึ้นไปกราบไหว้พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีที่อยู่บนสรวงสวรรค์  โดยจะใช้ตุงสามหางนี้เป็นเครื่องสักการะ [6]
  • ตุงเหล็ก-ตุงตอง ทำด้วยแผ่นโลหะทองเหลือหรือสังกะสี มี 2 สี คือสีเงินและสีทอง ลักษณะรูปร่างทำเป็นรูปคล้ายรูปคน แต่ไม่มีขาหรือชายตุงแบบตุงสามหาง แต่ชายตุงจะมีรูปที่แหลมออกไปมีชายเดียว ตุงเหล็ก-ตุงตองนี้ชาวล้านนาใช้เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว ตุงเหล็ก-ตุงตองนี้จะแขวนอยู่ด้วยกันเสมอ เราจะพบเห็นได้ง่ายในปอยข้าวสังข์ หรืองานบุญชาวล้านนาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติหรือผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว [7]
  • ตุงกระด้าง ทำด้วยไม้หรือโลหะ แกะสลักส่วนมากลวดลายที่แกะบนตุงกระด้างเป็นรูป 12 นักษัตร สร้างขึ้นเพื่อถวายเพื่อเป็นพุทธบูชา ตุงกระด้างสามารถพบเห็นทั่วไปตามสองข้างทางขึ้นวิหาร (โบสถ์) ของชาวล้านนา ปัจจุบันได้มีการทำตุงกระด้างเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองหรือของท้องถิ่นมากขึ้น [8]
  • ตุงพระบด ทำด้วยผืนผ้าลงสีพื้นด้วยสีน้ำ และวาดภาพพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธประวัติเพื่อถวายเป็นพระพุทธบูชาในเทศกาลหรืองานสำคัญต่าง ๆ ของชาวล้านนา ส่วนใหญ่จะสร้างขึ้นเป็นคู่เช่นเดียวกับตุงกระด้าง
  • ตุงดิน (หรือตุงไม้ ตุงเหียก ตุงเงิน ตุงคำ ตุงข้าวเปลือก ตุงข้าวสาร) คือ ตุงที่ใช้ในการเทศน์หรือใช้ในพิธีตั้งธรรมหลวงหรือเทศน์มหาชาติในเดือนยี่เป็งหรือเดือนสี่เป็ง โดยชาวล้านนาจะปักตุงในกัณฑ์เทศน์ หรือประดับตามอาคารที่มีการเทศน์ ตามคติความเชื่อของคนล้านนานั้นเชื่อว่าถ้าทำตุงประกอบการเทศน์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแล้วจะได้อานิสงส์มาก และการถวายตุงเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ล่วงลับก็เช่นกัน ชาวล้านนาเชื่อว่าอานิสงที่ยิ่งใหญ่นี้จะช่วยให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ได้รับอานิสงค์นั้นและจะได้ไปสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นที่ดีและพ้นจากความทุกข์ยากลำบากในการใช้กรรมต่าง ๆ ในปรภูมิด้วย [9]

หลายท่านอาจเข้าใจว่าตุงเป็นธง แต่อันที่จริงแล้วตุงไม่ใช่ธง ตุงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเชื่อต่างๆ เช่น ตุงที่มีการแบ่งเป็น 7 ช่องซึ่งหมายถึง สวรรค์ทั้ง 7 ชั้น เป็นต้น [ต้องการอ้างอิง]

ข้อมูลภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. พนมกร นันติ
  2. พนมกร นันติ
  3. พนมกร นันติ
  4. พนมกร นันติ
  5. พนมกร นันติ
  6. พนมกร นันติ
  7. พนมกร นันติ
  8. พนมกร นันติ
  9. พนมกร นันติ
  • สมภพ ภิรมย์. พลเรือตรี ช่อฟ้า นาคเบือน ตุง. [ม.ป.ท.] : องค์การค้าคุรุสภา, พ.ศ. 2545. ISBN 974-0086-30-6

แหล่งข้อมูลอื่น แก้