วัดช้างเผือก (จังหวัดสมุทรสงคราม)

วัดในจังหวัดสมุทรสงคราม

วัดช้างเผือก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

วัดช้างเผือก
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระปลัด เชาวลิต กิตฺติโสภโณ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดช้างเผือกเป็นวัดโบราณไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง เริ่มประกาศตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2235 เรียกชื่อว่า "วัดช้างเผือก" มาแต่เดิม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 แต่เดิมบริเวณตำบลบางช้างเป็นป่าทึบเป็นที่อาศัยของโขลงช้างจำนวนมาก มีเรื่องเล่ากันว่า บริเวณที่ตั้งวัดนี้เป็นที่หลบซ่อนอาศัยของช้างเผือกและช้างธรรมดาในสมัยโบราณที่ทำสงครามต้องอาศัยช้างด้วย ปรากฏหลักฐาน คือ บริเวณที่ตั้งอุโบสถเดิม (ทรงไทยไม้สัก) มีเสาตะลุงช้างสำหรับผูกช้าง ปัจจุบันดินได้ทับถมจมอยู่แถวหน้าอุโบสถ มีคลองช้าง มีทางเดินช้างที่มาอาบน้ำและดื่มน้ำในลำแม่น้ำ มีความยาวประมาณ 600 เมตร (15 เส้น) ตั้งแต่หน้าอุโบสถเก่า ปัจจุบันได้ถูกถมไปหมดแล้ว เป็นบ้านเรือน ถนนปลายคลองช้างจรดคลองบางพรหม[1]

อาคารเสนาสนะและวัตถุมงคล แก้

หอไตรกลางน้ำอาคารไม้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาจัตุรมุขเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้น 2 ชั้น วิหารไม้สักเดิมคือพระอุโบสถหลังเก่า ลักษณะเป็นอาคารไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง

ปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระประธานในอุโบสถของเก่าเป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัยและพระพุทธรูปหล่อปางอุ้มบาตรหุ้มด้วยทองขาว (อุโบสถหลังเก่ายังอนุรักษ์ไว้) ตู้พระธรรมขาสิงห์ตู้พระธรรมไม้มีลายรดน้ำจำนวน 2 ใบ ใบแรกมีลายรดน้ำแสดงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุโดยเรือสำเภา ใบที่สองเป็นภาพเรื่อง รามเกียรติ์ ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ใบเสมาหินทรายแดง ลักษณะส่วนบนโค้งแหลมและเรียวเล็กลงด้านบนมีลายประจำยามด้านล่างเป็นลายประจำยามครึ่งดอก ธรรมาสน์ไม้ด้านล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยมทึบ มีภาพจิตรกรรมรูปนักดนตรีและวิถีชีวิตชาวบ้าน เรือนธาตุสูงโปร่ง[2]

เกจิอาจารย์ แก้

วัดช้างเผือกมีความเจริญรุ่งเรืองมากสมัยพระอธิการคุณ เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในทางวิปัสสนากรรมฐาน อาจารย์ธุดงค์ และราชมูล เล่ากันว่าท่านรักษาเด็กเจ็บไข้ด้วยการเสกด้านผูกข้อมือเด็กและเสกข้าวปั้นให้หญิงมีครรภ์รับประทาน เพื่อคลอดง่ายเป็นที่เสื่อมใสและนิยม บรรดาสานุศิษย์ และผู้เคารพนับถือได้ปั้นรูปของท่านไว้เป็นอนุสรณ์ วัดยังมีวัตถุมงคลสร้างโดยหลวงพ่อรุณ ที่โด่งดัง คือ พระปิดตาสูญญัง[3]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดช้างเผือก". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดช้างเผือก". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  3. แทน ท่าพระจันทร์. "หลวงพ่อรุณ วัดช้างเผือก". ข่าวสด.