ช้างเผือก

สัตว์

ช้างเผือก (อังกฤษ: White Elephant) คือช้างที่มีลักษณะต่างจากช้างธรรมดาทั่วไป ด้วยมีนัยน์ตา และเล็บสีขาว รวมถึงสีผิวที่อ่อนกว่าช้างธรรมทั่วไป อาจจะเป็นสีชมพูหรือสีขาวก็ได้ โดยที่มิใช่เป็นสัตว์เผือก[1] จัดได้ว่ามีลักษณะที่หาได้ยาก จึงเป็นที่เชื่อกันว่าช้างเผือกเป็นสัตว์ที่เป็นมงคลให้แก่ผู้ที่เป็นเจ้าของ และเป็นเครื่องมงคลชนิดหนึ่งในสัปตรัตนะแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ได้แก่ จักรแก้ว ช้างแก้ว (ช้างเผือก ชื่อ อุโบสถ) ม้าแก้ว มณีแก้ว นางแก้ว คฤหบดีแก้ว และ ปรินายกแก้ว

ภาพช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์ในจิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์หิมพานต์

ประวัติ แก้

จากความเชื่อในพระพุทธศาสนา ช้างเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นมงคลแห่งการบำเพ็ญบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ ดังปรากฏในชาดกเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เคยเสวยพระชาติเป็นพระยาช้างที่ทรงบำเพ็ญบารมี เช่น พระยาฉัททันต์และพระยาช้างปัจจัยนาเคนทร์[2] ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการบำเพ็ญบารมีในพระเวสสันดรชาดก และพระยาเศวตมงคลหัตถี หรือพระยามงคลนาคในทุมเมธชาดก และตามพระพุทธประวัติ เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์ ก็ทรงพระสุบินเห็นช้างเผือกนำดอกบัวมาถวาย อันเป็นนิมิตว่าผู้มีบุญญาธิการเพียบพร้อมด้วยบารมี ได้มาอุบัติเป็นมนุษย์สู่พระครรภ์มารดาทางพระนาภีเบื้องขวาในรูปของช้างเผือก ช้างเผือกจึงเป็นที่นับถือว่าเป็นสัตว์มงคลที่สำคัญประเภทหนึ่ง ในพระพุทธศาสนา โดยจะพบว่าสัญลักษณ์ในมงคล 108 ปรากฏในรอยพระพุทธบาทนั้นมีรูปช้างมงคล 2 เชือก

จะเห็นได้ว่า ช้างนั้นได้รับความสนใจศึกษาลักษณะได้อย่างละเอียด มีการแบ่งช้างออกตามลักษณะดีและลักษณะอัปมงคล ดังปรากฏในตำราคชลักษณ์ ช้างที่มีลักษณะมงคลนั้นก็จะถูกคัดเลือกออกมาเฉพาะนำมาน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นช้างต้น เพื่อเป็นราชพาหนะแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ช้างที่มีลักษณะเป็นมงคลซึ่งเป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งแต่โบราณ คือ ช้างเผือก หรือช้างสำคัญ ซึ่งเมื่อพบแล้วจะถูกนำน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีรับและขึ้นระวางสมโภชเป็นพระยาช้างต่อไป แต่เดิมคำว่าช้างต้นจะหมายถึงช้างหลวงของพระมหากษัตริย์ ทั้งช้างเผือกและช้างทรงที่เป็นราชพาหนะ โดยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ช้างต้นจะหมายถึงช้างเผือกเป็นสำคัญ

จากการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำริเห็นความสำคัญของช้างเผือกจึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาดาราตราช้างเผือกขึ้น ใน พ.ศ. 2404 เพื่อพระราชทานแก่ ผู้มียศต่างๆ ในราชอาณาจักรโดยให้ทำเป็นดาราทองคำ มีรูปช้างเผือกสลักตรงกลาง เหนือขึ้นไปเป็นพระมหามงกุฏมีทั้งดาราที่มีเครื่องสูงประดับและไม่มีเครื่องสูงประดับ และถ้าพระราชทานชาวต่างประเทศที่มีความดีความชอบ ดาราก็จะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้น คือ มีรูปเสาธงอยู่บนหลังช้าง

ดาราตราช้างเผือกได้มีการสถาปนาเพิ่มเติมขึ้นอีกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพายขึ้นและปรับเปลี่ยนลวดลายและกำเนิดชั้นของดาราใหม่ จนในปี พ.ศ. 2432 เรียกว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก มี 8 ชั้น

ลักษณะ แก้

 
พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ช้างสำคัญในรัชกาลที่ 9

ตามความหมายในพระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า พระพุทธศักราช 2464 ในสมัยรัชกาลที่ 6 กำหนดช้างซึ่งมีลักษณะพิเศษไว้ 3 ชนิด ตามมาตรา 4 ระบุไว้ว่า

  • "ช้างสำคัญ" มีคชลักษณะ 7 ประการ คือ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาวหรือสีคล้ายหม้อใหม่ ขนหางขาว อัณฑโกศขาวหรือคล้ายสีหม้อใหม่
  • "ช้างสีปลาด" [ปะหฺลาด] คือ ช้างที่มีมงคลลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 7 อย่างที่กำหนดไว้ในคชลักษณะของช้างสำคัญ
  • "ช้างเนียม" มีลักษณะ 3 ประการ คือ พื้นหนังดำ งามีลักษณะดังรูปปลีกล้วย เล็บดำ

พระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า พระพุทธศักราช 2464 นี้ไม่มีชนิดใดเรียกว่าช้างเผือก แต่คนไทยทั่วไปคุ้นเคยกับคำว่า "ช้างเผือก"

เมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทราบว่ามีช้างเผือก ณ ที่ใด จะกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้ผู้เชี่ยวชาญการดูคชลักษณ์ไปตรวจดูอีกครั้ง โดยต้องคำนึงถึงลักษณะอันเป็นมงคลอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น เวลาที่ช้างหลับ ถ้ามีเสียงกรนประดุจเสียงแตรสังข์ถือว่าเป็นมงคล ถ้าเสียงกรนคล้ายคนร้องไห้ถือว่าเป็นอัปมงคล แม้จะมีคชลักษณ์สมบูรณ์ก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีตำราคชลักษณ์กล่าวว่า การดูลักษณะช้าง ให้พึงพิจารณาลักษณะ 10 ประการ คือ ขน หาง จักษุ เล็บ อัณฑโกศ ช่องแมลงภู่ ขุมขน เพดาน สนับงา ข้างในไรเล็บ ถ้าต้องกับสีกาย เป็นศุภลักษณะใช้ได้ ถ้านับสีกายด้วยก็เป็น 11 ประการ

ความเชื่อเกี่ยวกับช้างเผือก แก้

 
ช้างเผือก ณ เมืองเนปยีดอ, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ กล่าวถึงต้นกำเนิดของช้าง ในเรื่องการสร้างโลกว่าพระวิษณุ (พระนารายณ์) ขณะที่บรรทมอยู่ในเกษียรสมุทรทรงแสดงเทวฤทธิ์อธิษฐาน ให้มีดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภี 1 ดอก ดอกบัวนี้มี 8 กลีบ และมีเกสร 173 เกสร พระวิษณุได้ทรงนำดอกบัวนี้ไปถวายแด่พระศิวะ (พระอิศวร) ซึ่งพระองค์ได้ทรงแบ่งดอกบัวและเกสรดอกบัวนั้นออกเป็น 4 ส่วน และทรงแบ่งให้กับเทวะองค์อื่นๆ อีก 3 องค์ คือ ทรงเก็บไว้เอง ,ทรงแบ่งให้พระวิษณุ,ทรงแบ่งให้พระพรหม และทรงแบ่งให้พระอัคนิ (พระเพลิง) โดยองค์เทวะทั้งสี่ได้ทรงสร้างช้างขึ้นองค์ละตระกูล ดังที่ปรากฏในตำราคชลักษณ์ จึงมีช้าง 4 ตระกูล และช้างทั้ง 4 ตระกูลเหล่านี้ยังถูกแบ่งออกเป็นวรรณะ เช่นเดียวกับการแบ่งวรรณะของคนอินเดียด้วย คือ

  • อิศวรพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระอิศวรหรือพระศิวะ ทรงสร้าง จัดเป็นช้างชาติกษัตริย์
  • พรหมพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระพรหมทรงสร้าง จัดเป็นช้างชาติพราหมณ์
  • วิษณุพงศ์ เป็นช้างในตระกูลที่พระวิษณุหรือพระนารายณ์ทรงสร้างจั้ดเป็นช้างชาติแพศย์
  • อัคนิพงศ์ เป็นช้างในตระกูที่พระอัคนิหรือพระเพลิงทรงสร้าง จัดเป็นช้างชาติศูทร

ความเชื่อของคนไทยกับช้างเผือก เป็นช้างที่เกิดขึ้นเพราะพระบารมีของพระมหากษัตริย์ แต่อันที่จริงช้างเผือก หรือช้างสำคัญ มี 3 ชนิดดังกล่าว ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดมีช้างเผือกมาสู่พระบารมีจำนวนมาก ก็จะถือว่าเป็นมงคล บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อสำนักพระราชวังตรวจคชลักษณ์ว่าเป็นช้างเผือกหรือช้างสำคัญแล้ว ก็จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยจะน้อมเกล้าฯ ถวายช้างสำคัญ และมีพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ พระมหากษัตริย์องค์ใดได้พบช้างเผือกเป็นจำนวนมาก แสดงว่า พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงถึงพร้อมด้วยบุญญาภินิหารบารมีมากและมักถวายพระนามพระองค์ว่า พระเจ้าช้างเผือก ดังเช่น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น

ในความเชื่อของชาวพม่า ซึ่งนับถือศาสนาพุทธแบบเถรวาทเช่นเดียวกับไทย เชื่อว่า ใครได้พบกับช้างเผือกเสมือนกับได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งในอดีตชาติเคยเสวยชาติเกิดเป็นช้างเผือก[1]

ในตำนานพุทธประวัติ กล่าวว่าช้างเผือกนั้นคือสัญลักษณ์แห่งความรู้ และ การเกิด คืนก่อนวันประสูติของพระพุทธเจ้า พระมารดาของพระองค์ทรงสุบิณท์ ถึงช้างเผือก มอบดอกบัวให้พระนาง ดอกบัวอันหมายถึงความบริสุทธิ์และความรู้

ตำนานไตรภูมิ มีบทหนึ่งกล่าวถึงช้างเผือกว่า: " มหาราชมีครบซึ่งสิ่ง 7 ประการ ภริยาที่สมบูรณ์ ขุมสมบัติคณานับ ผู้ปรึกษาแผ่นดินที่ดี ม้าที่วิ่งเร็ว กฎการปกครองที่ดี แก้วแหวนอันเป็นสิ่งสำคัญ และช้างเผือกที่สง่างาม"

ขนช้างเผือกโดยเฉพาะขนหางถือว่าเป็นเครื่องรางของคลังชนิดหนึ่งสามารถป้องกันเสนียดจัญไรแก่ผู้ที่มีไว้ครอบครองได้ จึงนิยมนำมาทำเป็นแหวนติดตัว และพระแส้หางช้างเผือกของพระมหากษัตริย์ก็ทำมาจากขนหางช้างเผือกเช่นกัน

เชื่อกันว่าเด็กคนใดที่มักจะเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่แข็งแรง หรือเลี้ยงยาก ถ้านำเด็กคนนั้นไปลอดใต้ท้องช้างเผือกครบ 3 รอบ จะกลับมาแข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้ป่วยบ่อยๆอีก และเลี้ยงง่าย

หากมีเหตุต่างๆแกช้าง เกิดขึ้นแก่ช้างเผือก เช่น เจ็บ งาหักหรือล้มถือว่าเป็นลางร้ายของแผ่นดิน จะเกิดอาเพศภัยร้ายแรงขึ้นแก่บ้านเมืองและประชาชนหรือเมื่อบ้านเมืองจะเกิดวิกฤตการณ์ ช้างเผือกจะมีอาการประหลาดๆ ให้เห็นดังเช่นในประเทศพม่าในตอนที่แม่ทัพอังกฤษเข้าเฝ้าพระเจ้าสีป่อ เพื่อเชิญเสด็จไปจากประเทศพม่า ช้างเผือกก็ส่งเสียงร้องเหมือนคนร้องไห้และดิ้นรนมิได้หยุด หมอควาญจะปลอบอย่างไรก็มิได้สงบ ซึ่งหลังจากที่พระเจ้าสีป่อเสด็จออกไปนอกประเทศและชาวอังกฤษเข้ามาปกครองแทนแล้ว ช้างเผือกก็ล้มโดยมิได้เป็นโรคอะไร

วัฒนธรรม แก้

 
"ธงช้าง" ลักษณะเป็นรูปช้างเผือกเปล่า ยืนหันหน้าให้เสา บนพื้นธงสีแดงเกลี้ยง ใช้เป็นธงชาติสยาม พ.ศ. 2398 - 2459
 
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก

ช้างเผือกถือเป็นสิ่งสำคัญของชาติไทย เริ่มจากการนำรูปช้างเผือกติดไว้บนธงสีแดง ซึ่งเดิมถือเป็นธงประจำชาติไทย ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นธงไตรรงค์ การกำหนดไว้ในเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกทั้ง 8 ชั้น ชั้นสูงสุด คือ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) การสร้างเหรียญกษาปณ์ไทย ธนบัตรรูปช้างสามเศียร และแสตมป์ที่มีรูปช้าง การสร้างภาพยนตร์ไทยเรื่องพระเจ้าช้างเผือก ตราสมาคมต่างๆ นอกจากนี้ตราช้างเผือกยังได้รับราชทานพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 6 ให้ใช้เป็นตราประจำกองลูกเสือของอังกฤษ "King of Siam's Own Troop of Boy Scouts" หรือ "K.S.O." อีกด้วย

ในปัจจุบัน ยังนำคำว่า "ช้างเผือก" มาใช้ในแวดวงการศึกษาและแวดวงกีฬา โดยเปรียบเปรยถึงเยาวชนซึ่งอาศัยอยู่ต่างจังหวัดที่เรียนเก่งระดับหัวกะทิ หรือมีความสามารถทางกีฬาเป็นเลิศ และได้โควตาพิเศษเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ หรือมาเป็นนักกีฬาทีมชาติตามโครงการช้างเผือก[3]

ในภาษาอังกฤษคำว่า "white elephant" มีความหมายในเชิงลบ ซึ่งหมายถึงของที่ใหญ่และหายาก แต่มักจะไม่มีใครต้องการ เนื่องจากต้องเสียค่าดูแลหรือค่าบำรุงสูง มีที่มาจากการมอบของหรือสิ่งใดให้กับศัตรูหรือผู้ที่ไม่ชอบ ซึ่งคนผู้นั้นจะถูกบังคับให้ต้องดูแลสิ่งของหายากนั้นไปโดยปริยาย และสูญเสียเงินในการดูแลจนล้มละลาย[4]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "ข่าวฟ้ายามเย็น 22 09 57 เบรก3". ฟ้าวันใหม่. 22 September 2014. สืบค้นเมื่อ 27 September 2014.
  2. "ช้างปัจจัยนาเคนทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-17. สืบค้นเมื่อ 2007-08-05.
  3. "ช้างเผือก ๑ น." ราชบัณฑิตยสถาน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-27. สืบค้นเมื่อ 2014-09-22.
  4. "Home : Oxford English Dictionary". oxforddictionaries.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-02. สืบค้นเมื่อ 2013-04-25.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้