ประยอม ซองทอง (1 มกราคม พ.ศ. 2477 - 10 ธันวาคม พ.ศ. 2564) เป็นนักเขียนชาวไทย ที่มีชื่อเสียงจากการเขียนกลอน มีผลงานรวมเล่มตีพิมพ์เป็นจำนวนมาก และยังมีผลงานเขียนบทความรณรงค์การใช้ภาษา และบทความเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2548

ประยอม ซองทอง

เกิด1 มกราคม พ.ศ. 2477
อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
เสียชีวิต10 ธันวาคม พ.ศ. 2564 (87 ปี)
นามปากกาธารทอง, ระฆังทอง, เจ้าพระยา, สุดสงวน, ราตรีประดับดาว, ลักขณ์ เรืองรอง, ปรง
อาชีพนักเขียน
แนวร้อยกรอง
คู่สมรสหม่อมราชวงศ์อรฉัตร สุขสวัสดิ์

ประวัติ แก้

ประยอม ซองทอง เกิดที่ตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ครอบครัวมีอาชีพทำนา จบการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จังหวัดนครพนม และได้รับทุนศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำเร็จประกาศนียบัตรครูประถม เมื่อ พ.ศ. 2498 และศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบการศึกษา พ.ศ. 2502 แล้วไปเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จังหวัดนครพนม

ในปี พ.ศ. 2511 เข้าทำงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย ต่อเนื่องกันหลายปีจนเกษียณอายุที่บริษัทนี้ ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ซึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังเกษียณอายุเมื่อ พ.ศ. 2537 เป็นนักเขียนอิสระ และอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โรงเรียนสตรีประเทืองวิทย์ และทำงานเป็นผู้บริหารอาวุโส ด้านการประชาสัมพันธ์ ที่บริษัท เทเลคอมเอเซีย ต่อมา ได้รับการแต่งตั้ง เป็นสมาชิก วุฒิสภาไทย ชุดที่ 7 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2539[1]

ประยอม ซองทอง เริ่มงานเขียนเรื่องสั้น และกลอนตั้งแต่สมัยเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อเรียนที่จุฬาก็ได้รับการยอมรับในฐานะนักกลอนเอกของมหาวิทยาลัย เป็นสาราณียกรให้กับวารสารของคณะอักษรศาสตร์ และของสโมสรนิสิตจุฬา (ส.จ.ม.)

ประยอม ซองทอง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดตั้ง "สโมสรสยามวรรณศิลป์" เพื่อส่งเสริมงานด้านภาษา และวัฒนธรรมไทย เป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนที่ 12 ระหว่างปี พ.ศ. 2539 - 2520 ได้รับพระราชทานโล่และเข็มประกาศเกียรติคุณ ในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นด้านอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมไทย จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2548

ประยอม ซองทอง สมรสกับ หม่อมราชวงศ์อรฉัตร สุขสวัสดิ์ ธิดาหม่อมเจ้าประสมสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ โอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี กรมหลวงอดิศรอุดมเดช กับ หม่อมเขียน และหม่อมเจ้าหญิงกาญจนฉัตร ฉัตรไชย ธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน กับ หม่อมเพี้ยน สุรคุปต์ มีบุตรธิดา 3 คน คือ

  • ปริย ซองทอง
  • ปรม ซองทอง
  • ปวร ซองทอง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  • สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. เสี้ยวศตวรรษ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สามัคคีสาร (ดอกหญ้า), พ.ศ. 2539. 263 หน้า. ISBN 974-89658-0-5.
  • ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย. กรุงเทพ : สุวีริยาสาส์น, 2542. หน้า 479. ISBN 974-8267-78-4.