ประตูวิเศษไชยศรี

ประตูวิเศษไชยศรี เป็นประตูที่ตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง ตรงเขตพระราชฐานชั้นนอก มุ่งหน้าเข้าสู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นประตูที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระมหามณเฑียร[1] อีกทั้งยังเคยเป็นทางเข้าหลักสำหรับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะเข้าชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม[2]

ซึ่งที่มาของชื่อประตูวิเศษไชยศรีและประตูพิมานไชยศรี ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่เนื่องจากสำเนาหมายรับสั่งฉบับหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงค้นพบและได้ถวายให้กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นสำเนาหมายรับสั่งเรื่องยกประตูพระบรมมหาราชวัง ซึ่งได้ระบุถึงฤกษ์การยกประตูพระบรมมหาราชวังว่าคือวันที่ 9 มกราคม 2325 (พ.ศ. 2326 ตามปฏิทินสุริยคติ) และได้ปรากฏชื่อของประตูวิเศษไชยศรีด้วย

ขณะที่ในหนังสือ ราชูปโภค ของหม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล ได้ระบุไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2327 มีชาวประมงพบพระแสงขรรค์ขณะทอดแหในทะเลสาบนครเสียมราฐ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ให้ข้าราชการนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย

วันที่พระแสงขรรค์มาถึงก็มี “อสนีบาต” ในพระนคร 7 แห่ง มีตกที่ประตูวิเศษชัยศรี เมื่อพระแสงขรรค์ผ่านประตูทั้งสอง จึงทำให้มีสร้อยตามหลังเป็นคำว่าชัยศรี เพื่อเป็นอนุสรณ์ แต่ข้อความส่วนนี้กลับไม่ปรากฏในเอกสารใด ๆ ทั้งจดหมายเหตุหรือพระราชพงศาวดาร ซึ่ง สมบัติ พลายน้อย หรือ ส. พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติและนักประวัติศาสตร์ ได้นำข้อความส่วนนี้ไปเปรียบเทียบกับข้อความในพระราชพงศาวดารเรื่องพระแสงขรรค์ ที่ระบุไว้ว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2326 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้พระยาพระเขมรนำ “พระขรรค์ชัยศรี” เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย วันนั้นเองมีพายุใหญ่ ฝนตก ฟ้าผ่าลงศาลาลูกขุนใน ทำให้เห็นได้ชัดว่าปีที่ระบุในพระราชพงศาวดารต่างจากในหนังสือของ หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล[3]

อ้างอิง แก้

  1. "ย้อนประวัติศาสตร์ 'ประตูวิเศษไชยศรี' เส้นทางเข้า-ออกสำคัญสู่พระมหามณเฑียร". มติชน. 6 พฤษภาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 28 เมษายน 2024.
  2. สำนักพระราชวัง ขอแจ้งปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินเข้าเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ เป็นต้นไป
  3. "ชื่อ "ประตูวิเศษไชยศรี" ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งเพราะ "พระแสงขรรค์ชัยศรี" ผ่านประตูนี้?". ศิลปวัฒนธรรม.