หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล

หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป.มาลากุล (22 กรกฎาคม พ.ศ. 2432 - 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510) (นามเดิม:หม่อมราชวงศ์โป้ย มาลากุล) เคยมีบรรดาศักดิ์เป็นมหาเสวกตรี พระยาเทวาธิราช อดีตข้าราชการสำนักพระราชวัง เคยเป็นสมุหพระราชพิธี

เทวาธิราช ป.มาลากุล
สมุหพระราชพิธี
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2471 - พ.ศ. 2501
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
หม่อมราชวงศ์โป้ย

22 กรกฎาคม พ.ศ. 2432
เสียชีวิต22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 (77 ปี)
คู่สมรสคุณหญิงเนื่อง
คุณหญิงเผื่อน
บุตร10 คน
บุพการี

ประวัติ แก้

หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป.มาลากุล เกิดเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2432 ณ วังซึ่งเป็นที่ทำการกรมศิลปากรในบัดนี้ นามเดิม หม่อมราชวงศ์โป้ย มาลากุล เป็นโอรสของพลเรือโท พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ และหม่อมสุ่น มีพี่น้องร่วมพระบิดา ดังรายนามต่อไปนี้

ในวัยเยาว์ พระบิดาได้ถวายตัวพร้อมกับพี่น้องทั้งหมดให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระบรมมหาราชวัง ได้ทรงพระกรุณาฯส่งไปศึกษาในขั้นแรกที่โรงเรียนราชวิทยาลัย และต่อมาที่ Higher Technological School ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยส่งไปพร้อมกับบุคคลดังมีรายพระนามและรายนามต่อไปนี้

  • หม่อมเจ้าพงษ์ภูวนารถ ทวีวงศ์ ใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์
  • หม่อมราชวงศ์โป้ย มาลากุล
  • นายเจริญ สวัสดิ-ชูโต (ภายหลังเป็น มหาเสวกตรี พระยานรเทพปรีดา)
  • นายเสริม ภูมิรัตน (ภายหลังเป็น หลวงประกาศโกศัยวิทย์)
  • นางสาวขจร (ท่านผู้หญิงขจร ภะรตราชา)
  • นางสาวพิศ (นางประกาศโกศัยวิทย์ พิศ ภูมิรัตน)
  • นางสาวนวล
  • นางสาวหลี (คุณศรีนาฏ บูรณะฤกษ์)

ทั้งหมดนี้นับเป็นนักเรียนญี่ปุ่นรุ่นแรกของประเทศไทย

เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว เดินทางกลับมาประเทศไทยในปลายรัชกาลที่ 5 เริ่มฝึกราชการในกรมพระราชพิธี กระทรวงวัง จนถึงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2453 ในรัชกาลที่ 6 จึงได้รับราชการ ทรงพระกรุณาฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น จมื่นศิริวังรัตน์ ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจวังในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ถือศักดินา ๖๐๐[1]และรับราชการเรื่อยมามีความเจริญโดยลำดับจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ "พระยาเทวาธิราช" ในที่สุด และมียศพลเรือนสูงสุด คือ "มหาเสวกตรี" จนถึงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2485 ท่านจึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ลาออกจากบรรดาศักดิ์[2]

ตำแหน่งราชการ แก้

ท่านได้รับราชการโดยลำดับ ดังนี้

  • พ.ศ. 2453 เป็นเจ้ากรมพระตำรวจวัง ในราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  • พ.ศ. 2463 เป็นผู้ช่วยสมุหพระราชพิธี ในกระทรวงวัง
  • พ.ศ. 2470 เป็นผู้ช่วยสมุหพระราชพิธี และ เจ้ากรมกรมวัง ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
  • 1 เมษายน พ.ศ. 2471 เป็นสมุหพระราชพิธี[3]
  • พ.ศ. 2476 เป็นสมุหพระราชพิธี และทำการในตำแหน่งเจ้ากรม กองพระราชพิธี
  • พ.ศ. 2478 เป็นหัวหน้ากองวังและพระราชพิธี สำนักพระราชวัง
  • พ.ศ. 2479 เป็นสมุหพระราชพิธี กรรมการพระราชวัง เพื่อปรึกษากิจการพระราชสำนัก
  • พ.ศ. 2486 เป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ชั้นพิเศษ
  • พ.ศ. 2492 เป็นสมุหพระราชพิธี และที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า เกือบครึ่งชีวิตในเวลาราชการของพระยาเทวาธิราช ท่านได้ครองตำแหน่งสมุหพระราชพิธียาวนานถึง 3 แผ่นดิน ตราบจนเกษียณอายุออกรับพระราชทานบำนาญ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2501 รวมอายุเวลาราชการ 47 ปี 6 เดือน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถและรอบรู้ในเรื่องพิธีการในพระราชสำนักอันจะหาผู้เสมอได้ยาก ความรู้ในเรื่องระเบียบพระราชพิธีของท่านได้ถ่ายทอดให้บุคคลจำนวนมาก ทั้งบุตรและข้าราชการรุ่นหลัง เช่น นายเศวต ธนประดิษฐ์, นายเกรียงไกร วิศวามิตร เป็นต้น ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฎ, ประถมาภรณ์ช้างเผือก, ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และเหรียญรัตนาภรณ์ ในรัชกาลที่ 6-7-8-9 เป็นเกียรติยศ

และมีราชการพิเศษ ดังนี้

  • พ.ศ. 2478 เป็นประธานกรรมการปรึกษากิจการระหว่างพระราชสำนักและกรมศิลปากร
  • พ.ศ. 2478 เป็นกรรมการสอบแข่งขันส่งนักเรียนไปต่างประเทศ
  • พ.ศ. 2478 เป็นกรรมการพิจารณาทรัพย์สิน สำนักพระราชวัง และกรรมการพิจารณาหลักสูตรประถมและมัธยมศึกษา
  • พ.ศ. 2485 เป็นกรรมการชำระปทานุกรม
  • พ.ศ. 2486 เป็นกรรมการที่ปรึกษาวัฒนธรรม เรื่องชีวิตในบ้าน
  • พ.ศ. 2490 เป็นกรรมการสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ
  • พ.ศ. 2491 เป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2495 เป็นประธานกรรมการดำเนินงานพระเมรุ พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร
  • พ.ศ. 2496 เป็นประธานกรรมการพิจารณาจัดวางแผนผังดัดแปลงและซ่อมทำพระราชฐาน

ในราชการพิเศษที่ได้กล่าวมานี้ ที่สำคัญที่สุดคือ ในปี พ.ศ. 2493 ได้เป็นผู้อำนวยการ งานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส, พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและงานพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายพระเต้าเบญจคัพย รัชกาลที่ 1 สำหรับทรงรับน้ำอภิเษก (น้ำที่ได้พลีกรรมประกอบการพิธีแล้ว) ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นด้วย

ความสนใจ แก้

นอกจากหน้าที่ในพระราชสำนักแล้ว ยามว่าง พระยาเทวาธิราช จะเพลิดเพลินอยู่กับการสะสมวัตถุโบราณและหาความรู้ในหนังสือจากห้องสมุดภายในบ้านของท่าน ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ถนนประแจจีน (บ้านเลขที่ 408 สี่แยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี ปัจจุบันรื้อถอนแล้ว) และเขียนบทความสารคดีต่าง ๆ เกี่ยวกับประเพณีทั้งใน-นอกวัง อาทิ

  • พระราชประวัติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  • ราชาภิสดุดี
  • ประเพณีวัง
  • เจ้า
  • เบญจราชกกุธภัณฑ์ และ ราชูปโภค
  • วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  • ประเพณีการสมรส
  • เรื่องเรือนหอ
  • เพชร-พลอย
  • เครื่องประดับของไทย
  • ช่าง 10 หมู่
  • บทสนทนา เรื่อง "เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์" ฯลฯ

ที่สำคัญที่สุด คือได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ให้เขียนจดหมายทูลถามความรู้เกี่ยวกับราชประเพณีโบราณ โต้ตอบกับพระองค์ท่าน ทำนองเป็นจดหมายเวรติดต่อเป็นเวลาหลายปี ซึ่งมีบุคคลเพียงไม่กี่ท่านที่จะได้รับพระเมตตาเช่นนี้

นอกจากการแสวงหาความรู้จากหนังสือแล้ว พระยาเทวาธิราช ยังมีความสามารถในการถ่ายภาพนิ่งและภาพยนตร์ จนถึงได้เป็นสมาชิกของสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในบ้านของท่านจะมีห้องสำหรับล้างฟิล์มโดยเฉพาะ 1 ห้อง รวมถึงห้องฉายภาพยนตร์ด้วย สำหรับภาพยนตร์ที่ท่านสร้างและกำกับมี 2 เรื่องคือ เจ้าหญิงกุณฑลทิพย์และถลางพ่าย

ครอบครัว แก้

ด้านชีวิตครอบครัว ได้สมรสครั้งแรกกับคุณหญิงเนื่อง มาลากุล มีบุตร 1 คนคือ

  • หม่อมหลวงปีย์ มาลากุล

เมื่อคุณหญิงเนื่อง ถึงอนิจกรรม ในปี พ.ศ. 2458 ท่านได้สมรสอีกครั้งกับ คุณหญิงเผื่อน มาลากุล (สกุลเดิม สอาดเอี่ยม) มีบุตร-ธิดา รวม 9 คน คือ

  • หม่อมหลวงปุณฑริก ชุมสาย
  • หม่อมหลวงปัณยา มาลากุล
  • หม่อมหลวงปิลันธน์ มาลากุล
  • หม่อมหลวงปานีย์ เพ็ชรไทย
  • หม่อมหลวงปฤศนี ศรีศุภอรรถ
  • หม่อมหลวงปัทมาวดี มาลากุล
  • หม่อมหลวงปารวดี กันภัย
  • หม่อมหลวงปราลี ประสมทรัพย์
  • หม่อมหลวงโปรพ มาลากุล

และมีธิดากับนางผัน 1 คน คือ

  • หม่อมหลวงปาริชาต มาลากุล

อนิจกรรม แก้

บั้นปลายชีวิต หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป.มาลากุล ป่วยเป็นโรคมะเร็ง และถึงอนิจกรรม ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 สิริรวมอายุได้ 78 ปี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

ลำดับสาแหรก แก้

อ้างอิง แก้

  1. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง (หน้า ๒๒๗๑)
  2. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการกราบถวายบังคับลาออกจากบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 59 (18 ง): 513. 17 มีนาคม 2485. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2560. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. ประกาศกระทรวงวัง ปลดและตั้งข้าราชการ (หน้า ๑๖)
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๖, ๑๒ มกราคม ๒๕๐๐
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๓๑ ง หน้า ๒๒๙๔, ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๙๓
  6. ราชกิจจานุเบกษา, เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้าและฝ่ายใน, เล่ม ๓๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๒๙, ๑ ธันวาคม ๒๔๗๒
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๖๘, ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๘๐
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๖๓ ง หน้า ๒๕๙๐, ๒๙ กันยายน ๒๔๘๕
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายหน้า[ลิงก์เสีย], เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๑๒๒, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๙
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๘, เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๓๗ ง หน้า ๓๐๓๘, ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๓
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๔๘ ง หน้า ๒๖๐๘, ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๖

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • ปกิณกะ ของ ม.ร.ว.เทวาธิราช ป.มาลากุล [พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว.เทวาธิราช ป.มาลากุล ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2510]