บ้านครัว[1] เป็นย่านชุมชนประวัติศาสตร์ริมคลองแสนแสบในกรุงเทพมหานคร จากสะพานหัวช้างถึงวัดพระยายัง มีเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ ทั้งสองฝั่งคลอง[2] แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ บ้านครัวเหนือ บ้านครัวใต้ ในเขตราชเทวี และบ้านครัวตะวันตก ในเขตปทุมวัน ศูนย์กลางของชุมชนอยู่ที่บ้านครัวเหนือ ในซอยเกษมสันต์ 3 ถนนพระรามที่ 1 แนวเขตระหว่างเขตราชเทวีและเขตปทุมวัน รวมทั้งสิ้น 1,376 ครัวเรือน บ้านครัวเป็นชุมชนอิสลามที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพ[2] แต่เดิมนั้นเรียกขานกันว่า "บ้านแขกครัว"[3] เปลี่ยนมาเป็นบ้านครัวในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตามการรณรงค์เรื่องความเป็นไทย

บ้านครัวเหนือริมคลองแสนแสบ

ประวัติศาสตร์ แก้

ชุมชนบ้านครัวมีอายุย้อนไปถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่พระราชทานที่ดินให้แก่กองทหารอาสาชาวจามหลังจากที่ได้ร่วมรบกับกองทัพสยามใน สงครามเก้าทัพ ในปี พ.ศ. 2328-2329 ซึ่งเป็นศึกใหญ่ครั้งสุดท้ายกับกองทัพพม่า[4][5] รวมถึงชาวจามอพยพมาจากอาณาจักรจามปา (ปัจจุบันอยู่ในตอนกลางและตอนใต้ของเวียดนาม) ในสมัยอาณาจักรอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินผืนหนึ่งให้ตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยรวมกันเป็นหมวดหมู่ นอกอาณาเขตพระนคร โดยมีต้นไม้สูงใหญ่เป็นแนวเขตเป็นระยะ ๆ ในผืนดินที่ได้รับพระราชทาน มีร่องน้ำลำกระโดงไหลผ่านจึงถูกเกณฑ์ให้ขุดเบิกร่องน้ำให้กว้างเป็นคลอง อนุมานว่าได้จัดตั้งบ้านครัวขึ้นหลังสงครามเก้าทัพประมาณ พ.ศ. 2330 ชาวบ้านส่วนมากนับถือศาสนาอิสลามจึงมีการสร้างสุเหร่าขึ้นมาก โดยมีผู้นำดำรงตำแหน่งเป็น "พระยาราชบังสัน" อยู่ในบ้านครัวด้วย

ชื่อของหมู่บ้านมีชื่อว่า พุมเปรย แปลว่า "บ้านป่า" หรือ เปรยสล็อก แปลว่า "เมืองป่า" ที่บริเวณตอนกลางของหมู่บ้านเรียกว่า พุมปราง ทางตะวันตกเรียกว่า พุมตะโบง หรือ ตรอยเปรียม ส่วนทางตะวันออกเรียกว่า ก๊ะห์ก็อย ต่อมาเรียกง่าย ๆ ว่า เกาะกอย[6]

คลองแสนแสบขุดขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเส้นทางเสบียงหลักสำหรับกองทหารที่กำลังต่อสู้ในประเทศกัมพูชาและเวียดนามตอนใต้ในสงคราม อานามสยามยุทธ ที่ยาวนาน 14 ปี โดยไหลผ่านจากกรุงเทพ ฯ สู่ แม่น้ำบางปะกง ใน จังหวัดฉะเชิงเทรา[7]

เมื่อหลายปีก่อน ผ้าไหม เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของชุมชนและเป็นแหล่งรายได้หลักสำหรับครัวเรือนส่วนใหญ่ ชุมชนทำหน้าที่เป็นโรงงานสำหรับนักธุรกิจชาวอเมริกัน จิม ทอมป์สัน ซึ่งบ้านของเขาอยู่ในชุมชน ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เรียกว่า บ้านจิม ทอมป์สัน ตั้งอยู่ทางฝั่งใต้ของคลอง[7] ผ้าไหมไทยกลายเป็นสิ่งล้ำค่าและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องแต่งกายใน ละครบรอดเวย์ เรื่อง เดอะคิงแอนด์ไอ ในปี พ.ศ. 2494 และภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง เบนเฮอร์ ในปี พ.ศ. 2502 บ้านครัวกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมผ้าไหมในประเทศไทย

เมื่อ พ.ศ. 2530 เกิดกรณีพิพาทระหว่างชุมชนบ้านครัวกับรัฐเพื่อคัดค้านการตัดทางด่วนผ่านชุมชนบ้านครัว คือโครงการทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ ทำให้ชุมชนบ้านครัวต้องถูกเวนคืนที่ดินและย้ายออกจากที่อยู่เดิมกว่า 800 หลังคาเรือน แต่เนื่องจากชุมชนอยู่กันมายาวนานกว่า 200 ปี ชาวชุมชนลุกขึ้นสู้และเรียกร้องให้รัฐบาลระงับการก่อสร้างและเวนคืนที่ดิน มีการต่อสู้กันยาวนาน มีการทำประชาพิจารณ์ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาในการทำประชาพิจารณ์ของเมืองไทย ในที่สุดคณะกรรมการจึงประกาศยุติการก่อสร้าง[8]

ชุมชน แก้

มี 3 มัสยิดอยู่ในชุมชน[5] คือ สุเหร่ากองอาสาจาม (มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์) สุเหร่าโต๊ะลี (มัสยิดดารุ้ลฟ่าละฮ์) และสุเหร่ายีปา (มัสยิดซูลูกุลมุตตากีน)

การผลิตผ้าไหมยังคงดำเนินต่อไปในโรงงานไม่กี่แห่ง ซึ่งวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมยังคงดำรงอยู่[4][2]

ชุมชนบ้านครัว แบ่งออกเป็นบ้านครัวเหนือ บ้านครัวตะวันตก และบ้านครัวใต้ มีมัสยิดเป็นศูนย์กลางหมู่บ้าน บ้านเรือนที่เป็นไม้เก่า ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบมลายูปัตตานี มีลักษณะเกยชิดติดกัน เชื่อมต่อกันด้วยทางเดินเล็ก ๆ ลัดเลาะตามบ้านคล้ายเขาวงกต อาหารท้องถิ่นที่หาทานได้ยาก เช่น แกงส้มเขมรเนื้อ บอบอญวน และซำเขิน[9]

วัฒนธรรม แก้

ในอดีตชาวมุสลิมเชื้อสายจามจะใช้ภาษาจามหรือเขมรในการสื่อสาร จากการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2532 พบว่าชาวมุสลิมจามส่วนใหญ่มีบรรพชนมีเชื้อสายเขมรและจามจากพระตะบอง เพราะล้วนแต่มีบิดาเป็นแขก (จาม) แต่มารดาเป็นเขมร จึงถูกเรียกว่า "แขกเขมร" จากการสมรสข้ามชาติพันธุ์ทำให้พวกเขาใช้ภาษาเขมรเป็นหลัก และผู้สูงอายุในขณะนั้นก็ไม่สามารถใช้ภาษาจามได้อีกต่อไป แต่พอรู้ภาษาจาม[10] แม้ชาวจามยังใช้ภาษาเขมรในการสื่อสาร แต่อ่านและเขียนอักษรเขมรไม่ได้ เนื้อหาที่ใช้สื่อสารก็เป็นเพียงบทสนทนาพื้น ๆ เท่านั้น ปัจจุบันพวกเขาใช้ภาษาไทยในการพูดและเขียนเป็นหลักแทน[11] หลงเหลือผู้อาวุโสในชุมชนที่มีอายุราว 70-80 ปี ยังสื่อสารด้วยภาษาเขมรได้ สามารถโต้ตอบกับผู้ใช้ภาษาเขมรเหนือได้ ส่วนคนที่อายุน้อยกว่านั้นจะฟังพอเข้าใจแต่พูดเป็นประโยคไม่ได้ มีเพียงคำศัพท์ในการเรียกเครือญาติ และประโยคหรือวลีสั้น ๆ ใช้ในชุมชนอยู่[12]

ส่วนชาวไทยเชื้อสายจีนในบ้านครัวจะสื่อสารกันด้วยภาษาไทยหรือจีนในครอบครัว และบางคนพูดเขมรได้[10]

อ้างอิง แก้

  1. "ชุมชนบ้านครัวเหนือ". Don Mueang International Airport. 2015-07-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-18. สืบค้นเมื่อ 2018-03-17.
  2. 2.0 2.1 2.2 สงวนเสรีวานิช, พนิดา (2018-02-13). "บุกกองอาสาจาม 'บ้านแขกครัว' มุสลิมบางกอก เสน่ห์ชุมชนเก่าที่ยังมีลมหายใจ". Matichon.
  3. "งานวิจัยประวัติศาสตร์บ้านครัวและการต่อต้านทางด่วนซีดีโรดของชาวชุมชน". มูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
  4. 4.0 4.1 หนุ่มลูกทุ่ง (2006-07-26). "เที่ยว "บ้านครัว" ชมชุมชนทอผ้ากลางกรุง". Manager Daily. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-17. สืบค้นเมื่อ 2022-08-20.
  5. 5.0 5.1 Laothamatas, Dr. Anek (2011-08-24). "ชุมชนบ้านครัว: พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย". Kom Chad Luek.
  6. อาลี เสือสมิง. "ชุมชนมุสลิมบ้านครัว".
  7. 7.0 7.1 Mekloy, Pongpet (2019-01-03). "A hidden gem in Bangkok's heart". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2019-01-03.
  8. ""ชุมชนบ้านครัว" เสน่ห์ชุมชนที่ยังมีลมหายใจ ท่ามกลางกรอบแห่งการพัฒนาเมือง". ผู้จัดการ.
  9. ""เที่ยวย่านปทุมวัน-ชุมชนบ้านครัว "เสพงานศิลป์ วิถีชีวิต อาหารเลิศรส". ไทยโพสต์.
  10. 10.0 10.1 เสาวภา พรสิริพงษ์ และคณะ (2532). "การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับชุมชนบ้านครัวเหนือ (บ้านแขกครัว) กรณีศึกษา สภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. พลับพลึง คงชนะ และชัยณรงค์ ศรีพงษ์ (มกราคม–ธันวาคม 2556). สถานภาพองค์ความรู้เรื่องจามศึกษาในประเทศไทย. วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. p. 37.
  12. "สุเหร่ากองอาสาจาม". คลังข้อมูลชุมชน. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)