จิม ทอมป์สัน หรือชื่อเต็ม เจมส์ แฮร์ริสัน วิลสัน ทอมป์สัน (อังกฤษ: James Harrison Wilson Thompson; 21 มีนาคม ค.ศ. 1906 — ค.ศ. 1967[ไม่แน่ใจ ]) เป็นนักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่มีชื่อเสียงจากการทำธุรกิจผ้าไหมในประเทศไทย และก่อตั้งบริษัทซึ่งมีชื่อเดียวกับเขาเองขึ้น เพื่อรองรับกิจการค้าผ้าไหมดังกล่าว เขาหายตัวไปจากโรงแรม บนแคเมอรอนไฮแลนด์ รัฐอิโปห์ ประเทศมาเลเซีย โดยไม่มีใครทราบเหตุการณ์ที่แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา

จิม ทอมป์สัน
เกิดเจมส์ แฮร์ริสัน วิลสัน ทอมป์สัน
21 มีนาคม พ.ศ. 2449
กรีนวิลล์ เดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา
สาบสูญ26 มีนาคม พ.ศ. 2510 (61 ปี)
แคเมอรอนไฮแลนด์ ประเทศมาเลเซีย
สถานะบุคคลสูญหายที่เสียชีวิต
พลเมืองชาวอเมริกัน
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน
มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
อาชีพนักธุรกิจ
มีชื่อเสียงจากผู้เผยแพร่ผ้าไหมไทย
คู่สมรสPatricia Thraves (หย่า)

ประวัติ แก้

จิม ทอมป์สันเกิดเมื่อ ค.ศ. 1906 ในเมืองกรีนวิลล์ รัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา เข้าศึกษาระดับมัธยมในเมืองวิลมิงตัน และจากนั้นเข้าโรงเรียนประจำ เซนต์พอล และมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ระหว่างปี ค.ศ. 1924–28 แม้ว่าเขาจะสนใจด้านศิลปะ แต่ก็เลือกที่จะเป็นสถาปนิก และศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เมื่อจบการศึกษาได้ทำงานด้านสถาปัตยกรรมในมหานครนิวยอร์ก กระทั่ง ค.ศ. 1940

ในระหว่างนั้นได้เกิดสงครามขึ้นในยุโรป จิมจึงอาสาสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพบกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญในชีวิตของเขา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จิมได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่ในสำนักงานด้านยุทธศาสตร์ (Office of Strategic Services -- OSS) ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสำนักข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency หรือ CIA) ทำให้เขามีโอกาสเดินทางไปหลายที่ทั่วโลก โดยเขาได้รับมอบหมายให้ทำงานกับกองทัพฝรั่งเศสในแอฟริกาตอนเหนือ โดยมีกำหนดจะส่งเขาไปยังอิตาลี ฝรั่งเศส และเอเชียด้วย ทั้งนี้จิมได้ฝึกฝนเรียนรู้เกี่ยวกับการเอาตัวรอดในป่ามาเป็นอย่างดี

จิมมากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1945 ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่สอง ภารกิจเดิมของจิมในตะวันออกไกลก็คือ โดดร่มลงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น แต่เมื่อสหรัฐทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่ญี่ปุ่น ภารกิจของจิมจึงเปลี่ยนไป เขาต้องรีบมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ โดยตรง และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง เขาได้รับตำแหน่งหัวหน้าสถานียุทธศาสตร์ในกรุงเทพ และมีหน้าที่ฟื้นฟูสถานเอกอัครทูตสหรัฐอเมริกาขึ้นใหม่ นอกจากนี้เขายังหลงใหลในชีวิตชนบทของไทย ทำให้เขาใช้ชีวิตในประเทศไทยต่อไป

กิจการผ้าไหม แก้

ในปี ค.ศ. 1946 จิมปลดประจำการจากกองทัพ แต่เขายังคงใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย โดยวางโครงการที่จะทำอาชีพใหม่ ขณะเดียวกันก็ได้ทำงานปรับปรุงโรงแรมโอเรียลเต็ลที่มีชื่อเสียงที่สุดของกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น ระหว่างอาศัยในเมืองไทย จิมได้เดินทางไปหลายที่ในภาคอีสาน และมีความสนใจอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไหมในครัวเรือน ซึ่งในเวลานั้นการทอผ้าไหมซบเซาไปมาก เนื่องจากเป็นภาวะหลังสงคราม ขณะเดียวกันการทอผ้าด้วยเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนถูกกว่า และผลิตได้มากกว่า เริ่มเป็นที่นิยมกันทั่วไป กล่าวกันว่าในเวลานั้นมีช่างทอผ้าเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ยังคงปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ย้อมด้าย ทอผ้าใต้ถุนบ้าน

เมื่อจิมได้เห็นคุณภาพของผ้าไหมทอมือเหล่านี้ก็รู้สึกตื่นเต้นและสนใจอย่างยิ่ง ด้วยเป็นผ้าที่มีความแตกต่างจากผ้าไหมที่ผลิตจากเครื่องจักร ซึ่งแม้ว่ามีความเรียบ สม่ำเสมอกว่า แต่ก็ขาดเอกลักษณ์ของงานฝีมือ เขาจึงวางแผนที่จะฟื้นฟูกิจการทอผ้าไหมของไทย (ซึ่งเคยมีแผนพัฒนาอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 มาก่อนแล้ว) และเชื่อว่าหากมีการจัดการอย่างเหมาะสม ผ้าไหมไทยจะเป็นที่นิยมกว้างขวางขึ้นอย่างแน่นอน

เมื่อกลับมากรุงเทพฯ จิมก็พยายามสืบหาอุตสาหกรรมไหมไทย และรวบรวมตัวอย่างผ้าไหมไทยเท่าที่จะหาได้ ทั้งยังได้ปรึกษามิตรสหาย และเปรียบเทียบกับตัวอย่างในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างนี้เอง ทำให้เขาได้ทราบถึงขั้นตอนการทำงานอันประณีตของช่างทอผ้าชาวไทย

ชุมชนบ้านครัว แก้

 
บ้านจิม ทอมป์สัน ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ อยู่ตรงข้ามชุมชนบ้านครัว กรุงเทพฯ

เมื่อ ค.ศ. 1947 ขณะที่จิมเริ่มเสาะหาผ้า เวลานั้นผ้าไหมไทยเริ่มจะไม่มีเหลือแล้ว ตระกูลช่างทอผ้าต่างเลิกอาชีพดั้งเดิม ทั้งยังกระจัดกระจายไปยังตำบลอื่น ๆ เพราะการทอผ้าแบบเดิมมีรายได้น้อยมาก ที่ทำอยู่ก็เป็นเพียงนอกเวลางานหลักเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีชุมชนทอผ้าแห่งหนึ่งหลงเหลืออยู่ในพระนคร นั่นคือ ชุมชนบ้านครัว ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิม ท่ามกลางวัฒนธรรมพุทธศาสนาที่รายรอบ ทว่าก็ไม่ได้ทอผ้ากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

จิมเริ่มไปสำรวจที่บ้านครัว และทำความรู้จักสนิทสนมกับช่างทอที่นั่น ทั้งยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการทอผ้าไปด้วย ในภายหลังจิมได้ทราบว่าผู้คนที่นั่นเป็นแขกจาม ที่อพยพมากรุงเทพฯ เมื่อครั้งไทยรบกัมพูชา เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา จิมได้ปรึกษาเจมส์ สกอตต์ ทูตพาณิชย์สหรัฐประจำประเทศไทย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งในดามัสคัสมาก่อน ทั้งสองตกลงที่จะผลักดันการผลิตผ้าตกไหมแบบซีเรีย และไม่ช้าก็พัฒนาเป็นสิ่งค้าส่งออกได้อย่างดี

หลังจากนั้นจิมได้นำตัวอย่างผ้าไหมแบบดั้งเดิมไปเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา เขาเข้าหา แฟรงก์ คราวนินชีลด์ (Frank Crowninshield) บรรณาธิการของนิตยสาร Vanity Fair ซึ่งสนิทสนมกันมาก่อน และเป็นผู้ที่จิมคิดว่าน่าจะสามารถเชื่อมความสัมพันธ์กับวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นได้ จากนั้นเขาได้รู้จักกับเอ็ดนา วูลแมน เชส (Edna Woolman Chase) ซึ่งภายหลังเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Vogue ซึ่งเมื่อเชสได้เห็นผ้าไหมของช่างทอบ้านครัวก็รู้สึกชอบใจทันที อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เสื้อผ้าไหมที่ออกแบบโดยวาเลนทินา (Valentina) นักออกแบบเสื้อผ้าผู้มีชื่อเสียงของนิวยอร์กก็ได้ปรากฏโฉมในนิตยสาร Vogue อย่างสง่างาม

หลังจากนั้นจิมได้ก่อตั้งบริษัทขึ้น ในปี ค.ศ. 1948 และส่งเสริมให้ชาวบ้านครัวทอผ้าโดยอิสระ แล้วไปรับซื้อโดยตรง เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และคงคุณภาพไว้อย่างเดิม เขานั่งเรือจากฝั่งตรงข้าม ไปยังชุมชนบ้านครัวทุกวัน เพื่อตรวจสอบผ้า ให้คำแนะนำ และซื้อผ้าทอเหล่านั้น กระทั่งช่างทอที่บ้านครัวมีฐานะดีขึ้น บางคนถึงมีฐานะในระดับเศรษฐี มีเครื่องอำนวยความสะดวกในบ้านครบครันกันถ้วนหน้า (ในเวลานั้น) ในขณะเดียวกัน ธุรกิจผ้าไหมไทยเจ้าอื่น ๆ ก็เริ่มสดใส

การหายตัวไป แก้

ตอนบ่ายวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 1967 จิมหายตัวไปจากโรงแรมแห่งหนึ่งในคาเมรอนไฮแลนด์ ประเทศมาเลเซีย ขณะเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนวันหยุด และไม่มีใครทราบชะตากรรมของเขานับแต่นั้น มีเพียงพยานรู้เห็นว่า เขาเดินออกจากที่พักตามปกติ แล้วไม่กลับมาอีกเลย บ้างก็ว่าถูกโจรฆ่าตาย หรือเป็นแผนร้ายของคู่แข่งทางธุรกิจ ฯลฯ

จิมได้ทิ้งมรดกเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไหมไทย และเรือนไทยไม้สักที่ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยมีการรวบรวมศิลปวัตถุของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอาไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปยุคสมัยต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งบางส่วนที่ได้มาครอบครองโดยผิดกฎหมาย เช่น เศียรพระโพธิสัตว์ศรีอารยเมตไตรยซึ่งกรมศิลปากรได้รับรายงานว่าถูกโจรกรรมและทำลายไปจากถ้ำเขาถมอรัตน์

พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน อยู่ในความดูแลของมูลนิธิจิม ทอมป์สัน ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2539 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

จิม ทอมป์สันนับว่าเป็นบุคคลสามัญคนแรกที่พัฒนากิจการทอผ้าพื้นเมืองของไทย ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในต่างประเทศ

ภาพยนตร์ แก้

เรื่องราวของ จิม ทอมป์สัน สร้างเป็นภาพยนตร์ฉายทางโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2544 ทางไอทีวี เรื่อง "ปมไหม" กำกับโดย สุรพงษ์ พินิจค้า บทภาพยนตร์โดย ปรามินทร์ เครือทอง, บุญทวี สิริเวชมาศ, ปราบดา หยุ่น และ สุรพงศ์ พินิจค้า ผลิตโดยเนชั่น เทเลวิชั่น ในเครือเนชั่น

อ้างอิง แก้