นักรบนิรนาม 333 (อังกฤษ: Unknown Warrior 333) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า หน่วยบัญชาการผสม 333 เป็นกองกำลังผสมต่างชาติของทหารและพลเมืองในนามทหารเสือพราน เพื่อเฝ้าระวังพื้นที่ระวังป้องกันภายนอกประเทศ เรียกกันว่า ยุทธศาสตร์การป้องกันในเขตหน้า ซึ่งเป็นบริเวณทางตะวันออกของประเทศไทยซึ่งติดกับประเทศลาว จากกองกำลังต่างชาติที่สนับสนุนโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ อาทิ เวียดนามเหนือ จีน และสหภาพโซเวียต ซึ่งจะบุกยึดประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2514-2517 ตามแผนทฤษฎีโดมิโน

หน่วยบัญชาการผสม 333
ประจำการพ.ศ. 2503–2518
ประเทศ ไทย
รูปแบบกองกำลัง
บทบาทรักษาพื้นที่ยุทธศาสตร์การป้องกันในเขตหน้า
กำลังรบ39,000+ คน
ที่ตั้ง บก.ค่ายประจักษ์ศิลปาคม, อำเภอเมือง, จังหวัดอุดรธานี, ประเทศไทย[1]
ปฏิบัติการสำคัญสงครามกลางเมืองลาว
ผู้บังคับบัญชา
ผู้บัญชาการพลตรี วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์[ก]
รองผู้บัญชาการพลโท ธนดิษฐ์ สิทธิเทศ[ข]
เสนาธิการทหารพลตรี ไพฑูรย์ อิงคะตานุวัฒน์[ค]

ภูมิหลัง แก้

ราชอาณาจักรลาวกลายเป็นสมรภูมิลับระหว่างฝ่ายในสงครามเวียดนาม สนธิสัญญาไมตรีและสมาคมฝรั่งเศส–ลาวที่ลงนามในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2496 ส่งผลให้ฝรั่งเศสถ่ายโอนอำนาจที่เหลือคืนให้กับรัฐบาลลาวในระบอบกษัตริย์ ยกเว้นอำนาจควบคุมการทหาร โดยสนธิสัญญาไม่มีตัวแทนจากขบวนการลาวอิสระ ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธซึ่งมีความคิดต่อต้านการล่าอาณานิคมและสนับสนุนแนวคิดชาตินิยมได้ร่วมลงนามด้วย

สนธิสัญญายังสถาปนาให้ลาวเป็นสมาชิกซึ่งมีสถานะเป็นเอกราชในสหภาพฝรั่งเศส หลังจากที่สนธิสัญญาได้รับการลงนาม ก็มีการต่อสู้กันทางการเมืองระหว่างฝ่ายนิยมความเป็นกลาง นำโดยเจ้าสุวรรณภูมา รัตนวงศา, ฝ่ายขวา นำโดยเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ และฝ่ายซ้าย ในนามแนวร่วมรักชาติลาว นำโดยเจ้าสุภานุวงศ์ และไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา มีความพยายามหลายครั้งที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสม จนกระทั่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลสามพรรคได้สำเร็จ โดยจัดตั้งขึ้นที่นครเวียงจันทน์

การสู้รบในประเทศลาวเป็นการสู้รบระหว่างกองทัพเวียดนามเหนือ กับกองทัพสหรัฐในนามหน่วยสกายของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ, กองทัพไทยในนามทหารเสือพราน และกองทัพเวียดนามใต้ ซึ่งทำการสู้รบทั้งทางตรงและผ่านทหารกองโจร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อครอบครองด้ามขวานของลาว กองทัพเวียดนามเหนือสามารถเข้าควบคุมพื้นที่นี้ได้ และนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้เป็นเส้นทางเสบียงโฮจิมินห์ และเป็นที่มั่นในการระดมกำลังเพื่อรุกเข้าไปยังเวียดนามใต้ จุดที่สองที่เกิดการสู้รบกันอย่างหนักที่ทุ่งไหหินและบริเวณโดยรอบ

ประวัติ แก้

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2503 ในช่วงการปฏิวัติและเข้ายึดเวียงจันทร์ไว้ ทำให้ราชอาณาจักรลาวได้ทรุดลงตามลำดับ คณะที่ปรึกษาทางทหารของไทย (คท.) ได้สังเกตการณ์โดยใกล้ชิดมาตลอด โดยมีความเห็นว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่ ความมั่นคงของประเทศไทยจะต้องได้รับผลกระทบแน่นอน จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือราชอาณาจักรลาว โดยไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่เผยแพร่มายังประเทศไทยโดยตรง

ต่อมา ในปลายปี พ.ศ. 2503 ได้มีมติในการจัดตั้งหน่วยงานชื่อว่า คณะที่ปรึกษาทางทหารในราชอาณาจักร (คท.) โดยมีกองบัญชาการตั้งอยู่เมืองเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตรงของคณะที่ปรึกษาทางทหาร ได้มีกิจการขยายเพิ่มขึ้น แต่ผ่านไป กองกำลังไม่สามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้สั่งให้ย้ายข้ามกลับมาอยู่ที่ฝั่งจังหวัดหนองคาย และในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2505 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งให้เปลี่ยนชื่อองค์การเป็น กองบัญชาการ 333 (บก.333) จากชื่อว่ากองบัญชาการคณะที่ปรึกษาทางทหารในราชอาณาจักร (บก.คท.) และวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 กองกำลังได้ย้ายมาสู่จังหวัดอุดรธานี ด้วยเหตุความปลอดภัยและเฝ้าระวังศัตรู

ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2507 โครงการสกายที่ดำเนินการโดยหน่วยสืบราชการลับแห่งสหรัฐได้แปรสภาพเป็นกองบัญชาการผสม 333 (บก.ผสม 333) และตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 ได้จัดตั้งหน่วยงานที่เป็นชื่อว่า หน่วยผสม 333 ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐ เป็นหน่วยปฏิบัติการณ์ในสนาม โดยได้รับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศอย่างใกล้ชิด มีหน้าที่และความรับผิดชอบช่วยรักษาความมั่นคงแห่งประเทศไทย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรลาว

กำลังรบ แก้

ในปี พ.ศ. 2503 กองกำลังติดอาวุธช่วงแรกที่จัดตั้งในกองบัญชาการผสม 333 เป็นกำลังพลจากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ หรือรู้จักกันในนาม "ตำรวจพลร่ม" หรือ "พารู" (Paru) ร่วมกับกำลังพลจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และศูนย์สงครามพิเศษของกองทัพบก[2] โดยปฏิบัติการทางยุทธการและการข่าวกรอง และฝึกประกอบกำลังรบท้องถิ่นเพื่อหาวิธีบ่อนทำลายกำลังฝ่ายข้าศึก ส่วนสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) ปกปิดสถานภาพบุคลากรโดยแปรสภาพเป็บบริษัทเอกชน "สกาย" (Sky) เพื่อประสานงานกำลังรบของฝ่ายไทยและฝ่ายสหรัฐ โดยมีบริษัทเอกชน "แอร์ อเมริกา" (Air America) เป็นหน่วยงานจัดตั้งเพื่อสนับสนุนทางอากาศ การลำเลียงขนส่ง และการโจมตีทางอากาศ[3]

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2504 ภูมี หน่อสวรรค์ รองนายกรัฐมนตรีลาวเข้าพบปะกับสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีไทย เพื่อขอรับการสนับสนุนทหารปืนใหญ่จากรัฐบาลไทย สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยสนับสนุนแนวคิดการส่งกองร้อยทหารปืนใหญ่เพื่อไม่ให้รัฐบาลลาวฝ่ายขวาเสียเปรียบลาวฝ่ายซ้าย[4] วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2504 สฤษดิ์ ธนะรัชต์อนุมัติให้กองทัพบกจัดกองร้อยปืนใหญ่ 2 กองร้อย; กองร้อยปืนใหญ่สตาร์ไชน์ 1 (Star Shine 1; SS1) โดยจัดกำลังพลจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 11 และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 จังหวัดลพบุรี และกองร้อยปืนใหญ่สตาร์ไชน์ 2 (Star Shine 2; SS2) โดยจัดกำลังพลจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 21 กรุงเทพมหานครเคลื่อนกำลังพลไปที่แขวงสุวรรณเขตและแขวงคำม่วน[5] เสร็จสิ้นภารกิจในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2504[6]

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2507 กองทัพบกได้ส่งมอบกองร้อยทหารปืนใหญ่ผสมเฉพาะกิจ; กองร้อยปืนใหญ่ซันไลส์ (Sun Rise; SR) มีทั้งหมด 8 รุ่น มีระยะการปฏิบัติการแต่ละรุ่น 8 เดือน เสร็จสิ้นภารกิจในปี พ.ศ. 2513[7] กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษสงครามกองโจร อาทิ หน่วยเอสจียู (Special Guerilla Unit), ชุดเอที (Action Team; AT), ชุดเฝ้าถนน (Road Watch Team; RWT), และชุดปฏิบัติการพิเศษ "แซด" (Z)[8]

หน่วยบินของกองทัพอากาศสนับสนุนเมื่อปี พ.ศ. 2504–2505 คือ หน่วยบินไฟร์ฟลาย (Fire Fly) ประกอบด้วยนักบินชุดละ 4 นาย และอากาศยาน เอที-6 (บฝ.6) จำนวน 4 ลำ เพื่อใช้โจมตีทางอากาศสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลาวในภาคพื้นดิน มีระยะการปฏิบัติการแต่ละรุ่น 8 เดือน ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2507 กองทัพอากาศจัดชุดหน่วยบินอากาศยานโจมตี ที-28 (บ.จฝ.13) ประกอบด้วยนักบินชุดละ 7 ถึง 10 นาย มีระยะการปฏิบัติการแต่ละรุ่น 6 เดือน เสร็จสิ้นภารกิจในปี พ.ศ. 2513[9]

หมายเหตุ แก้

  1. นามลับ: เทพ หรือหัวหน้าเทพ; ต่อมา ได้รับพระราชทานยศ "พลโท" ของกองทัพบก และยศ "พลตำรวจเอก" ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  2. นามลับ: ทน
  3. นามลับ: เพชร

อ้างอิง แก้

  1. คุกลับกับ "ค่ายรามสูร"
  2. ศนิโรจน์ น.63–64
  3. ศนิโรจน์ น.65
  4. ศนิโรจน์ น.60
  5. ศนิโรจน์ น.61
  6. ศนิโรจน์ น.66
  7. ศนิโรจน์ น.66
  8. ศนิโรจน์ น.66–67
  9. ศนิโรจน์ น.67

บรรณานุกรม แก้