ฌ็อง ซีลแว็ง บายี

นักการเมืองฝรั่งเศส
(เปลี่ยนทางจาก ฌ็อง ซิลแว็ง แบยี)

ฌ็อง ซีลแว็ง บายี (ฝรั่งเศส: Jean Sylvain Bailly) เป็นนักดาราศาสตร์, นักคณิตศาสตร์, สมาชิกฟรีเมสัน[1][2] และเป็นผู้นำทางการเมืองในช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส เขาเป็นนายกเทศมนตรีกรุงปารีสระหว่าง ค.ศ. 1789 ถึง ค.ศ. 1791 และถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนในสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว

ฌ็อง ซีลแว็ง บายี
Jean Sylvain Bailly
นายกเทศมนตรีกรุงปารีส คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
15 กรกฎาคม 1789 – 18 พฤศจิกายน 1791
ก่อนหน้าไม่มี
ถัดไปเฌโรม เปตียง เดอ วีลเนิฟว์
ประธานสมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1
ดำรงตำแหน่ง
17 มิถุนายน 1789 – 3 กรกฎาคม 1789
ก่อนหน้าไม่มี
ถัดไปฌ็อง เลอฟร็อง เดอ ปงปีญ็อง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด15 กันยายน ค.ศ. 1736(1736-09-15)
ปารีส, ฝรั่งเศส
เสียชีวิต12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1793(1793-11-12) (57 ปี)
ปารีส, ฝรั่งเศส
สาเหตุการเสียชีวิตถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีน
ศาสนาโรมันคาทอลิก
พรรคการเมืองปิตุภูมิ (1790–1791)
วิชาชีพนักดาราศาสตร์, นักคณิตศาสตร์, นักการเมือง

ประวัติ แก้

ฌ็อง ซีลแว็ง บายี เกิดในปารีส เป็นบุตรของฌัก บายี (Jacques Bailly) จิตรกรและผู้ดูแลประจำพระราชวังลูฟวร์ ในขณะที่นีกอลา บายี (Nicholas Bailly) ปู่ของเขาก็เป็นศิลปินและจิตรกรหลวงเช่นกัน ในขณะที่เขายังเด็ก เขามีความคิดอยากเจริญรอยตามบิดากับปู่ แต่แล้วแต่ก็หลงใหลในวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านดาราศาสตร์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนีกอลา เดอ ลากาย เขาสามารถคำนวณการปรากฏตัวของดาวหางแฮลลีย์ในปี ค.ศ. 1759 ได้ล่วงหน้า และยังเป็นผู้ผลักดันการสร้างหอดูดาวที่พระราชวังลูฟวร์อีกด้วย

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1789 เขาได้รับการสรรหาเข้าเป็นผู้แทนฐานันดรที่สามในสภาฐานันดร[3] และหลังจากนั้นหนึ่งเดือนก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติ[4] อย่างไรก็ตาม เมื่อฐานันดรที่สามประกาศตั้งสมัชชาแห่งชาติและถูกฝ่ายกษัตริย์กีดกันไม่ให้เข้าประชุมสภา บายีได้เป็นผู้นำสมาชิกฐานันดรที่สามกล่าวคำปฏิญาณสนามเทนนิส ต่อมาภายหลังการทลายคุกบัสตีย์ได้ไม่นาน เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกเทศมนตรีกรุงปารีสคนแรกภายใต้คณะปกครองซึ่งตั้งขึ้นใหม่ที่เรียกว่า คอมมูนปารีส

17 กรกฎาคม ค.ศ. 1791 เขาประกาศกฎอัยการศึกในปารีสจากเหตุจลาจลขับไล่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เหตุการณ์บานปลายจนเกิดการสังหารหมู่ช็องเดอมาร์ส มีประชาชนเสียชีวิตหลายสิบคนจากคำสั่งสลายการชุมนุมของเขา ทำให้ความนิยมของเขาตกต่ำลง เขาจึงตัดสินใจลาออกในวันที่ 12 พฤศจิกายนของปีนั้นและหลบไปอยู่ที่เมืองน็องต์ จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1793 บายีได้ออกจากน็องต์ไปพบกับสหาย ปีแยร์-ซีมง ลาปลัส ที่เมืองเมอเลิง แต่ถูกจำหน้าและถุกจับกุมได้ในวันที่ 14 ตุลาคม และถูกกดดันให้เป็นพยานกล่าวหาพระนางมารี อ็องตัวแน็ต แต่เขาปฏิเสธ จึงถูกนำตัวขึ้นศาลอาญาปฏิวัติในวันที่ 10 พฤศจิกายน และถูกตัดสินประหารชีวิตในวันต่อมา

เขาถูกนำตัวไปประหารด้วยกิโยตีนในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1793 ณ ช็องเดอมาร์ส อันเป็นสถานที่สำหรับประหารชีวิตผู้ทรยศขบวนการประชาธิปไตย ผืนธงขนาดเล็กที่เขาเคยใช้โบกเพื่อสั่งยิงประชาชน ถูกนำมาใช้เป็นธงให้สัญญาณการประหาร มีคนตะโกนถามขึ้นมาว่า "นายตัวสั่นเหรอ บายี?" เขาตอบกลับว่า "อ่า แต่เพราะว่ามันหนาวน่ะ" เนื่องจากวันนั้นเป็นวันที่มีฝนตกและอากาศเย็น

อ้างอิง แก้

  1. Cara, Monique; Cara, Jean-Marc; Jode, Marc (2011). Dictionnaire universel de la Franc-Maçonnerie (ภาษาฝรั่งเศส). Larousse. ISBN 9782035861368.
  2. Pierrat, Emmanuel; Kupferman, Laurent (2013). Le Paris des Francs-Maçons (ภาษาฝรั่งเศส). Le Cherche Midi. ISBN 9782749131429.
  3. Chronicle of the French Revolution, Longman 1989 p.96
  4. Chronicle of the French Revolution p.98, Longman 1989