คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (อังกฤษ: Faculty of Medicine, Prince of Songkla University) เป็นคณะลำดับที่ 4 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2515 เริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. 2516 เป็นโรงเรียนแพทย์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 6 ของประเทศไทย เป็นโรงแพทย์แห่งแรกของภาคใต้ที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภาและเป็นแห่งที่ 5 ของประเทศ[1] ถัดจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ปัจจุบันเปิดสอนในสายวิชาชีพแพทยศาสตร์ และสายวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา

คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วิทยาเขตหาดใหญ่
Faculty of Medicine
Prince of Songkla University
ชื่อย่อพ. / MED
สถาปนา6 ตุลาคม พ.ศ. 2515 (51 ปี)
คณบดีรศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์
ที่อยู่
15 ถนนกาญจนวนิช ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 90110
วารสารสงขลานครินทร์เวชสาร
สี███ สีเขียว
สถานปฏิบัติโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
เว็บไซต์medinfo.psu.ac.th

ประวัติ แก้

เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านการแพทย์ และสาธารณสุข รวมทั้งปัญหาด้านสาธารณสุขของภาคใต้ สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงได้ขอจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2511 และได้รับการอนุมัติให้ก่อตั้งได้ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ซึ่งจัดเป็นคณะลำดับที่ 4 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมีประกาศลงราชกิจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2515

สภามหาวิทยาลัยได้ให้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ที่วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกได้ จำนวน 35 คน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2516 โดยใช้สถานที่ของคณะวิทยาศาสตร์ในการเรียนภาคทฤษฎี และระยะแรกใช้โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสงขลา ในการเรียนภาคปฏิบัติ

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จ พระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2529 และพระราชทานนามของโรงพยาบาลว่า "โรงพยาบาลสงขลานครินทร์"

สาขาวิชา แก้

การแบ่งส่วนงานประกอบด้วยสาขาวิชาทั้งหมด 17 สาขาวิชา[2]

หลักสูตร แก้

ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี)

  • แพทยศาสตรบัณฑิต

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (4 ปี)

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ***
  • สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์
  • สาขาวิชากายภาพบำบัด
  • สาขาวิชารังสีเทคนิค (ต่อเนื่อง)
  • สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขาวิชาระบาดวิทยา
  • สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์
  • สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์
  • สาขาวิชาอาชีวเวชศาสตร์

ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต

  • สาขาวิชาระบาดวิทยา
  • สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์
  • สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์

หมายเหตุ *** หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหลักสูตรที่มีลักษณะพิเศษ คือเป็นหลักสูตรที่ใช้กับนักศึกษาที่ศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตไปแล้วระยะหนึ่ง และไม่มีความประสงค์จะศึกษาต่อในชั้นปีที่ 4-6 โดยนักศึกษาจะต้องลงทะเบียนเรียนให้ครบในรายวิชาที่เรียนในชั้นปีที่ 1-3 และเพิ่มวิชาชีพเลือกอีก 11 หน่วยกิตกับวิชาเลือกเสรีอีก 3 หน่วยกิต รวมตลอดหลักสูตรเป็น 132 หน่วยกิต ก็สามารถยื่นคำร้องขอสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้

ทำเนียบคณบดี แก้

คณบดี ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1. ศ.นพ.เกษม ลิ่มวงศ์
2. ร.ต.นพ.คัมภีร์ มัลลิกะมาส
3. ศ.นพ.ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์
4. รศ.นพ.อติเรก ณ ถลาง
5. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
6. ศ.นพ.ธาดา ยิบอินซอย
7. รศ.พญ.พันธุ์ทิพย์ สงวนเชื้อ
8. รศ.นพ.กิตติ ลิ่มอภิชาติ
9. รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ
10. รศ.นพ.สุธรรม ปิ่นเจริญ
11. รศ.นพ.พุฒิศักดิ์ พุทธวิบูลย์
12. รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์

การรับนักศึกษา แก้

คณะแพทยศาสตร์ รับนักศึกษาเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตและวิทยาศาสตรบัณฑิต รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ที่ตั้งใจเรียนแพทย์ได้มีโอกาสเข้าศึกษา โดยรับนักศึกษาเฉพาะในภาคใต้ร้อยละ 50 ในปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ได้รับนักศึกษาในโครงการต่างๆดังนี้

  • โครงการรับตรงนักเรียน 14 จังหวัดภาคใต้
  • โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ร่วมกับศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลหาดใหญ่ เพื่อสร้างบัณฑิตแพทย์ไปปฏิบัติงานในชนบทของจังหวัดในภาคใต้ที่ขาดแคลนแพทย์
  • โครงการผลิตแพทย์เพื่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อผลิตแพทย์เพิ่มให้กับจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
  • โครงการรับนักเรียนร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.)
  • โครงการกลุ่มนักเรียนช้างเผือก จำนวนรับไม่เกิน 2 คน ของโรงเรียนที่ได้กำหนดไว้ตามประกาศมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในแต่ละปีการศึกษา
  • โครงการผลิตและพัฒนาบุคลากรภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนาและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • โครงการรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาสาขาต่างๆ เข้าศึกษา ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในแต่ละปีการศึกษา
  • โครงการผลิตแพทย์แนวปฏิรูป (เฉพาะนักเรียนที่มีผลการเรียนอันดับ 1 ของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายวิทยาศาสตร์) ในจังหวัดตรัง และอันดับ 1-10 ของโรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง, โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง และโรงเรียนบูรณะรำลึก)
  • โครงการกระทรวงมหาดไทย โดยการคัดเลือกนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา โดยผู้สมัครสอบต้องมีภูมิลำเนา, บิดา หรือมารดา หรือผู้ปกครอง และสำเร็จการศึกษาจากสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย)

ชีวิตนักศึกษาแพทย์ แก้

การศึกษา แก้

  • ชั้นพลีเม็ดดิเคล (ปี 1) เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์เป็นหลัก และเรียนทางด้านภาษาที่คณะศิลปศาสตร์
  • ชั้นพรีคลินิก (ปี 2-3) เริ่มใช้ระบบการเรียนแบบใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นไป โดยใช้หลักการเรียนแบบ Problem-based Learning(PBL) เป็นการเรียนแบบไม่มีการแยกเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์, สรีรวิทยา, หรือพยาธิวิทยาเป็นรายวิชา แต่ใช้การเรียนไปเป็นระบบๆของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายแทน โดยเริ่มในนักศึกษาแพทย์รุ่นที่ 26 เป็นรุ่นแรกของคณะแพทยศาสตร์ในประเทศไทย
  • ชั้นคลินิก (ปี 4-5) แยกเรียนเป็น 3 โรงพยาบาลคือ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (โดยแบ่งตามโควตาที่เข้ามาตั้งแต่ตอนแรกรับ)
    • หากเข้ามาโดยโควตาแพทย์ชนบท(โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม)ต้องเรียนที่โรงพยาบาลหาดใหญ่
    • หากเข้ามาโดยโควต้าแพทย์ 3 จังหวัดต้องเรียนที่โรงพยาบาลยะลา
    • หากเข้ามาโดยวิธีอื่นๆ เรียนที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ทั้งหมด
  • ชั้นเอกซ์เทอร์น (ปี 6)
    • หากเรียนปี 4-5 ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จะต้องมาฝึกงานเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นเวลา 6 เดือน
    • หากเรียนปี 4-5 ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จะต้องเลือกฝึกงานตามโรงพยาบาลจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการสอนนักศึกษาแพทย์ร่วมกัน ได้แก่ โรงพยาบาลสุราษฏร์ธานี, โรงพยาบาลตรัง, โรงพยาบาลสงขลา, โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เป็นเวลา 6 เดือน และที่เหลืออีก 6 เดือนฝึกงานที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
  • เมื่อสำเร็จการศึกษารับปริญญาบัตรแพทยศาสตร์บัณฑิต (พ.บ.) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทั้งหมด (โดยไม่มีการแบ่งแยกโรงพยาบาล) ก็เป็นอันว่าจบสิ้นในการเรียนระดับปริญญาตรี

กิจกรรม แก้

ราตรีนี้สีเขียว

ราตรีนี้สีเขียว (Green Night) เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อรวมสายรหัสทุกสายตั้งแต่ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 ไปจนถึงอาจารย์แพทย์ โดยในงานจะมีการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นโต๊ะสายรหัส จากนั้นจะมีกิจกรรมการแสดงของแต่ละชั้นปีตั้งแต่ปี1,2,3 และการแสดงของอาจารย์ ซึ่งในงานนี้จะมีกิจกรรมสำคัญคือการประกวดดาว-เดือนคณะแพทยศาสตร์คัดจาก ชาย 5 คน หญิง 5 คน ซึ่งจะมีการให้คะแนนจากกรรมการ และเปิดรับคะแนน popular vote จากดอกไม้ในงาน ณ ห้องทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์

บาก้าอวอร์ด

บาก้าอวอร์ด (Baka Award) เป็นการประกวดดนตรีของนักศึกษาและบุคลากรของคณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ (แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ การแพทย์แผนไทย และเทคนิคการแพทย์) โดยก่อนหน้านั้นมีการจัดประกวดร้องเพลงและดนตรีภายในคณะแพทยศาสตร์มาก่อนแล้วโดยใช้ชื่อเดียวกันนี้ ซึ่งตั้งตามคำในบูมคณะแพทยศาสตร์ แต่ได้หยุดการประกวดไปนานหลายปี จนถึงปี พ.ศ. 2543 จึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยชมรมดนตรีสากลคณะแพทยศาสตร์เป็นผู้จัด และมี ผศ.พญ.มยุรี วศินานุกร เป็นที่ปรึกษาการประกวด ในปีแรกการจัดเป็นการจัดภายในคณะโดยประกาศรับสมัครล่วงหน้าเป็นเวลานาน แต่มีผู้สมัครเข้ามาจำนวนน้อย จนถึงใกล้วันสมัครจึงมีผู้สมัครเข้ามาอย่างมากมายทำให้เมื่อถึงวันประกวดจริง กำหนดการแสดงต่างๆยาวนานไปจนจบตอนใกล้เวลา 2.00 นาฬิกาของอีกวัน ในครั้งนั้นมีการประกวดสองประเภทคือ โฟลค ซอง (Folk song) และประกวดร้องเพลง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้เชิญคณะพยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และทันตแพทยศาสตร์เข้าร่วมด้วย โดยยังคงมีสองประเภทของการแข่งขันเหมือนครั้งก่อน แต่ได้รับการตอบรับล่วงหน้ามากกว่าเดิม ทำให้มีการจัดรอบคัดเลือกก่อนหน้าที่จะแข่งขันจริง และในปลายปีเดียวกันได้มีการจัดขึ้นอีกครั้งเป็นการภายในคณะ ปีต่อมาได้เพิ่มการแข่งขันประเภทฟรีสไตล์ ซึ่งอาจเป็นการร้องเพลงอย่างเดียว หรือเล่นดนตรีผสมกันได้ โดยไม่จำกัดประเภทของเครื่องดนตรี และในปี พ.ศ. 2549 ได้แยกการแข่งขันวงสตริงออกจากประเภทฟรีสไตล์ ปัจจุบันการแข่งขันจึงแบ่งออกเป็นสี่ประเภท คือ การขับร้อง โฟล์คซอง ฟรีสไตล์ และวงสตริง โดยในรอบชิงชนะเลิศจะทำการแข่งขันทั้งสี่ประเภทนี้ตามลำดับ ณ ห้องทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์ อาคารเรียนรวมและหอสมุด[ต้องการอ้างอิง]

ค่ายอาสา

เป็นการจัดค่ายอาสาเพื่อสร้างอาคารเรียนให้โรงเรียนที่ห่างไกล โดยเริ่มในปีแรก พ.ศ. 2543 ที่โรงเรียนสระหมื่นแสน อ.ระโนด จ.สงขลา เป็นการสร้างอาคารคารอเนกประสงค์ สนามเด็กเล่น และออกให้สุขศึกษาแก่ชาวบ้านแถบนั้น ในช่วงเวลาที่ นักศึกษาแพทย์ปิดภาคเรียน ปัจจุบันโรงเรียนสระหมื่นแสนได้ปิดตัวเองลงไปเนื่องจากมีนักเรียนน้อยเกินไป จากนั้นจึงได้มีจัดค่ายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ สโมสรนักศึกษาคณะได้จัดคอนเสิร์ตเพื่อนำรายได้สมทบทุนค่ายอาสา โดยกลุ่มศิลปินที่เคยเปิดการแสดงคอนเสิร์ตดังกล่าว ได้แก่ ศุ บุญเลี้ยง (พ.ศ. 2544) บอดี้สแลม (พ.ศ. 2545) แคลช โมเดิร์นด็อก (มกราคม พ.ศ. 2550) พาราด็อกซ์ (กันยายน พ.ศ. 2550) และฟลัวร์ (มกราคม พ.ศ. 2552)[ต้องการอ้างอิง]

รับเสื้อกาวน์

งานรับเสื้อกาวน์จะจัดขึ้นในเดือนมกราคมของทุกปี โดยนักศึกษาแพทย์ปี 3 ที่กำลังจะขึ้นชั้นคลินิกจะได้เข้าร่วมพิธีรับมอบเสื้อกาวน์จากอาจารย์แพทย์ ณ ห้องทองจันทร์ หงส์ลดารมภ์จากนั้นจึงกำหนดวันใดวันหนึ่ง เพื่อถ่ายรูปเก็บความทรงจำที่หน้าลานพระบิดาในตอนเช้า จะมีสายรหัสมาร่วมถ่ายรูป แสดงความยินดี รวมทั้งเพื่อนๆคณะอื่นได้มาร่วมแสดงความยินดีกันอย่างคับคั่ง หลังจากงานรับเสื้อกาวน์ตอนเช้าแล้วสายรหัสส่วนใหญ่จะไปเลี้ยงสายกัน จากนั้นตอนกลางคืนจะมีการจัดงานพร้อมกันขึ้นเพื่อเลี้ยงสังสรรค์

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง แก้

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและสถาบันร่วมผลิตแพทย์ แก้

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จังหวัด สังกัด
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สถาบันร่วมผลิตแพทย์ จังหวัด สังกัด
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลยะลา จังหวัดยะลา กระทรวงสาธารณสุข
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลตรัง จังหวัดตรัง กระทรวงสาธารณสุข

อ้างอิง แก้

  1. แพทยสภา. โรงเรียนแพทย์ภายในประเทศ ที่แพทยสภารับรอง เรียงลำดับ. 18 กุมภาพันธ์ 2565
  2. ประกาศการแบ่งโครงสร้างหน่วยงานภายในส่วนงานประเภทนโยบายและบริหาร ประเภทวิชาการและประเภทอำนวยการและสนับสนุนภารกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ.๒๕๖๓

แหล่งข้อมูลอื่น แก้