การตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะ

การตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะ (อังกฤษ: Stomach Content) เป็นการเปลี่ยนแปลงหลังการตายตามธรรมชาติอย่างหนึ่งของร่างกายมนุษย์ การตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะอาหารที่ยังคงหลงเหลืออยู่ภายในร่างกาย สามารถใช้ในการบอกระยะเวลาการตาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมื้ออาหารที่ผู้ตายรับประทานได้ ถึงแม้ว่าระยะเวลาของอาหารที่ผ่านกระเพาะอาหาร จะมีความแตกต่างกันในแต่ละคนและมีความแตกต่างกันในอาหารแต่ละชนิดด้วย ซึ่งอาหารบางประเภทย่อยง่าย บางประเภทย่อยยากเช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัดหรือพิซซ่า เป็นต้น

ระยะเวลาการย่อย แก้

ตามปกติของร่างกายมนุษย์ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปอาหารจะลงไปอยู่ในกระเพาะ และได้รับการย่อยจากน้ำย่อยที่เป็นกรดจากผนังของกระเพาะซึ่งจะออกมาคลุกเคล้า และหลังจากนั้นกระเพาะอาหารจะส่งผ่านอาหารผ่านกระเพาะไปยังลำไส้เพื่อทำหน้าที่ย่อยอาหารต่อไป ซึ่งจากการศึกษาทางด้านนิติเวชศาสตร์ของแพทย์นิติเวชพบว่า ระยะเวลาของอาหารที่ผ่านกระเพาะทำให้ใช้ปริมาณอาหารที่หลงเหลืออยู่ในกระเพาะ ในการช่วยประมวลหาระยะเวลาการตายที่มีความเกี่ยวข้องกับอาหารที่รับประทานได้

เมื่อตายหรือหัวใจหยุดเต้นอาหารที่รับประทานเข้าไปภายในร่างกายที่มีส่วนประกอบเป็นน้ำ จะผ่านกระเพาะอาหารครึ่งหนึ่งเท่านั้นในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 นาที อาหารจำนวนน้อยที่มีส่วนประกอบเป็นแป้งและน้ำเช่นก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม เมื่อรับประทานเข้าไปอาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการผ่านกระเพาะอาหารและเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการย่อย

แต่ถ้าเป็นอาหารมื้อใหญ่คือรับประทานอาหารจำนวนมาก หลากหลายชนิดเช่นการรับประทานอาหารในงานเลี้ยงสังสรรค์เช่น ข้าวผัด ต้มยำ ขาหมู ฯลฯ อาหารเหล่านั้นอาจจะผ่านกระเพาะอาหารภายในระยะเวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง หรือในบางรายอาหารจำนวนมากที่รับประทานเข้าไป อาจจะใช้ระยะเวลานานประมาณ 6 ชั่วโมงกว่าอาหารจะผ่านกระเพาะอาหาร ทั้งนี้ระยะเวลาการย่อยอาหารขึ้นอยู่กับตัวบุคคลแต่ละบุคคล[1]

การตรวจสอบปริมาณอาหาร แก้

การตรวจสอบปริมาณอาหารที่หลงเหลืออยู่ในกระเพาะอาหาร อาจจะเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยบ่งบอกระยะเวลาตายของผู้ตายได้ แพทย์นิติเวชและพนักงานสอบสวนสามารถใช้ปริมาณของอาหารในกระเพาะอาหารมาคำนวณหาระยะเวลาการตายได้ ตัวอย่างเช่นผู้ตายเป็นหญิงสาว ลักษณะรูปร่างสูงโปร่ง ผิวขาว อายุประมาณ 35 ปี หายออกจากที่ทำงานไปตอนหลังจากรับประทานอาหารเที่ยงในวันที่ 1 พร้อมกับเพื่อน ๆ ต่อมาได้มีโทรศัพท์จากคนร้ายมาเรียกค่าไถ่พร้อมกับแจ้งว่าได้กักขังตัวหญิงสาวไว้ในสถานที่แห่งหนึ่งในตอนบ่ายของวันที่ 2 หลังจากหญิงสาวหายตัวไป

ภายหลังจากญาติของหญิงสาวได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ได้จ่ายเงินเป็นค่าไถ่ตามที่คนร้ายเรียกร้อง ต่อมามีผู้พบศพหญิงสาวถูกฆาตกรรมทิ้งไว้ริมถนนในเขตชานเมืองในเช้าวันที่ 4 เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องหาทางตรวจสอบเพื่อทราบว่าผู้ตายนั้นถูกฆาตกรรมในคืนวันที่ 1 หรือคืนวันที่ 2 หลังจากหายตัวไป เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าการไม่จ่ายค่าไถ่ตามที่คนร้ายเรียกร้องนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งถ้าตรวจดูจากสภาพภายนอกของการเปลี่ยนแปลงของศพ เมื่อวันที่ 4 ศพของหญิงสาวจะมีสภาพก้ำกึ่งอยู่ในระหว่างตายมาแล้ว 2 กับ 3 วัน

แต่ภายหลังจากการชันสูตรพลิกศพพบว่า ในกระเพาะอาหารของหญิงสาวมีเพียงก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ ผักคะน้าและเศษเนื้ออีกหลายชิ้น รวมปริมาณของเศษอาหารประมาณครึ่งกระเพาะ และได้รับแจ้งจากเพื่อนของผู้ตายที่รับประทานอาหารเที่ยงด้วยกันว่า ผู้ตายรับประทานอาหารมื้อเที่ยงคือก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่เนื้อไป 2 ชาม ดังนั้นจากการตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะ จึงสันนิษฐานได้ว่าผู้ตายถูกฆาตกรรมตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมง หลังจากหายตัวออกจากที่ทำงาน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้และให้การรับสารภาพว่า ได้ฆ่าผู้ตายตั้งแต่ตอนจับตัวไปแล้วเนื่องจากผู้ตายต่อสู้ดิ้นรนขัดขืนไม่ยอมให้จับตัว ซึ่งก็คือในบ่ายวันที่ 1 หลังจากกลับจากรับประทานอาหารเที่ยงกับเพื่อน ๆ นั่นเอง

ดังนั้นการตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะอาหาร ถ้าไม่พบอาหารในกระเพาะอาหาร ผู้ตายจะรับประทานอาหารมาแล้วประมาณ 3-6 ชั่วโมง ถ้าพบปริมาณของอาหารเพียงครึ่งกระเพาะ แสดงว่าผู้ตายรับประทานอาหารมาประมาณครึ่งชั่วโมงถึง 2 ชั่วโมงเศษ แต่ถ้าพบปริมาณอาหารเต็มกระเพาะ แสดงว่าผู้ตายรับประทานอาหารมาไม่เกินครึ่งชั่วโมงก่อนตาย[2]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. ระยะเวลาการย่อย, การตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะ, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 34
  2. การตรวจสอบปริมาณอาหารในกระเพาะ, นิติเวชศาสตร์ สำหรับพนักงานสอบสวน, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 35