การลดลงของอุณหภูมิร่างกายหลังตาย

การลดลงของอุณหภูมิร่างกายหลังตาย (อังกฤษ: Algor Mortis) เป็นการเปลี่ยนแปลงหลังการตายตามธรรมชาติอย่างหนึ่งของร่างกายมนุษย์ เมื่อตายลงด้วยอุบัติเหตุ ฆาตกรรมหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ฯลฯ อุณหภูมิของร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ คืออุณหภูมิภายในร่างกายจะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับเช่น ตามปกติอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์จะอยู่ที่อุณหภูมิประมาณ 36-37 องศาเซลเซียส เมื่อตายลงอุณหภูมิเฉลี่ยของร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยปกติหลังจากเสียชีวิต อุณหภูมิของร่างกายจะลดลงเฉลี่ย 1 องศาเซลเซียสต่อชั่วโมง ซึ่งการลดลงของอุณหภูมิร่างกายมนุษย์ อาจจะช่วยให้แพทย์ทางนิติเวชและพนักงานสอบสวน สามารถนำไปใช้ในการคำนวณเพื่อหาระยะเวลาการตายได้

การหาระยะเวลาการตาย แก้

การคำนวณหาการลดลงของอุณหภูมิร่างกายหลังตายนั้น สามารถใช้เป็นเครื่องบ่งบอกระยะเวลาการตายได้ โดยมีรูปแบบหลายรูปแบบด้วยกัน ซึ่งวิธีการหาการลดลงของอุณภูมิร่างกายมนุษย์มีวิธีการคำนวณอย่างง่าย ๆ สองวิธีคือ

  1. อุณหภูมิของร่างกายจะเริ่มลดลง 1.5 องศาฟาเรนไฮต์หรือประมาณ 0.83 องศาเซลเซียสต่อชั่วโมงในช่วงระยะเวลา 12 ชั่วโมงแรก และจะอุณหภูมิจะลดลงอีก 1 องศาฟาเรนไฮต์ในอีก 12 ชั่วโมงต่อมา
  2. การใช้สูตรของมอร์ริทซ์ (อังกฤษ: Moritz’s Formular) โดยเอาตัวเลข 98.6 องศาฟาเรนไฮต์หรือประมาณ 37 องศาเซลเซียสเป็นตัวตั้ง แล้วนำอุณหภูมิของศพที่วัดได้จากทางทวารหนักมาลบ โดยจะคำนวณเป็นองศาฟาเรนไฮต์ แล้วหารด้วย 1.5 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือระยะเวลาการตายที่เป็นชั่วโมง[1]

การลดลงของอุณหภูมิร่างกายหลังตาย เป็นการค้นหาระยะเวลาการตายอย่างหนึ่งทางนิติพยาธิวิทยา ซึ่งอาจเกิดความคลาดเคลื่อนบ้างเล็กน้อยในการใช้อุณหภูมิเพื่อสำหรับใช้ในการบอกระยะเวลาการตาย ซึ่งเมื่อตายลงจะไม่มีใครทราบมาก่อนว่า ก่อนตายนั้นผู้ตายมีอุณหภูมิในร่างกายประมาณกี่องศาเซลเซียส เพราะในช่วงต่างเวลาของแต่ละวัน อุณหภูมิภายในร่างกายก็มีความแตกต่างเช่นกันเช่น คนที่ปกติมีอุณหภูมิ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 37 องศาเซลเซียส แต่ในตอนเช้าอาจมีอุณหภูมิลดลงเหลือ 97 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 37.111 องศาเซลเซียส และในช่วงตอนบ่ายอุณหภูมิของร่างกายอาจสูงถึง 99 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 37.222 องศาเซลเซียสก็ได้ ซึ่งการออกกำลังกายนั้นอาจทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นถึง 101-104 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 38.333 - 40 องศาเซลเซียสได้โดยง่าย

นอกจากนี้ การเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ภายในร่างกายที่ผู้ตายเป็นอยู่ก่อนตายนั้น สามารถทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมาก ซึ่งนอกจากนี้ในการศึกษาของฮัทชิน (อังกฤษ: Hutchins) พบว่าในช่วงระยะแรกภายหลังจากการตายนั้น อุณหภูมิของศพจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมเพียงเล็กน้อย และต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ก่อนที่อุณหภูมิของศพจะลดกลับลงมาถึงระดับอุณหภูมิปกติของร่างกายก่อนตาย โดยมีความเชื่อว่าการที่อุณหภูมิของศพเพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากการที่เนื้อเยื่อบางส่วนยังมีปฏิกิริยาเคมีต่ออีกช่วงหนึ่งก่อนตาย ร่วมกับปฏิกิริยาทางเคมีของแบคทีเรียต่าง ๆ ภายในลำไส้อีกด้วย[2]

อุณหภูมิร่างกายภายหลังการตาย แก้

การคำนวณหาระยะเวลาการลดลงของอุณหภูมิร่างกายหลังตายนั้น สามารถใช้ได้กับผู้ตายที่ตายในทันที ถ้าในกรณีที่ผู้ตายไม่ได้ถึงแก่ความตายทันทีหลังการถูกทำร้ายเช่น ผู้ตายถูกทำร้ายและถูกทุบตีจนบาดเจ็บสาหัส สลบไม่รู้สึกตัวอยู่ชายทุ่งในสภาพจมอยู่ในน้ำครึ่งตัว หรือในสถานที่ที่ไม่มีผู้พบเห็น แต่ผู้ตายยังไม่ตายในทันทีและไม่มีใครเห็นหรือให้การช่วยเหลือ ผู้ตายนอนหมดสติอยู่หลายชั่วโมงจนกระทั่งเกิดการติดเชื้อที่ปอดและบริเวณบาดแผลที่ได้รับจากการถูกทำร้าย ทำให้ปอดและบาดแผลเกิดการอักเสบและมีไข้สูงก่อนตายในอีกสองวันต่อมา

ภายหลังจากเมื่อมีผู้มาพบศพและแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจตามกฎหมาย พยาธิแพทย์จะใช้การคำนวณหาการลดลงของอุณหภูมิร่างกายหลังตาย เพื่อเป็นการตรวจสอบการลดลงของอุณหภูมิเพื่อเป็นการบ่งชี้เวลาตาย แต่เนื่องจากผู้ตายไม่ได้ถูกพบศพโดยทันที การคำนวณหาการลดลงของอุณหภูมิร่างกายหลังตายย่อมเกิดการผิดพลาดจากระยะเวลาการตาย นอกจากนั้น กระแสลม บรรยากาศ อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม สภาพการเปียกการแห้งของร่างกายในขณะตาย ฯลฯ จะมีผลต่ออัตราการลดลงของอุณหภูมิได้เป็นอย่างมาก ซึ่งโดยสรุปแล้วการใช้อุณหภูมิของร่างกายจากศพที่ตายโดยไม่มีผู้พบเห็น มาใช้เพื่อคำนวณหาระยะเวลาการตายไม่ได้ เนื่องจากไม่มีใครทราบว่าผู้ตายรายนั้น ๆ มีอุณหภูมิตอนตายเท่าใดและมีอัตราการลดของอุณหภูมิเท่าใด

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. การลดลงของอุณหภูมิร่างกาย, การคำนวณหาอุณหภูมิภายในร่างกายหลังการตาย, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 35
  2. การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิร่างกาย, การคำนวณหาอุณหภูมิภายในร่างกายหลังการตาย, พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ., อว. (นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ, 2549, หน้า 35