กรมทรัพยากรธรณี

(เปลี่ยนทางจาก กรมโลหกิจ)

กรมทรัพยากรธรณี เป็นหน่วยงานระดับกรม ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กรมทรัพยากรธรณี
Department of Mineral Resources
ตรากรมทรัพยากรธรณี
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง1 มกราคม พ.ศ. 2434 (133 ปี)
หน่วยงานก่อนหน้า
  • กรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา
สำนักงานใหญ่75/10 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400
งบประมาณประจำปี636,524,500 บาท (พ.ศ. 2563)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • พิชิต สมบัติมาก[2], อธิบดี
  • รองอธิบดี
  • รองอธิบดี
ลูกสังกัดหน่วยงาน
เว็บไซต์http://www.dmr.go.th

ประวัติ แก้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศตั้ง กรมราชโลหกิจแลภูมิวิทยา สังกัดกระทรวงเกษตราธิการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับแร่ โลหะธาตุ การประทานบัตรและสัญญาการแร่โลหะธาตุ และภูมิวิทยา (ธรณีวิทยา)[3] และต่อมาได้ย้ายสังกัดไปขึ้นกับกระทรวงต่าง ๆ ตามยุคสมัยอีก 3 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2475)[4] กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และกระทรวงเศรษฐการ เมื่อ พ.ศ. 2506 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมทรัพยากรธรณี สังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ[5] ต่อมาย้ายไปสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ภายหลังจากการปฏิรูประบบราชการเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 กรมทรัพยากรธรณี ได้ย้ายมาสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ก่อนการปฏิรูประบบราชการ แก้

กรมทรัพยากรธรณี ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีภารกิจหลัก 4 ด้าน

  1. สำรวจข้อมูลธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี
  2. ขุดเจาะน้ำบาดาล อนุญาต และกำกับดูแลกิจการน้ำบาดาล ตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 และพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
  3. อนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ ประทานบัตรทำเหมืองแร่ และกำกับดูแลด้านกิจการเหมืองแร่ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไข รวมถึงพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
  4. ให้สัมปทาน และกำกับดูแลด้านกิจการปิโตรเลียม ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง

หลังการปฏิรูประบบราชการ แก้

กรมทรัพยากรธรณี ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มภารกิจตาม พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ. 2545 เป็น 4 กรม[6] คือ

  1. กรมทรัพยากรธรณี สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  2. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  3. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
  4. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สังกัดกระทรวงพลังงาน

ส่วนราชการภายใน แก้

ส่วนราชการภายในกรมทรัพยากรธรณี[7]
ที่ ส่วนราชการ หน้าที่
1 สำนักงานเลขานุการกรม งานสารบรรณ, งานช่วยอำนวยการ, งานเลขานุการ, ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลนโยบายและผลงานของกรม, จัดระบบงาน, บริหารงานบุคคล, การเงิน/การบัญชี/งบประมาณ/พัสดุ และปฏิบัติงานอื่น ๆ
2 กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ ดูแลการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ บริหารจัดการแหล่งซากดึกดำบรรพ์ เสนอแนะนโยบาย แผน และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแหล่งและซากดึกดำบรรพ์ กำหนดมาตรฐานและรวบรวมหลักฐานอ้างอิงซากดึกดำบรรพ์
3 กองทรัพยากรแร่ สำรวจ เก็บข้อมูล ประเมินศักยภาพการพัฒนาแหล่งแร่ ศึกษาวิจัยและทำแผนที่ทรัพยากรแร่ จัดเก็บตัวอย่างแร่เพื่อการอ้างอิงและศึกษา ปฏิบัติงานในฐานะเลขานุการของ "คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ" และคณะกรรมการอื่น
4 กองเทคโนโลยีธรณี ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการสำรวจและศึกษาวิจัยทางธรณีฟิสิกส์ ธรณีเคมี ธรณีเทคนิค แปลความหมายทางธรณีวิทยาจากข้อมูลระยะไกล (เช่นทางอากาศ) เจาะสำรวจ เพื่อสนับสนุนงานด้านธรณีวิทยา ธรณีวิศวกรรม และทรัพยากรธรณี, พัฒนาฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรณี และพื้นที่อันควรอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา
5 กองธรณีวิทยา สำรวจ เก็บข้อมูล ผลิตข้อมูล ศึกษาวิจัยด้านธรณีวิทยา จัดทำแผนที่ธรณีวิทยาและกำหนดมาตรฐานทางธรณีวิทยาของประเทศ จัดเก็บหลักฐานทางธรณีวิทยาเพื่อการอ้างอิงและการศึกษา จัดการด้านอนุรักษ์ เช่น แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา อุทยานธรณี บริหารจัดการ "พิพิธภัณฑ์แร่-หิน" (กรุงเทพมหานคร)
6 กองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม สำรวจ ศึกษาวิจัยด้านธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย (เพื่อการวางผังเมือง จัดการพื้นที่เสี่ยงต่อธรณีพิบัติภัย การกัดเซาะชายฝั่งและตลิ่ง) พัฒนาระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย กำหนดมาตรฐานทางธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัยของประเทศ
7 กองวิเคราะห์และตรวจสอบทรัพยากรธรณี ศึกษาวิจัยและให้บริการการวิเคราะห์และตรวจสอบตัวอย่างทรัพยากรธรณี
8 กองอนุรักษ์และจัดการ
ทรัพยากรธรณี
เสนอการจัดทำนโยบายและแผน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การบริหารจัดการด้านธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณี ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม และธรณีพิบัติภัย, จำแนกพื้นที่แหล่งทรัพยากรธรณี พื้นที่อันควรอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา พื้นที่เสี่ยงต่อธรณีพิบัติภัยและมลพิษ, ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศด้านธรณีวิทยาและสาขาของธรณีวิทยา
9 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดำเนินการเกี่ยวกับระบบสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ เป็นศูนย์กลางเครือข่ายข้อมูลสารสนเทศของกรม รวมทั้งศึกษาและพัฒนาระบบดังกล่าว, จัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัลให้สอดคล้องกับ "แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม"
10 สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 (ลำปาง) ปฏิบัติงานเฉพาะในเขตพื้นที่ส่วนภูมิภาค อันได้แก่ สำรวจ เก็บข้อมูล ศึกษาวิจัย ประเมินศักยภาพ ให้บริการ คำปรึกษา ประชาสัมพันธ์ สนับสนุนการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในด้านธรณีวิทยา ซากดึกดำบรรพ์ และธรณีพิบัติภัย ผลิตข้อมูลและแผนที่ทรัพยากรแร่ ประสานการดำเนินการเหตุฉุกเฉินด้านธรณีพิบัติภัย กำกับดูแลการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ การบริหารจัดการแหล่งซากดึกดำบรรพ์ พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา/ซากดึกดำบรรพ์/ธรรมชาติวิทยาในเขตพื้นที่ดูแล
11 สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 (ขอนแก่น)
12 สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 (ปทุมธานี)
13 สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 (สุราษฎร์ธานี)

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, "พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563". เล่ม 137 ตอนที่ 15ก วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563.
  2. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอน 318 ง หน้า 11 วันที่ 19 ธันวาคม 2566
  3. ราชกิจจานุเบกษา, "ประกาศตั้งกรมราชโลหกิจแลภูมิ์วิทยา". เล่ม 8 หน้า 461-462, วันที่ 1 มกราคม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434).
  4. 16 กุมภาพันธ์ 2560, "ย้อนรอยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์" เก็บถาวร 2020-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, การจัดการความรู้ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
  5. ราชกิจจานุเบกษา, "พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ พ.ศ. 2506". เล่ม 80 ตอนที่ 51 หน้า 21-24 วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2506.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, "พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545" เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เล่ม 119 ตอนที่ 99ก หน้า 14-34 วันที่ 2 ตุลาคม 2545.
  7. ราชกิจจานุเบกษา, "กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561". เล่ม 135 ตอนที่ 51ก หน้า 6-12 วันที่ 20 กรกฎาคม 2561.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้