โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ

โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ (ญี่ปุ่น: ドラえもん のび太の恐竜โรมาจิDoraemon Nobita no Kyōryū) เป็นโดราเอมอนฉบับภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องยาว ผลงานของ ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ มีความยาวทั้งสิ้น 92 นาที ภาพยนตร์ชุดนี้ถือเป็นตอนแรกของโดราเอมอนฉบับภาพยนตร์ ออกฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1980 และเข้าฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) โดยใช้ชื่อตอนว่า "โดเรม่อนผจญไดโนเสา" (สะกดตามต้นฉบับ)[2] โดยผู้นำเข้ามาฉาย คือ สมโพธิ แสงเดือนฉาย โดยเข้าฉายใน 2 โรงภาพยนตร์ คือ เมโทร และ สามย่าน นับเป็นโดราเอมอนฉบับภาพยนตร์เรื่องยาวที่เข้ามาฉายในประเทศไทยเป็นเรื่องแรก ได้รับความนิยมมากเมื่อเข้าฉาย ด้วยการทำรายได้มากถึง 2 ล้านบาท [3] และในส่วนฉบับหนังสือการ์ตูน ได้ลิขสิทธิ์จัดพิมพ์โดยเนชั่นเอ็ดดูเทนเมนท์

โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ
กำกับฮิโรชิ ฟูกูโตมิ
เขียนบทฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ
อำนวยการสร้างซังกิชิโร คูซูเบะ
โซอิจิ เบซโช
นักแสดงนำโนบูโยะ โอยามะ
โนริโกะ โอฮาระ
มิชิโกะ โนมูระ
กาเนตะ คิโมสึกิ
คาซูยะ ทาเทกาเบะ
กำกับภาพคัตสึจิ มิซาวะ
ตัดต่อคาซูโอะ อิโนอูเอะ
เซจิ โมริตะ
ดนตรีประกอบชุนซูเกะ คิกูจิ
ผู้จัดจำหน่ายโตโฮ
วันฉาย15 มีนาคม ค.ศ. 1980 (ญี่ปุ่น)
ความยาว92 นาที
ประเทศญี่ปุ่น
ภาษาญี่ปุ่น
ทำเงิน1.55 พันล้านเยน[1]

ประวัติ แก้

ในปี 1975 ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ ได้วาด "โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ" เป็นการ์ตูนเรื่องสั้น ความยาว 25 หน้า ลงในนิตยสารโชเน็งซันเดย์ ฉบับพิเศษ และในภายหลังก็ได้ลงตีพิมพ์ใน โดราเอมอน ฉบับรวมเล่มของเทงโทมุชิคอมิกส์ ฉบับที่ 10 ด้วย[4] ซึ่ง ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ เขียนโดราเอมอนตอนนี้ขึ้นมาโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่อง "Born Free" ที่เป็นผลงานการประพันธ์ของจอย อดัมสัน[4] ต่อมาในเดือนตุลาคม ปี 1979 นิตยสารโคโรโคโรคอมิกก็ลงประกาศในเล่มว่า โดราเอมอนตอนนี้ จะได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องยาว จากนั้นในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ ก็เขียนโดราเอมอนตอนนี้เป็นแบบเรื่องยาว ลงในนิตยสารโคโรโคโรคอมิกรายเดือน โดยแบ่งเป็น 3 ตอนใหญ่ๆ ลงตีพิมพ์เดือนละตอน เป็นเวลา 3 เดือนด้วยกัน

"โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ" ฉบับภาพยนตร์การ์ตูนที่สร้างโดยชินเอโดงะกับโชงะกุกัง ออกฉายในโรงภาพยนตร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปี 1980 ทำรายได้ไป 15.5 ร้อยล้านเยน[5] โดยฉายควบกับภาพยนตร์เรื่อง "มอธรา ปะทะ กอตซิล่า"[5] หลังจากนั้นในปี 1994 โดราเอมอนภาคนี้ก็ถูกนำไปดัดแปลงเป็นละครเพลง และได้ไปแสดงที่ประเทศฮ่องกงกับมาเลเซียด้วย

ในปี 1983 "โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ" แบบเรื่องยาวที่ได้รับการปรับปรุงเนื้อหาใหม่ ก็ออกวางจำหน่ายในรูปแบบหนังสือการ์ตูนฉบับรวมเล่มของเทงโทมุชิคอมิกส์ ในเครือสำนักพิมพ์โชงะกุกัง และจากนั้นอีก 23 ปีให้หลัง "โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ" ก็ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนเพื่อออกฉายในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง โดยใช้ชื่อตอนว่า "โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ เดอะมูฟวี่" ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงลายเส้นการวาดให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเดิมของ ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ มากขึ้น และเปลี่ยนตัวนักพากย์ผู้ให้เสียงตัวละครทั้งหมด

เรื่องย่อ แก้

โนบิตะรู้สึกเจ็บใจที่ซึเนะโอะไม่ยอมให้ตนเองได้ดูฟอสซิลเล็บไดโนเสาร์แบบชัดๆ เลยเผลอหลุดปากประกาศต่อหน้าพวกซึเนะโอะว่า จะขุดฟอสซิลไดโนเสาร์มาให้ดูเป็นขวัญตา ทว่าเมื่อนำเรื่องนี้ไปบอกโดราเอมอน ก็กลับถูกโดราเอมอนต่อว่าเสียยกใหญ่ ดังนั้นโนบิตะจึงตั้งใจที่จะพึ่งพากำลังของตนเอง ด้วยการไปขุดหาฟอสซิลไดโนเสาร์ตามที่ต่างๆ และในระหว่างนั้น เขาก็ขุดพบหินประหลาดโดยเชื่อว่าเป็นไข่ของไดโนเสาร์ เมื่อนำกลับไปบ้าน โดราเอมอนก็เอาผ้าคลุมกาลเวลาออกมาให้ใช้ เพื่อย้อนเวลาให้สภาพของไข่ใบนั้นกลับคืนเหมือนในอดีต แล้วไข่ก็ฟักออกมาเป็นตัวไดโนเสาร์พันธุ์ฟุตาบะซึซึกิ โนบิตะตั้งชื่อให้ไดโนเสาร์ตัวนั้นว่า "พีสุเกะ"

แม้จะได้ไดโนเสาร์ตัวจริงมาสมใจอยาก แต่โนบิตะก็ยังไม่ยอมเอาพีสุเกะไปอวดพวกซึเนะโอะ เพราะอยากเลี้ยงให้ตัวโตมากๆ เสียก่อน ทว่าเมื่อเลี้ยงไปเรื่อยๆ พีสุเกะก็ตัวใหญ่มากขึ้นจนไม่สามารถเลี้ยงในบ้านได้อีกต่อไป โนบิตะจึงต้องพาพีสุเกะไปแอบซ่อนตัวอยู่ในสระน้ำของสวนสาธารณะแทน แต่ความลับไม่มีในโลก เมื่อเกิดข่าวลือว่า มีคนพบสัตว์ประหลาดในสระน้ำของสวนสาธารณะ และจะมีการส่งนักประดาน้ำลงไปสำรวจในสระนั้น ทำให้โนบิตะกลุ้มใจอย่างหนัก เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เรื่องของพีสุเกะถูกเปิดเผย ในขณะนั้นเอง บุรุษชุดดำก็ได้ปรากฏตัวขึ้น เขาบอกกับโนบิตะว่าอยากจะขอซื้อตัวพีสุเกะ แต่โนบิตะยืนกรานว่าไม่ยอมขาย เมื่อบุรุษชุดดำกลับไป โนบิตะจึงตัดสินใจที่จะเอาตัวพีสุเกะกลับไปไว้ที่โลกดึกดำบรรพ์

หลายวันต่อมา โนบิตะก็สุดจะอดกลั้น เนื่องจากไม่มีใครยอมเชื่อว่าโนบิตะเลี้ยงไดโนเสาร์ไว้จริงๆ เขาเลยขอร้องให้โดราเอมอนเอาทีวีกาลเวลาออกมาให้พวกซึเนะโอะได้เห็นพีสุเกะที่อยู่ในโลกดึกดำบรรพ์ เมื่อได้ดูภาพจากทีวี ก็พบว่าพีสุเกะไม่สามารถเข้ากับไดโนเสาร์ตัวอื่นได้ ทำให้โดราเอมอนรู้ว่า พวกตนได้พาพีสุเกะไปส่งในแถบอเมริกาเหนือ ซึ่งที่นั่นไม่ใช่ถิ่นกำเนิดของไดโนเสาร์พันธุ์ฟุตาบะซึซึกิอย่างพีสุเกะ เมื่อได้ยินดังนั้น โนบิตะจึงรีบขอให้โดราเอมอนนั่งไทม์แมชชีนไปพาตัวพีสุเกะกลับมาทันที ส่วนชิซุกะ ไจแอนท์ และซึเนะโอะก็ได้ขอตามไปด้วย ส่งผลให้จำนวนบรรทุกเกินอัตรา แถมระหว่างทางยังถูกบุรุษชุดดำตามมายิงปืนใส่อีก 1 ที ทำให้ไทม์แมชชีนพังเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมให้ใช้การเหมือนเดิมได้ ด้วยเหตุนี้ พวกโนบิตะจึงต้องออกเดินทางผจญภัยในโลกดึกดำบรรพ์ ต่อสู้กับเหล่าวายร้ายบุรษชุดดำ ซึ่งเป็นนักล่าไดโนเสาร์ที่จ้องจะจับพีสุเกะไปเป็นสัตว์เลี้ยงของอัครมหาเศรษฐีในโลกอนาคต และพยายามหาทางกลับไปประเทศญี่ปุ่นในยุคปัจจุบันให้ได้

ตัวละครพิเศษในภาคนี้ แก้

พีสุเกะ (ญี่ปุ่น
ピー助โรมาจิPīsuke)
ไดโนเสาร์คอยาว พันธุ์ฟุตาบะซึซึกิ จากยุคครีเตเชียส ที่โนบิตะเป็นผู้ฟักไข่และเลี้ยงดูจนเติบโต มีนิสัยขี้อ้อน และรักโนบิตะมากราวกับเป็นพ่อผู้ให้กำเนิดตนเอง
คุณกาเคชิตะ (ญี่ปุ่น
ガケシタさんโรมาจิGakeshita-san)
ชายเจ้าของบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่โนบิตะขึ้นไปขุดหาฟอสซิลไดโนเสาร์ จนเศษหินเศษดินตกลงมาใส่หลังคาบ้าน เขาจึงใช้ให้โนบิตะขุดหลุมฝังขยะแทนคำขอโทษ เป็นเหตุให้โนบิตะขุดพบฟอสซิลไข่ของพีสุเกะเข้าโดยบังเอิญ
ที่จริงแล้วชื่อ "กาเคชิตะ" เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในบทความ THE ENCYCLOPEDIA OF"DORAEMON"THE MOVIE ซึ่งลงตีพิมพ์ในหนังสือ โดราเอมอนฉบับภาพยนตร์อนิเมะ ตอน ตะลุยดาวต่างมิติ (โคโรโคโรคอมิก เดอลักซ์) เพราะในต้นฉบับเดิมไม่ได้มีการกล่าวถึงชื่อของเขาแต่อย่างใด
บุรุษชุดดำ (ญี่ปุ่น
黒い男โรมาจิKuroiotoko)
นักล่าไดโนเสาร์จากโลกอนาคต ที่คิดจะจับพีสุเกะไปขายให้กับดอลแมนสตัน อนึ่ง ไทม์แมชชีนของเขานั้นมีชื่อว่า "สกอร์เปี้ยน" เนื่องจากมันมีรูปร่างคล้ายกับแมงป่องนั่นเอง[6]
ดอลแมนสตัน (ญี่ปุ่น
ドルマンスタンโรมาจิDorumansutan)
อัครมหาเศรษฐีที่อาศัยอยู่ในเมืองเมกาโรโปลิศ ศตวรรษที่ 24 (ค.ศ. 2314) มีงานอดิเรกชอบสะสมไดโนเสาร์ จึงตกลงว่าจ้างบุรุษชุดดำ เพื่อให้ไปเอาตัว "ไดโนเสาร์เชื่องคน" อย่างพีสุเกะมาให้ตนเอง สำหรับในภาคอนิเมะของ "โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ" "ปี 2112 กำเนิดโดราเอมอน" และ "ไดโนเสาร์ของโนบิตะ เดอะมูฟวี่ (2006)" ชื่อของเขาได้ถูกเปลี่ยนเป็น ดอลแมนสไตน์ (ドルマンスタイン)
ตำรวจกาลเวลา (ญี่ปุ่น
タイムパトロール隊โรมาจิTaimupatorōru-tai)
กองกำลังพิเศษแห่งกาลเวลา มีกองบัญชาการตั้งอยู่ในศตวรรษที่ 23 ใช้ยานลาดตระเวนที่ชื่อ "ไทม์มารีน"[7] ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายไปได้ทุกยุคทุกสมัย ออกปราบปรามและจับอาชญากรทั่วทุกกาลเวลา

เพลงประกอบ แก้

  • เพลงเปิด "โบคุ โดราเอมอน" (ญี่ปุ่น: ぼくドラえもんโรมาจิBoku Doraemon, โดราเอมอนของฉัน)
ขับร้องโดย โนบูโยะ โอยามะ และโคโอโรกิ'73
  • เพลงปิด "พ็อกเก็ต โนะ นากะ นิ" (ญี่ปุ่น: ポケットの中にโรมาจิPoketto no Naka ni, ในกระเป๋าเสื้อ)
ขับร้องโดย โนบูโยะ โอยามะ

อ้างอิง แก้

  1. Jaeger, Eren. "Past Doraemon Films". Forums.BoxOffice.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-19. สืบค้นเมื่อ May 20, 2014.
  2. สมประสงค์ เจียมบุญสม, นิตยสาร a day ปีที่ 2 ฉบับที่ 18, กุมภาพันธ์ 2545
  3. "ลายกนก ย้อนหลัง 15 พฤศจิกายน 2558 ตอน บันไดชีวิต สมโพธิ แสงเดือนฉาย (2)". เนชั่นทีวี. 15 November 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 16 November 2015.
  4. 4.0 4.1 ข้อความจาก ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ ในปี 1989 เก็บถาวร 2006-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Yahoo! BB, เรียกข้อมูลเมื่อ 24 ต.ค. 2550
  5. 5.0 5.1 SF MOVIE DataBank:โดราเอมอน ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ, GeneralWorks, เรียกข้อมูลเมื่อ 24 ต.ค. 2550
  6. โดราเอมอนฉบับภาพยนตร์อนิเมะ ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ (โคโรโคโรคอมิก เดอลักซ์), สำนักพิมพ์โชงะกุกัง, 2523
  7. 石ころぼうし 15 - タイムマリン「のび太の恐竜」 เก็บถาวร 2007-12-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 藤子・F・不二雄FAN CLUB, เรียกข้อมูลเมื่อ 10 ธ.ค. 2550

แหล่งข้อมูลอื่น แก้