แร้งคอนดอร์แอนดีส

(เปลี่ยนทางจาก Vultur)
แร้งคอนดอร์แอนดีส
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 2.6–0Ma
สมัยไพลโอซีนตอนปลาย–สมัยโฮโลซีน
ตัวเมียในสวนสัตว์ดูเอ-ลา-ฟงแตน ประเทศฝรั่งเศส
ตัวผู้ที่สวนสัตว์ทารองกา ประเทศออสเตรเลีย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Cathartiformes
วงศ์: Cathartidae
สกุล: Vultur
Linnaeus, 1758
สปีชีส์: V.  gryphus
ชื่อทวินาม
Vultur gryphus
Linnaeus, 1758
สีเหลือง - สถานที่แพร่กระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
  • Vultur fossilis Moreno & Mercerat, 1891
  • Vultur patruus Lönnberg, 1902
  • Vultur pratruus Emslie, 1988 (lapsus)

แร้งคอนดอร์แอนดีส (อังกฤษ: Andean condor, condor; ชื่อวิทยาศาสตร์: Vultur gryphus) นกล่าเหยื่อขนาดใหญ่จำพวกแร้ง จัดเป็นแร้งโลกใหม่ (Cathartidae) ชนิดหนึ่ง จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Vultur[2]

แร้งคอนดอร์แอนดีส จัดเป็นแร้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จึงจัดเป็นนกล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย และนับเป็นหนึ่งในนกที่บินได้ที่มีช่วงปีกกว้างที่สุดในโลก รองมาจากนกอัลบาทรอส เพราะมีช่วงปีกกางได้กว้างถึง 3 เมตร ขณะที่มีลำตัวยาว 1.2 เมตร และมีน้ำหนักตัวประมาณ 14 กิโลกรัม เมื่อโตเต็มที่ และถือเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในทวีปอเมริกาใต้ด้วย[3][4] [5]

แร้งคอนดอร์แอนดีส มีความแตกต่างระหว่างเพศที่เห็นได้ชัด คือ ตัวผู้จะมีหงอนสีแดงสดและเหนียงยานต่าง ๆ ที่บนหัวและใต้คางหรือหลังหัวที่โล้นเลี่ยนปราศจากขน ซึ่งเหนียงเหล่านี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์บอกถึงความสง่างามและแข็งแกร่งของนกตัวผู้ ขณะที่ตัวเมียจะไม่มีลักษณะดังกล่าว[3]

มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ในแถบเทือกเขาแอนดีสและที่ราบสูงปาตาโกเนีย ในทวีปอเมริกาใต้ โดยอาศัยและทำรังบนหน้าผาสูงในระดับนับร้อยหรือพันเมตรจากพื้นดิน มีระดับการบินที่สูงจากพื้นดิน ขณะที่สายตาก็สอดส่องมองหาอาหาร ซึ่งได้แก่ ซากสัตว์ต่าง ๆ ที่ตายบนพื้นดิน เมื่อพบเจอซากสัตว์ แร้งคอนดอร์แอนดีสมักจะได้สิทธิกินซากก่อนนกหรือแร้งโลกใหม่ชนิดอื่น ๆ เนื่องจากเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ ขณะที่แร้งคอนดอร์แอนดีสด้วยกันตัวอื่น ๆ แม้จะเจอซากสัตว์เหมือนกัน อาจมีการแย่งกินกันบ้าง แต่ก็ไม่รุนแรงเหมือนแร้งโลกเก่า (Aegypiinae) และนกตัวผู้จะได้รับสิทธิให้กินก่อน ต่อจากนั้นก็จะตามมาด้วยนกตัวเมีย และนกวัยรุ่นหรือนกวัยอ่อน ซึ่งในนกวัยรุ่นอาจมีการดึงแย่งเศษซากชิ้นส่วนกันด้วย[3]

แร้งคอนดอร์แอนดีสเป็นนกที่มีอายุยืน อาจมีอายุได้ถึง 50-60 ปี เป็นนกที่จับคู่แบบคู่เดียวตลอดทั้งชีวิต ทำรังบนหน้าผาสูง โดยวางไข่เพียงครั้งละ 1 ฟอง พ่อแม่นกจะช่วยกันเลี้ยงลูกนานถึง 2 ปี เมื่อลูกนกฝึกบินจะเป็นพ่อและแม่นกที่ช่วยสอนลูก[3]

ขณะบิน

แร้งคอนดอร์แอนดีส มีการอพยพย้ายถิ่นไปในสหรัฐอเมริกาและอเมริกากลางเช่นเดียวกับแร้งโลกใหม่ชนิดอื่น ๆ โดยจะบินอพยพไปพร้อม ๆ กันเป็นฝูงใหญ่ โดยมีการแวะพักในระหว่างทาง แร้งคอนดอร์แอนดีส เกือยจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติเมื่อปี ค.ศ. 1985 เมื่อนักสำรวจพบเจอนกเพียง 5 ตัวเท่านั้นในธรรมชาติ และได้ทำการเพาะขยายพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์เผ่าพันธุ์เอาไว้ [4]

ปัญหาปัจจุบันของแร้งคอนดอร์แอนดีส รวมถึงแร้งชนิดอื่น ๆ คือ การกินซากสัตว์ที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมีต่าง ๆ ที่ทำให้นกตายได้ในภายหลัง ทำให้ในบางพื้นที่ เช่น ชานกรุงซานเตียโก เมืองหลวงของประเทศชิลี ทางเทศบาลจะคัดแยกขยะที่สามารถเป็นอาหารของแร้งได้ แยกไว้ต่างหากในกองขยะที่รอการกำจัดทิ้ง เพื่อให้เป็นอาหารของแร้งคอนดอร์แอนดีส รวมถึงนกกินซากชนิดอื่น ๆ ด้วย เพื่อไม่ให้กินอาหารที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมี[3]

อ้างอิง แก้

  1. BirdLife International (2012). "Vultur gryphus". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.1. สืบค้นเมื่อ 16 July 2012.
  2. จาก itis.gov
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 อเมริกาใต้, "มองโลกอัศจรรย์ผ่านนภากาศ". สารคดีของบีบีซีเวิลด์ ทางไทยพีบีเอส: พฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2556
  4. 4.0 4.1 นกแร้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  5. e Ferguson-Lees, James; Christie, David A. (2001). Raptors of the World. Boston: Houghton Mifflin. ISBN 0-618-12762-3.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Vultur gryphus ที่วิกิสปีชีส์