เหี้ย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordate
ชั้น: Reptilia
อันดับ: Squamata
อันดับย่อย: Sauria
วงศ์: Varanidae
สกุล: Varanus
สกุลย่อย: Soterosaurus
สปีชีส์: V.  salvator
ชื่อทวินาม
Varanus salvator
(Laurenti, 1768)
ชนิดย่อย
ชนิดย่อย
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของเหี้ย
ชื่อพ้อง[1]
ชื่อพ้อง
  • Hydrosaurus salvator (Laurenti, 1768)
  • Monitor nigricans Cuvier, 1829
  • Monitor salvator (Laurenti, 1768)
  • Stellio salvator Laurenti, 1768

เหี้ย หรือ ตัวเงินตัวทอง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Varanus salvator) เป็นสัตว์เลื้อยคลานในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศบังกลาเทศ ศรีลังกา และอินเดีย จนถึงอินโดจีน และเกาะต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย (แบ่งออกเป็นชนิดย่อยต่าง ๆ ได้ 5 ชนิด ดูในตาราง[2]) โดยอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ

อนุกรมวิธาน

เหี้ย มีชื่อวิทยาศาสตร์เดิมคือ Stellio salvator โดยโยเซฟูส นิโคเลาส์ เลาเรนที (Josephus Nicolaus Laurenti) ใช้ในปี ค.ศ. 1768 จากตัวอย่างที่ได้จากศรีลังกา[4]

วงศ์เหี้ย (Varanidae) มีเกือบ 80 ชนิด ทั้งหมดอยู่ในสกุล Varanus[5] ทั้งนี้การจัดอนุกรมวิธานยังมีความไม่แน่นอน แม้การวิเคราะห์ทางสัณฐานวิทยามีส่วนอย่างมากในการจำแนกชนิด แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาระดับโมเลกุลเพื่อทดสอบและยืนยันความถูกต้องของการจัดอนุกรมวิธานการแบ่งกลุ่มภายในสกุลนี้ ซึ่งมีความสำคัญมากในการประเมินการเปลี่ยนแปลงและการประเมินเพื่อการอนุรักษ์

ชนิดย่อย

  • V. s. salvator –เป็นชนิดย่อยที่ได้รับการเสนอชื่อและขณะนี้เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นในศรีลังกา ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ kabaragoya (කබරගොයා) ในภาษาสิงหลและ kalawathan ในภาษาทมิฬ
  • V. s. andamanensis –พบเฉพาะบนหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ตอนใต้[6] สถานที่พบเป็นครั้งแรกคือ เมืองพอร์ตแบลร์
  • V. s. bivittatus (Mertens 1959) –เหี้ยชนิดย่อยที่มีแถบหลังคอข้างละสองแถบ พบได้ทั่วไปในชวา บาหลี ลมบก ซุมบาวา โฟลเร็ซ อลอร์ เวตาร์ และเกาะใกล้เคียงภายในหมู่เกาะซุนดา อินโดนีเซีย สถานที่พบเป็นครั้งแรกคือ เกาะชวา
  • V. s. macromaculatus –มีถิ่นอาศัยทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป สิงคโปร์ สุมาตรา บอร์เนียว และหมู่เกาะขนาดเล็กโดยรอบ ตัวอย่างต้นแบบถูกจับในประเทศไทย[7][6]
  • V. s. ziegleri (เหี้ยซีกเลอร์) –พบที่เกาะโอบิ

เหี้ยดำจากประเทศไทย (สถานที่พบเป็นครั้งแรกคือ อำเภอละงู จังหวัดสตูล และบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย) เดิมจัดเป็นชนิดย่อย V. s. komaini แต่ในปี พ.ศ. 2551 ถูกยุบรวมเป็นชื่อพ้องและเป็นประชากรเหี้ยที่มีภาวะการมีเม็ดสีเมลานินสีดำมากเกินไป (melanism) ของชนิดย่อย V. s. macromaculatus[7]

ลักษณะ

เป็นกิ้งก่าขนาดใหญ่ ความยาว 2.5–3 เมตร เป็นสัตว์ในตระกูลนี้ที่มีความใหญ่เป็นอันดับสองรองจากมังกรโกโมโด (V. komodoensis) ที่พบบนเกาะโกโมโด ในอินโดนีเซีย[8] โครงสร้างลำตัวประกอบไปด้วยกระดูกเล็กภายใต้ผิวหนังที่เต็มไปด้วยเกล็ดที่เป็นปุ่มนูนขึ้นมา เกล็ดมีการเชื่อมต่อกันตลอดทั้งตัว ไม่มีต่อมเหงื่อแต่มีต่อมน้ำมันใช้สำหรับการป้องกันการสูญเสียน้ำ ช่วยให้อยู่บนบกได้ยาวนานมากขึ้น มีลิ้นแยกเป็นสองแฉกคล้ายงู ใช้สำหรับรับกลิ่นซึ่งสามารถรับรู้ได้ถึงอาหารเป็นระยะทางไกลหลายเมตร โดยสัมผัสกับโมเลกุลของกลิ่น ปลายลิ้นจะสัมผัสกับประสาทที่ปลายปากเพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังสมอง หางยาวมีขนาดพอ ๆ กับความยาวลำตัว เป็นอวัยวะสำคัญสำหรับการทรงตัวและคลื่อนที่ มีฟันที่มีลักษณะที่คล้ายใบเลื่อยเหมาะสำหรับการบดกินอาหารที่มีความอ่อนนุ่มโดยเฉพาะ มีลายดอกสีเหลืองพาดขวางทางยาว ชอบอาศัยอยู่บริเวณใกล้แหล่งน้ำ ว่ายน้ำเก่งและ ดำน้ำนาน อุปนิสัยเป็นสัตว์ที่หากินอย่างสงบตามลำพัง จะมารวมตัวกันก็ต่อเมื่อพบกับอาหาร และมีนิสัยตื่นคน เมื่อพบเจอมักจะวิ่งหนี ในช่วงที่ยังเป็นวัยอ่อน จะมีจุดสีเหลืองตลอดทั้งลำตัวและจะจางหายเมื่อโตขึ้น มีมุมมองการมองเห็นแคบกว่ามนุษย์ มีเล็บที่แหลมคมสำหรับการปีนป่าย โดยปีนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว[9]

การหากิน

ชอบหากินของเน่าเปื่อย เศษซากอาหาร บางครั้งก็จะกินสัตว์เป็น ๆ เช่น ไก่, เป็ด, ปู, หอย, งู, หนู, นกอื่นๆขนาดเล็กถึงกลาง และไข่ของสัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งปลา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเหี้ยมิใช่สัตว์นักล่า แต่เป็นสัตว์กินซากโดยธรรมชาติ บางครั้งอาจกินเหี้ยขนาดเล็กกว่าเป็นอาหารได้ ในตัวที่ยังเล็กอาจขุดดินหาแมลงหรือไส้เดือนดินกินเป็นอาหารได้ มีระบบการย่อยอาหารที่ดีเยี่ยม ในกระเพาะมีน้ำย่อยที่มีความเป็นกรดรุนแรงและแบคทีเรียสำหรับย่อยสลายซากเน่าโดยเฉพาะ [9]

พิษ

สัตว์สกุลกิ้งก่ามอนิเตอร์ (Varanus) รวมทั้งเหี้ยนั้นมีพิษ (venom) หรือไม่ยังเป็นเรื่องยังไม่ยุติ แต่เดิมเชื่อกันว่า พิษมีอยู่เฉพาะในสัตว์จำพวกงูและกิล่ามอนสเตอร์ (กิ้งก่าพิษ) ผลลบที่เกิดเมื่อถูกกัดเชื่อกันว่า มาจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปากสัตว์เท่านั้น แต่งานศึกษาหลังปี ค.ศ. 2009 กลับแสดงว่า ต่อมพิษน่าจะมีอยู่ในกิ้งก่ามอนิเตอร์หลายสกุล โดยอาจใช้เพื่อป้องกันสัตว์ล่าเหยื่ออื่น ๆ เพื่อรักษาอนามัยปาก เพื่อฆ่าเชื้อในปาก หรือเพื่อช่วยจับและฆ่าเหยื่อ[10][11]

 
เหี้ยในสวนวชิรเบญจทัศ ปี พ.ศ.2561

ถิ่นที่อยู่

เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเก่ง สามารถดำน้ำได้ และชอบที่จะลงน้ำ สามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี รวมถึงพบได้ทั่วไปในชุมชนเมืองใหญ่ เช่น หลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เช่น สวนลุมพินี, สวนสัตว์ดุสิต, ทำเนียบรัฐบาลและรอบ ๆ, รอบคลองผดุงกรุงเกษม เป็นต้น มักจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ ๆ มีแหล่งน้ำ อาศัยอยู่ได้ทั้งแหล่งน้ำดีและน้ำเน่าเสียที่มีสภาพเป็นมลพิษ[9]

การผสมพันธุ์

ออกลูกเป็นไข่คราวละ 15–20 ฟอง และใช้เวลาฟัก 45–50 วัน ทั้งนี้ตัวเหี้ยจะวางไข่ในปลายฤดูร้อนต่อเนื่องฤดูฝน และอาจยาวไปถึงฤดูหนาว จะจับคู่กันโดยไม่เลือกว่าคู่จะต้องเป็นตัวเดิม บางครั้งอาจมีการต่อสู้รุนแรงระหว่างตัวผู้เพื่อแย่งชิงตัวเมีย สามารถผสมพันธุ์ได้ทั้งบนบกและในน้ำ อาจผสมพันธุ์ได้มากกว่าปีละหนึ่งครั้ง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาหารและความสมบูรณ์เพศของตัวเมีย การผสมพันธุ์ครั้งหนึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที

 
สีสันและลวดลายของตัวที่เล็ก
 
เหี้ยดอก ที่สวนสัตว์พาต้า

ไข่จะมีลักษณะรียาว บางครั้งจะสีขาวขุ่น วางไข่ประมาณ 6–50 ฟอง ในแต่ละปีจะสามารถวางไข่ได้ 2–3 ครั้ง หรืออาจมากกว่านั้นในพื้นที่ซึ่งสภาพในฤดูแล้งและฤดูฝนไม่แตกต่างกัน ไข่จะถูกกลบเป็นเนินดินหรือรังปลวก เวลาในการฟักขึ้นกับชนิดและสภาพแวดล้อม

สัตว์เศรษฐกิจ

ปัจจุบัน เหี้ยถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ที่มีการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงกัน เพื่อนำเนื้อไปใช้ในการบริโภค โดยเฉพาะเนื้อบริเวณส่วนโคนหางที่เรียกว่า "บ้องตัน" และหนังไปทำเครื่องหนัง เช่น กระเป๋า, เข็มขัด เช่นเดียวกับจระเข้[12] และในทางวิชาการยังมีการเก็บและตรวจสอบดีเอ็นเอของเหี้ย โดยภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อศึกษาถึงความหลากหลายทางพันธุกรรม เพื่อจะพัฒนาให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจต่อไปในอนาคตอีกด้วย[13]

วัฒนธรรม

คำว่า "เหี้ย" นั้นมักใช้เป็นคำด่าและเป็นคำหยาบคายที่หรือภาษาที่ไม่สุภาพสำหรับสามัญชนทั่วไปในภาษาไทย บางครั้งจึงเลี่ยงไปใช้คำว่า ตัวเงินตัวทอง หรือ ตัวกินไก่ หรือ น้องจระเข้ แทน[14] หรือบางครั้งก็ใช้คำว่า ตะกวด (ซึ่งในเชิงอนุกรมวิธานแล้วตะกวดเป็นสัตว์คนละชนิดกับเหี้ย) และบางครั้งยังใช้คำว่า วรนุช (มาจากคำว่า Varanus ซึ่งเป็นสกุลของเหี้ย) สันนิษฐานว่าคำว่า "เหี้ย" มาจากภาษาบาลี "หีน" ที่แปลว่าต่ำช้า กร่อนเหลือ "หี" แล้วแผลงเป็นเหี้ย [15] ภาคอีสานของไทยเรียก แลน

นอกจากนี้แล้ว ไข่เหี้ยยังสามารถนำมารับประทานได้ โดยนำมาต้มให้สุก แล้วใช้เข็มจิ้มให้เป็นรู แล้วแช่น้ำเกลือให้ความเค็มซึมเข้าไป แล้วจึงนำไปย่างไฟ มีรสชาติเค็ม ๆ มัน ๆ ใช้รับประทานคู่กับมังคุดจะได้รสชาติดี จึงเป็นที่มาของคำพังเพยที่ว่า "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง"

รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดการเสวยไข่เหี้ยมาก ครั้งหนึ่งมีโปรดจะเสวยไข่เหี้ยกับมังคุด แต่หาไม่ได้ เนื่องจากขณะนั้นไม่ใช่ฤดูกาลเหี้ยวางไข่ เจ้าจอมแว่นจึงได้ประดิษฐ์ขนมชนิดหนึ่งขึ้นมา โดยให้มีความใกล้เคียงกับไข่เหี้ยมากที่สุด คือ "ขนมไข่เหี้ย" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "ขนมไข่หงส์" ในช่วงรัชกาลที่ 4[16]

เชื่อว่าคำว่าเหี้ยเริ่มกลายมาเป็นคำหยาบและคำด่าทอในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากก่อนหน้านั้น เหี้ย ก็ยังถูกบันทึกไว้ในวรรณกรรมของเจ้าฟ้ากุ้งในสมัยกรุงศรีอยุธยาในฐานะเป็นแค่ชื่อเรียกสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้เท่านั้น โดยเป็นการเรียกเพี้ยนมาจากภาษาจีนแต้จิ๋วคำว่า "ตั่วเฮีย" (จีน: 大哥) ซึ่งหมายถึง พี่ชายคนโต หรือพี่ใหญ่ เนื่องจากในสมัยนั้นมีการปราบปรามฝิ่น และชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศสยามขณะนั้นถือได้ว่าเป็นผู้เสียผลประโยชน์จากการปราบปรามฝิ่น จึงออกล้างแค้นโดยฆ่าฟันชาวสยามล้มตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นชาวสยามในเวลานั้นจึงได้ใช้คำว่า ตั่วเฮีย เป็นคำด่าทอและเพี้ยนมาเป็น "ตัวเหี้ย" หรือ "เหี้ย" ในที่สุด[17]

ชาวบูกิต ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองบนเกาะซูลาเวซี ในอินโดนีเซีย ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม เชื่อว่าเหี้ยเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ โดยเชื่อว่าเป็นวิญญาณบรรพบุรุษที่กลับมาเกิดใหม่ในร่างของสัตว์เลื้อยคลาน มีตำนานเล่าว่ากษัตริย์โกอา ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบูกิตมีโอรสฝาแฝดสององค์ที่เพิ่งกำเนิดมา โอรสผู้ที่เป็นมนุษย์ได้ตายไป แต่อีกองค์หนึ่งเป็นเหี้ย พระองค์จึงรักเหี้ยมาก แต่หลังจากนั้นไม่นานเหี้ยก็ไม่ยอมกินอะไรจนเป็นที่กลัวว่าอาจจะตาย พระองค์จึงนำไปปล่อยที่ปากแม่น้ำ จึงทำให้ชาวบูกิตจะรักและเลี้ยงดูเหี้ยเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหลานของตนเอง มีการเลี้ยงดูและอาบน้ำให้เป็นอย่างดี และเมื่อถึงเวลาจะมีพิธีแห่นำเหี้ยไปปล่อยที่แม่น้ำ ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งเหี้ยจะกลับหามาตนและครอบครัวอีกครั้ง ซึ่งน้ำที่เหี้ยลงไปว่ายถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์สามารถนำไปดื่มกินหรืออาบได้ ซึ่งความเชื่อนี้แม้ถูกมองว่าแปลกสำหรับสายตาคนนอก เพราะไม่มีอยู่ในหลักศาสนาอิสลาม แต่นี่เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามาเผยแผ่ และชาวบูกิตก็นำเอาความเชื่อนี้มาผนวกเข้ากับศาสนา โดยเชื่อว่าผู้ที่เข้าร่วมพิธีปล่อยเหี้ยลงแม่น้ำ จะได้บุญเสมอเหมือนกับการได้ไปจาริกแสวงบุญที่นครเมกกะ[18]

แนวคิดเปลี่ยนชื่อ

ครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพูดกันเป็นวงในว่า จะเปลี่ยนชื่อจากตัวเหี้ยเป็น "วรนัส" หรือ "วรนุส" หรือ "วรนุช"[19] (สกุล Varanus อ่านเป็นภาษาละตินว่า วารานุส ซึ่งคล้ายกับคำว่า วรนุช) จนเกิดเป็นกระแสข่าวอยู่ช่วงหนึ่งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งหลังจากที่มีกระแสข่าวนี้ออกมา คำว่าวรนุชนั้นก็ถูกนำไปใช้ในการสื่อความหมายไปในทางเสื่อมเสียบนอินเทอร์เน็ต และส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ชื่อวรนุชไปโดยปริยาย[20]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 Bennett, D., Gaulke, M., Pianka, E. R., Somaweera, R. & Sweet, S. S. (2010). "Varanus salvator". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2014.2. สืบค้นเมื่อ 2014-08-26.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 Koch, A., M. Auliya, A. Schmitz, U. Kuch & W. Böhme. (2007). Morphological Studies on the Systematics of South East Asian Water Monitors (Varanus salvator Complex): Nominotypic Populations and Taxonomic Overview. pp. 109-180. In Horn, H.-G., W. Böhme & U. Krebs (eds.), Advances in Monitor Research III. Mertensiella 16, Rheinbach
  3. Varanus salvator Laurenti, 1768
  4. Laurenti, J. N. (1768). } "XC. Stellio salvator". Specimen Medicum, Exhibens Synopsin Reptilium Emendatam cum Experimentis circa Venena [Medical Treatise, Exhibiting an Emended Synopsis of Reptiles, with Experiments Concerning Venoms and Antidotes for Austrian Reptiles]. Viennae: Joan. Thomae. p. 58.
  5. Böhme, W. (2003). "Checklist of the living monitor lizards of the world (family Varanidae)". Zoologische Verhandelingen Leiden. 341: 4–43.
  6. 6.0 6.1 Samarasinghe, D. J. S.; Surendran, H.; Koch, A. (2020). "On the taxonomy and distribution of Varanus salvator andamanensis Deraniyagala, 1944 (Reptilia: Varanidae), including a redescription of the type specimens and a discussion about its allopatric co-occurrence with V. s. macromaculatus on the Nicobar Islands". Zootaxa. 4743 (1): 64. doi:10.11646/zootaxa.4743.1.5. ISSN 1175-5326. PMID 32230352.
  7. 7.0 7.1 Koch, A. (2007). "Morphological Studies on the Systematics of South East Asian Water Monitors (Varanus salvator Complex): Nominotypic Populations and Taxonomic Overview". Mertensiella. 16 (109): e80.
  8. Wood, Gerald (1983). The Guinness Book of Animal Facts and Feats. ISBN 978-0-85112-235-9.
  9. 9.0 9.1 9.2 เหี้ย...นักกำจัดซากผู้มีชีวิต. สารคดี สัตว์ คน เมือง ทางช่องนาว: เสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2560
  10. Arbuckle, K. (2009). "Ecological Function of Venom in Varanus, with a Compilation of Dietary Records from the Literature" (PDF). Biowak. 3 (2): 46−56.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  11. Yong, E. (2013). "The Myth of the Komodo Dragon's Dirty Mouth". National Geographic. สืบค้นเมื่อ 2017-08-15.
  12. "มุมมอง...ตัวเงินตัวทอง "ชื่อใหม่-สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่"". ครูบ้านนอก.
  13. "รายการใครคือใคร Identity Thailand". ช่อง 9. 5 November 2014. สืบค้นเมื่อ 7 November 2014.[ลิงก์เสีย]
  14. "เปิดตัวฟาร์มเลี้ยง..."เหี้ย" มก.มุ่งหวังเป็นสัตว์เศรษฐกิจ". ไทยรัฐ. 6 September 2012. สืบค้นเมื่อ 7 November 2014.
  15. สุจิตต์ วงษ์เทศ. สยามประเทศไทย: แลน-คำลาว, ตะกวด-คำเขมร ไม่ใช่เหี้ย-คำบาลี. หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11449 ออนไลน์ เก็บถาวร 2009-09-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  16. วงศ์สุรวัฒน์, โกวิท (2016-05-11). "ตัวเงินตัวทองกับคำพังเพย "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง"". มติชน. สืบค้นเมื่อ 2016-09-25.
  17. "เหี้ย นักกำจัดซาก "ตัวซวย"". ไทยพีบีเอส. 2019-09-08. สืบค้นเมื่อ 2019-09-13.
  18. Corillion, Jean-Michel. "MESSENGERS OF SULAWESI 52'". zed (ภาษาฝรั่งเศส).
  19. ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าแนะเปลี่ยนชื่อ "เหี้ย" เป็น "วรนุส" จาก มติชน
  20. เปลี่ยนชื่อ เหี้ย เป็น วรนุช โดนสวดยับ!!! จาก กระปุกดอตคอม

แหล่งข้อมูลอื่น

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Varanus salvator ที่วิกิสปีชีส์