รหัสลับระทึกโลก

ภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2549
(เปลี่ยนทางจาก The Da Vinci Code (film))

รหัสลับระทึกโลก (อังกฤษ: The Da Vinci Code) เป็นภาพยนตร์แนวลึกลับ/ระทึกขวัญในปี ค.ศ. 2006 กำกับและร่วมอำนวยการสร้างโดยรอน ฮาวเวิร์ด โดยดัดแปลงจากนวนิยายเรื่อง รหัสลับดาวินชี ของแดน บราวน์ นำแสดงโดยทอม แฮงส์ในบท โรเบิร์ต แลงดอน นักสัญลักษณ์วิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สมทบด้วยออเดรย์ ตาตู, เอียน แมคเคลเลน, อัลเฟรด โมลินา, ฌ็อง เรโนและพอล เบ็ตตานีย์

รหัสลับระทึกโลก
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับรอน ฮาวเวิร์ด
บทภาพยนตร์อะคิวา โกลส์แมน
สร้างจากรหัสลับดาวินชี
โดย แดน บราวน์
อำนวยการสร้างรอน ฮาวเวิร์ด
ไบรอัน เกรเซอร์
จอห์น คอลลีย์
นักแสดงนำทอม แฮงส์
ออเดรย์ ตาตู
เอียน แมคเคลเลน
อัลเฟรด โมลินา
ฌ็อง เรโน
พอล เบ็ตตานีย์
กำกับภาพซัลวาตอร์ โตติโน
ตัดต่อแดเนียล พี. ฮันลีย์
ไมค์ ฮิล
ดนตรีประกอบฮันส์ ซิมเมอร์
บริษัทผู้สร้าง
  • อิเมจินเอนเทอร์เทนเมนท์
  • เรนเมกเกอร์ดิจิทัลเอฟเฟกส์
  • สกายลาร์คโปรดักชันส์
ผู้จัดจำหน่ายโคลัมเบียพิกเจอส์
วันฉาย19 พฤษภาคม ค.ศ. 2006
ความยาว148 นาที[1]
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน, ละติน
ทุนสร้าง125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]
ทำเงิน758.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]
ต่อจากนี้เทวากับซาตาน (2009)
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

รหัสลับระทึกโลก ออกฉายรอบปฐมทัศน์ในคืนวันเปิดตัวที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2006[3] ออกฉายรอบปกติในหลายประเทศทั่วโลกเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 และออกฉายในสหรัฐอเมริกาโดยโคลัมเบียพิกเจอส์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2006

เนื่องจากเกิดข้อพิพาทและการตีความหมายไม่ถูกต้องทางด้านประวัติศาสตร์ รวมถึงการต่อต้านจากคาทอลิกเหมือนเช่นที่ฉบับหนังสือได้รับ ภาพยนตร์ก็ได้รับเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากนิกายโรมันคาทอลิก บางโบสถ์แนะให้ฆราวาสต่อต้านภาพยนตร์เรื่องนี้[4] การออกฉายในช่วงแรกถูกประท้วงและเสียงวิจารณ์ในช่วงแรกเป็นในทางลบ อย่างไรก็ตามจากกระแสด้านลบนี้ทำให้เกิดกระแสภาพยนตร์เล็กน้อยทำให้ขึ้นอันดับ 1 บนบ็อกซ์ออฟฟิศ ทำรายได้ 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลกในสัปดาห์ออกฉาย ในเวลานั้นถือว่าสร้างสถิติภาพยนตร์ที่เปิดตัวได้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ (ติดอันดับ 7 ของรายได้เปิดตัวสูงสุด) และทำรายได้มากที่สุดทั่วโลกอันดับ 2 ในปี 2006 โดยทำรายได้ 758,239,851 ดอลลาร์สหรัฐ จากข้อมูลวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 และหลังจากนั้นได้มีภาพยนตร์ภาคต่อ เทวากับซาตาน ที่รอน ฮาวเวิร์ดกำกับเช่นกัน

เพลงประกอบภาพยนตร์ประพันธ์โดยฮันส์ ซิมเมอร์ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 2007 ในสาขาเพลงบรรเลงยอดเยี่ยม

เรื่องย่อ แก้

ฌาคส์ โซนิแยร์ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ถูกซิลาส นักบวชผิวเผือกเค้นถามถึง "หลักศิลา" กุญแจซึ่งนำไปสู่จอกศักดิ์สิทธิ์ก่อนจะถูกฆ่า ตำรวจพบร่างของโซนิแยร์อยู่ในลักษณะคล้ายภาพ "วิทรูเวียนแมน" เบซู ฟาช สารวัตรของกรมตำรวจฝรั่งเศสเชิญตัวโรเบิร์ต แลงดอน ศาสตราจารย์ด้านสัญลักษณ์วิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่พักอยู่ในปารีสมาที่เกิดเหตุ แลงดอนพบลำดับเลขฟีโบนัชชีที่ซ่อนอยู่ ต่อมาโซฟี เนอเวอ นักถอดรหัสจากกรมตำรวจและหลานสาวของโซนิแยร์บอกแลงดอนว่าฟาชแอบติดเครื่องติดตามที่ตัวแลงดอนเพราะสงสัยว่าแลงดอนเป็นคนฆ่าโซนิแยร์ เนื่องจากมีข้อความที่โซนิแยร์เขียนไว้ก่อนตายว่า "ตามหาโรเบิร์ต แลงดอน" และฟาชลบออกก่อนที่แลงดอนจะมาถึง แลงดอนและโซฟีทำลายเครื่องติดตามและตามลำดับเลขไปที่ผลงานของเลโอนาร์โด ดา วินชี จนแลงดอนอนุมานได้ว่าโซนิแยร์เป็นประมุขของสมาคม "ไพรเออรีออฟไซออน" ด้านซิลาสที่ทำงานให้กับบิชอปอาริงกาโรซา ประมุขนิกายโอปุสเดอีและบุคคลลึกลับนามว่า "ท่านอาจารย์" หลบซ่อนตัว

หลังลอบออกจากพิพิธภัณฑ์มาได้ แลงดอนและโซฟีไปที่ธนาคารรับฝากทรัพย์สินซือริช สาขาปารีสและใช้ลำดับเลขฟีโบนัชชีเป็นรหัสผ่าน ทั้งคู่พบรหัสลิขิต ซึ่งเป็นกระบอกใส่กระดาษพาไพรัสที่เข้ารหัส 5 ตัว หากเปิดด้วยวิธีอื่น กระบอกน้ำส้มสายชูที่อยู่ภายในจะแตกและทำลายกระดาษ ทั้งคู่ได้รับความช่วยเหลือจากอังเดร แวร์เนต์ ผู้จัดการธนาคารให้หลบหนีออกจากธนาคารด้วยรถบรรทุกเมื่อธนาคารถูกตำรวจล้อม แต่ต่อมาแวร์เนต์บังคับเอารหัสลิขิตคืน แลงดอนปลดอาวุธแวร์เนต์และพาโซฟีไปหาเซอร์ลีห์ ทีบบิง ผู้เชี่ยวชาญด้านจอกศักดิ์สิทธิ์และเพื่อนของแลงดอน

ทีบบิงอธิบายให้ทั้งคู่ฟังว่า จอกศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้หมายถึงจอกจริง ๆ แต่หมายถึงแมรี แม็กดาเลน ภรรยาของพระเยซูที่ตั้งครรภ์ช่วงที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน และสมาคมไพรเออรีออฟไซออนมีหน้าที่ปกป้องสายเลือดของพระเยซู โดยมีองค์กรโอปุสเดอีคอยตามล่า ต่อมาซิลาสบุกมาที่บ้านของทีบบิงแต่ถูกทีบบิงทำร้ายจนสลบ ทั้งหมดไปที่ลอนดอนด้วยเครื่องบินส่วนตัวของทีบบิงและไปที่โบสถ์เทมเพิล ด้านเรมี คนรับใช้ของทีบบิงปล่อยตัวซิลาสและบอกว่าตนคือ "ท่านอาจารย์" เขาจับทีบบิงเป็นตัวประกันและพาขึ้นรถ ต่อมาเรมีถูกทีบบิงวางยาพิษและแจ้งตำรวจให้ไปจับตัวซิลาส ซิลาสพยายามหลบหนีและยิงสู้กับตำรวจ แต่ยิงพลาดไปถูกบิชอปอาริงกาโรซา ก่อนที่ตนจะถูกตำรวจยิงตาย

แลงดอนและโซฟีเผชิญหน้ากับทีบบิงที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ทีบบิงเปิดเผยว่าตนคือ "ท่านอาจารย์" และตั้งใจจะใช้ความลับเรื่องจอกศักดิ์สิทธิ์ในการทำลายวาติกัน เขาจับโซฟีเป็นตัวประกันและบังคับให้แลงดอนเปิดรหัสลิขิตที่หลุมศพของไอแซก นิวตัน อดีตประมุขของไพรเออรี แต่แลงดอนทำลายรหัสลิขิตต่อหน้าทีบบิง ตำรวจที่ตามมาจับกุมทีบบิงที่ตระหนักได้ว่าแลงดอนเปิดรหัสลิขิตได้สำเร็จ แต่แกล้งทำลายรหัสลิขิตต่อหน้าทีบบิง

ต่อมา แลงดอนและโซฟีไปที่โบสถ์น้อยโรสลินในสกอตแลนด์ ทั้งคู่พบว่าหลุมศพของแมรี แม็กดาเลนถูกย้ายออกไป แลงดอนตระหนักได้ว่าโซนิแยร์ไม่ใช่คุณตาจริง ๆ ของโซฟี แต่เป็นผู้ปกป้องเธอในฐานะผู้สืบเชื้อสายพระเยซู ทั้งคู่พบกับสมาชิกหลายคนของสมาคมไพรเออรี รวมถึงคุณยายของโซฟี เมื่อแยกกับโซฟี แลงดอนตามเส้นกุหลาบไปที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์และพบว่าที่จริงแล้วหลุมศพของแม็กดาเลนอยู่ใต้พีระมิดลูฟวร์ ภาพยนตร์จบลงเมื่อแลงดอนคุกเข่าทำความเคารพแม็กดาเลนเหมือนเช่นอัศวินเทมพลาร์ในอดีต

นักแสดง แก้

อ้างอิง แก้

  1. "THE DA VINCI CODE (12A)". British Board of Film Classification. May 2, 2006. สืบค้นเมื่อ January 12, 2016.
  2. 2.0 2.1 "The Da Vinci Code (2006)". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ 2006-12-16.
  3. "Festival de Cannes: The Da Vinci Code". festival-cannes.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-22. สืบค้นเมื่อ 2009-12-17.
  4. BBC News: Cardinal urges Da Vinci action

แหล่งข้อมูลอื่น แก้