ไทยประกันชีวิต

บริษัทประกันชีวิตของคนไทยแห่งแรก
(เปลี่ยนทางจาก TLI)

บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยประกันชีวิต (อังกฤษ: Thai Life Insurance Public Co. Ltd) เป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่ก่อตั้งและเป็นเจ้าของโดยบุคลากรชาวไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2485 มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในบริษัทประกันชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นที่รู้จักจากการจัดทำโฆษณาทางโทรทัศน์ที่สร้างอารมณ์ ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลก[2][3][4][5][6]

ไทยประกันชีวิต
ประเภทบริษัทมหาชนจำกัด
การซื้อขาย
SET:TLI
อุตสาหกรรมประกันชีวิต
บริการด้านการเงิน
ก่อตั้ง22 มกราคม พ.ศ. 2485; 82 ปีก่อน (2485-01-22)
ผู้ก่อตั้งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา)
สำนักงานใหญ่อาคารไทยประกันชีวิต 123 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง, ,
จำนวนที่ตั้ง
309 แห่ง (พ.ศ. 2553)
พื้นที่ให้บริการ
 ไทย
บุคลากรหลัก
วานิช ไชยวรรณ ประธานกิตติคุณ
พลเอก วินัย ภัททิยกุล ประธานกรรมการ
ไชย ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
เคียน ฮิน ลิม ผู้จัดการใหญ่
รายได้เพิ่มขึ้น 109,246.022 ล้านบาท (พ.ศ. 2564[1])
รายได้สุทธิ
เพิ่มขึ้น 8,393.52 ล้านบาท (พ.ศ. 2564[1])
สินทรัพย์เพิ่มขึ้น 533,706.29 ล้านบาท (พ.ศ. 2564[1])
สมาชิกมากกว่า 1,500,000 คน (พ.ศ. 2559)
พนักงาน
45,000 คน
บริษัทในเครือไทยไพบูลย์ประกันภัย
ไทยประกันสุขภาพ
ไทยคาร์ดิฟประกันชีวิต
ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย
เว็บไซต์www.thailife.com

ประวัติ[7] แก้

ยุคเริ่มต้นของประกันชีวิตในสยาม แก้

การประกันชีวิตเริ่มเป็นที่รู้จักในสยามครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติพร้อมคณะฑูตพาณิชย์เข้ามาขยายกิจการธุรกิจประกันชีวิตในสยามได้เป็นครั้งแรก โดยมีบริษัท อีสต์ เอเชียติก ในฐานะตัวแทนของบริษัท เอควิตาเบิลประกันภัย จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นบริษัทแรกเข้ามาดำเนินกิจการ โดยตั้งสำนักงานตัวแทนเสนอขายประกันชีวิตแบบตลอดชีพ และออกกรมธรรม์ฉบับแรกในชื่อ "ทอนไทน์" (Tonetine) ให้กับผู้ถือคนแรก คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)[8][9]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดตั้ง "กองควบคุมบริษัทประกันภัย" อยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม (ปัจจุบันแยกจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ออกมาเป็นองค์กรอิสระภายใต้ชื่อ "สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย" หรือ คปภ.)[10] ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตเริ่มเป็นที่แพร่หลาย มีบริษัทประกันชีวิตจากต่างประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจในสยามเป็นจำนวนมาก[11]

ก่อตั้งไทยประกันชีวิต แก้

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานประกันชีวิตได้หยุดลงเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากส่งผลให้เกิดการปิดกิจการ และขนทรัพย์สินกลับสู่สำนักงานหลักของแต่ละบริษัทในประเทศของตนของบริษัทประกันชีวิตจากต่างประเทศ ทำให้ผู้เอาประกันในประเทศไทยได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก กลุ่มบุคลากรและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสมัยนั้นซึ่งเป็นชาวไทยทั้งหมด ได้แก้ปัญหาด้วยการร่วมก่อตั้งบริษัทประกันชีวิตของชาวไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2485 โดยมีสัญลักษณ์แรกบนโลโก้ของไทยประกันชีวิตคือปราสาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกหนังสืออนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ปีเดียวกัน และเริ่มแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดแรก โดยมีประธานกรรมการคนแรกคือเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา)

ไทยประกันชีวิตเริ่มดำเนินกิจการด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท มีสำนักงานใหญ่แห่งแรกตั้งอยู่ที่อาคารเลขที่ 25-27 ถนนเยาวราช ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่อาคารสหธนาคาร เลขที่ 624 ถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลสมิติเวช สาขาไชนาทาวน์) เป็นสำนักงานใหญ่แห่งที่ 2 และในปี พ.ศ. 2502 ได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่อาคารเลขที่ 8 บริเวณหัวมุมถนนราชดำเนิน แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร เป็นสำนักงานใหญ่แห่งที่ 3[11]

ปรับปรุงองค์กร แก้

ในปี พ.ศ. 2513 ไทยประกันชีวิตปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยวานิช ไชยวรรณ เข้าซื้อกิจการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างและการบริหาร และนำอนิวรรตน์ กฤตยากีรณ เข้ามาวางรากฐานการบริหารองค์กร รวมทั้งปรับปรุงระบบงาน จนไทยประกันชีวิตมีความสมบูรณ์ในทุก ๆ ด้าน จนกลับมาเติบโตและประสบความสำเร็จอีกครั้ง[12] รวมถึงเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ของไทยประกันชีวิตจากปราสาทเป็นช้างเอราวัณ[11] และต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ที่อาคารอื้อจื่อเหลียง ถนนพระรามที่ 4 แขวงสีลม เขตบางรัก เป็นสำนักงานใหญ่แห่งที่ 4 โดยขณะนั้นมีพนักงานอยู่ 40 คน และเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่นำคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน จากนั้นในปี พ.ศ. 2522 ไทยประกันชีวิตได้เผยแพร่โฆษณาตัวแรกในชุด "บันไดแห่งความมั่นคง"[13]

บริษัทประกันชีวิตยอดขายมากที่สุดของไทย แก้

ในปี พ.ศ. 2526 อนิวรรตน์ กฤตยากีรณ ประธานกรรมการในขณะนั้น ลาออกจากไทยประกันชีวิตด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ ศาสตราจารย์ ประยูร จินดาประดิษฐ์ จึงเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการแทน และปีนี้ไทยประกันชีวิตประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ โดยเป็นบริษัทประกันชีวิตที่มียอดขายรวมมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนเบี้ยประกันรวม 1,339 ล้านบาท มากกว่าไทยสมุทรประกันชีวิต ที่เป็นบริษัทประกันชีวิตที่มียอดขายรวมมากที่สุดในประเทศไทยในช่วงก่อนหน้านั้น ซึ่งปีนั้นได้เบี้ยประกันรวม 1,299 ล้านบาท[12]

ในปี พ.ศ. 2527 ไทยประกันชีวิตได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานให้ทันสมัย มีการแบ่งการบริหารงานออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ และเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่รับชำระเบี้ยประกันผ่านธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งดัดแปลงสัญลักษณ์ช้างเอราวัณให้เป็นลายเส้นที่สื่อความหมายถึงความมั่นคง ซึ่งต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นภาพจำของไทยประกันชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน โดยสัญลักษณ์นี้ปรากฏออกสู่สาธารณะเป็นครั้งแรกในโฆษณาชุด "ออมเงิน ออมชีวิต" ซึ่งเผยแพร่ในปีเดียวกัน[14]

ในปี พ.ศ. 2529 อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล ซึ่งเป็นกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการของไทยประกันชีวิตมาตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ขยับขึ้นมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ โดยมีผลงานคือการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ที่ทำให้ไทยประกันชีวิตเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่เชื่อมต่อกันผ่านระบบออนไลน์ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ[15] โดยช่วงนั้นไทยประกันชีวิตต้องแข่งขันกับเอไอเอ บริษัทประกันชีวิตที่มียอดขายมากที่สุดในเอเชีย มากกว่าไทยประกันชีวิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และยิ่งทิ้งห่างมากขึ้นในทุก ๆ ปี[12]

ในปี พ.ศ. 2530 ไทยประกันชีวิตเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกของโลกที่ได้รับกรมธรรม์ประกันชีวิตทหาร ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยหมู่แบบ "ภัยสงคราม" เพื่อมอบความคุ้มครองแก่ทหารในสังกัดกองทัพบกไทย

การดำเนินงานในสำนักงานใหญ่แห่งปัจจุบัน แก้

ในปี พ.ศ. 2532 ไทยประกันชีวิตเปิดอาคารสำนักงานใหญ่แห่งที่ 5 และเป็นแห่งปัจจุบัน ที่ความสูง 24 ชั้น สร้างด้วยงบประมาณมูลค่ามากกว่า 500 ล้านบาท ตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร และเป็นปีแรกที่ไทยประกันชีวิตมีผู้เอาประกันชีวิตมากกว่า 1,000,000 ราย และต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ไทยประกันชีวิตพัฒนาระบบออนไลน์คอมพิวเตอร์ไปยังสาขาขนาดใหญ่ในเขตภูมิภาค

50 ปี ไทยประกันชีวิต แก้

ในปี พ.ศ. 2535 ไทยประกันชีวิตดำเนินงานครบ 50 ปี ได้จัดสร้างพระพุทธรูปบูชา และเหรียญพระไพรีพินาศ "ญสส." จำนวนทั้งหมด 84,000 องค์ โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จมาเป็นองค์ประธานในการประกอบพิธีพุทธาภิเษก และเททองหล่อพระพุทธรูป

ในปี พ.ศ. 2538 ไทยประกันชีวิตจัดตั้งมูลนิธิไทยประกันชีวิต เพื่อมุ่งเน้นการทำกิจกรรมบำเพ็ญเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ในด้านต่าง ๆ แก่สังคม[16]

ในปี พ.ศ. 2539 ไทยประกันชีวิตวางเครือข่าย Thai Life Intranet ผ่านวงจรเช่าพิเศษ (Leased line) เชื่อมโยงระหว่างสำนักงานใหญ่และสาขา เพื่อให้การส่งผ่านข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งจัดทำโปรแกรมซอฟต์แวร์สื่อผสม Thai Life Always Ahead บรรจุลงในแล็ปท็อป เพื่อให้ตัวแทนฝ่ายขายใช้เป็นสื่อในการขยายตลาด และเข้าหาลูกค้าได้อย่างสะดวกมากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2540 ไทยประกันชีวิตเปิดเว็บไซต์ https://www.thailife.com/ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ประวัติบริษัท การดำเนินงาน และข่าวสารของไทยประกันชีวิต และจัดทำระบบเสียงตอบรับอัตโนมัติ (Interactive Voice Response; IVR) เพื่อให้บริการสอบถามข้อมูลสินไหมทางโทรศัพท์แก่ฝ่ายขาย

ได้รับพระราชทานพระครุฑพ่าห์ แก้

วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2541 สำนักพระราชวังออกประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระครุฑพ่าห์แก่ไทยประกันชีวิต เพื่อเป็นบริษัทในพระองค์ ในฐานะที่ดำเนินงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความมั่นคงทางการเงิน และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับพระราชทานพร้อมกับอีก 2 บริษัท คือ เอสโซ่ (ประเทศไทย) และเครือเจริญโภคภัณฑ์[17]

พ.ศ. 2542 ไทยประกันชีวิตบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่ให้บริการฮอตไลน์ ในชื่อ "ไทยประกันชีวิตฮอตไลน์" โดยให้บริการช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์และการเดินทางตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกพื้นที่ทั่วโลก ทุกกรมธรรม์ แก่ผู้เอาประกันที่ถือกรมธรรม์รายบุคคลทุกราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

พ.ศ. 2545 ไทยประกันชีวิตดำเนินงานครบ 60 ปี จึงมีการขยายบริการพิเศษมากมาย และ พ.ศ. 2548 ไทยประกันชีวิตได้ขยายความคุ้มครองประกันชีวิตแก่กำลังพลในสังกัดกองทัพเรือที่ปฏิบัติภารกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเริ่มให้บริการ "ไทยประกันชีวิตอีซี่เพย์" ซึ่งเป็นบริการการชำระเบี้ยประกันผ่านช่องทางต่าง ๆ

การขยายบริการ แก้

พ.ศ. 2549 ไทยประกันชีวิตเริ่มให้บริการ "ไทยประกันชีวิต Check Up" เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าให้ได้รับการตรวจสุขภาพจากสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานสูง

พ.ศ. 2551 ไทยประกันชีวิตออกสัญญา "ตะกาฟุล" เพื่อเป็นทางเลือกในการออมตามหลักศาสนาอิสลามเพิ่มเติมของมุสลิม และเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่เปิดเครือข่ายศูนย์ดูแลสิทธิประโยชน์แก่ผู้เอาประกัน (Center Network) ในทุกสาขา

พ.ศ. 2552 ไทยประกันชีวิตเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่ออกกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองชีวิตบุตรตั้งแต่แรกเกิดในชื่อกรมธรรม์ "ก้าวแรก" โดยปรากฏครั้งแรกในโฆษณาความยาว 2 นาที ที่มีการนำเด็กพิการจำนวน 30 คนมาร้องเพลง เคเซราเซรา ให้กับแม่ของพวกเขาได้ฟัง ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 กันยายน และต่อมากลายเป็นโฆษณาที่ได้รับความนิยมตัวหนึ่งของไทยประกันชีวิต[18]

พ.ศ. 2553 ไทยประกันชีวิตเริ่มให้บริการ iService เพื่อให้ผู้เอาประกันตรวจสอบข้อมูลกรมธรรม์ของตนผ่านเว็บไซต์ และยังตั้งศูนย์บริการข้อมูลตัวแทน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการข้อมูลแก่ฝ่ายขาย รวมถึงเปิดสาขาพาราไดซ์ พาร์ค เป็นศูนย์บริการลูกค้าแห่งแรกภายในศูนย์การค้า เพื่อให้บริการด้านธุรกรรมต่าง ๆ โดยได้เตรียมเครื่องดื่มและอินเทอร์เน็ตไว้ให้บริการฟรี ส่งผลให้ปัจจุบันไทยประกันชีวิตมีสาขาบริการจำนวน 309 แห่ง

แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด แก้

พ.ศ. 2555 เป็นปีที่ไทยประกันชีวิตดำเนินงานครบ 70 ปี โดยในวันที่ 28 พฤษภาคม บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในชื่อ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้บริษัทประกันชีวิตแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันบังคับใช้ แต่การแปรสภาพของไทยประกันชีวิตในครั้งนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่อย่างใด เนื่องจากไทยประกันชีวิตในขณะนั้นมีเงินกองทุนมากกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงยังไม่มีความต้องการทำการระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกแต่อย่างใด ส่งผลให้ไทยประกันชีวิตยังอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เช่นเดิม และไม่มีผลกระทบต่อผู้เอาประกัน รวมถึงสิทธิต่าง ๆ ตามกรมธรรม์ด้วย[19]

ประกันมีคืน แก้

ไทยประกันชีวิตเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งแรกที่คืนเบี้ยประกันให้แก่ผู้เอาประกันเมื่อไม่มีการเคลม โดยเริ่มในปี พ.ศ. 2554 ด้วยการเปิดตัวแผนประกันชีวิต "มีคืน" เริ่มจากแผนประกันอุบัติเหตุ "ไม่เคลม มีคืน" โดยคืนเบี้ยประกันปีสุดท้าย จากนั้นในปี พ.ศ. 2555 ได้ขยายมาใช้กับแผนประกันสุขภาพโรคมะเร็ง "ไม่มะเร็ง มีคืน" โดยมอบความคุ้มครองกรณีตรวจพบเป็นมะเร็ง และในปี พ.ศ. 2556 ได้ขยายมาใช้กับแผนประกันสุขภาพอื่น ๆ โดยคืนเบี้ยประกันในปีสุดท้ายหากไม่มีการเรียกร้องค่าสินไหม เช่น "ไม่ค้าง มีคืน" และ "ไม่มีโรค มีคืน" เป็นต้น

การขยายธุรกิจ แก้

พ.ศ. 2556 ไทยประกันชีวิตได้จัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ของไทยประกันชีวิตให้แก่ผู้เอาประกันและคนทั่วไป และช่วยส่งเสริมการขยายตลาดของฝ่ายขาย ต่อมาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ครอบครัวไชยวรรณ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ได้ขายหุ้น 15% เป็นเงินประมาณ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 21,000 ล้านบาท ให้กับบริษัทประกันชีวิต เมจิ ยาสุดะ ของประเทศญี่ปุ่น[20]

วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557 ไทยประกันชีวิตได้ปรับแก้สัญลักษณ์ใหม่ โดยนำสัญลักษณ์ช้างเอราวัณลายเส้นออก จัดวางอักษรคำว่า "ไทยประกัน" ให้มีขนาดใหญ่เพื่อสร้างการจดจำ เติมเส้นสีแดงระหว่างคำว่า "ไทยประกัน" และ "ชีวิต" รวมถึงปรับลดโทนสีจากสีน้ำเงินเข้มเป็นสีเซรูเลี่ยน บลู เพื่อความทันสมัย ปรับรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่น และเปลี่ยนสโลแกนเป็น "คิด เคียงข้าง ทุกชีวิต" โดยก่อนหน้านั้น 4 วัน ได้ออกโฆษณาตัวใหม่ในชุด "Unsung Hero" เพื่อประชาสัมพันธ์โลโก้ใหม่ของไทยประกันชีวิต และสร้างแรงบันดาลใจในการทำความดี[21] ซึ่งต่อมาโฆษณาตัวนี้ได้รับการแชร์มากที่สุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ในปี พ.ศ. 2558 และฟิลิป คอตเลอร์ บิดาแห่งการตลาดยุคใหม่ ได้นำภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาในหนังสือ Marketing for Competitiveness : Asia to the World in the Age of Digital Consumers ซึ่งมีเนื้อหาที่กล่าวถึงการทำตลาดในยุคที่มีการแข่งขันอย่างไร้ขอบเขตและขีดจำกัด[22]

พ.ศ. 2562 ไทยประกันชีวิตได้ขยายการดำเนินธุรกิจไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการเข้าร่วมทุนในบริษัท ซีบีประกันชีวิต จำกัด จากประเทศพม่า ในสัดส่วน 35%[23] โดยเปิดตัวเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน[24] ทำให้ไทยประกันชีวิตเป็นบริษัทประกันชีวิตในอาเซียนแห่งแรกที่ขยายสู่ตลาดพม่า ในลักษณะการถือหุ้นในบริษัทประกันชีวิตท้องถิ่น

พ.ศ. 2563 ไทยประกันชีวิตได้พัฒนาโปรแกรมประยุกต์ "TLI" เพื่อขยายบริการธุรกรรมประกันชีวิตให้สามารถเข้าถึงข้อมูลกรมธรรม์ พร้อมรายละเอียดความคุ้มครองได้ในทุกพื้นที่ตลอดเวลา รวมถึงมีอีกหลากหลายฟังก์ชันการใช้งาน

วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564 อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไทยประกันชีวิตในขณะนั้นเสียชีวิตลง[25] ไทยประกันชีวิตจึงปรับโครงสร้างองค์กร โดยไชย ไชยวรรณ บุตรชายของวาณิช ซึ่งขณะนั้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารควบอีกตำแหน่งหนึ่ง[26]

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ไทยประกันชีวิตได้ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้ทันสมัยมากขึ้น โดยไชย ไชยวรรณ ดำรงตำแหน่งกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อบริหารไทยประกันชีวิตในภาพรวม และแต่งตั้ง เคียน ฮิน ลิม เป็นผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริหารความเสี่ยง และขยายธุรกิจ[27]

จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แก้

ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ไทยประกันชีวิตได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อทำการระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต ในชื่อหลักทรัพย์ TLI เพื่อดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ใหม่ คือ "มุ่งสู่การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน"[28] โดยมีบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร และบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ พัฒนสิน เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม โดยหนังสือชี้ชวนมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565[29] ระหว่างนี้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564 คปภ. ออกประกาศอนุญาตให้บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นในไทยประกันชีวิตได้ถึงไม่เกิน 49% และเมจิ ยาสุดะ สามารถถือหุ้นในไทยประกันชีวิตได้มากกว่า 10% เพื่อให้สอดคล้องกับการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ที่มีการเสนอขายแก่นักลงทุนในต่างประเทศด้วย ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565[30]

TLI เสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกจำนวน 2,155,068,900 หุ้น ประกอบด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 850,000,000 หุ้น, หุ้นเดิมที่เสนอขายโดยบริษัท วี.ซี.สมบัติ จำกัด (บริษัทของครอบครัวไชยวรรณ) จำนวน 1,166,575,300 หุ้น และหุ้นเดิมที่เสนอขายโดย Her Sing (H.K.) Limited จำนวนไม่เกิน 138,493,600 หุ้น นอกจากนี้ บล.เกียรตินาคินภัทร ยังพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) ให้แก่นักลงทุนอีกจำนวน 161,630,000 หุ้น เพื่อนำเงินไปรักษาระดับราคาหุ้นในช่วง 30 วันแรก นับตั้งแต่ TLI จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งหากรวมหุ้นส่วนเกินนี้ จำนวนหุ้นที่เสนอขายจะมีจำนวน 2,316,368,900 หุ้น โดย TLI เสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในวันที่ 29 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม และกำหนดราคาเสนอขายที่ราคา 16 บาท รวมมูลค่าเสนอขายทั้งหมด 34,481,102,400 - 37,067,182,400 บาท ถือเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าเสนอขายมากที่สุดในปี พ.ศ. 2565 รวมถึงมากที่สุดในหมวดธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต นับตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 อีกด้วย นอกจากนี้ยังทำสัญญาจำหน่ายหุ้นจำนวน 1,158,359,000 หุ้น ให้แก่นักลงทุนสถาบันที่เป็นนักลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ที่จองซื้อทั้งในและต่างประเทศอีก 18 ราย[31]

ในที่สุด บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (TLI) ก็ได้เข้าจดทะเบียนและประกอบพิธีเปิดการซื้อขายหลักทรัพย์วันแรก (First Trading Day) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2565[32][33]

และเนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีในปีเดียวกัน ไทยประกันชีวิตได้รวบรวมโฆษณาของตนซึ่งจัดทำขึ้นเนื่องจากการตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต ความรัก และมนุษย์ ผ่านแนวคิด "ให้รักดูแลชีวิต" และสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชม จนได้รับการนิยามว่าเป็น "โฆษณารักเรียกน้ำตา" (Sadvertising) โดยฟิลิป คอตเลอร์ นักการตลาดระดับโลก จำนวน 11 เรื่องในช่วง 20 ปีล่าสุด มาให้ผู้ชมได้รับชมอีกครั้งผ่านยูทูบเพลย์ลิสต์ "The Original Sadvertising"[34]

รายชื่อประธานกรรมการ แก้

  1. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) (พ.ศ. 2485-2491)
  2. พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พ.ศ. 2492-2496)
  3. พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ (พ.ศ. 2497-2500)
  4. พลตรี ศิริ สิริโยธิน (พ.ศ. 2501-2506)
  5. จอมพล ถนอม กิตติขจร (พ.ศ. 2506-2514)
  6. นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ (พ.ศ. 2514-2519)
  7. นายอรุณ ทัพพะรังสี (พ.ศ. 2519-2523)
  8. นายอนิวรรตน์ กฤตยากีรณ (พ.ศ. 2523-2526)
  9. นายประยูร จินดาประดิษฐ์ (พ.ศ. 2526-2535)
  10. พลตำรวจโท สำเนา วิทิศวรการ (พ.ศ. 2536-2537)
  11. ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช (พ.ศ. 2537-2539)
  12. นายอรุณ เผ่าสวัสดิ์ (พ.ศ. 2540-2543)
  13. นางวีณา เชิดบุญชาติ (พ.ศ. 2543-2548)
  14. นายประเสริฐ สมะลาภา (พ.ศ. 2548-2550)
  15. พลเอก เพิ่มศักดิ์ พวงสาโรจน์ (พ.ศ. 2550-2553)
  16. นายวานิช ไชยวรรณ (พ.ศ. 2554-2561)
  17. พลเอก วินัย ภัททิยกุล (พ.ศ. 2562-ปัจจุบัน)

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แก้

  • ข้อมูล ณ วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565[35]
ลำดับที่ รายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นสามัญ สัดส่วนการถือหุ้น
1 บริษัท วี.ซี.สมบัติ จำกัด 5,815,554,500 50.79%
2 Meiji Yasuda Life Insurance Company 1,717,500,000 15.00%
3 Her Sing (H.K.) Limited 708,526,000 6.19%
4 Macquarie Capital Securities (Singapore) Pte. Limited 375,310,000 3.28%
5 Merrill Lynch (Singapore) Pte Ltd. 292,858,700 2.56%

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 งบการเงินไทยประกันชีวิต สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2564
  2. Gray, Amy (17 April 2014). "Five Ads That Prove Thai Life Insurance Commercials Are The Saddest Commercials Ever". Junkee. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  3. Taube, Aaron (10 April 2014). "All Of Thailand Is Compulsively Weeping Over This One Life Insurance Ad". Business Insider.
  4. "Thailand television commercials will make you cry, or at least get a bit sad". News.com.au. 8 September 2015. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  5. "Thai Life Insurance 'Silence Of Love' Commercial Creates Internet Sensation". HuffPost. 28 July 2011. สืบค้นเมื่อ 6 July 2017.
  6. "Health Insurance in Thailand".
  7. บุญเกิด, กาญจนาภรณ์ (2016-08-05). "การรับรู้ภาพลักษณ์องค์กรและส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อประกันชีวิต : กรณีศึกษา บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ในเขตจังหวัดปทุมธานี" (PDF). คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี: 45–50. สืบค้นเมื่อ 2022-06-17 – โดยทาง DSpace.
  8. "นายหน้าประกันชีวิต 2". MTL Academy. สืบค้นเมื่อ 2022-06-17.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "ประวัติของการประกันภัยในประเทศไทย". Office of Insurance Commission (ภาษาอังกฤษ).
  10. "แนะนำสำนักงาน คปภ". สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย. สืบค้นเมื่อ 2022-06-17.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  11. 11.0 11.1 11.2 "ไทยประกันชีวิต บริษัทแห่งแรกของคนไทย". สนุก.คอม. 2013-11-26. สืบค้นเมื่อ 2022-06-17.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. 12.0 12.1 12.2 "อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล คนที่จะเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ไทยประกันฯ". ผู้จัดการรายวัน 360 องศา. February 1987. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-18. สืบค้นเมื่อ 2022-06-18.
  13. "บันไดแห่งความมั่นคง ปี 2522 ไทยประกันชีวิต". ยูทูบ. 2011-09-01. สืบค้นเมื่อ 2022-06-21.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. "ออมเงิน ออมชีวิต ปี 2527 ไทยประกันชีวิต". ยูทูบ. 2011-09-01. สืบค้นเมื่อ 2022-06-21.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. "อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล ไทยประกันชีวิตยุค "ไฮเทค"". ผู้จัดการรายวัน 360 องศา. August 1987. สืบค้นเมื่อ 2022-06-19.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)[ลิงก์เสีย]
  16. "ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิกรุงเทพมหานคร เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิไทยประกันชีวิต"" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 112 (95 ง): 154–155. 1995-11-28. สืบค้นเมื่อ 2022-06-19.
  17. "ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง พระราชทานตราตั้ง [บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท เอสโซ่แสตนดาร์ดประเทศไทย จำกัด บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด]" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 115 (33 ง): 18. 1998-04-23. สืบค้นเมื่อ 2022-06-19.
  18. "โฆษณาซึ้ง ซึมลึก สไตล์ไทยประกันชีวิต". Positioning Magazine. 2009-11-05. สืบค้นเมื่อ 2022-06-22.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  19. "ไทยประกันชีวิตแปรสภาพเป็นมหาชนแล้ว". สนุก.คอม. 2012-05-30. สืบค้นเมื่อ 2022-06-26.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  20. "ปิดฉากประกันไทยแท้ "เมจิ ยาซึดะ" เข้าวิน ถือหุ้น "ไทยประกันชีวิต"". สยามธุรกิจ. 2013-08-07. สืบค้นเมื่อ 2022-06-16.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  21. "ไทยประกันชีวิตรีแบรนดิ้งใหม่". วอยซ์ทีวี. 2014-04-08. สืบค้นเมื่อ 2022-06-26.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  22. "โฆษณาไทยประกันชีวิตไปไกลระดับโลก กูรูการตลาดชื่อดัง 'ฟิลิป คอตเลอร์' เขียนถึง Unsung Hero กรณีศึกษาสร้างแบรนด์ยุคดิจิตอลให้เข้าถึงใจผู้บริโภค". สยามธุรกิจ. 2017-07-04. สืบค้นเมื่อ 2022-06-26.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  23. "เปิดแล้ว CB LIFE Insurance ในเมียนมา ไทยไลฟ์ถือหุ้น 35%". INNWHY. 2019-11-22. สืบค้นเมื่อ 2022-06-26.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  24. "เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง เข้าร่วมพิธีฉลองความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทยประกันชีวิตกับ CB Life". สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง. 2019-11-08. สืบค้นเมื่อ 2022-06-26.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  25. "ครูของคนประกันชีวิต "ดร.อภิรักษ์ ไทยพัฒนกุล"". CEO Thailand. 2021-01-09. สืบค้นเมื่อ 2022-06-26.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  26. "รายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการ ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจควบคุม เลขานุการบริษัท และตัวแทนติดต่อประสานงานกรณีเป็นบริษัทต่างประเทศ (Filing Version ล่าสุด)". สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์. 2022-06-23. สืบค้นเมื่อ 2022-06-26.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  27. "ไทยประกันชีวิต ปรับโครงสร้างองค์กร ตั้ง "เคียน ฮิน ลิม" นั่งผู้จัดการใหญ่". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-02-15. สืบค้นเมื่อ 2022-06-27.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  28. ""ไทยประกันชีวิต" เตรียม IPO สยายปีกสู่การเป็น Life Solutions Provider เพื่อเป็นทุกคำตอบของประกันชีวิต". Positioning Magazine. 2022-03-04. สืบค้นเมื่อ 2022-07-06.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  29. "หนังสือชี้ชวนตราสารทุน บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)". สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์. สืบค้นเมื่อ 2022-06-26.
  30. "ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง อนุญาตให้บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยถือหุ้นได้ถึงร้อยละสี่สิบเก้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 34 ง): 33. 2022-02-08. สืบค้นเมื่อ 2022-06-26.
  31. "เส้นทาง 80 ปี 'ไทยประกันชีวิต' เตรียมขายหุ้น IPO มูลค่าใหญ่สุดในธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตตลาดทุนไทย". Brand Buffet. 2022-06-27. สืบค้นเมื่อ 2022-07-25.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  32. "ตลาดหลักทรัพย์เพิ่มสินค้า : หุ้นสามัญของ TLI เริ่มซื้อขายวันที่ 25 กรกฎาคม 2565". ไทยประกันชีวิต. 2022-07-22. สืบค้นเมื่อ 2022-07-25.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  33. "หุ้น TLI ราคาเปิดซื้อขายวันแรก 16 บาท เท่าราคาไอพีโอ". ประชาชาติธุรกิจ. 2022-07-25. สืบค้นเมื่อ 2022-07-25.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  34. PR News (2022-11-22). "ไทยประกันชีวิตเปิดตัวแคมเปญ "80 ปี The Original Sadvertising"". Positioning Magazine. สืบค้นเมื่อ 2022-12-02.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  35. "หุ้นส่วน บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)". ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. 2022-07-21. สืบค้นเมื่อ 2022-07-25.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้