ปลาช่อนทรายแก้ว

(เปลี่ยนทางจาก Sillago sihama)
ปลาช่อนทรายแก้ว
ปลาช่อนทรายแก้ว หรือปลาเห็ดโคน ที่พบที่ป่าชายเลนบ้านกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
อันดับย่อย: Percoidei
วงศ์ใหญ่: Percoidea
วงศ์: Sillaginidae
สกุล: Sillago
สปีชีส์: S.  sihama
ชื่อทวินาม
Sillago sihama
Forsskål, 1775[1]
แผนที่แสดงการกะจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
  • Platycephalus sihamus Bloch & Schneider, 1801
  • Sciaena malabarica Bloch & Schneider, 1801
  • Sillago acuta Cuvier, 1817
  • Sillago malabarica Bloch & Schneider, 1849

ปลาช่อนทรายแก้ว[2] หรือ ปลาทราย หรือ ปลาเห็ดโคน[3] (อังกฤษ: Northern whiting, Silver sillago; ชื่อวิทยาศาสตร์: Sillago sihama) ปลาทะเลขนาดเล็กชนิดหนึ่ง จำพวกปลาเห็ดโคนหรือปลาซ่อนทราย และเป็นชนิดต้นแบบของปลาเห็ดโคนทั้งหมดด้วย[4] โดยเก็บตัวอย่างต้นแบบทางวิทยาศาสตร์ได้จากทะเลแดง ของเยเมน[5]

เป็นปลาซึ่งมีลำตัวยาวเรียว ด้านข้างแบน หัวยาวเรียวจะงอยปากยาวแหลมใช้ในการขุดคุ้ยหาอาหาร ปากเล็กอยู่ปลายสุดและสามารถยืดหดได้ ครีบหลังมีฐานยาวและแยกเป็นสองอัน ครีบก้นมีขนาดใกล้เคียงกับครีบหลังอันที่สอง ครีบอกอยู่ใต้ครีบหู ครีบหางตัดตรง เกล็ดเล็กและหยาบสีลำตัวเป็นสีเนื้อหรือสีน้ำตาลอ่อน ขอบครีบหางทั้งบนและล่างมีแถบสีดำ มีความยาวประมาณ 10–30 เซนติเมตร เป็นปลาที่ว่ายน้ำได้ว่องไว

อาศัยอยู่เป็นฝูงตามหน้าดินตามชายฝั่งทะเล ที่ซึ่งเป็นพื้นทรายหรือโคลนเลน โดยจะฝังตัวอยู่ในนั้นเหลือนัยน์ตาโผล่ขึ้นมาคอยจ้องจับสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น กุ้งขนาดเล็ก, โพลีคีทา หรือโคพีพอด รวมถึงครัสเตเชียนชนิดต่าง ๆ [6][7] พบทั่วไปในมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ตั้งแต่ชายฝั่งแอฟริกาตะวันออกจนถึงทะเลแดงหรืออ่าวเปอร์เซีย, เขตทะเลของปากีสถานและอินเดีย, อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จนถึงออสเตรเลีย[8] ในเขตน่านน้ำของไทยพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน[9][3]

ปลาช่อนทรายแก้ว เป็นปลาที่นิยมรับมารับประทานเป็นอาหาร สามารถปรุงได้หลากหลายทั้งทอดกระเทียม, ต้มยำ หรือแกงป่า รวมถึงแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ในปัจจุบันกรมประมงสามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้เป็นผลสำเร็จ[3]

อ้างอิง แก้

  1. "Sillago sihama". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 5 September 2007.
  2. "ช่อนทรายแก้ว". สนุกดอตคอม. สืบค้นเมื่อ 12 June 2016.
  3. 3.0 3.1 3.2 "ปลาทรายหรือปลาเห็ดโคน". กรมประมง. 6 March 2012. สืบค้นเมื่อ 12 June 2016.
  4. McKay, R.J. (1985). "A Revision of the Fishes of the Family Sillaginidae". Memoirs of the Queensland Museum. 22 (1): 1–73.
  5. Forsskål, P. S.; 1775: Descriptiones animalium avium, amphibiorum, piscium, insectorum, vermium; quae in itinere orientali observavit ... Post mortem auctoris edidit Carsten Niebuhr. Hauniae. 1-20 + 1-164, map.
  6. Hajisamae, Sukree; Pun Yeesin; Sakri Ibrahim (2006). "Feeding ecology of two sillaginid fishes and trophic interrelations with other co-existing species in the southern part of South China Sea". Environmental Biology of Fishes. Springer. 76 (2–4): 167–176. doi:10.1007/s10641-006-9018-3.
  7. Mohammed,, A.R.M; Mutlak, F.M.; Saleh, J.H. (2003). "Food habits of Sillago sihama (Froskal, 1775) in the Iraqi marine waters, northwest Persian Gulf / Iraq". Marina Mesopotamica. 18 (1): 35–42. 1815-2058.{{cite journal}}: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  8. Sheaves, Marcus (2006). "Scale-dependent variation in composition of fish fauna among sandy tropical estuarine embayments". Marine Ecology Progress Series. 310: 173–184. doi:10.3354/meps310173. สืบค้นเมื่อ 2007-11-14.
  9. Carpenter, Kent E.; Volker H. Niem, บ.ก. (2001). FAO species identification guide for fishery purposes. The living marine resources of the Western Central Pacific. Volume 5. Bony fishes part 3 (Menidae to Pomacentridae) (PDF). Rome: FAO. p. 2684. ISBN 92-5-104587-9.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Sillago sihama ที่วิกิสปีชีส์