ปราสาทสมโบร์ไพรกุก

(เปลี่ยนทางจาก Sambor Prei Kuk)

ปราสาทสมบูรณ์ไพรคุก (เขมร: ប្រាសាទសំបូរព្រៃគុក บฺราสาทสํบูรไพฺรคุก) หรือไทยมักเขียนว่า ปราสาทสมโบร์ไพรกุก เป็นโบราณสถานในจังหวัดกำปงธม (ខេត្តកំពង់ធំ เขตฺตกํพง̍ธํ) ประเทศกัมพูชา อยู่ห่างจากเมืองกำปงธม (ក្រុងកំពង់ធំ กฺรุงกํพง̍ธํ) เมืองเอกของจังหวัดกำปงธม ไปทางเหนือราว 30 กิโลเมตร อยู่ห่างจากเมืองพระนครไปทางตะวันออกราว 176 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากราชธานีพนมเปญ (រាជធានីភ្នំពេញ ราชธานีภฺนํเพญ) ไปทางเหนือราว 206 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นแต่ซากปรักหักพัง มีอายุย้อนหลังไปถึงสมัยเจนละ ซึ่งเป็นสมัยก่อนพระนคร เพราะเคยเป็นที่ตั้งเมืองชื่อ อีศานปุระ (ឦឝានបុរ อีศานบุร) ที่พระเจ้าอีศานวรรมัมที่ 1 (ឦឝានវម៌្មទី១ อีศานวรฺมฺมที ๑) พระมหากษัตริย์เจนละ ทรงสถาปนาขึ้นเป็นเมืองหลวงในคริสต์ศตวรรษที่ 7[1][2]

เขตปราสาทสมโบร์ไพรกุก
แหล่งโบราณคดีแห่งอีศานปุระ *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ปราสาทสมโบร์ไพรกุก
พิกัด12°52′54″N 105°54′20″E / 12.88167°N 105.90556°E / 12.88167; 105.90556 (Temple Zone of Sambor Prei Kuk, Archaeological Site of Ancient Ishanapura)
ประเทศ กัมพูชา
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(ii), (iii), (vi)
อ้างอิง1532
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2560 (คณะกรรมการสมัยที่ 41)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก
ปราสาทสมบูรณ์ไพรคุก

ប្រាសាទសំបូរព្រៃគុក
อุทยานประวัติศาสตร์
แผนที่ปราสาท
แผนที่ปราสาท
ปราสาทสมบูรณ์ไพรคุกตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา
ปราสาทสมบูรณ์ไพรคุก
ปราสาทสมบูรณ์ไพรคุก
ที่ตั้งในกัมพูชา
พิกัด: 12°52′15″N 105°2′35″E / 12.87083°N 105.04306°E / 12.87083; 105.04306
ประเทศกัมพูชา
จังหวัดกำปงธม
สรุกปราสาทสมบูรณ์
ฆุมสมบูรณ์
ภูมิสมบูรณ์
ผู้ก่อตั้งอีศานวรรมัมที่ 1
เขตเวลาUTC+07:00 (ยูทีซีกำปงธม)
นครที่ใกล้ที่สุดกำปงธม

ปราสาทสมบูรณ์ไพรคุกตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของทะเลสาบ (ទន្លេសាប ทนฺเลสาบ) ใกล้กับแม่น้ำสทึงแสน (ស្ទឹងសែន สฺทึงแสน) อาคารในพื้นที่ปราสาทนั้นแบ่งได้เป็นสามกลุ่มหลัก แต่ละกลุ่มมีกำแพงอิฐล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยม และไม่ได้สร้างขึ้นพร้อมกัน กลุ่มทางเหนือและทางใต้นั้นสร้างขึ้นก่อนเพื่อน โดยสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ตามรับสั่งของพระเจ้าอีศานวรรมัมที่ 1 จึงถือกันว่า พระเจ้าอีศานวรรมัมที่ 1 เป็นผู้สถาปนาปราสาทสมบูรณ์ไพรคุกนี้ ส่วนกลุ่มตรงกลางสร้างขึ้นภายหลัง[3]

อาคารต่าง ๆ ในพื้นที่ปราสาทมีลักษณะของสถาปัตยกรรมในสมัยก่อนพระนคร วางแผนผังไม่ซับซ้อน วัสดุหลักที่ใช้ก่อสร้างคืออิฐ แต่บางจุดก็ใช้หินทราย[4] จุดเด่นของสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย ปราสาทย่อยหลายหลัง, หอทรงแปดเหลี่ยม, ศิวลึงค์กับโยนี, สระและฝาย, รวมถึงประติมากรรมรูปสิงห์[5]

ใน ค.ศ. 2017 ยูเนสโกประกาศให้ปราสาทสมบูรณ์ไพรคุกเป็นแหล่งมรดกโลก[6] แต่พื้นที่นี้เคยฝังระเบิดไว้ในช่วงสงคราม และน่าจะยังถอดออกไม่หมด[5]

กลุ่มอาคาร แก้

อาคารต่าง ๆ ในพื้นที่ปราสาทนั้นแบ่งออกเป็นสามกลุ่มตามทิศที่ตั้ง ดังนี้[7]

  1. กลุ่มเหนือ มีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทสมบูรณ์ (ប្រាសាទសំបូរ บฺราสาทสํบูร) ซึ่งสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 7 เพื่อถวายคัมภีเรศวร (Gambhireshvara) อวตารร่างหนึ่งของพระศิวะ
  2. กลุ่มใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทยายพันธ์ (ប្រាសាទយាយព័ន្ บฺราสาทยายพันฺธ) ซึ่งสร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 7 เพื่อถวายพระศิวะเช่นกัน มีเทวาลัยย่อย 22 หลัง[8]
  3. กลุ่มกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ปราสาทบุราม (ប្រាសាទបុរាម บฺราสาทบุราม) แต่มักเรียกกันว่า "ปราสาทโต" (ប្រាសាទតោ; "ปราสาทสิงโต") เพราะมีประติมากรรมรูปสิงห์อันเลื่องชื่ออยู่ อาคารกลุ่มนี้สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 9 มีเทวาลัยย่อย 18 แห่ง และมีตึกที่เรียกว่า "อาศรมฤๅษี" (Ashram Issey) เป็นจุดเด่นอีกจุด[9]

อาคารแต่ละกลุ่มกินพื้นที่ราว 1,000 เอเคอร์ และมีกำแพงอิฐล้อมรอบสองชั้น

ประวัติ แก้

พระเจ้าอีศานวรรมัมที่ 1 เสวยราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเจนละในช่วง ค.ศ. 616–637 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อีศานปุระ ซึ่งก็คือปราสาทสมบูรณ์ไพรคุกนี้เอง[10] จารึกหลักหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอีศานวรรมัมที่ 1 เรียกขานพระองค์ว่า "ราชาธิราชผู้ปกครองสุวรรณภูมิ" (King of Kings, who rules over Suvarnabhumi) จึงมีผู้เสนอว่า ที่จริงแล้ว "สุวรรณภูมิ" อาจตั้งอยู่ในกัมพูชาก็ได้[11] อนึ่ง ช่วงที่เสวยราชย์ พระเจ้าอีศานวรรมัมที่ 1 ทรงส่งราชทูตคณะหนึ่งไปยังราชสำนักสุย (隋朝) แห่งจีน และเอกสารจีนบันทึกด้วยว่า เมื่อสิ้นรัชศกหย่งฮุย (永徽) ของจักรพรรดิเกาจง (高宗) แห่งราชวงศ์ถัง (唐朝) ซึ่งตรงกับ ค.ศ. 650–656 เจนละสามารถพิชิตรัฐต่าง ๆ ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเคยส่งบรรณาการให้จีนได้[12]

ต่อมา เมื่อพระเจ้าชัยวรรมันที่ 1 (ជ័យវរ្ម័នទី១ ชัยวรฺมันที ๑) แห่งเจนละ สิ้นพระชนม์ และพระธิดา คือ พระนางชยเทวี (ជយទេវី) ขึ้นครองราชย์ต่อ เจนละก็ตกอยู่ในความวุ่นวายทางการเมืองจนแตกแยกออกเป็นรัฐย่อยต่าง ๆ ศูนย์กลางการปกครองก็ย้ายจากอีศานปุระไปยังสัมภุปุระ (សម្ភុបុរ สมฺภุบุร) แต่ก็นำไปสู่การก่อตั้งจักรวรรดิเขมรในเวลาต่อมา[13]

ศาสนา แก้

ปราสาทนี้สร้างถวายพระศิวะ เพราะเจนละในช่วงนั้นนับถือไศวนิกาย ซึ่งเป็นนิกายหนึ่งของศาสนาฮินดูที่ถือพระศิวะเป็นใหญ่ และบูชาศิวลึงค์ (อวัยวะเพศชายของพระศิวะ) ควบคู่กับโยนี (อวัยวะเพศหญิงศักติ)[14][15][16]

แม้ไศวนิกายจะเป็นศาสนาที่นับถือกันในเจนละ แต่ปราสาทนี้ก็มีองค์ประกอบจากนิกายอื่นของศาสนาฮินดู และจากศาสนาอื่นอย่างศาสนาพุทธ ปรากฏอยู่ด้วย[17]

รูป แก้

อ้างอิง แก้

  1. Higham, C., 2014, Early Mainland Southeast Asia, Bangkok: River Books Co., Ltd., ISBN 9786167339443
  2. Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
  3. Higham, Charles (May 11, 1989). The Archaeology of Mainland Southeast Asia. Cambridge University Press. pp. 265–267.
  4. Groupe de Sambor Prei Kuk - UNESCO World Heritage Centre
  5. 5.0 5.1 Gnarfgnarf:Sambor Prei Kuk : a pre-Angkorian gem in the forest, 20 November 2010, retrieved on 3 May 2012
  6. "Sites in Cambodia, China and India added to UNESCO's World Heritage List". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 2017-07-08.
  7. Michon, D. & Kalay, Y. (2012). Virtual Sambor Prei Kuk: An Interactive Learning Tool. Systemics, Cybernetics and Informatics, 10 (3): pp. 29/37. Link retrieved on July 6, 2015 from http://www.iiis.org/CDs2011/CD2011SCI/EISTA_2011/PapersPdf/EA432ZU.pdf
  8. Description Prasat Yeah Puon. Ministry of Tourism of Cambodia. Link retrieved on July 8, 2015 from http://www.tourismcambodia.org/provincial_guide/index.php?view=attdetail&prv=6&att=280 เก็บถาวร 2015-07-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. Palmer, B. The Rough Guide to Cambodia. August 1, 2011. p. 211. Link retrieved on July 6, 2015 from https://books.google.it/books?id=oR-Kmnj8wmAC&pg=PA211&dq=Sambor+Prei+Kuk&hl=en&sa=X&ei=0Y6aVZ-qAY_o8AWp-b6QDg&ved=0CD8Q6AEwBA#v=onepage&q=Sambor%20Prei%20Kuk&f=false
  10. “Coedès. ‟Histories of Cambodia”. Page 11.
  11. "Rinith Taing, "Was Cambodia home to Asia's ancient 'Land of Gold'?", The Phnom Penh Post, 5 January, 2018". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-06. สืบค้นเมื่อ 2019-06-21.
  12. Wolters, "North-western Cambodia in the seventh century", p. 356 and pp. 374-375
  13. O'Reilly. Early Civilizations of Southeast Asia. December 21, 2005. Page 113.
  14. Hinduism: Beliefs and Practices, by Jeanne Fowler, pgs. 42–43
  15. Mudaliyar, Sabaratna. "Lecture on the Shiva Linga เก็บถาวร 2012-06-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Malaysia Hindu Dharma Mamandram. Retrieved 27 March 2012.
  16. Zimmer, Heinrich Robert (1946). Campbell, Joseph, ed. Myths and symbols in Indian art and civilization. Princeton, New Jersey: Princeton University Press. p. 126. ISBN 0-691-01778-6.
  17. Chandler, A History of Cambodia, pp.19-20.