หรงลู่

(เปลี่ยนทางจาก Ronglu)

กวาเอ่อร์เจีย หรงลู่ (จีน: 瓜爾佳榮祿; อักษรโรมัน: Guwalgiya Ronglu หรือ Guwalgiya Jung-lu; 6 เมษายน ค.ศ. 1836 – 11 เมษายน ค.ศ. 1903) เป็นขุนนางและรัฐบุรุษชาวจีนแห่งปลายราชวงศ์ชิง กำเนิดในสกุลกวาเอ่อร์เจียซึ่งทรงอิทธิพลอยู่ในกองธงขาวพิสุทธิ์ (正白旗) แห่งแปดกองธง (八旗) ทั้งยังเป็นญาติกับพระพันปีฉือสี่ (慈禧太后)[1]

กวาเอ่อร์เจีย หรงลู่
Guwalgiya Ronglu
瓜爾佳榮祿
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด6 เมษายน ค.ศ. 1836( 1836-04-06)
เสียชีวิต11 เมษายน ค.ศ. 1903(1903-04-11) (67 ปี)
ญาติ
อาชีพข้าราชการ

ชีวิต แก้

ครอบครัว แก้

หรงลู่เกิดเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1836 เป็นบุตรของกวาเอ่อร์เจีย ฉางโช่ว (瓜爾佳長壽) และเป็นหลานของกวาเอ่อร์เจีย ถาซือฮา (瓜爾佳塔斯哈) ขุนนางเมืองคาฉือ (喀什)

หรงลู่ยังเป็นญาติกับพระพันปีฉือสี่ นอกจากนี้ ร่ำลือกันว่า ก่อนพระนางเข้าวังเป็นสนมนั้น พระนางรักอยู่กับหรงลู่ด้วย[2] ครั้นพระนางได้สำเร็จราชการแผ่นดินจีนทั้งปวงแล้ว หรงลู่ก็ได้เป็นผู้นำกลุ่มการเมืองหัวโบราณในราชสำนักซึ่งคัดค้านการปฏิรูปร้อยวันของคัง โหย่วเหวย์ (康有为) ใน ค.ศ. 1898 และสนับสนุนพระพันปีฉือสี่เสมอมา ฉะนั้น พระนางจึงรำลึกถึงเขาอยู่เป็นนิตย์ และประทานบำเหน็จแก่เขาโดยให้โย่วหลัน (幼兰) ธิดาคนเดียวของเขา ได้สมรสกับองค์ชายไจ้เฟิง (載灃)

โย่วหลันกับองค์ชายไจ้เฟิงมีบุตรด้วยกัน คือ ผู่อี๋ (溥儀) จักรพรรดิจีนพระองค์สุดท้าย ฉะนั้น หรงลู่จึงเป็นตาของผู่อี๋ด้วย

ราชการ แก้

ใน ค.ศ. 1894 หลังเกิดสงครามจีนญี่ปุ่นครั้งแรก หรงลู่ได้รับแต่งตั้งเป็นปู้จฺวินถงหลิ่ง (步军统领; "ผู้บัญชาการทหารราบ") ครั้นปีถัดมา ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกจ๋งหลี่หยาเหมิน (總理衙門) ซึ่งกำหนดนโยบายต่างประเทศ และเป็นปิงปู้ช่างชู (兵部尚書) ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงยุทธนาการ ต่อมาเมื่อเกิดกบฏนักมวย เขาจึงได้บัญชาการอู่เว่ย์จฺวิน (武衛軍; "กองทหารพิทักษ์") ซึ่งรักษาพระนคร

ใน ค.ศ. 1898 หรงลู่ได้เป็นต้าเซฺว่ชื่อ (大学士; "ปราชญ์มหาสำนัก") ซึ่งเป็นสมาชิกของเน่ย์เก๋อ (內閣; "ศาลาใน") หน่วยงานชั้นสูงในราชการ ทั้งยังได้เป็นจื๋อลี่จ่งตู (直隸總督) ซึ่งสำเร็จราชการมณฑลจื๋อลี่ จึงได้บัญชาการเป่ย์หยาง (北洋; "คาบสมุทรอุดร") โดยตำแหน่ง ต่อมา เขาได้เป็นสมาชิกแห่งจฺวินจีชู่ (軍機處; "สภาความลับทหาร") ซึ่งกำหนดนโยบายกิจการภายในประเทศ ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยรบของต่ง ฝูเสียง (董福祥), เนี่ย ชื่อเฉิง (聶士成), และยฺเหวียน ชื่อไข่ (袁世凱) ครั้นพันธมิตรแปดชาติยาตราเข้าพระนคร พระพันปีฉือสี่ลี้ภัยไปยังซีอาน (西安) รับสั่งให้หรงลู่อยู่รักษาพระนครเป่ย์จิง (北京)[3][4]

กบฏนักมวย แก้

เมื่อเกิดกบฏนักมวย (義和團起義) ขึ้นในระหว่าง ค.ศ. 1899–1901 พระพันปีฉือสี่รับสั่งให้หรงลู่บัญชาราชองครักษ์หลายหน่วยด้วยกัน ตลอดทั้งเฉินจีหยิง (神機營; "ค่ายเทพยนต์), หู่เฉินหยิง (虎神营; "ค่ายพยัคฆ์เทวา"), และเหล่าทหารม้าในการปราบปรามกบฏ นอกจากนี้ ยังรับสั่งให้เขาส่งกำลังไปรักษาอาคารทางทูตทั้งหลายในพระนครด้วย ใน ค.ศ. 1899 พระนางยังเห็นชอบให้หรงลู่จัดตั้งกองทหารที่ทันสมัยขึ้นเป็นครั้งแรก[5]

ครั้นสงครามกับพันธมิตรแปดชาติปะทุขึ้น หน่วยรักษาพระนคร ซึ่งหรงลู่, ต่ง ฝูเสียง, และเนี่ย ชื่อเฉิง บังคับบัญชาอยู่นั้น ถูกโจมตียับเยิบอย่างยิ่ง ถึงขั้นต้องยุบหน่วยนั้นทิ้งไปในที่สุด

แม้จะแสดงออกว่าปกป้องชาวต่างชาติ แต่พระพันปีฉือสี่นั้นคอยสนับสนุนอย่างลับ ๆ ให้กบฏนักมวยเข่นฆ่าชาวต่างชาติเนือง ๆ ฝ่ายหรงลู่เองไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้ แต่ก็ไม่ประสงค์จะบาดหมางกับพระนาง ครั้นต่ง ฝูเสียง นำทหารมุสลิมเข้าโจมตีคณะทูตต่างชาติ และองค์ชายไจ่อี (載漪) ซึ่งชิงชังต่างชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้น ประสงค์จะนำปืนใหญ่เข้าช่วยต่ง ฝูเสียง รบต่างชาติ หรงลู่จึงออกขวางการลำเลียงอาวุธดังกล่าว เพื่อมิให้นำไปโจมตีต่างชาติ[6][7] แต่ก็ไม่สำเร็จ ถึงกระนั้น การกระทำของหรงลู่ก็ช่วยให้ไม่อาจขนถ่ายอาวุธไปรบต่างชาติได้เต็มอัตรา[8]

นอกจากนี้ พระพันปีฉือสี่มีรับสั่งถึงเนี่ย ชื่อเฉิง ให้เนี่ย ชื่อเฉิง หยุดรบกับพวกนักมวย เพื่อที่เหล่านักมวยจะได้ฆ่าชาวต่างชาติต่อไป หรงลู่ก็เอารับสั่งนั้นซ่อนเสีย และบัญชาให้เนี่ย ชื่อเฉิง ถ่ายกำลังไปพิทักษ์ชาวต่างชาติและรักษาทางรถไฟมิให้ถูกกบฏนักมวยคุกคาม ฉะนั้น กองทัพของเนี่ย ชื่อเฉิง จึงรบราติดพันอยู่กับกบฏนักมวยในเวลาที่กองทัพพันธมิตรแปดชาติยกมาถึงประเทศจีน ปรากฏว่า ทหารเนี่ย ชื่อเฉิง สังหารนักมวยล้มตายลงเป็นอันมาก และช่วยชีวิตทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติเอาไว้ได้[9] แต่ก็เป็นที่ระคายเคืองของพระพันปีฉือสี่ เมื่อเสร็จศึกโดยที่กบฏนักมวยถูกปราบราบคาบ พระนางก็ไม่โปรดปรานหรงลู่อีกต่อไป ทำให้หรงลู่สะเทือนใจอย่างยิ่ง ครั้นพระนางเจรจากับพันธมิตรแปดชาติแล้ว พันธมิตรเหล่านั้นเรียกร้องให้พระนางลงโทษแม่ทัพนายกองทั้งหลายที่ช่วยเหลือเหล่านักมวยทำร้ายคนต่างประเทศ แต่มิได้ขอให้ลงโทษหรงลู่ด้วย[10]

อนิจกรรม แก้

หลังจากนั้นไม่นาน หรงลู่ก็ถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1903 และได้รับราชทินนามพร้อมบรรดาศักดิ์ว่า "เหวินจงอีเติ่งหนันเจฺว๋" (文忠,一等男爵; "เหวินจง (ผู้เป็น) หนันเจว๋ชั้นหนึ่ง")

ตำแหน่ง แก้

หรงลู่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่งในราชสำนัก เช่น[11]

อ้างอิง แก้

  • Hummel, Arthur William, ed. Eminent Chinese of the Ch'ing Period (1644–1912). 2 vols. Washington: United States Government Printing Office, 1943.
  1. Woo, X.L. Empress Dowager Cixi: China's Last Dynasty and The Long Reign of a Formidable Concubine. p. 17
  2. Old Buddha, Princess der Ling.
  3. http://www.qingchao.net/lishi/ronglu-dongnanhubao/荣禄与东南互保[ลิงก์เสีย]
  4. http://www.qingchao.net/lishi/ronglu-2/ เก็บถาวร 2012-03-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 论晚清重臣荣禄
  5. http://en.wikisource.org/wiki/Imperial_Decree_on_Day_Nineteen_of_May(lunar_calendar)#Decree_3Imperial
  6. Paul A. Cohen (1997). story in three keys: the boxers as event, experience, and myth[1].
  7. X. L. Woo (2002).
  8. Stephen G. Haw (2007).
  9. Lanxin Xiang (2003).
  10. Peter Fleming (1990).
  11. Woo, X.L. Empress Dowager Cixi: China's Last Dynasty and The Long Reign of a Formidable Concubine. p. 17