No true Scotsman (แปลว่า ไม่มีชาวสกอตแท้) เป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัย (informal fallacy คือไม่ใช่วิบัติตามวิธีทางตรรกศาสตร์) เป็นวิธีการ "เฉพาะกิจ" ที่ทำให้สิ่งที่ตนกล่าวยืนยันไม่เป็นเท็จ[1] คือ เมื่อมีการแสดงให้เจ้าของคำเห็นตัวอย่างที่ไม่ตรงกับคำกล่าวของตน (เช่นคำของเจ้าของว่า "ไม่มีชาวสกอตที่ไหนทำแบบนี้หรอก [no Scotsman would do such a thing]") แทนที่จะปฏิเสธว่าตัวอย่างนั้นไม่เป็นจริง หรือยอมว่าคำกล่าวของตนนั้นอาจไม่เป็นจริง เจ้าของก็จะเปลี่ยนคำกล่าวเพื่อยกเว้นกรณีนั้นหรือกรณีต่าง ๆ ที่คล้ายกับกรณีนั้นเป็นพิเศษโดยใช้วาทศิลป์ โดยไม่ได้อ้างอิงหลักการอะไร ๆ เลย (เช่นแก้ว่า "ไม่มีชาวสกอตแท้ที่ไหนทำแบบนี้หรอก [no true Scotsman would do such a thing]")[2] วิธีการนี้ยังเป็นเทคนิคที่สามารถใช้ตั้งข้อแม้ต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นอีกด้วย

ตัวอย่าง แก้

ตัวอย่างง่าย ๆ ของเหตุผลวิบัตินี้ก็คือ[3]

นาย ก: "ไม่มีชาวสกอตที่ไหนใส่น้ำตาลในข้าวต้มของตนหรอก"
นาย ข: "ผมก็เป็นคนสกอตเหมือนกัน และผมก็ใส่น้ำตาลในข้าวต้มของผมด้วย"
นาย ก: "เออ... ไม่มีชาวสกอตแท้ที่ไหนใส่น้ำตาลในข้าวต้มของตนหรอก"

ตัวอย่างที่ยกมาเกี่ยวกับการเมืองก็คือคำที่อ้างว่า "ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนที่จะเริ่มสงครามหรอก" แล้วแยกแยะระหว่างประชาธิปไตยที่ "สมบูรณ์" หรือ "แท้" ซึ่งไม่เริ่มสงคราม กับประชาธิปไตย "ใหม่" ซึ่งอาจจะทำการเริ่มสงคราม[4]

กำเนิดของคำ แก้

การใช้คำนี้เริ่มโดยนักปรัชญาชาวอังกฤษชื่อว่า แอนโทนี ฟลู ผู้ได้เขียนไว้ว่า

ขอให้ลองจินตนาการถึงนายเฮมิช แมกดอนัลด์ ผู้เป็นคนสกอต

ผู้นั่งลงอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวกลาสโกว์รับอรุณ แล้วพบหัวพาดข่าวว่า "ไอ้บ้ากามย่านไบรตัน (ในประเทศอังกฤษ) เอาอีกแล้ว" นายเฮมิชตะลึงใจจนถึงกับประกาศว่า "ไม่มีชาวสกอตที่ไหนทำแบบนี้หรอก" ในวันต่อมา นายเฮมิชก็ได้มานั่งอ่านหนังสือพิมพ์อีก แต่คราวนี้ กลับพบข่าวของคนแอเบอร์ดีน (ในประเทศสกอตแลนด์) ซึ่งมีพฤติกรรมโหดเหี้ยมที่ทำให้ "ไอ้บ้ากามย่านไบรตัน" เป็นเหมือนกับสุภาพบุรุษ คือ หลักฐานใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่า นายเฮมิชมีความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้อง แต่ว่า (คุณคิดว่า) เขาจะสามารถรับความผิดพลาดนี้ไหม

แทบจะไม่มีโอกาส (ดังนั้น) คราวนี้ เขาก็เลยกล่าวว่า "ไม่มีชาวสกอตแท้ที่ไหนทำแบบนี้หรอก"[5][6]

ดูเพิ่ม แก้

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. No True Scotsman, Internet Encyclopedia of Philosophy
  2. Flew, Antony (1975), Thinking About Thinking: Do I Sincerely Want to Be Right?, London: Collins Fontana, ISBN 978-0-00-633580-1
  3. Pinker, Steven (2003). How the Mind Works. Hukilau.
  4. David P. Goldman. "No true Scotsman starts a war" เก็บถาวร 2019-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Asia Times Online, Jan 31, 2006
  5. Flew, Antony (1975), Thinking About Thinking: Do I Sincerely Want to Be Right?, London: Collins Fontana, ISBN 978-0-00-633580-1
  6. "Obituary: Professor Antony Flew", The Scotsman, 16 April 2010