นกมาเลา

(เปลี่ยนทางจาก Megapodius pritchardii)

นกมาเลา (ตองงา: Malau, อังกฤษ: Tongan megapode, ชื่อวิทยาศาสตร์: Megapodius pritchardii) เป็นชนิดของนกในสกุล Megapodius วงศ์ Megapodiidae ปัจจุบันเป็นนกเฉพาะถิ่นในประเทศตองงา นกชนิดนี้ยังเป็นที่รูัจักในชื่ออื่น ๆ เช่น นกเมกะโพดพอลินีเชียและนกเมกะโพดนีอูอาโฟโออู ซึ่งที่มาของชื่อมาจากเกาะนีอูอาโฟโออู อันเป็นที่อยู่อย่างจำกัดของนกชนิดนี้มายาวนานหลายปี คำแสดงคุณลักษณะของนกชนิดนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่กงสุลอังกฤษ William Thomas Pritchard

นกมาเลา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: อันดับไก่
วงศ์: Megapodiidae
สกุล: Megapodius
Gray, 1864
สปีชีส์: Megapodius pritchardii
ชื่อทวินาม
Megapodius pritchardii
Gray, 1864
ชื่อพ้อง
  • Megapodius stairi

การกระจายและถิ่นที่อยู่ แก้

นกมาเลาเป็นพันธุ์นกเมกะโพดเพียงพันธุ์เดียวที่หลงเหลืออยู่ในตองงา จากเดิมที่มีสี่พันธุ์ในยุคก่อนการเข้ามาของมนุษย์ (ซึ่งเห็นได้จากหลักฐานจากฟอสซิล) และเป็นนกเมกะโพดเพียงพันธุ์เดียวที่เหลือรอดในภูมิภาคพอลินีเชีย[2] การสูญพันธุ์ลักษณะเดียวกันนี้พบได้ในฟีจีและนิวแคลิโดเนีย ซึ่งเคยมีอยู่สามสายพันธุ์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สำหรับนกเมกะโพดสายพันธุ์นี้เคยมีการกระจายตัวอย่างกว้างขวาง โดยพบได้ทั้งในตองงา, ซามัว และนีวเว[3] สาเหตุของการสูญพันธุ์และลดจำนวนลงเกิดจากการเข้ามาของมนุษย์บนเกาะ รวมไปถึงการล่านกโตเต็มวัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเก็บไข่ และจากการล่าโดยสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

บนเกาะนีอูอาโฟโออู จำนวนประชากรของมนุษย์ที่น้อยและความห่างไกลของถิ่นที่อยู่ทำให้ยังสามารถดำรงสายพันธุ์อยู่ต่อไปได้ รังของนกได้รับการควบคุมอย่างระมัดระวังโดยผู้นำท้องถิ่น นกมาเลาจึงเป็นเมกะโพดที่เหลือรอดจากการเข้ามาของมนุษย์ในพอลินีเชียตะวันตก[4] ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติของนกคือป่าที่ต่ำเขตร้อนชื้น โดยบนเกาะนีอูอาโฟโออูจะพบนกชนิดนี้ได้ในบริเวณกลางแอ่งยุบปากปล่อง นกมาเลาเหมือนนกเมกะโพดชนิดอื่นที่ไม่ฟักไข่โดยการนั่งลงบนไข่ แต่จะใช้วิธีการฝังไข่ในดินและทรายภูเขาไฟที่อุ่น เพื่อให้ไข่เกิดการพัฒนาเป็นตัวขึ้น หากเป็นถิ่นที่อยู่เดิมที่เคยพบการกระจายตัวแต่ไม่มีภูเขาไฟ คาดว่านกชนิดนี้น่าจะก่อเนินดินด้วยพืชผักเน่าเปื่อย แล่วฝังไข่ไว้ในนั้น[2] เมื่อลูกนกฟักตัวออกจากไข่จะมีความสามารถในการบินได้ทันที[5]

สถานะและการอนุรักษ์ แก้

 
ไข่ของนกมาเลา ซึ่งรวบรวมได้ที่ทะเลสาบไวลาฮีในนีอูอาโฟโออูเมื่อ ค.ศ. 1967

นกมาเลาถูกคุกคามจากปัจจัยเดียวกันอันนำไปสู่การลดลงของประชากรนกทั่วพอลินีเชีย ไข่ของนกยังถูกเก็บรวบรวมโดยคนท้องถิ่น แม้ว่าในทางทฤษฎีจะมีการคุ้มครองจากรัฐบาล และยังมีการล่าเกิดขึ้นอยู่บ้าง นกมาเลายังได้รับการปกป้องจากความยากในการเข้าถึงถิ่นที่อยู่[5] ด้วยความเสี่ยงของประชากรกลุ่มเดียว จึงมีความพยายามในการโยกย้ายไข่ไปยังเกาะแห่งใหม่อันได้แก่เกาะลาเตและโฟนูอาเลอี การโยกย้ายไปยังโฟนูอาเลอีประสบความสำเร็จ และประมาณได้ว่ามีนกอยู่ 350–500 ตัว แต่การสำรวจที่เกาะลาเตพบว่าการโยกย้ายไข่นั้นล้มเหลว[6]

อ้างอิง แก้

  1. BirdLife International (2019). "Megapodius pritchardii". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T22678625A156113936. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-3.RLTS.T22678625A156113936.en. สืบค้นเมื่อ 11 November 2021.
  2. 2.0 2.1 Steadman D, (2006). Extinction and Biogeography in Tropical Pacific Birds, University of Chicago Press. ISBN 978-0-226-77142-7 pp. 291–292
  3. Steadman, David W.; Worthy, Trevor H.; Anderson, Atholl & Walter, Richard (2000). "New species and records of birds from prehistoric sites on Niue, southwest Pacific". Wilson Bulletin. 112 (2): 165–186. doi:10.1676/0043-5643(2000)112[0165:NSAROB]2.0.CO;2.
  4. Kirch, Patrick Vinton; Roger C. Green (2001). Hawaiki, Ancestral Polynesia. Cambridge UK: Cambridge University Press. pp. 117. ISBN 0-521-78879-X.
  5. 5.0 5.1 Weir, D (1973). "Status and habits of Megapodius pritchardii". Wilson Bulletin. 85 (1): 79–82. JSTOR 4160299.
  6. Birdlife International (2004) "Megapode survey too late" Downloaded 29 July 2008

แหล่งข้อมูลอื่น แก้