จิงโจ้แดง

(เปลี่ยนทางจาก Macropus rufus)
จิงโจ้แดง
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 1 ล้านปีมาแล้ว
1–0Ma
จิงโจ้แดง
การต่อสู้กันของจิงโจ้แดง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
ชั้นฐาน: Marsupialia
อันดับ: Diprotodontia
วงศ์: Macropodidae
สกุล: Macropus
สปีชีส์: M.  rufus
ชื่อทวินาม
Macropus rufus
(Desmarest, 1822)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
จิงโจ้แดงในสวนสัตว์ไทย

จิงโจ้แดง (อังกฤษ: red kangaroo; ชื่อวิทยาศาสตร์: Macropus rufus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง (Marsupialia) ชนิดหนึ่ง จำพวกจิงโจ้

ลักษณะ แก้

จิงโจ้แดงนับเป็นสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบันนี้ที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์อยู่[2] ถือกำเนิดขึ้นมาในออสเตรเลียราว 1 ล้านปีมาแล้ว[3] ด้วยมีความสูงประมาณ 75-140 เซนติเมตร หางยาว 65-100 เซนติเมตร น้ำหนักเต็มที่ประมาณ 17-85 กิโลกรัม อายุขัยโดยเฉลี่ย 12-18 ปี

ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียและมีขนสีน้ำตาลแดง ส่วนตัวเมียขนสีเทา ขาหน้าสั้นเล็ก ใช้ในการต่อสู้หรือเล่นหยอกล้อกันและใช้หยิบจับอาหารเข้าปาก ขาหลังเป็นรูปตัว Z มีกล้ามเนื้อแข็งแรง ใช้รับน้ำหนักตัวและช่วยในการกระโดด ซึ่งสามารถกระโดดได้ไกลถึง 2 เมตร แต่ไม่สามารถที่จะเดินถอยหลังได้ มีส่วนหางแข็งแรงมากเพราะต้องใช้ยันรับน้ำหนักตัวเวลาพักผ่อนกินอาหาร ประโยชน์ของหางอีกอย่าง คือ เอาไว้ยันพื้นเวลาต่อสู้กัน เพราะใช้ขาหลังเป็นอาวุธในการถีบกัน และขาหน้าใช้การป้องปัดและสาวใส่กัน โดยเฉพาะตัวผู้ที่โตเต็มวัยคล้ายกับการชกมวย

ที่ต้นขาหน้ามีเส้นเลือดอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจิงโจ้แดงจะเลียต้นขานี้ด้วยน้ำลาย เพื่อให้ตัวเย็น คลายความร้อนจากถิ่นที่อยู่ซึ่งเป็นทะเลทราย เพราะเลือดจากส่วนนี้จะสูบฉีดไปยังหัวใจ[3]

แหล่งอาศัย แก้

พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วประเทศออสเตรเลีย สถานที่อยู่อาศัยคือ ทุ่งหญ้าโล่งและทะเลทราย เพราะอาหารหลัก คือ หญ้า นอกจากนี้ยังกินใบไม้และไม้พุ่มขนาดเล็กบางชนิดได้ด้วย

จิงโจ้แดงอยู่รวมกันเป็นฝูง มีตัวผู้เป็นจ่าฝูง นอนพักผ่อนในเวลากลางวันและหากินในเวลากลางคืน ปัจจุบันคาดว่ามีจำนวนประชากรจิงโจ้แดงในธรรมชาติของออสเตรเลียประมาณ 10 ล้านตัว[4]

การขยายพันธุ์ แก้

 
ลูกจิงโจ้แรกเกิดที่ยังไม่มีขน และต้องคลานไปยังเต้านมแม่เพื่อดูดนม เรียกกันว่า "โจอี้" (Joey)

เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 2 ปี มีระยะเวลาตั้งท้องนาน 33 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกจิงโจ้ที่เพิ่งออกมาลำตัวยาว 2.5-4 เซนติเมตร น้ำหนัก 0.5-1 กรัม ไม่มีขน เมื่อคลอดออกมาจะคลานเข้าไปอยู่ในถุงหน้าท้องของแม่เพื่อดูดนมและหลบซ่อนศัตรู พออายุได้ 8 เดือน จึงออกมาหากินข้างนอก และกลับเข้าถุงหน้าท้องเป็นครั้งคราว ด้วยการเอาส่วนหัวเข้ามุดไปก่อน ปล่อยให้ส่วนหางและขาหลังโผล่อยู่ด้านนอก จากนั้น จึงจะม้วนตัวในถุงหน้าท้องเพื่อโผล่แต่หัวออกมาข้างนอก[5]

แม้จะมีลูกได้ครั้งละ 1 ตัว แต่จิงโจ้แดงสามารถที่จะมีลูกได้มากกว่า 1 ตัว ในถุงหน้าท้อง โดยลูกจิงโจ้แต่ละตัวจะมีขนาดไม่เท่ากัน เพราะเกิดในช่วงเวลาที่ต่างกัน หรือแม้กระทั่งมีตัวอ่อนในตัวของแม่จิงโจ้ ขณะที่ลูกจิงโจ้แรกคลอดยังคงคลานไปดูดนมอยู่ก็มี จิงโจ้แดงจะมีเต้านมทั้งหมด 4 เต้า 2 เต้าแรกมีความยาวไว้สำหรับลูกจิงโจ้วัยอ่อนใช้ดูดกิน น้ำนมในส่วนนี้ มีคาร์โบไฮเดรตสูง ไขมันต่ำ ขณะที่อีก 2 เต้าจะมีขนาดสั้น ไว้สำหรับลูกจิงโจ้ที่โตแล้วดูดกิน มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ไขมันสูง ขณะที่แม่จิงโจ้มีลูกวัยอ่อน ตัวอ่อนที่ยังไม่คลอดออกมา จะหยุดพัฒนาการเพื่อรอให้ลูกจิงโจ้วัยอ่อนนั้นเติบโตขึ้นมา แล้วจึงมาแทนที่ จิงโจ้แดงจึงเป็นสัตว์ที่ผสมพันธุ์และแพร่ขยายพันธุ์ได้ตลอดเวลา ขณะที่ลูกจิงโจ้โตพอที่จะออกมาอยู่ข้างนอกได้แล้ว และในถุงหน้าท้องมีลูกจิงโจ้อีกตัวที่ยังอาศัยอยู่ แม่จิงโจ้จะไล่ให้ลูกตัวที่โตกว่าไม่ให้เข้ามา อาจจะให้แค่โผล่หัวเข้าไปดูดนม ซึ่งเวลานี้ลูกจิงโจ้ก็ถึงวัยจะที่กินหญ้าเองได้แล้ว[3]

อ้างอิง แก้

  1. Ellis, M., van Weenen, J., Copley, P., Dickman, C., Mawson, P. & Woinarski, J. (2008). Macropus rufus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 28 December 2008. Database entry includes justification for why this species is of least concern
  2. The Red Kangaroo – The World’s Biggest Marsupial! (อังกฤษ)
  3. 3.0 3.1 3.2 Australia, "Mutant Planet" ทางอนิมอลพลาเน็ต. สารคดีทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 29 ธันวาคม 2555
  4. "สารคดี BBC : อัศจรรย์แดนจิงโจ้ ตอนที่ 11 คลิป 1/2". ช่อง 7. 10 November 2014. สืบค้นเมื่อ 10 November 2014.
  5. จิงโจ้แดง, คอลัมน์ เพื่อนตัวเล็ก หน้า 28: ข่าวสดปีที่ 20 ฉบับที่ 7307 ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2553

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Macropus rufus ที่วิกิสปีชีส์