นกยางเปีย

(เปลี่ยนทางจาก Little egret)

นกยางเปีย[2] (อังกฤษ: little egret, ชื่อวิทยาศาสตร์: Egretta garzetta) เป็นสปีชีส์นกขนาดเล็กในวงศ์นกยาง (Ardeidae) ชื่อสกุลวิทยาศาสตร์มาจากคำในภาษาอุตซิตาถิ่นพรอว็องส์ว่า Aigrette โดยเป็นคำอังกฤษว่า egret ซึ่งเป็นคำที่บ่งขนาดเล็กจากคำว่า Aigron โดยเป็นคำอังกฤษว่า heron ซึ่งแปลว่านกยาง ส่วนชื่อสปีชีส์ว่า garzetta มาจากชื่ออิตาลีของนกนี้คือ garzetta หรือ sgarzetta[3] ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพุทธศักราช 2535 จึงห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามเก็บหรือทำอันตรายรัง การห้ามการครอบครองและการค้ามีผลไปถึงไข่และซาก[2]

นกยางเปีย
(little egret)
E. g. garzetta
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: นกกระทุง
วงศ์: วงศ์นกยาง
สกุล: Egretta
(ลินเนียส, 1766)
สปีชีส์: Egretta garzetta
ชื่อทวินาม
Egretta garzetta
(ลินเนียส, 1766)
สปีชีส์ย่อย

E. g. garzetta
E. g. immaculata
E. g. nigripes

การกระจายตัวของ E. garzetta
  เมื่อผสมพันธุ์
  อยู่ประจำ
  เมื่อไม่ผสมพันธุ์
  อพยพ (ฤดูไม่ชัดเจน)
ชื่อพ้อง

Ardea garzetta ลินเนียส, 1766

นกมีสีขาว มีปากเรียวยาวสีดำ ขาดำยาว แต่นกเผ่าทางตะวันตกมีเท้าเหลือง เป็นนกน้ำ หากินตามน้ำตื้น ๆ และบนพื้น กินสัตว์เล็กต่าง ๆ อยู่ผสมพันธุ์เป็นฝูง บ่อยครั้งอยู่กับนกน้ำสปีชีส์อื่น ๆ ทำรังขนาดใหญ่ (platform nest) จากก้านไม้ พุ่มไม้ และหญ้า วางไข่เป็นสีเขียวอมน้ำเงินที่ทั้งพ่อแม่ฟัก ลูกนกจะมีขนนกราว 6 สัปดาห์

ช่วงสืบพันธุ์จะอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำเขตอบอุ่นจนถึงเขตร้อนในทวีปยุโรป, แอฟริกา, เอเชีย, และออสเตรเลีย มีนกที่ค่อย ๆ กระจายตัวไปทางทิศเหนือจนมีกลุ่มประชากรที่เสถียรและคงตัวอยู่ได้เองจนถึงสหราชอาณาจักร[4]

ในเขตที่อบอุ่น นกโดยมากจะอยู่ประจำถิ่น นกในเขตเหนือรวมทั้งนกยุโรป จะอพยพไปสู่แอฟริกาและเอเชียใต้ช่วงหน้าหนาว นกอาจจะเตร็ดเตร่ไปทางเหนือปลายฤดูร้อนหลังฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งอาจช่วยขยายที่อยู่อันเพิ่งเกิดเมื่อไม่นานนี้ แม้จะเป็นนกที่เคยสามัญในยุโรปตะวันตก แต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นกก็ถูกล่าอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพื่อเอาขนมาประดับหมวกจนสูญพันธ์ไปในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือและเหลือน้อยทางตอนใต้ ราว ๆ ปี 1950 ยุโรปใต้จึงได้ออกกฎหมายสงวนป้องกันนกสปีชีส์ต่าง ๆ แล้วจำนวนจึงได้เพิ่มขึ้นอีก ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ก็มีนกผสมพันธุ์อีกในฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, ไอร์แลนด์, และสหราชอาณาจักร นกยางเปียยังขยายถิ่นที่อยู่ไปทางทิศตะวันตกอีกด้วย โดยพบเห็นในประเทศบาร์เบโดสในหมู่เกาะแคริบเบียนเป็นครั้งแรกในปี 1954 และเริ่มผสมพันธุ์ในปี 1994 สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ประเมินสถานะอนุรักษ์ทั่วโลกว่า น่าเป็นห่วงน้อยสุด (least concern)

สปีชีส์ย่อย แก้

นักวิชาการยอมรับสปีชีส์ย่อยของนกยางเปีย 2–3 พันธุ์โดยไม่เหมือนกัน[5]

มีนกยางอีกสองพันธุ์ที่บางครั้งเคยจัดเป็นสปีชีส์ย่อยของนกนี้ แต่ปัจจุบันจัดเป็นสปีชีส์อื่น 2 สปีชีส์ คือ[6]

ลักษณะ แก้

 
นกบิน แสดงตีนเหลือง ที่ป่าชายเลน Pichavaram อินเดียใต้
(วิดีโอ) นกยางเปียในญี่ปุ่นปี 2013

นกโตแล้วยาว 55–65 ซม. รวมปีกกว้าง 88–106 ซม. หนัก 350–550 ก. ขนปกติขาวทั้งหมด แต่ก็มีนกสีเข้มกว่าที่โดยมากเป็นสีเทาออกน้ำเงิน ๆ[7] ในฤดูผสมพันธุ์ นกมีขนเป็นเปียยาวสองเส้นที่ต้นคอเหมือนกับหงอน ซึ่งยาวประมาณ 15 ซม. ปลายแหลมและมีรูปเรียว มีขนคล้าย ๆ กันที่อกด้วย แต่ส่วนที่เป็นขนรูปตะขอ (barb) จะห่าง ๆ กันมากกว่า ยังมีขนยาวที่สะบัก (กระดูกฐานที่ไหล่ด้านหลังซึ่งรองรับกระดูกปีก) ที่มีส่วนขนรูปตะขอยาวไม่ยึดเข้าด้วกันโดยขนอาจยาวถึง 20 ซม. ช่วงฤดูหนาว ขนจะคล้ายกับช่วงฤดูผสมพันธุ์แต่ขนที่สะบักจะสั้นกว่าและดูเหมือนขนปกติมากกว่า ปากยาวเรียวดำโดยบริเวณระหว่างตากับรูจมูกก็ดำด้วย มีผิวโล่งสีเทาออกเขียว ๆ ที่ฐานขากรรไกรล่างและรอบ ๆ ตาซึ่งมีม่านตาเหลือง ขาสีดำแต่เท้าสีเหลือง ลูกนกคล้ายกับผู้ใหญ่ช่วงที่ไม่ผสมพันธุ์แต่มีขาดำออกเขียว ๆ และเท้าเหลืองอ่อน ๆ กว่า[8] และอาจมีขนสีเทา ๆ หรือน้ำตาล ๆ อยู่บ้าง[7] สปีชีส์ย่อย nigripes จะต่างโดยมีหนังเหลืองระหว่างปากกับตา มีเท้าออกดำ ๆ เมื่อถึงช่วงที่นกเกี้ยวกันมากสุด บริเวณระหว่างตากับรูจมูกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและเท้าของพันธุ์เท้าเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีแดง[7]

 
นกยางเปียปากน้ำเงิน

นกโดยมากเงียบแต่ก็ร้องเสียงต่ำ ๆ หรือร้องเสียงเหมือนน้ำวิ่งผ่านหินในที่ผสมพันธุ์และร้องเสียงห้าวเมื่อถูกกวน สำหรับมนุษย์ เสียงอาจไม่ต่างกับนกแขวกและนกยางควายซึ่งบางครั้งมันจะอยู่ร่วมด้วย[8]

การกระจายตัวและที่อยู่ แก้

 
นกยางเปียที่รัฐเกรละประเทศอินเดีย
 
นกยางเปียยืนบนต้นไม้ในประเทศกรีซ

บริเวณผสมพันธุ์ของพันธุ์ตะวันตก (E. g. garzetta) รวมยุโรปใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาโดยมาก และเอเชียใต้ นกยุโรปเหนือเป็นนกอพยพ โดยมากบินไปแอฟริกาแต่บางส่วนก็ไปที่ยุโรปใต้ พันธุ์เอเชียบางส่วนอพยพไปประเทศฟิลิปปินส์ ในบรรดานกพันธุ์ตะวันออก E. g. nigripes เป็นนกประจำถิ่นในอินโดนีเซียและเกาะนิวกินี ในขณะที่ E. g. immaculata อยู่ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แต่ก็ไม่ผสมพันธุ์ในนิวซีแลนด์[7] ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 นกได้กระจายไปทางเหนือของยุโรปและโลกใหม่ โดยมีกลุ่มนกผสมพันธุ์ที่ประเทศบาร์เบโดส (ในหมู่เกาะแคริบเบียน) ในปี 1994 ต่อจากนั้นได้กระจายไปที่อื่นในหมู่เกาะแคริบเบียนและตามชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของสหรัฐ[9]

ที่อยู่ของนกต่าง ๆ กันมากรวมทั้งทะเลสาบ แม่น้ำ คลอง บ่อน้ำ ลากูน ที่ลุ่มชื้นแฉะ และแผ่นดินท่วมน้ำ นกชอบที่โล่ง ๆ มากกว่าที่ต้นไม้ปกคลุม ตามชายฝั่ง มันจะอยู่ที่ป่าชายเลน ที่ลุ่มน้ำขัง ที่โคลนชายฝั่ง หาดทราย และพืดหินใต้น้ำ นาข้าวเป็นที่อยู่สำคัญในอิตาลี ส่วนชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนจะสำคัญในแอฟริกา นกบ่อยครั้งอยู่ร่วมกับวัวควายหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีกีบอื่น ๆ[7]

 
รูปแบบการบินของนกยางเปีย

พฤติกรรม แก้

นกเป็นสัตว์สังคมและบ่อยครั้งเห็นอยู่ในฝูงเล็ก ๆ แต่นกแต่ละตัวก็ไม่ยอมให้ตัวอื่นมาใกล้ที่ ๆ ตนหากินโดยขึ้นอยู่กับว่า เหยื่อมีมากน้อยแค่ไหน มีวิธีหลายอย่างเพื่อจับเหยื่อ เช่น ย่องตามเหยื่อในน้ำตื้น บ่อยครั้งวิ่งพร้อมกับยกปีกหรือลากเท้าเพื่อไล่ปลาเล็ก ๆ หรืออาจยืนนิ่ง ๆ แล้วรอโอกาสโจมตีเหยื่อ บางครั้งจะถือโอกาสเมื่อนกกาน้ำไล่ปลาหรือเมื่อมนุษย์เรียกร้องความสนใจจากปลาด้วยอาหาร บนบก มันจะเดินหรือวิ่งไล่เหยื่อ กินสัตว์ซึ่งถูกวัวควายที่กำลังกินหญ้ากวน กินเห็บหมัดบนสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่กินซากสัตว์ อาหารโดยหลักเป็นปลา แต่ก็กินสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นกเล็ก ๆ สัตว์พวกกุ้งกั้งปู มอลลัสกา แมลง แมงมุม และหนอนอีกด้วย[7]

นกทำรังเป็นฝูง บ่อยครั้งกับนกลุยน้ำอื่น ๆ ตามชายฝั่งตะวันตกอินเดีย ฝูงนกอาจอยู่ในเขตเมือง และนกที่อยู่ร่วมกันอาจรวมนกยางควาย (Bubulcus ibis) นกแขวก (Nycticorax nycticorax) และนกช้อนหอยขาว (Threskiornis melanocephalus) ในยุโรป นกที่อยู่ร่วมกันอาจเป็นนกยาง Ardeola ralloides (squacco heron) นกยางควาย นกแขวก และนกช้อนหอยดำเหลือบ (Plegadis falcinellus) รังปกติจะมีขนาดใหญ่ (platform nest) ทำด้วยกิ่งไม้สร้างในต้นไม้หรือไม้พุ่ม หรือตามหญ้า หรือตามดงไผ่ ในภูมิประเทศบางแห่งเช่นหมู่เกาะกาบูเวร์ดี นกอาจทำรังอยู่ที่หน้าผา คู่นกจะป้องกันอาณาเขตผสมพันธุ์ปกติรอบ ๆ รัง 3–4 ม. ทั้งตัวผู้ตัวเมียจะฟักไข่ 3–5 ฟองเป็นเวลา 21–25 วัน ไข่มีรูปรี มีเปลือกไม่เงาเป็นสีเขียวออกน้ำเงินอ่อน ๆ ลูกนกจะมีขนอ่อนสีขาว ทั้งพ่อแม่จะเลี้ยง และจะออกขนปีกภายใน 40–45 วัน[7][8]

การอนุรักษ์ แก้

ทั่วโลก นกยางเปียไม่จัดว่าเสี่ยงสูญพันธุ์และจริง ๆ ได้ขยายที่อยู่ในช่วงทศวรรษที่ผ่าน ๆ มา[6]สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ระบุว่าเพราะนกอยู่กระจายอย่างกว้าขวางและมีจำนวนมาก จึงเป็นสปีชีส์ที่น่าเป็นห่วงน้อยสุด (least concern)[1] แต่ในประเทศไทย ก็ยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพุทธศักราช 2535 จึงห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามเก็บหรือทำอันตรายรัง การห้ามการครอบครองและการค้ามีผลไปถึงไข่และซาก[2]

อาณานิคมในโลกใหม่ แก้

นกได้เริ่มสร้างอาณานิคมในโลกใหม่ มีบันทึกว่าเห็นมันที่เกาะบาร์เบโดสในเดือนเมษายน 1954 นกเริ่มผสมพันธุ์ที่เกาะในปี 1994 และปัจจุบันก็ผสมพันธุ์ในหมู่เกาะบาฮามาสด้วย[10] การติดป้ายที่ขานก (bird ringing) จากประเทศสเปนช่วยระบุแหล่งที่มาของนก[9] นกคล้ายกับนกยางหิมะ (Egretta thula) มากและยังอยู่รวมฝูงกับนกเหล่านี้ในเกาะบาบาโดส โดยเป็นนกที่เพิ่งเริ่มอาณานิคมใหม่ทั้งสองชนิด แต่นกยางเปียใหญ่กว่า มีวิธีการหากินหลากหลายกว่า และเป็นนักเลงใหญ่กว่าในที่หากิน[9] ยังมีรายงานเห็นนกในบริเวณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่ประเทศซูรินามและบราซิลทางทิศใต้จนไปถึงเกาะนิวฟันด์แลนด์ รัฐควิเบก และรัฐออนแทรีโอในประเทศแคนาดาทางทิศเหนือ นกทางชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาเหนือเชื่อว่าอพยพไปทางทิศเหนือพร้อมกับนกยางหิมะจากหมู่เกาะแคริบเบียน ในเดือนมิถุนายน 2011 มีรายงานว่าเห็นนกในรัฐเมนของสหรัฐ[11]

เชิงอรรถ แก้

  1. Coenraad Jacob Temminck (คุนแรด เท็มมิงก์) ค.ศ. 1778-1858 ชาวดัตช์ เป็นชนชั้นสูง นักสัตววิทยา และผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 BirdLife International (2015). "Egretta garzetta". IUCN Red List of Threatened Species. IUCN. 2015: e.T62774969A67367671. doi:10.2305/IUCN.UK.2015-4.RLTS.T62774969A67367671.en. สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2016.
  2. 2.0 2.1 2.2 "สัตว์ป่าคุ้มครอง". โลกสีเขียว. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 มีนาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 23 เมษายน 2015. ๗๑๔ นกยางเปีย (Egretta garzetta)
  3. Jobling, James A (2010). The Helm Dictionary of Scientific Bird Names. London: Christopher Helm. pp. 143, 171. ISBN 978-1-4081-2501-4.
  4. Lock, Leigh; Cook, Kevin. "The Little Egret in Britain: a successful colonist" (PDF). britishbirds.co.uk. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 11 เมษายน 2016. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2017.
  5. "Egretta garzetta". Avibase.
  6. 6.0 6.1 del Hoyo, J.; Elliot, A.; Sargatal, J., บ.ก. (1992). Handbook of the Birds of the World. Vol. 1. Barcelona: Lynx Edicions. p. 412. ISBN 84-87334-10-5.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 Hancock, James; Kushlan, James A. (2010). The Herons Handbook. Bloomsbury Publishing. pp. 175–180. ISBN 978-1-4081-3496-2.
  8. 8.0 8.1 8.2 Witherby, H. F., บ.ก. (1943). Handbook of British Birds, Volume Three: Hawks to Ducks. H. F. and G. Witherby Ltd. pp. 139–142. ASIN B00BLYYKPU.
  9. 9.0 9.1 9.2 Kushlan, James A. (ธันวาคม 2007). "Sympatric Foraging of Little Egrets and Snowy Egrets in Barbados, West Indies". Waterbirds. 30 (4): 609–612. doi:10.1675/1524-4695(2007)030[0609:sfolea]2.0.co;2. JSTOR 25148265.
  10. "Little egret". Avibirds. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2015.
  11. "Rare Bird Flies Into Scarborough". Wmtw.com. 30 มิถุนายน 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 มีนาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้