ธงชาติพม่า

(เปลี่ยนทางจาก Flag of Myanmar)

ธงชาติสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า[2] มีลักษณะเป็นธงสามสีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในแบ่งตามแนวนอน ความกว้างเท่ากัน พื้นสีเหลือง สีเขียว และสีแดง เรียงตามลำดับจากบนลงล่าง กลางธงมีรูปดาวห้าแฉกสีขาวขนาดใหญ่ ธงนี้ได้เริ่มชักขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ในเวลา 15.00 น. ที่กรุงเนปยีดอ และในเวลา 15.33 น. ที่อาคารศาลาว่าการนครย่างกุ้ง (อ้างอิงตามเวลาท้องถิ่น) อันเป็นเวลา 17 วัน ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปของพม่า ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน[3][4][5][6] ความหมายของสัญลักษณ์ในธงชาติประกอบด้วย สีเขียวหมายถึงสันติภาพ ความสงบ และความอุดมสมบูรณ์ของพม่า สีเหลืองหมายถึงความสามัคคี สีแดงหมายถึงความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง เด็ดขาด ดาวสีขาวหมายถึงสหภาพอันมั่นคงเป็นเอกภาพ[7]


ธงชาติพม่า
การใช้ ธงพลเรือน, ธงเรือราษฎร์, ธงราชการและธงเรือรัฐบาล Small vexillological symbol or pictogram in black and white showing the different uses of the flag Small vexillological symbol or pictogram in black and white showing the different uses of the flag Flag can be hung vertically by hoisting on a normal pole, then turning the pole 90°
สัดส่วนธง 2:3
ประกาศใช้ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553 (13 ปี)
ลักษณะ ธงแถบแนวนอนสามสี ความกว้างเท่ากัน เรียงจากบนลงล่างได้แก่ สีเหลือง สีเขียว และสีแดง เรียงตามลำดับจากบนลงล่าง กลางธงมีรูปดาว 5 แฉก สีขาวขนาดใหญ่
ธงชาติฯในรูปแบบอื่น
ชื่ออื่น ธงราชนาวี
การใช้ ธงนาวี
สัดส่วนธง 5:9
ลักษณะ ธงพื้นสีขาว มุมบนคันธงมีดาวสีขาว 5 แฉก อยู่ในสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดง. ที่ฝั่งปลายธงมีรูปสมอเรือสีน้ำเงิน.[1]

แบบสีธง แก้

แบบสีมาตรฐานของธงชาติพม่าโดยประมาณตามระบบต่างๆ มีดังนี้

ระบบสี สีเหลือง สีเขียว สีแดง สีขาว
Pantone 116 361 1788 Safe
RGB 254-203-0 52-178-51 234-40-57 255-255-255
HTML #FECB00 #34B233 #EA2839 #FFFFFF
CMYK 0, 20, 100, 0 71, 0, 71, 30 0, 83, 76, 8 0, 0, 0, 0

ประวัติ แก้

ในอดีตอาณาจักรพม่าสมัยราชวงศ์อลองพญาได้ใช้ธงพื้นขาวกลางมีรูปนกยูงเป็นธงชาติ เมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรโดยผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียเมื่อปี พ.ศ. 2428 ธงชาติสหราชอาณาจักรจึงถูกชักขึ้นเหนือดินแดนพม่า[8] เมื่อพม่าแยกเป็นอาณานิคมโดยตรงอีกแห่งหนึ่งต่างหากจากอินเดียในปี พ.ศ. 2480 รัฐบาลสหราชอาณาจักรอังกฤษจึงกำหนดให้ใช้ธงแสดงสัญชาติสีน้ำเงิน (Blue Ensign) มีตรานกยูงในวงกลมอยู่ด้านปลายธงเป็นธงประจำดินแดน ซึ่งจะต้องต้องชักคู่กับธงสหภาพอยู่เสมอ สำหรับธงผู้ว่าการแห่งพม่า เป็นรูปแบบธงสหภาพมีตรานกยูงในวงกลมอยู่กลางธง

หลังจากพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2491 จึงได้มีการกำหนดแบบธงชาติพม่าใหม่ ลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นสีแดง ที่มุมบนด้านคันธงเป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้าสีน้ำเงินขนาดเล็ก ภายในพื้นสีน้ำเงินนั้นมีรูปดาวห้าแฉกสีขาว 1 ดวง ล้อมรอบด้วยดาวสีขาวดวงเล็กอีก 5 ดวง ดาวดวงใหญ่หมายถึงสหภาพพม่า ดาวดวงเล็กทั้ง 5 หมายถึงชาวพม่า ชาวไทใหญ่ ชาวกะเหรี่ยง ชาวชีน และชาวกะชีน ส่วนสีขาวนั้นหมายถึงความซื่อสัตย์ ธงนี้ได้รับการรับรองด้วยรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพพม่า ฉบับลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2490 และชักขึ้นเหนือแผ่นดินพม่าครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 เวลา 4.25 น.[9][9]

ต่อมาเมื่อนายพลเนวี่นได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลแห่งสหภาพพม่า และประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่าแทน จึงได้มีการเปลี่ยนธงชาติเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2517 ลักษณะเป็นเป็นธงสี่เหลื่ยมผืนผ้าขนาดสัดส่วนความกว้างต่อความยาวของธงเป็น 5:9, 2:3 หรือ 6:11 พื้นสีแดง ที่มุมบนด้านต้นธงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีน้ำเงินขนาดเล็ก ภายในมีรูปช่อรวงข้าวอยู่หน้าฟันเฟือง ล้อมรอบด้วยดาวห้าแฉก 14 ดวงเป็นวงกลม รูปเหล่านี้เป็นสีขาว

สำหรับความหมายของสัญลักษณ์ในธงชาติมีดังนี้

  • รูปฟันเฟืองและรวงข้าว เป็นสัญลักษณ์ในเชิงสังคมนิยม หมายถึง ชาวนาและกรรมกร
  • ดาวห้าแฉก 14 ดวง หมายถึง เขตการปกครองทั้ง 14 เขตของพม่า (7 รัฐ 7 เขต)
  • สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญ
  • สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์
  • สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความอุดมสมบูรณ์

ธงชาติพม่าสมัยนี้เมื่อใช้ครั้งแรก หลายคนอาจสับสนระหว่างธงชาติไต้หวัน เนื่องจากมีลักษณะที่คล้ายกันมาก

การเสนอธงชาติพม่าแบบใหม่ แก้

 
แบบธงชาติพม่า เสนอเมื่อ พ.ศ. 2549 (ไม่มีการใช้)

ระหว่างการประชุมสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญของพม่า ได้มีการเสนอแบบของธงชาติพม่าใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ธงนี้เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบ่งพื้นธงเป็นสามส่วนเท่ากัน แถบบนสุดเป็นสีเขียว หมายถึงสันติภาพ ความสงบและความเขียวชอุ่มของดินแดนพม่า แถบกลางเป็นสีเหลือง หมายถึงความสามัคคี แถบล่างสุดเป็นสีแดง หมายถึงความกล้าหาญและความเด็ดขาด ที่มุมธงด้านคันธงมีดาวสีขาว หมายถึง สหภาพพม่าจะคงอยู่ชั่วกัลปาวสาน[10]

การเปลี่ยนธงชาติพม่าใหม่ครั้งนี้ ได้มีการเสนอเรื่องโดยคณะกรรมาธิการชุดหนึ่ง ภายใต้การดำเนินการของสภาแห่งชาติพม่า อย่างไรก็ตาม สื่อของทางการพม่าได้กล่าวในภายหลังว่า บรรดาผู้แทนในสภาแห่งชาติพม่าได้เลิกล้มความคิดดังกล่าวแล้ว การเปลี่ยนธงชาติพม่าจึงยังไม่เกิดขึ้น

ต่อมา ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 ได้มีการเสนอแบบธงชาติพม่าใหม่อีกครั้ง โดยเป็นธงสามสีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในแบ่งตามแนวนอน ความกว้างเท่ากัน พื้นสีเหลือง-เขียว-แดง กลางมีรูปดาวสีขาวขนาดใหญ่ ซึ่งได้กำหนดรวมอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของสหภาพพม่า เมื่อมีการรับรองร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยการลงประชามติในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 จึงเท่ากับว่าเป็นการยอมรับธงชาติพม่าใหม่ตามประชามตินี้ ซึ่งทั้งรัฐธรรมนูญและธงชาติใหม่ จะเริ่มบังคับใช้เมื่อมีการจัดตั้งรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่ภายในปี พ.ศ. 2553 [11]โดยธงสามสี สีเหลือง, สีเขียว, สีแดง นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ใช้ธงสามสี ธงสามสีนี้ใช้ครั้งแรกในสมาคมเราชาวพม่าองค์กรของนักชาตินิยมในพม่าก่อนที่จะเป็นธงชาติพม่าในสมัย รัฐพม่าในปี พ.ศ. 2486–พ.ศ. 2488 ต่างตรงที่สมัยนั้นใช้ นกยูง เป็นตราตรงกลางธง โดยมีการเอาธงสมัยรัฐพม่ามาดัดแปลงแก้ไขใช้ดาวขาวตรงกลางธงแทน

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Burmese Flags (Myanmar) from The World Flag Database. Flags.net (2010-10-21). Retrieved on 2011-05-27.
  2. Myanmar gets new flag, official name, anthem REUTRES. Thursday, October 21, 2010
  3. พม่าเริ่มใช้ธงชาติใหม่แล้ว.[ลิงก์เสีย] สำนักข่าวไทย. 21 ตุลาคม 2553
  4. Burma to Raise New Flag for First Time. เก็บถาวร 2010-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน THE IRRAWADDY. Thursday, October 21, 2010
  5. Myanmar unveils new national flag. AP. Thursday, October 21, 2010
  6. Myanmar unveils new flag. เก็บถาวร 2010-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน STRAITS TIMES. Thursday, October 21, 2010
  7. New Flag Flying in Burma เก็บถาวร 2011-06-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน THE IRRAWADDY. Thursday, October 21, 2010
  8. Burma: historical flags; before British colonial times
  9. 9.0 9.1 "Myanmar (Burma) : former flags". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-06. สืบค้นเมื่อ 2010-10-20.
  10. "บทความจากหนังสือพิมพ์ New Light of Myanmar". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-04. สืบค้นเมื่อ 2007-08-15.
  11. "ร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพพม่าฉบับใหม่ (ดูหน้า 190)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-01-02. สืบค้นเมื่อ 2008-07-06.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้