ค้างคาวแวมไพร์

(เปลี่ยนทางจาก Desmodontinae)
ค้างคาวแวมไพร์
ค้างคาวแวมไพร์ธรรมดา (Desmodus rotundus)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Chiroptera
วงศ์: Phyllostomidae
วงศ์ย่อย: Desmodontinae
Bonaparte, 1845
สกุล

สำหรับแวมไพร์ที่หมายถึง ผีตามความเชื่อของชาวยุโรปยุคกลาง ดูที่: แวมไพร์

ค้างคาวแวมไพร์ หรือ ค้างคาวดูดเลือด (อังกฤษ: Vampire bat) เป็นค้างคาวกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลาง มีพฤติกรรมดูดเลือดสัตว์ชนิดอื่นเป็นอาหาร จากพฤติกรรมของมันทำให้ได้ชื่อว่าเป็นค้างคาวแวมไพร์ หรือค้างคาวดูดเลือด เหมือนแวมไพร์ ในความเชื่อของชาวยุโรปยุคกลาง[2]

ค้างคาวแวมไพร์ เป็นค้างคาวขนาดเล็กมีทั้งหมด 3 ชนิด ใน 3 สกุล จัดอยู่ในวงศ์ค้างคาวจมูกใบไม้โลกใหม่ (Phyllostomidae) [1] เป็นค้างคาวที่ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ 26 ล้านปีก่อน โดยมีความสัมพันธ์กับค้างคาวกินแมลง[3] มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ในถ้ำในป่าดิบ ออกหากินในเวลากลางคืน โดยจะกินแต่เพียงเลือดของสัตว์เลือดอุ่นขนาดใหญ่กว่าเป็นอาหารเท่านั้น (บางชนิดจะกินนกเป็นอาหาร) [3] โดยมีฟันแหลมคมซี่หน้าคู่หนึ่งกัด โดยมากสัตว์ที่ถูกดูดกิน จะเป็นปศุสัตว์ เช่น หมู หรือวัว เป็นต้น ซึ่งสายตาของค้าวคาวแวมไพร์จะมองเห็นเป็นภาพอินฟาเรด จากความร้อนของอุณหภูมิในร่างกายของเหยื่อ ทำให้มองเห็นในเวลากลางคืนได้ดีมาก และเป็นตัวนำไปสู่การเลือกตำแหน่งที่กัด ซึ่งจะเป็นอวัยวะส่วนต่าง ๆ เช่น ใบหู, ข้อศอก หรือหัวนม และขณะที่กัด ด้วยความคมของฟันประกอบกับมักจะกัดในเวลาที่เหยื่อนอนหลับ ทำให้เหยื่อไม่รู้ตัว และขณะที่ดูดเลือดอยู่นั้น ค้างคาวจะขับปัสสาวะไปด้วย เนื่องจากจะดูดเลือดในปริมาณที่มาก ทำให้ไม่สามารถบินได้ โดยปริมาณเลือดที่ค้างคาวดูดไปนั้น หากคำนวณว่าดูดเลือดหมูทุกคืน ภายในเวลา 5 เดือน จะมีปริมาณเท่ากับน้ำหนัก 5 แกลลอน ซึ่งเลือดที่ไหลออกมานั้นจะไหลผ่านลิ้นของค้างคาวที่มีร่องพิเศษช่วยให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดฝอยได้โดยง่าย และในน้ำลายค้างคาวจะมีเอนไซม์ทำให้เลือดไม่แข็งตัว[3]

ซึ่งค้างคาวแวมไพร์ก็อาจดูดเลือดมนุษย์ได้ด้วยเช่นกันในเวลาหลับ และถึงแม้จะน่ากลัว แต่ค้างคาวแวมไพร์ก็มีความผูกพันกับลูก พ่อและแม่ค้างคาวจะเลี้ยงดูลูกค้างคาวที่ยังบินไม่ได้นานถึง 9 เดือน โดยจะนำเลือดที่ดูดเหลือกลับมาฝาก และฝากไปยังค้างคาวตัวอื่น ๆ ในฝูงที่หากินได้ไม่อิ่มพอด้วย[4] นอกจากนี้แล้ว ค้างคาวแวมไพร์ยังเป็นพาหะนำโรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตได้ด้วย[5]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 จาก itis.gov (อังกฤษ)
  2. Greenhall, Arthur M. 1961. Bats in Agriculture. A Ministry of Agriculture Publication. Trinidad and Tobago.
  3. 3.0 3.1 3.2 [ลิงก์เสีย] "ค้างคาวแวมไพร์" เจ้าอยู่ได้อย่างไร ถ้าแค่ดูดเลือดเพียวๆ !? จากผู้จัดการออนไลน์
  4. Bats - Winged Wizards of the Night, สารคดีทาง TTV: พุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555
  5. [https://web.archive.org/web/20120511235913/http://news.mthai.com/world-news/84020.html เก็บถาวร 2012-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ค้างคาวดูดเลือดถล่มเปรู แพร่โรคกลัวน้ำ ตายแล้ว 4 จากเอ็มไทย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้