จระเข้น้ำจืด

ชนิดของจระเข้
(เปลี่ยนทางจาก Crocodylus siamensis)

จระเข้น้ำจืด, จระเข้บึง, จระเข้สยาม หรือ จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Crocodylus siamensis) มีถิ่นกำเนิดในบริเวณประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม กาลีมันตัน ชวา และสุมาตรา จัดเป็นจระเข้ขนาดปานกลางค่อนมาทางใหญ่ (3–4 เมตร) มีเกล็ดท้ายทอด มีช่วงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 10–12 ปี จระเข้ชนิดนี้วางไข่ครั้งละ 20–48 ฟอง โดยมีระยะเวลาฟักไข่นาน 68–85 วัน เริ่มวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม โดยขุดหลุมในหาดทรายริมแม่น้ำ ใช้เวลาเฉลี่ยราว 80 วัน ชอบอยู่และหากินเดี่ยว

จระเข้น้ำจืด
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: สมัยไพลสโตซีนปัจจุบัน, 2.6–0Ma[1]
จระเข้น้ำจืด ที่ลานแสดงช้างและฟาร์มจระเข้สามพราน
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์เลื้อยคลาน
Reptilia
อันดับ: อันดับจระเข้
Crocodilia
วงศ์: Crocodylidae
Crocodylidae
สกุล: จระเข้
Crocodylus
Schneider, 1801
สปีชีส์: Crocodylus siamensis
ชื่อทวินาม
Crocodylus siamensis
Schneider, 1801
ชื่อพ้อง
  • Crocodylus ossifragus Dubois, 1908

โดยปกติจระเข้น้ำจืดจะกินปลาและสัตว์อื่นที่เล็กกว่าเป็นอาหาร จะไม่ทำร้ายมนุษย์หากไม่ถูกรบกวนหรือมีอาหารเพียงพอ ในอดีตในประเทศไทยเคยพบชุกชุมในแหล่งน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในแถบที่ราบลุ่มภาคกลาง เช่น บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่จระเข้ชุม เคยมีรายงานว่าพบจระเข้ถึง 200 ตัว หรือในวรรณกรรมพื้นบ้านเรื่องต่าง ๆ เช่น ไกรทอง ของจังหวัดพิจิตร เป็นต้น แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปจนหมดแล้ว แต่ในต่างประเทศยังคงพบอยู่เช่นที่ทะเลสาบเขมร ประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะทิวเขาพนมกระวาน ซึ่งช่วงแรกค้นพบเพียง 3 ตัว จนนำไปสู่การค้นพบจระเข้นับร้อยตัวที่อาศัยโดยไม่พึ่งพาอาศัยมนุษย์ แต่ที่นี่ก็ประสบปัญหาการจับจระเข้ไปขายฟาร์มจำนวนมาก[3] สถานะในอนุสัญญาของไซเตสได้ขึ้นบัญชีจระเข้น้ำจืดไว้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix 1)

ปัจจุบัน จระเข้สายพันธุ์นี้แท้ ๆ ก็ยังหายากในสถานที่เลี้ยง เนื่องจากถูกผสมสายพันธุ์กับจระเข้สายพันธุ์อื่นจนเสียสายพันธุ์แท้ไปด้วยจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ

สถานะตามธรรมชาติในไทย

แก้

ปัจจุบันประเทศไทย เชื่อว่าจระเข้ที่ยังคงสถานะในธรรมชาติหลงเหลืออยู่ที่คลองระบม-สียัด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน จังหวัดฉะเชิงเทรา ในอดีตมีนายพรานจากประเทศเวียดนามเข้ามาล่า ทำให้จระเข้หายไปจากป่าต้นน้ำคลองระบม-สียัด จนในปี พ.ศ. 2535 นายกิตติ กรีติยุตานนท์ ผู้ช่วยหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา ได้พบจระเข้น้ำจืดในพื้นที่ดังกล่าว แต่คาดว่าเหลือไม่เกิน 5 ตัว[4] ปัจจุบันพบเพียงตัวผู้เพียงตัวเดียว[5]

ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีอยู่ประมาณ 5 ตัว เชื่อกันว่าเป็นเพศเมียทั้งหมด[6] แต่หลังจากในปี พ.ศ. 2552 ได้พบการวางไข่ของจระเข้กลุ่มดังกล่าว แต่ไข่กลับไม่ได้รับการผสม[7][8]

  • ในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ มีจระเข้ไม่เกิน 50 ตัว (คาดการณ์)[9] ปัจจุบันสามารถเห็นได้ชัด 1 ตัว บริเวณที่ทำการบึงบอระเพ็ดมักขึ้นมาแสดงตัวกับนักท่องเที่ยว พบแหล่งวางไข่บนเกาะวัดและเกาะ ดร.สมิท จำนวน 2 ตัว บริเวณคลองบึงบอระเพ็ดจำนวน 1–2 ตัว ฯลฯ และส่วนต่าง ๆ ในบริเวณบึงบอระเพ็ดที่ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์, อำเภอชุมแสง, อำเภอท่าตะโก สามารถพบเห็นจระเข้ได้ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่พบจระเข้ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ในปี พ.ศ. 2564 ชาวบ้านหาปลาเคยพบลูกจระเข้ในบึงที่เกิดเองในธรรมชาติ แต่ยังไม่มีการสำรวจที่แน่ชัดว่ามีประชากรเท่าไร เนื่องจากบึงบอระเพ็ดมีขนาดที่ใหญ่โตมาก และจระเข้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ค่อนข้างเงียบ เมื่ออยู่บนบกจะซุ่มเงียบในโพรงหญ้า เมื่ออยู่ในน้ำจะขึ้นมาหายใจให้เห็นเฉพาะจมูกเท่านั้น จระเข้บึงกินปลาเป็นอาหาร ในการกินแต่ละครั้งสามารถอยู่ได้ 10–15 วัน โดยไม่ต้องกินอาหารอีก ทำให้ระหว่างนั้นจระเข้มักหาที่นอนและเคลื่อนไหวช้า ยากต่อการค้นหา นักวิจัยบางส่วนเชื่อว่าในปี พ.ศ. 2564 มีจระเข้เหลืออยู่ในบึงบอระเพ็ดประมาณ 15–30 ตัวเท่านั้น ทั้งนี้คนกับจระเข้ในพื้นที่ไม่มีปัญหากัน เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อเรื่องเจ้าแม่หมอนทองที่เป็นจระเข้ มีศาลสักการะบูชาเจ้าแม่หมอนทองในพื้นที่บึงบอระเพ็ดมาอย่างยาวนาน
  • ในอุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว เดิมมีจระเข้อาศัยอยู่ก่อนแล้วในแหล่งน้ำธรรมชาติ จากคำสัมภาษณ์ของชาวบ้าน เคยดำน้ำหาปลาพบจระเข้หลายครั้ง และเคยเห็นคนเข้ามาจับจระเข้มัดเพื่อขนย้ายออกไป โดยชาวบ้านไม่มีปัญหากับจระเข้ และจระเข้ไม่เคยทำร้ายชาวบ้าน ถึงแม้ชาวบ้านจะเคยเจอกับจระเข้ในน้ำหลายครั้งระหว่างหาปลาก็ตาม ทำให้ชาวบ้านเห็นด้วยกับโครงการอนุรักษ์จระเข้สายพันธุ์ท้องถิ่น ในปี พ.ศ. 2548 อุทยานได้มีการทดลองปล่อยจระเข้น้ำจืดไทยครั้งแรกจำนวน 10 ตัว เป็นตัวผู้ 5 ตัว ตัวเมีย 5 ตัว และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2561 ได้มีการปล่อยจระเข้คืนสู่ธรรมชาติอีก 17 ตัว
  • ในปี พ.ศ. 2556 มีการพบซากจระเข้น้ำจืดตัวหนึ่งและจระเข้ที่มีชีวิตอีกตัวหนึ่งในแม่น้ำชุมพรที่บ้านบางสมอ ตำบลตากแดด อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นจระเข้ตามธรรมชาติเนื่องจากกรงเล็บและเขี้ยวแหลมคม ในอดีตเมื่อ 50–60 ปีก่อนที่นี่เคยเป็นแหล่งอาศัยของจระเข้น้ำจืดที่ชุกชมมาก่อน แต่ต่อมาประชากรได้ลดจำนวนลง[13] เวลาต่อมาได้มีการสั่งประกาศจับเป็นหรือจับตายจระเข้อีกหนึ่งตัวที่เหลืออยู่[14]

จระเข้ในไทยในปัจจุบันคาดว่าในแต่ละแหล่งคงมีจระเข้หลงเหลือไม่เกิน 1–3 ตัว และไม่น่ามีการผสมพันธุ์กัน จระเข้ตามธรรมชาติของไทยจึงสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์[15] ล่าสุดมีการพบที่ลานหินตาด ภายในอุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว เมื่อปลายเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ด้วยหลักฐานภาพถ่ายและวีดิทัศน์ของนักท่องเที่ยวชาวสวิส คาดว่ามีความยาวประมาณ 1.3 เมตร โดยที่แห่งนี้เคยมีการค้นพบจระเข้น้ำจืดมาแล้วในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2537[16]

ทางวัฒนธรรมและความเชื่อ

แก้

ในประเทศไทย บริเวณลุ่มน้ำคลองระบม-สียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความเชื่อเรื่อง "จระเข้เจ้า" ว่าเป็นพาหนะของเจ้าพ่อเขากา ที่ไม่ทำร้ายผู้คน แต่ถ้าหากใครไปทำร้ายก็จะประสบกับภัยพิบัติ[4] บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถบลำน้ำโดมใหญ่หรือบางแห่งในลุ่มน้ำมูล มีความเชื่อเรื่อง "จระเข้เจ้า" เช่นกัน แต่จะเป็นจระเข้เผือกที่ภาษาถิ่นเรียกว่า "แข้ด่อน" ส่วนคนในบ้านครัว ชุมชนมุสลิมริมคลองแสนแสบ กรุงเทพมหานคร มีตำนานปรัมปราว่า บรรพบุรุษของชาวบ้านครัวเป็นจระเข้ที่อยู่ในคลองแสนแสบ[17] ทั้งนี้ในนิทานเรื่อง ไกรทอง ได้ให้ภาพพจน์ของจระเข้มีสถานะและความสัมพันธ์เทียบเท่ากับมนุษย์ และเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนพลายชุมพลปราบจระเข้เถรขวาด ก็แสดงให้เห็นถึงความเชื่อและมุมมองของคนในสมัยก่อนที่มีต่อจระเข้[17]

การเพาะพันธุ์

แก้
  • 16 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ประเทศกัมพูชาได้ทำการฟักไข่จระเข้สยามสำเร็จเป็นครั้งแรก ได้ลูกจระเข้ 13 ตัว[18]
  • 7 กันยายน พ.ศ. 2554 ประเทศลาวได้ทำการฟักไข่จระเข้สยามสำเร็จเป็นครั้งแรก ได้ลูกจระเข้ 20 ตัว[19]
  • 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ประเทศไทยได้ทำการฟักไข่จระเข้สยามสำเร็จเป็นครั้งแรก ได้ลูกจระเข้ 7 ตัว[20]

อ้างอิง

แก้
  1. Rio, J. P. & Mannion, P. D. (2021). "Phylogenetic analysis of a new morphological dataset elucidates the evolutionary history of Crocodylia and resolves the long-standing gharial problem". PeerJ. 9: e12094. doi:10.7717/peerj.12094. PMC 8428266. PMID 34567843.
  2. 2.0 2.1 Bezuijen, M.; Simpson, B.; Behler, N.; Daltry, J. & Tempsiripong, Y. (2012). "Crocodylus siamensis". IUCN Red List of Threatened Species. 2012: e.T5671A3048087. doi:10.2305/IUCN.UK.2012.RLTS.T5671A3048087.en. สืบค้นเมื่อ 22 January 2022.
  3. 3.0 3.1 ธเนศ งามสม (พฤศจิกายน 2005). "ปางสีดา เราจะนำอดีตกลับคืนมาอีกครั้ง". อนุสาร อ.ส.ท. Vol. 46 no. 4. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 ตุลาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2011.
  4. 4.0 4.1 วิบูลย์ เข็มเฉลิม. วิถีคนป่าตะวันออกผืนสุดท้าย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548. หน้า 119–120. ISBN 974-966-676-3.
  5. สนับบุญ (กรกฎาคม 2008). เสียงโหยหวนจากพงไพร "กระทิง-ช้าง"เขาอ่างฤๅไนจึงอยากพามาเที่ยวฝนนี้ เก็บถาวร 2009-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  6. "รายการคม-ชัด-ลึกตอนตามล่าจระเข้เขาใหญ่". คม-ชัด-ลึก. 4 กันยายน 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กันยายน 2009. สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2009.{{cite news}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  7. "บันทึกการสำรวจลำน้ำเพชรฯ กับความหวังสุดท้ายของจระเข้น้ำจืดไทย Part 1". Wildlife Conservation Society Thailand Program. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 กันยายน 2009. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2011.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  8. "จากเลื้อยสยองที่เขาใหญ่ ถึงสถานการณ์ "จระเข้พันธุ์ไทย"". ไทยโพสต์. 16 สิงหาคม 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 สิงหาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2011.
  9. "นำร่องปล่อยจระเข้คืนป่า 'แก่งกระจาน-ปางสีดา-ตะรุเตา'". ไทยรัฐ. 28 กุมภาพันธ์ 2013. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2013.
  10. siamensis.org. "สารคดี - สิ่งแวดล้อม : รายงานการค้นพบจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง". Sarakadee Magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 ตุลาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2011.
  11. รายงานการค้นพบจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก
  12. "จระเข้น้ำจืด". สัตว์ป่าเมืองไทย. Prince Royal's College. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 มิถุนายน 2011. สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2010.
  13. "ชาวบ้านผวา! จระเข้น้ำจืดโผล่แม่น้ำชุมพร เร่งล่า". ไทยรัฐ. 21 พฤษภาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013.
  14. "เร่งล่า 'จระเข้' ตัวเขื่อง ชาวบ้าน 2 ฝั่งแม่น้ำชุมพรผวาหนัก". ไทยรัฐ. 23 พฤษภาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013.
  15. "นักอนุรักษ์สุดปลื้ม!! จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย! ที่หายาก-ใกล้สูญพันธุ์ โผล่หน้ากล้องดักถ่าย อช.แก่งกระจาน". ผู้จัดการออนไลน์. 23 มกราคม 2021.
  16. "จระเข้สายพันธุ์ไทยโผล่ที่ปางสีดา". เดลินิวส์. No. 23,583. 8 พฤษภาคม 2014. pp. 14 ต่อข่าวหน้า 1.
  17. 17.0 17.1 ศรีศักร วัลลิโภดม (มกราคม–มีนาคม 2003). "ลุ่มน้ำเจ้าพระยากับตะเข้". วารสารเมืองโบราณ. Vol. 29 no. 1. มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 ตุลาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2014.
  18. "'จระเข้สยาม' เกิดอีก 13 ตัว เจอเป็นๆ ในป่า จ.เกาะกง". ผู้จัดการออนไลน์. 16 มิถุนายน 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 สิงหาคม 2017.
  19. ลาวช่วยเพาะจระเข้พันธุ์สยามรอดพ้นจากการสูญพันธุ์ขึ้นได้อีก. ไทยรัฐ. 7 กันยายน 2011.
  20. "ฟักไข่จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยแท้สำเร็จ". ครอบครัวข่าว 3. 24 มิถุนายน 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 มิถุนายน 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้