นกหัวโตกินปู

(เปลี่ยนทางจาก Crab Plover)
นกหัวโตกินปู
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Charadriiformes
วงศ์: Dromadidae
GR Gray, 1840
สกุล: Dromas
Paykull, 1805
สปีชีส์: D.  ardeola
ชื่อทวินาม
Dromas ardeola
Paykull, 1805

นกหัวโตกินปู (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dromas ardeola; อังกฤษ: Crab-plover หรือ Crab Plover) เป็นนกชนิดเดียวในวงศ์ Dromadidae

ลักษณะ แก้

นกหัวโตกินปูมีความยาวจากปลายปากถึงปลายหาง 38–41 เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างอวบ คอสั้น หัวโตและทุย ตาโต ปากสั้นกว่าหัว แต่มีขนาดใหญ่ ขายาว ดูไม่ได้สัดส่วนกับลำตัว ลักษณะเด่นชัดของนกชนิดนี้คือ ปากสีดำของมัน เพราะมีขนาดใหญ่ และดูยาว แม้ว่าปากจะสั้นกว่าหัว แต่ปลายปากแหลม ใช้ประโยชน์ในการทิ่มแทงปูและขบกระดองปูให้แตกหัก ปากแบนข้าง แข็งแรง และตรงอย่างกับท่อนไม้ และปากล่างหักมุม ขณะยืนหรือเดิน ปลายปีกยาวพอ ๆ กับปลายหางหรือยาวกว่าเล็กน้อย นิ้วเท้าแข็งแรง ค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับขาอันยาวของมัน มีข้างละ 4 นิ้ว ยื่นไปข้างหน้า 3 นิ้ว และยื่นไปข้างหลัง 1 นิ้ว แต่นิ้วเท้าหน้าทั้ง 3 นิ้วมีแผ่นพังผืดขึงระหว่างโคนนิ้วเล็กน้อย และนิ้วเท้าหลังใหญ่ผิดกับนกชายเลนชนิดอื่น จึงทำให้เท้าของมันแข็งแรงมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะต้องใช้นิ้วเท้าช่วยในการขุดทรายเพื่อทำโพรงรัง

 
นกหัวโตกินปูมีลักษณะเท้าเป็นพังพืด

สีสัน แก้

สีของทั้งเพศผู้และเพศเมียเหมือนกัน แต่ตัวเมียมีปากเล็กกว่าและสั้นกว่าตัวผู้เล็กน้อย ขนส่วนใหญ่ของลำตัวเป็นสีขาว แต่หลังคอตอนล่าง ไหล่ และหลังเป็นแถบขนาดใหญ่สีดำ ขนปลายปีกสีน้ำตาลไหม้จนดำหรือสีดำเช่นกัน ซึ่งแลเห็นได้ชัดเจนในขณะที่นกกำลังบิน ขนหางสีเทาจาง ๆ นกบางตัวมีลายขีดสีเทาหรือสีดำที่ท้ายทอยและหลังคอ ในขณะที่นกกำลังยืนหรือเดิน ซึ่งปลายปีกจะยาวพอๆ กับปลายหาง หรือยาวกว่าเล็กน้อย จะแลเห็นเป็นแถบสีดำอยู่ 2 แถบ พาดอยู่บนหลัง 1 แถบ และที่ขนปลายปีก 1 แถบ จนดูคล้ายนกปากงอนมาก แต่ปากใหญ่สีดำเด่นชัดมาก จึงแยกความแตกต่างจากนกปากงอนได้ง่าย

 
ลักษณะทางกายภาพของนกหัวโตกินปู

สถานภาพ แก้

นกอพยพย้ายถิ่นนอกฤดูผสมพันธุ์ หายาก

การแพร่กระจาย แก้

ภาคใต้ เคยพบที่บ้านอู่ตะเภา จังหวัดชุมพร แหลมปะการัง จังหวัดพังงา เกาะลิบง จังหวัดตรัง และหาดบางศิลา จังหวัดสตูล

แหล่งที่อยู่อาศัย แก้

ส่วนใหญ่มักพบตามชายฝั่งและเกาะต่างๆ บริเวณเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของมหาสมุทรอินเดีย ไม่พบบริเวณห่างไกลจากทะเลเกินกว่า 1 กิโลเมตร อาจเป็นเพราะแหล่งหากินของมันคือ หาดทราย หาดโคลน และหาดปะการังที่มีน้ำทะเลท่วมถึง

พฤติกรรม แก้

การเดิน เดินค่อนข้างช้า เดินไปนิดหนึ่ง แล้วก็หยุดเพื่อมองหาเหยื่อ แล้วจึงค่อยเดินต่อ ในเวลาที่มันแลเห็นเหยื่อคือ ปู และสัตว์ขาปล้องอื่น ๆ เช่น จำพวกกุ้ง-กั้ง-ปู (Crustacean) อื่น ๆ ท่าเดินของมันจะเปลี่ยนไปทันที

การวิ่ง ตามล่าเหยื่อรวดเร็วมาก ในเวลาที่น้ำทะเลเพิ่งลง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณหาดทราย หาดโคลน แนวปะการังชายฝั่ง หรือบริเวณที่มีน้ำตื้นใด ๆ รวมทั้งป่าชายเลนด้วย ปูต่าง ๆ จะพากันออกมาจากรูเพื่อหากิน นกหัวโตกินปูจึงพากันออกไปหากินเป็นฝูงใหญ่ ต่างตัวต่างวิ่งไล่จับปูอย่างรวดเร็วอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือหยุดหย่อนจนปูต่าง ๆ พากันแตกตื่นรีบวิ่งหนีลงไปในรูหรือฝังตัวในทรายหรือโคลนอย่างรวดเร็ว

การกิน นกแต่ละตัวในฝูง ซึ่งอยู่ห่างกันราว 2 ถึง 5 เมตร จะเดินอย่างช้า ๆ ไปในทิศทางเดียวกัน พอมองเห็นปูสักตัว มันจะวิ่งตรงไปยังปูตัวนั้นเพื่อใช้ปากคาบหรือกระทุ้งอย่างรวดเร็ว เนื่องจากโคนนิ้วหน้าทั้ง 3 มีแผ่นพังผืดขึงเล็กน้อย จึงทำให้มันวิ่งไปบนพื้นทรายหรือพื้นโคลนได้สะดวกและคล่องแคล่วมาก ในบางครั้ง มันก็ใช้ปากขุดคุ้ยปูหรือเหยื่ออื่น ๆ จากพื้นทรายหรือพื้นโคลน ไม่ว่าช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์หรือในฤดูผสมพันธุ์ นกหัวโตกินปูชอบออกหากินในเวลาโพล้เพล้และเวลากลางคืนมากที่สุด แต่ก็ออกหากินในเวลากลางวันด้วยเหมือนกัน ในช่วงฤดูผสมพันธุ์นั้น นกชนิดนี้ออกหากินในเวลาโพล้เพล้และเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่จะหยุดหากินเมื่อถึงกลางดึกซึ่งมืดสนิท

นกชนิดนี้เลี้ยงชีวิตด้วยปู เป็นส่วนใหญ่และมันชอบกินปูที่ขุดรูอยู่ในทรายมากกว่าปูประเภทอื่น โดยใช้ปากอันใหญ่แข็งแรงและปลายแหลมไล่คาบอย่างรวดเร็ว ถ้าหากปูที่จับได้มีขนาดเล็ก มันจะกลืนกินทั้งตัวทันทีที่จับได้ แต่ถ้าปูที่จับได้มีขนาดใหญ่ มันจะใช้ปากของมันจับปูเหวี่ยงฟาดกับพื้นจนก้ามและขาหลุดออกเป็นชิ้น ๆ แล้วใช้ปลายปากกระทุ้งกระดองจนแตก แล้วมันจึงจิกกลืนกินทีละชิ้น โดยที่นกหัวโตกินปูจะเดินแล้วหยุดมองหาปูบนหาดทรายปนโคลน โดยเลือกจิกกินปูเฉพาะที่มีกระดองกว้างราว 1–7 ซม. เช่น ปู Portunus pelagicus และปูในวงศ์ Grapsidae อีกทั้งนกชนิดนี้สามารถหากินในน้ำลึกถึงขาท่อนล่างได้ด้วย นอกจากปู ซึ่งเป็นอาหารโปรดแล้ว มันยังกินสัตว์มีกระดองแข็งอื่นๆ หอยตัวเล็กๆ หนอนทะเล และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในทรายในบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึงด้วย ยิ่งกว่านั้น ที่หมู่เกาะอันดามัน นกชนิดนี้กินกั้ง (Mantis Shrimp) และที่ประเทศอิรัก เคยมีผู้เห็นมันกินปลาตีน (Mudskipper) อีกด้วย

 
ลักษณะการหาเหยื่อของนกหัวโตกินปูบริเวณชายหาด

การอยู่ นกหัวโตกินปูเป็นนกที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงและส่งเสียงร้องหนวกหู ไม่ว่าจะอยู่ในแหล่งทำรังวางไข่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ หรือในขณะพักหากินระหว่างการบินอพยพย้ายถิ่นเดินทางไกล หรือในแหล่งหากินในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ เมื่อน้ำทะเลขึ้น ซึ่งไม่อาจหากินได้อีกต่อไป นกที่หากินอยู่ไกล ๆ จะมารวมฝูงกัน และนกที่หากินอยู่ในรัศมีไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะมารวมกันเป็นฝูงใหญ่อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งแน่นอน เช่น ในอ่าวคูช (Gulf of Kutch) เมื่อน้ำทะเลขึ้น นกหัวโตกินปูจะไปรวมกันอยู่บนเกาะไบดาร์ (Bhaidar) มากถึง 1,200 ตัวทีเดียว

 
นกหัวโตกินปู พบที่หาดตูบ จังหวัดตรัง

ในเวลาพักผ่อน มันจะยืนด้วยขาข้างเดียว โดยพับขาอีกข้างหนึ่งขึ้นแนบกับท้อง ทำนองเดียวกับนกหัวโต ในช่วงนี้ ถ้าหากมันจะเดินไปใกล้ๆ มันจะกระโดดไปด้วยขาข้างเดียวที่มันใช้ยืนอยู่ แทนที่จะเอาขาอีกข้างหนึ่งลงแล้วเดินไปตามปกติ ถ้าหากมันพักผ่อนโดยการยืนด้วยขาข้างเดียวไปนาน ๆ แล้วชักเมื่อยขา มันจะนั่งลง โดยการงอขาทั้งสองข้าง แล้วพักอยู่บนขาท่อนล่าง แต่ในบางครั้ง ถ้าหากเหน็ดเหนื่อยมาก มันจะหมอบลง แล้ววางตัวไว้กับขาท่อนล่างเลยทีเดียว ในขณะพักผ่อนนี้ ถ้าหากมันคันหัวขึ้นมามันจะยกขาข้างหนึ่งขึ้นเพื่อใช้เท้าเกาหัวอันโตของมัน โดยไม่ต้องยกเท้าข้ามปีกแบบนกชายเลนอื่นๆ นับว่ามันมีท่าทางแปลกไม่เหมือนนกชายเลนชนิดใด

การบิน มันบินได้ค่อนข้างช้า ซึ่งช้ากว่านกชายเลนส่วนใหญ่ ยกปีกขึ้นแข็งๆ ทำนองเดียวกับนกกระแตผี (Thick-knee) และมักบินต่ำๆ เหนือผิวน้ำทะเล ส่วนขาจะเหยียดตรงไปข้างหลังและเลยปลายหางออกไปมาก เพราะขาของมันยาว ดูเผิน ๆ จึงดูคล้ายกับว่ามันมีหางยาวกว่าปกติ ส่วนหัวและคอยื่นไปข้างหน้า หรืออาจหดมาอยู่ระหว่างไหล่ก็ได้ ถ้าหากไปกันเป็นฝูง มันจะบินชิด ๆ ติด ๆ กันเป็นกลุ่ม หรือไม่ก็บินเรียงเป็นแถวรูปตัววี (V) แม้ว่าบินเร็ว แต่นักดูนกสามารถบอกได้ง่ายว่าเป็นนกหัวโตกินปู แม้ว่าจะเป็นในขณะบิน เพราะจะแลเห็นขนปลายปีกสีดำ และแถบสีดำบนหลังแยกออกเป็น 2 แฉกยาวมาถึงตะโพก ตัดกับลำตัวสีขาวของมันได้ชัดเจน ส่วนใต้ของลำตัวเป็นสีขาวล้วน ถ้าหากมันบินอพยพย้ายถิ่น มันจะบินทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเวลากลางคืน


เสียงร้อง แก้

เสียงร้องหนวกหูมาก นอกฤดูผสมพันธุ์มักจะได้ยินมันส่งเสียงร้อง “ hahow “ หรือ “ crow-ow-ow “ ซึ่งดังไปไกลมากทีเดียว แต่บางทีก็ร้องเพราะ ๆ ดัง

“ prooit “ แต่ถ้าตกใจ มันจะส่งเสียงร้องดังมาก ดัง “ kjep” หรือ “ kiep” ติดต่อกัน 4 หรือ 5 ครั้ง[1]

อ้างอิง แก้