โครโมพลาสต์

ออร์แกเนลล์ที่บรรจุรงควัตถุในเซลล์พืช
(เปลี่ยนทางจาก Chromoplast)

โครโมพลาสต์ (อังกฤษ: chromoplast) เป็นพลาสติดชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเฮเทอโรจีนัสออร์แกเนลล์ที่ทำหน้าที่สะสมและสังเคราะห์สารในสิ่งมีชีวิตยูแคริโอตที่สังเคราะห์ด้วยแสงได้[1] จากทฤษฎีเอนโดซิมไบโอติก โครโมพลาสต์อาจมีต้นกำเนิดมาจากเซลล์โพรแคริโอตเช่นเดียวกับคลอโรพลาสต์และลิวโคพลาสต์[2]

สีที่ปรากฏบนกลีบเลี้ยงและกลีบดอกของกล้วยไม้ผึ้งในภาพนี้ถูกควบคุมด้วยโครโมพลาสต์

การทำงาน แก้

โครโมพลาสต์พบได้ในผล, ดอก, ราก, และสีส้มที่ปรากฏบนใบไม้ที่แก่หรืออยู่ในสภาวะเครียด อันเกิดจากการสะสมรงควัตถุแคโรทีนอยด์ไว้เป็นจำนวนมาก การแปลงสภาพจากคลอโรพลาสต์ไปเป็นโครโมพลาสต์ในผลไม้ที่กำลังสุกเป็นตัวอย่างที่พบได้บ่อย

โดยทั่วไปมักพบในเนื้อเยื่อที่เจริญเต็มที่ และพัฒนาตัวเองมาจากพลาสติดที่มีอยู่แล้วในเซลล์ การสังเคราะห์ทางชีวภาพของแคโรทีนอยด์พบบ่อยที่สุดในผลและดอก ควบคู่ไปกับการสังเคราะห์น้ำตาล แป้ง ลิพิด สารประกอบอะโรมาติก วิตามินและฮอร์โมน[3] ดีเอ็นเอของคลอโรพลาสต์และโครโมพลาสต์เกือบจะเหมือนกัน[2] เมื่อทำการวิเคราะห์โครโมพลาสต์ของมะเขือเทศด้วยกระบวนการลิควิดโครมาโตกราฟี (liquid chromatography) จะพบความแตกต่างเล็กน้อยในดีเอ็นเอของโครโมพลาสต์ว่ามีการเติมหมู่เมทิลในเบสไซโทซีน (cytosine methylation)[3]

โครโมโซมสังเคราะห์และจัดเก็บรงควัตถุ เช่น แคโรทีน (สีส้ม), แซนโธฟิลล์ (สีเหลือง), และรงควัตถุสีแดงอื่น ๆ สีจึงแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของรงควัตถุที่บรรจุไว้ จุดประสงค์หลักสำหรับการวิวัฒนาการของโครโมพลาสต์อาจเป็นการดึงดูดพาหะถ่ายเรณู หรือสัตว์ที่กินผลไม้สำหรับการกระจายเมล็ด อย่างไรก็ตามโครโมพลาสต์ยังพบได้ในรากเช่นในแครอทและมันเทศ ซึ่งช่วยให้มีการสะสมสารประกอบที่ไม่ละลายน้ำเป็นปริมาณมากในส่วนที่มีน้ำของพืช

การที่ใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วงเป็นผลมาจากการสูญเสียคลอโรฟิลล์ที่ให้สีเขียว ซึ่งทำให้แคโรทีนอยด์ที่มีอยู่ก่อนแล้วปรากฏออกมาได้อย่างชัดเจน มีแคโรทีนอยด์จำนวนน้อยมากที่ถูกผลิตขึ้นระหว่างกระบวนการดังกล่าว กระบวนการเปลี่ยนแปลงรงควัตถุอันเกิดจากการชราภาพ (senescence) มีความแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงสภาพจากคลอโรพลาสต์ไปเป็นโครโมพลาสต์ในดอกและผล

พืชดอกบางชนิดมีแคโรทีนอยด์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ในพืชดังกล่าวพบพลาสติดในกลีบดอก พลาสติดนี้มีความใกล้เคียงกับโครโมพลาสต์อย่างมาก และไม่สามารถแยกออกได้ด้วยตาเปล่า แอนโทไซยานินและฟลาโวนอยด์ที่อยู่ในแวคิวโอลทำหน้าที่สร้างรงควัตถุสีอื่น[1]

ในบางครั้ง คำว่า "โครโมพลาสต์" ถูกนำมาใช้เพื่อหมายถึงพลาสติดใด ๆ ที่มีเม็ดสี ส่วนใหญ่เพื่อเน้นความแตกต่างระหว่างพลาสติดและลิวโคพลาสต์ (พลาสที่ไม่มีเม็ดสี) ประเภทต่าง ๆ ในแง่นี้คลอโรพลาสต์ ถือเป็นโครโมพลาสต์ชนิดหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม "โครโมพลาสต์" มักใช้เรียกพลาสติดบรรจุรงควัตถุที่ไม่ใช่คลอโรพลาสต์

โครงสร้างและการจัดจำแนก แก้

การแยกแยะและจัดจำแนกโครโมพลาสต์สามารถทำได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง โดยแบ่งออกเป็นสี่ประเภทหลัก ๆ ประเภทแรกประกอบด้วยโปรตีอิกสโตรมาที่มีแกรนูล ประเภทที่สองประกอบด้วยผลึกโปรตีนและเม็ดสีอสัณฐาน ประเภทที่สามประกอบด้วยผลึกโปรตีนและผลึกเม็ดสี ประเภทที่สี่คือโครโมพลาสต์ที่มีเฉพาะคริสตัล เมื่อนำมาส่องภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจะสามารถระบุโครงสร้างย่อยได้ เช่น โกลบูล คริสตัล เมมเบรน ไฟบริลและทูบูล โครงสร้างย่อยที่พบในโครโมพลาสต์จะไม่พบในพลาสติดที่โครโมพลาสต์นั้นพัฒนามา[2]

การระบุโครงสร้างย่อยโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนได้นำไปสู่การจำแนกประเภท โดยแบ่งโครโมพลาสต์ออกเป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่ โกลบูลาร์โครโมพลาสต์ คริสทัลลินโครโมพลาสต์ ไฟบริลลาร์โครโมพลาสต์ ทูบูลาร์โครโมพลาสต์และเมมเบรนัลโครโมพลาสต์[2] นอกจากนี้ยังพบว่าโครโมพลาสต์ประเภทต่างๆสามารถอยู่ร่วมกันในอวัยวะ (เช่นใบ ดอก) เดียวกันได้[3] ตังอย่างของความหลากหลายของโครโมพลาสต์ในพืชเช่น มะม่วงมีโกลบูลาร์โครโมพลาสต์ และ แครอทมีคริสทัลลินโครโมพลาสต์[4]

แม้ว่าโครโมพลาสต์บางชนิดจะจัดหมวดหมู่ได้ง่าย แต่ในพืชบางชนิดก็มีลักษณะบางอย่างที่ทำให้การจัดประเภทโครโมพลาสต์ทำได้ลำบาก เช่น มะเขือเทศ ซึ่งสะสมแคโรทีนอยด์ที่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปผลึกไลโคปีนในโครงสร้างคล้ายเมมเบรน ลักษณะดังกล่าวทำให้จัดเป็นทั้งคริสทัลลินโครโมพลาสต์และเมมเบรนัลโครโมพลาสต์[3]

วิวัฒนาการ แก้

พลาสติดมีวิวัฒนาการมาจากไซยาโนแบคทีเรีย ซึ่งเป็นโพรแคริโอตที่สังเคราะห์ด้วยแสงได้ ต่อมาไซยาโนแบคทีเรียได้ผสานกันเป็นบรรพบุรุษของสาหร่ายและพืช เกิดความสัมพันธ์แบบเอนโดซิมไบโอติก บรรพบุรุษของพลาสติดมีความหลากหลายในประเภท ซึ่งรวมโครโมพลาสต์ไว้ด้วย[3] พลาสติดยังบางชนิดยังมีจีโนมและความสามารถในการผลิตโปรตีนเป็นของตัวเอง

จุดประสงค์หลักในการวิวัฒนาการของโครโมพลาสต์คือเพื่อดึงดูดสัตว์และแมลงให้มาผสมเกสรบนดอกไม้และเพื่อกระจายเมล็ดออกไป พืชหลายชนิดได้พัฒนาความสัมพันธ์ทางชีวภาพที่จำเพาะกับพาหะถ่ายเรณูเพียงชนิดเดียว สีเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับพาหะถ่ายเรณูในการเลือกดอกไม้ เนื่องจากสีหนึ่งดึงดูดพาหะถ่ายเรณูที่จำเพาะเจาะจง ดอกไม้สีขาวมีแนวโน้มที่จะดึงดูดแมลงปีกแข็ง ดอกไม้สีม่วงและสีฟ้ามักดึงดูดผึ้ง ดอกไม้ที่มีสีในวรรณะร้อนเช่นสีเหลืองและสีส้มมักดึงดูดผีเสื้อ[5]

ในงานวิจัย แก้

โครโมพลาสต์ไม่ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางและไม่เป็นจุดสนใจหลักของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โครโมพลาสต์มักมีส่วนเกี่ยวข้องในงานวิจัยเกี่ยวกับมะเขือเทศ (Solanum lycopersicum) ไลโคปีนทำให้ผลมะเขือเทศสุกมีสีแดง ในขณะที่สีเหลืองของดอกมะเขือเทศเกิดจากสารแซนโทฟิลล์ ไวโอลาแซนทินและนีโอแซนทิน[6]

การสังเคราะห์ทางชีวภาพของแคโรทีนอยด์เกิดขึ้นทั้งในโครโมพลาสต์และคลอโรพลาสต์ ในโครโมพลาสต์ของดอกมะเขือเทศพบว่าการสังเคราะห์แคโรทีนอยด์ถูกควบคุมโดยยีน Psyl, Pds, Lcy-b และ Cyc-b ยีนเหล่านี้มีหน้าที่มีส่วนสำคัญในการสะสมแคโรทีนอยด์ในอวัยวะและโครงสร้างอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ยีน Lcy-e จะมีการแสดงออกอย่างมากในใบไม้ ส่งผลให้เกิดการสร้างลูทีน[6]

ดอกมะเขือเทศสีขาวเกิดจากอัลลีลด้อย ต้นที่มีลักษณะนี้มักไม่เป็นที่ต้องการเนื่องจากมีอัตราการผสมเกสรต่ำกว่า ในการศึกษาหนึ่งพบว่าดอกไม้สีขาวยังคงมีโครโมพลาสต์อยู่ การขาดรงควัตถุสีเหลืองในกลีบดอกและอับเรณูเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน CrtR-b2 ซึ่งขัดขวางวิถีการสังเคราะห์ทางชีวภาพของแคโรทีนอยด์[6]

กระบวนการสร้างโครโมพลาสต์ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างสมบูรณ์ในระดับโมเลกุล อย่างไรก็ตาม การค้นพบจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนได้แสดงให้เห็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงจากคลอโรพลาสต์เป็นโครโมพลาสต์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงของระบบเอนโดเมมเบรนกับการสลายตัวของ intergranal thylakoid และกรานา ระบบเมมเบรนใหม่ก่อตัวขึ้นในคอมเพล็กซ์เมมเบรนที่มีการจัดระเบียบเรียกว่า ไทลาคอยด์เพล็กซัส เมมเบรนใหม่ก่อตัวขึ้นใหม่เป็นแหล่งสร้างผลึกแคโรทีนอยด์ เมมเบรนเหล่านี้ไม่ได้มาจากไทลาคอยด์ แต่มาจากเวสิเคิลที่สร้างจากเยื่อหุ้มชั้นในของพลาสติด การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีที่ชัดเจนที่สุดคือเซลล์ลดการแสดงออกของยีนสำหรับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งส่งผลให้สูญเสียคลอโรฟิลล์และหยุดการสังเคราะห์ด้วยแสง[3]

ในส้ม การสังเคราะห์แคโรทีนอยด์และการหายไปของคลอโรฟิลล์ทำให้สีของผลเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง มักมีการใส่สีส้มเทียมซึ่งมีสีผิดไปจากสีส้มแกมเหลืองตามธรรมชาติที่ผลิตโดยโครโมพลาสต์[7]

ส้มวาเลนเซีย Citris sinensis L เป็นส้มที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในรัฐฟลอริดา ในฤดูหนาว ส้มบาเลนเซียจะมีเปลือกสีส้มในระดับสูงสุด และกลับเป็นสีเขียวในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แต่เดิมเชื่อว่าโครโมพลาสต์เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการพัฒนาของพลาสติด แต่ในปี ค.ศ. 1966 มีการพิสูจน์ว่าโครโมพลาสต์สามารถเปลี่ยนกลับเป็นคลอโรพลาสต์ได้ ซึ่งทำให้ส้มบาเลนเซียดังกล่าวเปลี่ยนกลับเป็นสีเขียว[7]

การเปรียบเทียบ แก้

 

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Whatley JM, Whatley FR (1987). "When is a Chromoplast". New Phytologist. 106 (4): 667–678. doi:10.1111/j.1469-8137.1987.tb00167.x.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Camara B, Hugueney P, Bouvier F, Kuntz M, Monéger R (1995). Biochemistry and molecular biology of chromoplast development. Int. Rev. Cytol. International Review of Cytology. Vol. 163. pp. 175–247. doi:10.1016/s0074-7696(08)62211-1. ISBN 9780123645678. PMID 8522420.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Egea I, Barsan C, Bian W, Purgatto E, Latché A, Chervin C, Bouzayen M, Pech JC (October 2010). "Chromoplast differentiation: current status and perspectives". Plant & Cell Physiology. 51 (10): 1601–11. doi:10.1093/pcp/pcq136. PMID 20801922.
  4. Vasquez-Caicedo AL, Heller A, Neidhart S, Carle R (August 2006). "Chromoplast morphology and beta-carotene accumulation during postharvest ripening of Mango Cv. 'Tommy Atkins'". Journal of Agricultural and Food Chemistry. 54 (16): 5769–76. doi:10.1021/jf060747u. PMID 16881676.
  5. Waser NM, Chittka L, Price MV, Williams NM, Ollerton J (June 1996). "Generalization in Pollination Systems, and Why it Matters". Ecology. 77 (4): 1043–60. doi:10.2307/2265575. JSTOR 2265575.
  6. 6.0 6.1 6.2 Galpaz N, Ronen G, Khalfa Z, Zamir D, Hirschberg J (August 2006). "A chromoplast-specific carotenoid biosynthesis pathway is revealed by cloning of the tomato white-flower locus". The Plant Cell. 18 (8): 1947–60. doi:10.1105/tpc.105.039966. PMC 1533990. PMID 16816137.
  7. 7.0 7.1 Thomson WW (1966). "Ultrastructural Development of Chromoplasts in Valencia Oranges". Botanical Gazette. 127 (2–3): 133–9. doi:10.1086/336354. JSTOR 2472950.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้