เสือไฟ

(เปลี่ยนทางจาก Catopuma temminckii)
เสือไฟ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Felidae
สกุล: Catopuma
สปีชีส์: C.  temminckii
ชื่อทวินาม
Catopuma temminckii
(Vigors & Horsfield, 1827)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
  • Catopuma temminckii (Vigors & Horsfield, 1827)
  • Felis temminckii Vigors & Horsfield, 1827

เสือไฟ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Catopuma temminckii ) เป็นแมวป่าขนาดกลาง มีขนาดเล็กกว่าเสือลายเมฆ แต่ใหญ่กว่าแมวลายหินอ่อน โดยชื่อวิทยาศาสตร์ temminckii ถูกตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่กุนราด ยาโกบ แต็มมิงก์ นักสัตววิทยาชาวดัตช์ซึ่งเป็นผู้บรรยายลักษณะทางวิทยาศาสตร์ของเสือไฟแอฟริกาเมื่อปี ค.ศ. 1827[2]

แม้จะมีลายน้อย แต่รูปแบบของลายของเสือไฟก็ดูคล้ายกับลายของแมวดาว ลักษณะที่เด่นชัดคือ แต้มสีขาวกับขีดดำบริเวณแก้ม และเส้นจากหัวตาไปถึงกระหม่อม ด้านล่างลำตัวและขาด้านในมีสีขาว หางยาวประมาณ 1/3 จนถึง 1/2 ของความยาวลำตัว ปลายหางด้านล่างสีขาว หูสั้นกลม หลังหูสีดำและมีจุดขาวอยู่กลางหลังหู ตามักมีสีเขียวอมเทาหรือสีเหลืองอำพัน ปลายหางด้านใต้จะมีริ้วสีขาวเช่นเดียวกับที่พบในเสือไฟบอร์เนียว นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าสองชนิดนี้อาจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน

ความยาวลำตัว 75-105 เซนติเมตร น้ำหนัก 8-15 กิโลกรัม ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด

เสือไฟมีคู่เหมือนชนิดหนึ่งคือ เสือไฟแอฟริกา (African Golden Cat, Caracal aurata) อาศัยอยู่ในป่าเขตศูนย์สูตรในทวีปแอฟริกา ในอดีตเคยมีความเชื่อว่า เสือไฟทั้งสองชนิดเป็นญาติสนิทกัน แต่ข้อมูลด้านพันธุกรรมบ่งชี้ว่าเสือไฟและเสือไฟแอฟริกามีสายเลือดห่างกันมาก ญาติสนิทที่สุดของเสือไฟคือแมวแดงบอร์เนียว (Bornean Bay Cat, Catopuma badia) อาศัยอยู่ในป่าทึบของเกาะบอร์เนียว คาดว่าเสือไฟและแมวแดงบอร์เนียวมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อ 4.9 ถึง 5.3 ล้านปีก่อน

ลักษณะและพฤติกรรม แก้

เสือไฟมีสีขนหลากหลาย คือ สีน้ำตาลแดง น้ำตาลอมเทา ตลอดจนสีส้ม สีขนบริเวณใบหน้าจะเข้มกว่าลำตัว มีลักษณะเด่นคือ มีแถบขนสีขาวบนใบหน้า เหนือตาและแก้ม หางยาวปลายหางด้านล่างมีสีขาวตลอด ท้องและใต้หางมีสีขาว มีความยาวลำตัวและหัว 76–105 เซนติเมตร ความยาวหาง 43–60 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ 12–33 กิโลกรัม[2]

ขนของเสือไฟมีตั้งแต่สีแดงถึงน้ำตาลทอง น้ำตาลเข้มถึงสีน้ำตาลเหลือง เทาถึงดำ รูปแบบของขนขึ้นอยู่กับความแตกต่างของสีด้วย ขนอาจเป็นจุดหรือลาย สีเส้นขาวดำที่แก้มและพาดขึ้นไปส่วนบนของหัว หูมีสีดำออกเทาบริเวณตรงกลาง[2] พบเสือไฟลายคล้ายเสือดาวในประเทศจีน ซึ่งเป็นลักษณะด้อยของเสือไฟ[3] และบางตัวอาจพบเป็นสีดำทั้งตัว[4]

 
ภาพวาดกะโหลกของเสือไฟ (ล่าง) และ เสือปลา (บน), ใน The Fauna of British India, including Ceylon and Burma[5]

มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ เอเชียตะวันออก, ภาคเหนือของเอเชียใต้ จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ภาคใต้และภาคตะวันออกของจีน, เนปาล, ภูฏาน, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซียและอินโดนีเซีย[6]

เสือไฟ สามารถปรับตัวให้อยู่ในป่าได้ทุกสภาพ เช่น ป่าดิบแล้ง, ป่าดิบชื้น, ป่าเบญจพรรณ สามารถปีนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่จะล่าเหยื่อบนพื้นดินมากกว่าล่าบนต้นไม้ และยังพบได้ถึงระดับถึงความสูงกว่า 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลในเทือกเขาหิมาลัย[7] เมื่อเวลาเดินจะยกหางขึ้นเหมือนแมวบ้าน อาหารของเสือไฟมักเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู, กระต่าย, ลูกเก้งและนกเล็ก ๆ ที่หากินตามพื้นดิน ในบางครั้งอาจล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวได้ หมูป่าขนาดเล็กและลูกกวางป่าได้ด้วย รวมถึงล่าปศุสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงได้ด้วย[8] ในต้นปี พ.ศ. 2558 ที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรังเคยปรากฏข่าวว่าเสือไฟโจมตีช้างพังที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้จนล้ม[9] มักอาศัยตามลำพัง ยกเว้นช่วงฤดูผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อนที่พบเห็นว่าอยู่ด้วยกัน 2–3 ตัว ใช้เวลาตั้งท้องนาน 95 วัน ออกลูกครั้งละ 1–2 ตัว ตามโพรงไม้ที่มีความปลอดภัย ปกติเสือไฟจะล่าเหยื่อเพียงลำพัง แต่ถ้าเหยื่อมีขนาดใหญ่ ก็อาจล่าเป็นคู่ได้[4]

ชนิดย่อย แก้

มีด้วยกัน 3 ชนิดย่อย:[10]

ชื่อชนิดพันธุ์ เขตกระจายพันธุ์
C.t.dominicanorum จีนตอนใต้
C.t.temminckii เทือกเขาหิมาลัยจนถึงสุมาตรา
C.t.tristis ที่ราบสูงของจีนตะวันตกเฉียงใต้

ความเชื่อ แก้

เสือไฟ เป็นสัตว์ที่ชาวล้านนาเชื่อว่าเป็นพญาเสือ แม้เสือที่มีขนาดใหญ่กว่ายังกลัว ขน หรือ เล็บ หรือ เขี้ยว เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สามารถป้องกันอันตราย หรือภูตผีปีศาจได้ ซึ่งความเชื่อเรื่อง เขี้ยวเสือไฟ นี้ ได้ถูก มาลา คำจันทร์ นำไปแต่งเป็นนวนิยาย ชื่อ เขี้ยวเสือไฟ ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2532 และรางวัล IBBY (International Board of Book for Young People) ประจำปี ค.ศ. 1990 ซึ่งในปี พ.ศ. 2544 ได้ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ทางช่อง 9 นำแสดงและร้องเพลงประกอบละคร โดย แอ๊ด คาราบาว[11]

นอกจากนี้แล้ว ยังมีความเชื่ออีกว่าเสือไฟเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดไฟป่า ดอยหรือป่าผืนใดที่เสือไฟปรากฏ ไม่ช้าจะเกิดไฟป่า[12]

ในภาษาใต้ เสือไฟถูกเรียกว่า "คางคูด" เชื่อกันว่าเป็นสัตว์ดุร้าย มักใช้เป็นคำขู่หลอกให้เด็ก ๆ กลัว โดยคางคูดนี้เป็นชื่อโดยรวม ๆ ของสัตว์กินเนื้อขนาดเล็กที่ปรากฏตัวในเวลากลางคืน ร่วมกับเสือดำ, มูสัง หรือชะมด[13][9]

ที่จีน เสือไฟถูกมองว่าเป็นเสือดาวชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า "แมวหิน" หรือ "เสือดาวเหลือง" ในตัวที่มีขนสีดำหรือเข้มเรียกว่า "เสือดาวดำ" และตัวที่ปรากฏลายจุดเรียกว่า "เสือดาวงา"[2]

ชีววิทยา แก้

ระยะเวลาเป็นสัดยาว 6 วัน คาบการเป็นสัดนาน 39 วัน เสือไฟตั้งท้องนาน 70-80 วัน จากคำบอกเล่าของชาวเขาในประเทศไทยบอกว่าเสือไฟเลี้ยงลูกในโพรงไม้ ออกลูกครั้งละ 1-3 ตัว ลูกเสือแรกเกิดหนักประมาณ 250 กรัม ลืมตาได้เมื่ออายุ 9 วัน เมื่ออายุ 6 เดือนก็หย่านม ลูกเสือไฟมีสีเรียบเหมือนพ่อแม่ แต่มีขนยาวกว่า หนากว่า และสีเข้มกว่าของพ่อแม่เล็กน้อย ตัวผู้ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 2 ปี ตัวเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 18-24 เดือน

ปัจจุบันมีเสือไฟอยู่ในสวนสัตว์ทั่วโลกรวมแล้วราวสิบตัวเท่านั้น เสือไฟมีปัญหาเรื่องเสือตัวผู้ฆ่าตัวเมีย แม้จะเป็นคู่ที่รู้จักคุ้นเคยกันมานานก็ตาม การเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงจึงทำได้ยาก ตัวที่อายุยืนที่สุดมีอายุ 20 ปี

ภัยที่คุกคาม แก้

เสือไฟประสบปัญหาถูกคุกคามจากภัยหลายด้าน ภัยที่ร้ายแรงที่สุดคือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และรองลงมาคือการล่าเพื่อเอาหนังและกระดูก บางครั้งเสือไฟก็ถูกชาวบ้านฆ่าตายเมื่อไปจับสัตว์เลี้ยงในฟาร์มกิน ด้วยเหตุนี้ไซเตสจึงจัดเสือไฟไว้ในบัญชีหมายเลข 1

สถานภาพประชากร แก้

ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพไว้ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ (2550)

ประเทศที่ห้ามล่า แก้

บังกลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า เนปาล ไทย เวียดนาม

ควบคุมการล่า แก้

ลาว

ไม่คุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์ แก้

ภูฏาน บรูไนดารุสซาราม

ไม่มีข้อมูล แก้

กัมพูชา

อ้างอิง แก้

  1. Sanderson, J., Mukherjee, S., Wilting, A., Sunarto, S., Hearn, A., Ross, J., Khan, J.A. (2008). "Pardofelis temminckii". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.2.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Sunquist, Mel; Sunquist, Fiona (2002). Wild cats of the World. Chicago: University of Chicago Press. pp. 52–56. ISBN 0-226-77999-8.
  3. Allen, G.M. (1938) The mammals of China and Mongolia. New York: American Museum of Natural History.
  4. 4.0 4.1 ข่าวภาคเที่ยง, ช่อง 7: พฤหัสบดี 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555
  5. Pocock, R.I. (1939) The Fauna of British India, including Ceylon and Burma. Mammalia. – Volume 1. Taylor and Francis, Ltd., London. Pp 259–264
  6. Nowell, K., Jackson, P. (1996). 'Wild Cats: status survey and conservation action plan. IUCN/SSC Cat Specialist Group, Gland, Switzerland.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  7. Baral H.S. and Shah K.B. (2008) Wild Mammals of Nepal. Himalayan Nature, Kathmandu.
  8. "ตื่นเสือไฟบุกชุมชนขย้ำกินหัวใจหมู". เดลินิวส์. 20 November 2014. สืบค้นเมื่อ 21 November 2014.
  9. 9.0 9.1 "เสือไฟกัดช้างตาย". กรุงเทพธุรกิจ. 2015-01-08. สืบค้นเมื่อ 2017-07-09.
  10. Grubb, Peter (16 November 2005). Wilson, Don E., and Reeder, DeeAnn M., eds. ed. Mammal Species of the World (3rd ed.) เก็บถาวร 2010-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Baltimore: Johns Hopkins University Press, 2 vols. (2142 pp.). ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494.
  11. นวนิยายเขี้ยวเสือไฟ โดย มาลา คำจันทร์ ISBN 974-315-584-8
  12. หน้า ๐๗๒, คืนสุขวัยเยาว์ ผืนป่าตะวันตก โดย ธเนศ งามสม. อ.ส.ท. พฤศจิกายน ๒๕๕๗: ปีที่ ๕๕ ฉบับที่ ๔
  13. Lhong (2012-01-07). "คางคูด คืออะไรครับ". สยามเอนซิส. สืบค้นเมื่อ 2017-07-09.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Catopuma temminckii ที่วิกิสปีชีส์