arXiv (ออกเสียงเหมือนคำว่า "archive" โดยใช้ X แทนอักษรกรีก chi ⟨χ⟩)[1] เป็นคลังเอกสารดิจิทัลแบบเปิดสำหรับบทความก่อนตีพิมพ์ (พรีปรินต์) และบทความหลังตีพิมพ์ (โพสต์ปรินต์) ฉบับอิเล็กทรอนิกส์ (หรือเรียกว่าอีปรินต์ "e-print") ซึ่งได้รับอนุมัติให้เผยแพร่หลังจากการตรวจสอบ แต่ไม่มีการสอบทานโดยคนในวงวิชาการเดียวกัน (เพียร์รีวิว) arXiv มีบทความทางวิทยาศาสตร์ในสาขาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ วิศวกรรมไฟฟ้า วิทยาการคอมพิวเตอร์ ชีววิทยาเชิงปริมาณ สถิติ การเงินเชิงคณิตศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ โดยเข้าถึงได้ทางออนไลน์

ในหลายสาขาย่อยของคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ บทความทางวิทยาศาสตร์เกือบทั้งหมดจะถูกบันทึกเข้าฐานข้อมูล arXiv ก่อนที่มันจะถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีเพียร์รีวิว สำนักพิมพ์บางแห่งยังมอบสิทธิให้ผู้เขียนจัดเก็บบทความหลังตีพิมพ์ได้อีกด้วย

คลังเอกสารที่ arXiv.org เริ่มดำเนินการวันที่ 14 สิงหาคม 2534 และเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 ก็มีบทความมากกว่า 5 แสนบทความ[2][3] ทะลุหนึ่งล้านบทความเมื่อสิ้นปี 2557[4] และสองล้านบทความเมื่อสิ้นปี 2564[5][6] ณ เดือนเมษายน 2564 อัตราการส่งบทความอยู่ที่ประมาณ 16,000 บทความต่อเดือน[7]

อัตราการส่งบทความของ arXiv เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง ในแผนภูมิให้ชื่อย่อมาตรฐานตามที่ใช้บน arxiv.org[8]

arXiv เกิดขึ้นได้ด้วยรูปแบบแฟ้ม TeX ที่กะทัดรัดที่ทำให้ส่งบทความทางวิทยาศาสตร์ผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดายและนำไปแสดงผลทางฝั่งผู้ใช้[9] ประมาณปีพ.ศ. 2533 Joanne Cohn เริ่มส่งบทความทางฟิสิกส์ฉบับก่อนตีพิมพ์ไปยังเพื่อนร่วมงานทางอีเมลในรูปแบบแฟ้ม TeX แต่ในไม่ช้า เอกสารจำนวนมากที่ส่งไปก็อัดแน่นจนกล่องจดหมายเต็มความจุ[10] Paul Ginsparg ตระหนักถึงความจำเป็นของระบบจัดเก็บข้อมูลส่วนกลาง และในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2534 เขาได้สร้างกล่องจดหมายสำหรับเป็นคลังเอกสารส่วนกลาง เก็บไว้ที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอสอลามอส ซึ่งเข้าถึงจากคอมพิวเตอร์เครื่องใดก็ได้[11] ในเวลาไม่นาน วิธีการเข้าถึงแบบใหม่ก็ถูกเพิ่มเข้ามา โดยเพิ่ม FTP ในปี 2534 Gopher ในปี 2535 และเวิลด์ไวด์เว็บ ในปี 2536[12] คำว่า e-print ถูกรับมาใช้เรียกบทความต่างๆ อย่างรวดเร็ว

รูปแบบข้อมูล

แก้

เอกสาร arXiv แต่ละฉบับมีเลขระบุเฉพาะตัว:

  • YYMM. NNNNN เช่น 1507.00123
  • YYMM. NNNN เช่น 0704.0001
  • arch-ive/YYMMNNN สำหรับเอกสารเก่า เช่น hep-th/9901001

เอกสารฉบับเดียวกันต่างรุ่นกันจะมีเลขรุ่นระบุที่ตอนท้าย เช่น 1709.08980v1 หากไม่ได้ระบุเลขรุ่น ค่าเริ่มต้นจะเป็นรุ่นล่าสุด

arXiv ใช้ระบบหมวดหมู่ เอกสารแต่ละฉบับจะถูกติดป้ายอย่างน้อยหนึ่งหมวดหมู่ หมวดหมู่บางประเภทมีสองชั้น เช่น q-fin. TR คือหมวดหมู่ “Trading and Market Microstructure” (การซื้อขายและโครงสร้างตลาดขนาดเล็ก) ภายใต้ “quantitative finance” (การเงินเชิงปริมาณ) หมวดหมู่อื่นๆ มีชั้นเดียว เช่น hep-ex คือ “high energy physics experiments” (การทดลองทางฟิสิกส์พลังงานสูง)

สถานะลิขสิทธิ์ของเอกสาร

แก้

แฟ้มบน arXiv อาจมีสถานะลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกันได้หลายแบบ:[13]

  1. บางส่วนเป็นสมบัติสาธารณะ ซึ่งในกรณีนี้จะมีคำประกาศระบุไว้
  2. บางส่วนอนุญาตให้ใช้ได้ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ 4.0 แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน หรือสัญญาอนุญาต ครีเอทีฟคอมมอนส์ 4.0 แบบแสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน
  3. บางส่วนนั้นลิขสิทธิ์เป็นของผู้จัดพิมพ์ แต่ผู้เขียนมีสิทธิ์ในการจัดจำหน่าย และได้มอบสิทธิ์ดังกล่าวในแบบไม่ผูกขาดและเพิกถอนไม่ได้ให้แก่ arXiv เพื่อจัดจำหน่ายบทความ
  4. บทความส่วนใหญ่นั้นลิขสิทธิ์เป็นของผู้เขียน และ arXiv ได้รับสัญญาอนุญาตแบบไม่ผูกขาดและเพิกถอนไม่ได้ในการจัดจำหน่าย

ดูเพิ่มเติม

แก้

การอ้างอิง

แก้
  1. Steele, Bill (Fall 2012). "Library-managed 'arXiv' spreads scientific advances rapidly and worldwide". Ezra. Ithaca, New York: Cornell University. p. 9. OCLC 263846378. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 11, 2015. Pronounce it 'archive'. The X represents the Greek letter chi [ χ ].
  2. Ginsparg, Paul (2011). "It was twenty years ago today ...". arXiv:1108.2700 [cs.DL].
  3. "Online Scientific Repository Hits Milestone: With 500,000 Articles, arXiv Established as Vital Library Resource". News.library.cornell.edu. October 3, 2008. สืบค้นเมื่อ July 21, 2013.
  4. Vence, Tracy (December 29, 2014), "One Million Preprints and Counting: A conversation with arXiv founder Paul Ginsparg", The Scientist
  5. "Monthly Submissions". arxiv.org. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.
  6. "Reports – arXiv info". info.arxiv.org. สืบค้นเมื่อ 2023-05-16.
  7. "arXiv monthly submission rate statistics". Arxiv.org. สืบค้นเมื่อ April 3, 2021.
  8. Ginsparg, Paul (2021-08-04). "Lessons from arXiv's 30 years of information sharing". Nature Reviews Physics (ภาษาอังกฤษ). 3 (9): 602–603. doi:10.1038/s42254-021-00360-z. ISSN 2522-5820. PMC 8335983. PMID 34377944.
  9. O'Connell, Heath (2002). "Physicists Thriving with Paperless Publishing" (PDF). High Energy Physics Libraries Webzine. 6 (6): 3. arXiv:physics/0007040. Bibcode:2000physics...7040O. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-09.
  10. Feder, Toni (2021-11-08). "Joanne Cohn and the email list that led to arXiv". Physics Today (ภาษาอังกฤษ). 2021 (4): 1108a. Bibcode:2021PhT..2021d1108.. doi:10.1063/PT.6.4.20211108a.
  11. Feder, Toni (8 November 2021). "Joanne Cohn and the email list that led to arXiv". Physics Today. 2021 (4): 1108a. Bibcode:2021PhT..2021d1108.. doi:10.1063/PT.6.4.20211108a.
  12. Ginsparg, Paul (October 1, 2008). "The global-village pioneers". Physics World. สืบค้นเมื่อ October 10, 2020.
  13. "arXiv License Information". Arxiv.org. สืบค้นเมื่อ July 21, 2013.

แหล่งที่มาทั่วไปและแหล่งอ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้