องคุลิมาล (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2546)

(เปลี่ยนทางจาก Angulimala (2003 film))

องคุลิมาล (อังกฤษ: Angulimala) เป็นภาพยนตร์แนวชีวประวัติสัญชาติไทย ออกฉายในปี พ.ศ. 2546 มีเค้าโครงเรื่องมาจากชีวประวัติของพระองคุลีมาลเถระ พระเถระองค์หนึ่งแห่งพระพุทธศาสนา กำกับภาพยนตร์โดย สุเทพ ตันนิรัตน์ นำแสดงโดย ปีเตอร์ นพชัย ชัยนาม รับบท อหิงสกะ/ พระองคุลีมาล, สเตลล่า มาลูกี้ รับบท นันทา, จอห์น รัตนเวโรจน์ รับบท วิกูล , อลิสา ขจรไชยกุล รับบท นางมันตานี จอมโจรองคุลิมาล ผู้ได้รับคำสั่งจากอาจารย์ให้มาฆ่าคนและตัดนิ้วให้ครบ 1,000 คน แล้วจะบรรลุวิชาขั้นสูงสุด จนต่อมา พระพุทธเจ้า ได้เสด็จมาโปรดจนองคุลีมาลดวงตาเห็นธรรม และได้เข้ามาบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา[1]

องคุลิมาล
กำกับสุเทพ ตันนิรัตน์
เขียนบทสุเทพ ตันนิรัตน์
อำนวยการสร้างอดิเรก วัฒลีลา
นักแสดงนำปีเตอร์ นพชัย ชัยนาม
สเตลล่า มาลูกี้
ผู้จัดจำหน่ายFilm Bangkok
วันฉาย11 เมษายน ค.ศ. 2003 (2003-04-11)
ความยาว105 นาที
ประเทศประเทศไทย
ภาษาไทย

เนื้อเรื่องย่อ แก้

ณ ดินแดนชมพูทวีป เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่ผ่านมา อหิงสกะ ได้ถือกำเนิดขึ้นในวรรณะพราหมณ์ ซึ่งถือเป็นวรรณะชั้นสูงสุดของผู้มีบุญ แต่ชะตาของทารกกลับถูกสวรรค์ลิขิตไว้ว่า เมื่อเติบโตขึ้นจะกลายเป็นมหาโจร สนองคืนผู้มีคุณด้วยความตาย เพราะเชื่อในลิขิตแห่งฟ้า บิดาจึงส่งอหิงสกะไปร่ำเรียนวิชชากับสำนักทิศาปาโมกข์แห่งเมืองตักกสิลา แต่ฝ่ายมารดากลับมุ่งหวังว่า สาติพราหมณ์ ผู้เป็นเจ้าสำนักทิศาปาโมกข์ จะสามารถช่วยนำพาให้อหิงสกะหลุดพ้นไปจากปัญหาทางโลกย์ได้

สาติพราหมณ์หาได้สอนวิชชาใดๆ ให้แก่อหิงสกะไม่ เพราะตรวจชะตาล่วงรู้ว่าผู้มีคุณแก่อหิงสกะจะมีเคราะห์ เด็กน้อยจึงกลายมาเป็นคนเลี้ยงแพะจนกระทั่งเติบโตเป็นหนุ่ม ในขณะที่ศิษย์คนอื่นๆ ฝึกฝนวิชชา อหิงสกะต้องนั่งนับจำนวนแพะอยู่กลางทุ่ง หารู้ไม่ว่าการทำเช่นนั้นนานนับปีเป็นการฝึกสมาธิโดยธรรมชาติ แล้ววันหนึ่งอหิงสกะก็สามารถเข้าถึงปฐมฌานได้ด้วยตนเอง

ชีวิตของอหิงสกะที่สงบเงียบเริ่มผันแปรไปในคืนวันวิวาห์ของสาติพราหมณ์กับเจ้าสาวคนใหม่นามว่า นันทาพราหมณี สาติได้พบความลับว่าภรรยาคนใหม่นี้ ที่แท้จริงเป็นจัณฑาลจึงคิดหาทางกำจัดนันทา แต่กลับถูกอหิงสกะช่วยเหลือไว้ สาติจึงกล่าวหาว่าอหิงสกะฉุดคร่านันทาไปและประกาศให้ทุกคนทราบถึงดวงชะตาของอหิงสกะที่ถูกลิขิตไว้ว่าจะต้องเป็นมหาโจร

อหิงสกะพานันทาหลบหนีเข้าไปในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และบนยอดเขาแห่งหนึ่งเขาก็ได้พบกับพญามาร ผู้อ้างตนว่าเป็นเทพ ณ ที่แห่งนั้น พญามารเล่าว่าในโลกนี้ยังมีคนบางพวกที่ไม่นับถือบูชาเทพบนสวรรค์ ทางที่จะปลดปล่อยให้คนเหล่านี้หายจากความหลงผิดมีเพียงวิธีเดียว ซึ่งไม่เรียกว่าการฆ่า แต่เป็นการบูชายัญคนชั่ว ถ้าเมื่อใดอหิงสกะสร้างกุศลโดยการบูชายัญชีวิตคนครบ 1000คน เมื่อนั้นผลบุญที่ก่อจะทำให้เขาบรรลุธรรม หลุดพ้นจากเวรกรรมในอดีตทั้งปวง อหิงสกะเริ่มหนทางสู่การบรรลุธรรมด้วยการเข่นฆ่าพวกโจรป่าที่ดักปล้นฆ่าคนเดินทาง คนที่ลบหลู่ไม่บูชาเทพเทวดา จนสุดท้ายก็ถลำตัวไปสู่การฆ่าฟันโดยไม่เลือก เพราะเขาได้เข้าใจว่าสิ่งทั้งปวงมีแต่ความทุกข์ การที่เขาฆ่าคนจึงเป็นการปลดปล่อยคนเหล่านั้นให้พ้นทุกข์

นันทาพยายามคัดค้านมิให้อหิงสกะฆ่าคน แต่อหิงสกะมั่นใจว่าสิ่งที่ตนทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะยิ่งฆ่าคนดวงจิตของเขาก็มีพลังมากขึ้น และในช่วงนั้นเองอหิงสกะก็ได้ค้นพบความจริงเกี่ยวกับพญามารว่ามิใช่เทพดังอ้าง เขาได้ปราบพญามารลง ตั้งแต่นั้นอหิงสกะจึงหันมาบูชาแต่เพียงดวงจิตของตนเอง โดยเขาได้นำนิ้วของคนที่ถูกฆ่าตายมาร้อยเป็นพวงมาลาคล้องคอ อันเป็นที่มาของชื่อมหาโจรนาม องคุลิมาล

เมื่อใกล้จะฆ่าคนครบ 1000 คนแล้ว อหิงสกะหารู้ไม่ว่าเหยื่อรายสุดท้ายที่ตนกำลังจะปลิดชีพนั้น คือ มารดาของตนเอง และขณะที่อหิงสกะจะยิงศรไปสังหารผู้เป็นมารดานั้นก็ถูกขัดขวางโดยศัตรูคนสำคัญ นั่นคือ ศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ หรือ พระพุทธเจ้า อหิงสกะจึงวิ่งไล่ตามไปเพื่อฆ่า วิ่งไปเพื่อจะได้พบความสำเร็จที่ตนมุ่งมั่นมานานแสนนาน อหิงสกะหารู้ไม่ว่าการไล่ตามพระพุทธเจ้าในครั้งนั้น เขาได้ก้าวเข้าไปสู่หนทางที่จะนำไปสู่ความสุขสว่าง ทางที่จะทำให้เขามองเห็นความหลงผิดทั้งปวง และทางที่มารดาของเขาใฝ่ฝันให้เขาก้าวไปเพื่อบรรลุสิ่งอันประเสริฐสูงสุดของมนุษย์ นั่นก็คือ นิพพาน

นักแสดง แก้

อ้างอิง แก้

  1. Pretty spiritual, The Nation, April 4, 2003 (retrieved on January 21, 2007).

แหล่งข้อมูลอื่น แก้