ยามซากุระร่วงโรย

(เปลี่ยนทางจาก 5 Centimeters Per Second)

ยามซากุระร่วงโรย[1] (ญี่ปุ่น: 秒速5センチメートル: アチェインオブショートストリーズアバウトゼアディスタンスโรมาจิByōsoku Go Senchimētoru: a chein obu shōto sutorīzu abauto zea disutansu; อังกฤษ: 5 Centimeters Per Second: a chain of short stories about their distance) เป็นอนิเมะซึ่งมาโกโตะ ชิงไก กำกับและอำนวยการผลิต และเท็มมง (Tenmon) ประพันธ์เพลงประกอบ

ยามซากุระร่วงโรย
เบียวโซะกุ โกะ เซ็นชิเมโตะรุ
ใบประชาสัมพันธ์ในประเทศไทย
秒速5センチメートル
แนวนาฏกรรม, วีรคติ, บันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์, เสี้ยวชีวิต‎
ภาพยนตร์อนิเมะ
กำกับโดยมาโกโตะ ชิงไก
อำนวยการโดยมาโกโตะ ชิงไก
เขียนบทโดยมาโกโตะ ชิงไก
ดนตรีโดยเท็มมง (Tenmon)
สตูดิโอคอมิกซ์เวฟ (CoMix Wave)
ความยาว65 นาที
นวนิยาย
เขียนโดยมาโกโตะ ชิงไก
สำนักพิมพ์ญี่ปุ่น มีเดียแฟกเทอร์ (Media Factor)
19 พฤศจิกายน 2550
ไทย เอ บุ๊ค บาย เอจี กรุ๊ป[2]
25 มีนาคม 2554[3]
มังงะ
เขียนโดยมาโกโตะ ชิงไก
วาดภาพโดยเซเกะ ยุกิโกะ (Seike Yukiko)
สำนักพิมพ์ญี่ปุ่น โคดันชะ (Kodansha)
ไทย สยามอินเตอร์คอมิกส์
นิตยสารแอฟเทอร์นูน (Afternoon)
กลุ่มเป้าหมายเซเน็ง
วางจำหน่ายตั้งแต่มิถุนายน 2553กรกฎาคม 2554
จำนวนเล่มญี่ปุ่น 2 เล่มจบ
ไทย 2 เล่มจบ
icon สถานีย่อยการ์ตูนญี่ปุ่น

เนื้อหาว่าด้วยชายหนุ่มคนหนึ่งกับคนรักในวัยเด็กที่ต้องห่างกัน แต่แม้เวลาผ่านไปนานเท่าไร ชายหนุ่มยังฝังตัวอยู่กับคำมั่นสัญญาว่าจะครองคู่กันเมื่อโตขึ้น ขณะที่หญิงสาวละทิ้งมัน เพราะเห็นว่าเป็นความผูกพันของเด็ก และวิวาห์กับชายคนใหม่ ซึ่งเป็นตอนจบแนวที่ไม่ปรากฏมาก่อนในงานของชิงไก เพราะเปิดให้ตีความได้หลายหลาก[4]

อนิเมะเรื่องนี้สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2550[5] โดยแบ่งเป็นสามบทต่อเนื่องกัน คือ เสี้ยวดอกซากุระ (桜花抄), นักบินอวกาศ (コスモナウト; Cosmonaut) และ ห้าเซนติเมตรต่อวินาที (秒速5センチメートル; 5 Centimeters per Second) ทั้งหมดเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงกว่า

บทแรกนั้นเผยแพร่ให้ชมแบบเสียเงินผ่านเว็บไซต์ ยาฮู! ระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2550[6] จากนั้น จึงออกฉายทั้งฉบับเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ปีเดียวกัน ณ โรงภาพยนตร์ซินามาไรซ์ (Cinema Rise) แขวงชิบุยะ กรุงโตเกียว[7] และขายแบบดีวีดีตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม ปีนั้น ต่อมา จึงขายแบบนิยายเป็นเล่ม ใช้ชื่อเดียวกับอนิเมะ[8] แล้วทำเป็นมังงะ วาดภาพโดย เซเกะ ยุกิโกะ (Seike Yukiko) ลงพิมพ์ในนิตยสาร แอฟเทอร์นูน (Afternoon) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 จนจบในเดือนมิถุนายน ปีต่อมา[9]

อนิเมะเรื่องนี้ประสบความสำเร็จดีทั้งในบ้านเกิดเมืองนอนและต่างบ้านต่างเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพสดใสมลังเมลืองชวนเพ้อฝันนั้น ยังให้ชิงไกได้รับการเชิดชูว่า จะเป็นเจ้าพ่อวงการอนิเมะคนต่อไปถัดจากฮะยะโอะ มิยะซะกิ (Hayao Miyasaki)[10]

เนื้อเรื่อง แก้

เรื่องราวเกิดในประเทศญี่ปุ่น ต้นพุทธทศวรรษที่ 2530 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (ต้นพุทธทศวรรษที่ 2550) โดยหัวใจของเรื่องนั้นอยู่ที่เด็กหนุ่มชื่อ ทะกะกิ โทโนะ ทั้งนี้ พึงทราบด้วยว่า เรื่องราวในบทแรกเกิดขึ้นแต่ครั้งที่โทรศัพท์มือถือและไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ยังไม่แพร่หลาย

บทที่หนึ่ง: เสี้ยวดอกซากุระ แก้

ที่โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ทะกะกิ โทะโนะ กลายเป็นเพื่อนของ อะกะริ ชิโนะฮะระ ไม่ช้าหลังเธอย้ายมาที่นี่ เด็กทั้งสองเติบโตด้วยกันอย่างใกล้ชิดสนิทสนม เพราะสนใจและมีทัศนคติและบุคลิกลักษณะเหมือนกัน เป็นต้นว่า มักขลุกอยู่ในห้องสมุดด้วยกันมากกว่าออกไปเล่นกลางแจ้ง เพราะแพ้อากาศเหมือนกัน กับทั้งมีทะกะกิคนเดียวที่คอยปกป้องอะกะริในยามที่เธอถูกเพื่อนแกล้ง ดังนั้น ความผูกพันอันแน่นแฟ้นระหว่างคนทั้งคู่จึงทวีเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งสองเรียกขานกันด้วยชื่อตัวเปล่า ๆ ขณะที่คนทั่วไป แม้รักกันดูดดื่มเพียงไร จะถือธรรมเนียมเรียกกันโดยมีคำว่า "คุณ" () ด้วย ข้อเท็จจริงนี้ไม่ปรากฏในพากย์ภาษาต่างประเทศ ครั้งนั้น ทะกะกิและอะกะริสัญญากันว่า จะอยู่ชมดูซากุระด้วยกันตลอดไป โดยอะกะริบอกเขาว่า "ซากุระกลีบหนึ่ง ๆ ร่วงหล่นด้วยความเร็วห้าเซนติเมตรต่อวินาที"

เมื่อจบมัธยมศึกษาตอนต้น อะกะริย้ายไปเรียนต่อที่อำเภออิวะฟุเนะ จังหวัดโทะชิงิ ตามบิดามารดาที่ย้ายไปทำงานที่นั้น แต่เธอและเขายังติดต่อกันเรื่อยมาด้วยจดหมาย ครั้นทะกะกิทราบว่า ตนจำต้องย้ายรกรากไปเกาะทาเนงะชิมะ จังหวัดคะโงะชิมะ เขาก็ตัดสินใจเดินทางไปพบอะกะริด้วยตนเอง เพราะจากนี้ไปอาจอยู่ห่างไกลกันอย่างยิ่งถึงขนาดที่ไปมาหาสู่กันลำบาก เขาเขียนจดหมายฉบับหนึ่งว่าด้วยความในใจของเขาเตรียมไว้ให้อะกะริ แต่มันปลิวหายไประหว่างนั่งรถไฟชิงกันเซ็งไปหาเธอ นอกจากนี้ พายุหิมะที่ลงหนักยังทำให้ขบวนรถไฟล่าช้าหลายชั่วโมง

เมื่อพบกันแล้ว ทะกะกิและอะกะริโผเข้ากอดกันด้วยความคิดถึง และจุมพิตกันเป็นครั้งแรกใต้ต้นซากุระที่ร่วงโรยเหลือเพียงกิ่ง แล้วพากันไปหลบหิมะในเพิงข้างเคียง ทั้งคู่พูดคุยกันทั้งคืน แล้วผล็อยหลับไปในผ้าห่มผืนเดียวกัน รุ่งเช้าจึงจากกัน และสัญญากันว่าจะเขียนจดหมายหากันอีกเรื่อยไป เมื่อรถไฟเคลื่อน ใจของทะกะกิร้าวรานเพราะจดหมายลับสูญไปข้างต้น ส่วนอะกะริเองก้มมองจดหมายที่ตนเตรียมไว้ให้ทะกะกิเช่นกัน แต่ไม่ได้ให้

บทที่สอง: นักบินอวกาศ แก้

บัดนี้ ทะกะกิเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เกาะทะเนะงะชิมะ ในจังหวัดคะโงะชิมะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์อวกาศทะเนะงะชิมะด้วย ณ ที่นั้น เด็กสาวคนหนึ่งชื่อ คะนะเอะ ซุมิดะ เพื่อนร่วมชั้นของทะกะกิ หลงรักเขาตั้งแต่แรกพบ แต่ไม่กล้าสารภาพความรู้สึกของตนให้เขาทราบ จึงพยายามใช้เวลาอยู่ร่วมกันเขาให้มากที่สุด อาทิ ดักรอเขาเมื่อโรงเรียนเลิกเพื่อจะได้กลับบ้านด้วยกัน กระนั้น ดูประหนึ่งว่า ทะกะกิไม่ใส่ใจความรู้สึกของเธอ และปฏิบัติต่อเธอฉันเพื่อนที่ดีเท่านั้น

คะนะเอะสังเกตเห็นว่า ทะกะกิมักเขียนไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หาใครบางคนเสมอ หรือไม่ก็มักเหม่อลอยไปในเวิ้งฟ้าราวค้นหาใครบางคนซึ่งอยู่ไกลออกไป ต่อมาในเรื่องปรากฏว่า ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์นั้นเขาเขียนหาอะกะริ แต่ไม่ได้ส่ง เพียงแต่บันทึกเก็บไว้กับตนเท่านั้น ทั้งเขายังเฝ้าฝันหาอะกะริไม่รู้หน่ายด้วย แม้อะกะริมิได้เขียนจดหมายหาเขานานแล้ว ในที่สุด แม้คะนะเอะรักเขามากเพียงไร แต่เธอก็ปลงใจได้ว่า เขากำลังมองหาบางสิ่งบางอย่างซึ่งเหลือวิสัยที่เธอจะเป็นหรือจะให้เขาได้ และเลิกล้มความตั้งใจจะสารภาพรักต่อเขา

บทที่สาม: ห้าเซนติเมตรต่อวินาที แก้

ในปี 2551 ทะกะกิเจริญวัยขึ้นเป็นหนุ่ม และเป็นนักเขียนโปรแกรมอยู่ในกรุงโตเกียว ณ ที่ทำงานของทะกะกิ มีหญิงสาวคนหนึ่งหลงรักเขา แต่ก็ตัดใจเมื่อพบว่า แม้วันเวลาผ่านพ้นมานานเพียงไร ทะกะกิยังใฝ่ฝันถึงอะกะริไม่เสื่อมคลาย ทะกะกิคิดจมอยู่กับความคิดถึงอะกะริจนไม่เป็นอันกินอันนอนเรื่อยมา ที่สุดก็ลาออกจากงานประจำ และเดินย่ำไปบนถนนหนทางพร้อมหัวใจที่ซังกะตาย เวลานั้นเอง อะกะริเตรียมวิวาห์กับชายอื่น เธอค้นทรัพย์สมบัติเก่า ๆ และพบจดหมายที่เธอไม่ได้ให้ทะกะกิ (ในบทแรก) ทะกะกิและอะกะริหวนรำพันถึงวัยเด็กที่สัญญากันว่าจะอยู่ชมดูซากุระด้วยกันตลอดไป และนึกถึงการพบกันครั้งสุดท้ายท่ามกลางหิมะ โดยทะกะกิยังรอทำตามสัญญานั้นเสมอ ส่วนอะกะริเห็นว่าเป็นคำมั่นสัญญาของเด็ก ๆ

ต่อมา ทะกะกิและอะกะริสวนกันที่ตลิ่งทางรถไฟในกรุงโตเกียว และเฉลียวใจขึ้น ทั้งคู่หยุดอยู่ตรงข้ามกันโดยมีรถไฟเคลื่อนคั่น และเริ่มมองหันกลับมา แต่รถไฟบังสายตาทั้งสอง ทะกะกิรอจนรถไฟพ้นไป แต่พบว่าหญิงสาวคนเมื่อครู่เดินจากไปแล้ว เขาพึงระลึกได้ว่า เธอไม่ได้รอเขาอีกแล้ว ทะกะกิยิ้มด้วยความโล่งใจ และเดินต่อไป

ตัวละคร แก้

 
อะกะริ และทะกะกิ พบกันครั้งสุดท้ายใต้ต้นซากุระที่เหลือแต่กิ่งก้านในคืนพายุหิมะถาโถม
  • ทะกะกิ โทโนะ (遠野 貴樹) - เป็นตัวละคนหลักของเรื่อง ต้องย้ายบ้านบ่อยเพราะบิดามารดาเปลี่ยนที่ทำงานบ่อย เขาและอะกะริเป็นเพื่อนรู้ใจกันตั้งแต่เด็กจนมัธยมศึกษาตอนต้น แต่เมื่ออะกะริต้องโยกย้ายถิ่น ทั้งคู่ก็ลงเอยด้วยการเข้าศึกษาต่อยังสถาบันต่างกัน อนึ่ง ในบทที่สองปรากฏว่า ทะกะกิเป็นสมาชิกชมรมยิงธนูที่โรงเรียน และมีฝีมือดีด้วย
  • อะกะริ ชิโนะฮะระ 篠原 明里) - เป็นเพื่อนสนิทที่สุดของทะกะกิ และรักกับทะกะกิเมื่อทั้งคู่ยังเป็นเด็กด้วยกันอยู่ด้วย เธอและครอบครัวย้ายรกรากบ่อยครั้งเช่นเดียวกับทะกะกิ โดยเมื่อจบมัธยมศึกษาตอนต้น ครอบครัวให้เธอย้ายจากกรุงโตเกียวไปจังหวัดโทะชิงิพร้อมกัน แต่เธอขออาศัยกับป้าที่กรุงโตเกียว เพื่อจะได้อยู่กับทะกะกิต่อไป แต่ครอบครัวไม่เห็นด้วย เมื่อย้ายบ้านแล้ว เธอกับทะกะกิเขียนจดหมายหากันอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วก็เลิกราไป
  • คะนะเอะ ซุมิดะ (澄田 花苗) - เป็นเพื่อนร่วมห้องของทะกะกิเมื่อทะกะกิย้ายไปเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่จังหวัดคะโงะชิมะ เธอหลงรักทะกะกิแต่มิอาจบอกความในใจให้เขาทราบ เธอชอบเล่นโต้คลื่น และขี่รถกะเทย (moped) มาโรงเรียน พี่สาวของเธอเป็นครูที่โรงเรียนเดียวกัน และตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง เธอก็ยังค้นไม่พบว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไรหลังเรียนจบ เพียงตั้งความหวังไว้ว่าจะสารภาพรักต่อทะกะกิให้ได้ ซึ่งเธอล้มเลิกเป้าหมายนี้ไปตอนท้ายเรื่อง

นักพากย์ แก้

ตัวละคร พากย์ญี่ปุ่น พากย์อังกฤษ พากย์ไทย
ฉบับเอดีวีฟิล์ม (2550) ฉบับบันดะอิฯ (2554)
ทะกะกิ โทโนะ เค็นจิ มิซุฮะชิ (Kenji Mizuhashi) เดวิด มาแทร็งกา (David Matranga) จอห์นนี ยัง บอสช์ (Johnny Yong Bosch) ภัทรวุฒิ สมุทรนาวี
อะกะริ ชิโนะฮะระ บทที่หนึ่ง: โยะชิมิ คนโด (Yoshimi Kondō),

บทที่สาม: อะยะกะ โอะโนะอุเอ (Ayaka Onouei)

ฮิลารี แฮ็ก (Hilary Haag) บทที่หนึ่ง: เอรีกา ไวน์สไตน์ (Erika Weinstein),

บทที่สาม: ทารา แพล็ต (Tara Platt)

วิภาดา จตุยศพร
คะนะเอะ ซุมิดะ ซะโตะมิ ฮะนะมุระ (Satomi Hanamura) เซเรนา วาร์กีซ (Serena Varghese)
คีรา บักแลนด์ (Kira Buckland) อรุณี นันทิวาส

การผลิต แก้

มาโกโตะ ชิงไก กล่าวว่า อนิเมะเรื่องนี้ไม่เหมือนเรื่องก่อน ๆ ของเขา เพราะจะไร้เรื่องราวจินตนิมิต (fantasy) หรือบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ (science fiction) โดยสิ้นเชิง แต่มุ่งนำเสนอโลกจริงด้วยมุมมองต่าง ๆ ด้วยภาพมนุษย์มากหน้าหลายตาต้องดิ้นรนในชีวิต และมีปัจจัยหลายหลากคอยเปลี่ยนผันทัศนคติของเขาเหล่านั้น อาทิ เวลา, ระยะทาง, คนรอบข้าง และความรัก[11]

ชื่ออนิเมะในภาษาแม่ที่แปลว่า "ห้าเซนติเมตรต่อวินาที" นั้น มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ซากุระกลีบหนึ่ง ๆ ร่วงหล่นด้วยความเร็วห้าเซนติเมตรต่อหนึ่งวินาที อันเป็นถ้อยคำที่ตัวนางบอกแก่ตัวพระเมื่อยังเยาว์วัยอยู่ด้วยกัน ชิงไกใช้กลีบซากุระเป็นเครื่องอุปมาถึงมนุษย์ เป็นเครื่องย้ำเตือนถึงความเอื่อยเฉื่อยของชีวิต และเป็นเครื่องชี้ว่า ผู้คนพบเจอกัน ผูกสัมพันธ์กัน และค่อย ๆ ห่างเหินกันไปตามทางของตนได้ฉันใด[11]

ในการสร้างอนิเมะเรื่องนี้ ชิงไกร่วมทำงานกับศิลปินแอนิเมชันของเขาอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรกด้วย[12]

รายชื่อตอน แก้

เพลงประกอบอนิเมะ แก้

ยามซากุระร่วงโรย: เพลงประกอบอนิเมะ
 
ซาวด์แทร็กอัลบั้มโดย
วางตลาด2550
บันทึกเสียง2550
ค่ายเพลงคอมิกซ์เวฟ (CoMix Wave)

เท็มมง (Tenmon) ผู้ประพันธ์เพลงให้งานของมาโกโตะ ชิงไก เสมอมา รับหน้าที่แต่งเพลงประกอบอนิเมะ ยามซากุระร่วงโรย นี้

เขานำเพลง "วันมอร์ไทม์, วันมอร์แชนซ์" (One More Time, One More Chance) ของ ยะมะซะกิ มะซะโยะชิ (Yamazaki Masayoshi) ซึ่งวางแผงในปี 2540 มาแต่งเป็นเพลงบรรเลงสิบเอ็ดเพลงเพื่อใช้สำหรับอนิเมะเรื่องนี้ เพลงทั้งสิบเอ็ดใช้เปียโนนำ และออกจำหน่ายเป็นอัลบัมเพลงประกอบอนิเมะ ส่วน "วันมอร์ไทม์, วันมอร์แชนซ์" นั้น ใช้ปิดอนิเมะ และค่ายนะยุตะเวฟเรเคิดส์ (Nayutawave Records) ทำเป็นซิงเกิลวางแผงอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2550[13]

ลำดับชื่อเพลง
ศิลปิน
ยาว
1."โอกะโช ('เสี้ยวดอกซากุระ')
(桜花抄; 'Cherry Blossom Extracts')"
เท็มมง
4:51
2."โอะโมะอิเดะวะโทกุโนะฮิบิ ('ความทรงจำอันเลือนลางเกี่ยวกับวันเหล่านั้น')
(想い出は遠くの日々; 'Distant Memories of Those Days')"
1:41
3."โชโซ ('สุดจะอดกลั้น')
(焦燥; 'Impatience')"
1:71
4."ยุกิโนะเอะกิ ('สถานีหลบหิมะ')
(雪の駅; 'Snow Station')"
3:79
5."คิส ('จูบ')
(Kiss)"
3:13
6."คะนะเอะโนะคิโมะชิ ('ความรู้สึกของคะนะเอะ')
(力ナエの気持ち; 'Kanae's Feelings')"
1:47
7."ยุเมะ ('ฝัน')
(; 'Dream')"
1:40
8."โซะระโทะอุมิโนะชิ ('ลำนำแห่งเวิ้งฟ้าและท้องทะเล')
(空と海の詩; 'Poetry of Sky and Sea')"
2:00
9."โทะโดะกะนะอิคิโมะชิ ('ความรู้สึกที่มิอาจเข้าถึงได้')
(届かない気持ち; 'Feelings Which Cannot Be Reached')"
1:41
10."เอนด์ธีม (เพลงปิด)
(End Theme)"
2:52
11."วันมอร์ไทม์, วันมอร์แชนซ์ (ฉบับเปียโน)
(One More Time, One More Chance (Piano Ver.))"
5:00
ความยาวทั้งหมด:28:17

การตอบรับ แก้

อนิเมะเรื่องนี้ได้รางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ณ งานประกาศผลรางวัลเอเชียแปซิฟิกสกรีน (Asia Pacific Screen Awards) ปี 2550[14] และรางวัลชนะเลิศแลนเซียแพลทินัม (Lancia Platinum) สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันหรือเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม ณ เทศกาลภาพยนตร์อนาคต (Future Film Festival) เมื่อปี 2551[15]

ครั้นออกขายแล้ว ดีวีดีฉบับจำกัดของภาพยนตร์นี้อยู่อันดับที่สามตามผังโทะฮัง (Tohan charts) ระหว่างวันที่ 18-24 กรกฎาคม 2550 ส่วนดีวีดีฉบับธรรมดานั้นติดอับดับเจ็ด[16] นอกจากนี้ แบบบลูเรย์ยังได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับที่สี่ในบ้านเกิดเมืองนอนตลอดปี 2551 ด้วย[17]

รอนนี เชบ (Ronnie Scheib) จากนิตยสารวาไรอีที (Variety) ชื่นชม มาโกโตะ ชิงไก ผู้สร้างอนิเมะนี้ ว่า[10]

"ชิงไกได้รับการสดุดีว่าเป็นมิยะซะกิหมายเลขสอง เขานำเสนอโลกจินตนาการชวนฝันใฝ่ แล้วไปด้วยรายละเอียดอันกว้างขวาง และอารมณ์อันลึกซึ้ง อุปมาดังเขาบรรลุอรหัตแห่งวงการอนิเมะ หรือจะว่าถึงชั้นสูงกว่านั้นแล้วก็ได้ ชิงไกบันดาลให้พลวัตอนิเมะเสมอมีชีวิตจริงตามธรรมชาติ โดยนำหลักการสร้างภาพลักษณ์งามสดใสกลับมาใช้ ขยายรายละเอียดในฉากหลัง และบางครั้งตั้งใจสร้างให้ตัวละครมีส่วนขาดเหลือ เพื่อสะท้อนสันดานของตัวละครเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ"

เว็บไซต์ เมเนีย.คอม (Mania.com) ให้ ยามซากุระร่วงโรย เป็นอะมิเมะยอดเยี่ยมซึ่งมิใช่งานของฮะยะโอะ มิยะซะกิ[18] มาร์ก ชิลลิง (Mark Schilling) จาก เดอะเจแปนไทมส์ (The Japan Times) ว่า เขาดีกว่ามิยะซะกิ "ตรงที่สามารถถลกม่านกำบังแห่งวันเวลา เพื่อยังให้ปรากฏซึ่งความงามอันน่าขมขื่นและไม่จีรังที่เราส่วนใหญ่รับรู้ได้ต่อเมื่ออยู่ในโมงยามพิเศษเท่านั้น"[19]

แบมบู ดง (Bamboo Dong) จากเครือข่ายข่าวอนิเมะ (Anime News Network) ว่า เพลงเปียโนที่เท็มมงแต่งให้อนิเมะเรื่องนี้นั้น "เลิศเลอจนใจหวิว" ("heartbreakingly gorgeous") เพราะ "ยังให้ภาพยนตร์มีสรรพคุณชวนฝัน" ดงยังกล่าวว่า อนิเมะเรื่องดังกล่าว "มิใช่จะผลิตมาเพื่อบอกคุณว่า ตัวละครนี้เป็นเช่นไร ตัวละครนั้นรู้สึกฉันใด อนิเมะเรื่องนี้มิได้ตั้งอยู่บนเค้าเรื่องอย่างเคร่งครัด แต่ดำเนินอยู่ระหว่างปฏิสัมพันธ์ในฉาก กับภาพภูมิประเทศเดียวดายอันปรากฏขึ้นอย่างได้จังหวะ ทุกสิ่งล้วนแจ่มชัดดังคืนและวัน"[20]

ส่วนเธรอน มาร์ติน (Theron Martin) จากเครือข่ายเดียวกัน ว่า อนิเมะเรื่องนี้เป็น "ผลงานซึ่งใช้เสียงประกอบเก่ง โดยเฉพาะเสียงยิงธนูในบทที่ 2"[4] เขากล่าวด้วยว่า[4]

"เมื่อมองแยกส่วนกันแล้ว แต่ละบทให้ 'บรรณพิลาส' (vignette) ดีเยี่ยมในจุดเล็กจุดน้อย ขณะที่ในภาพรวม บททั้งหลายเหล่านี้แสดงภาพผืนใหญ่เกี่ยวกับพัฒนาการแห่งชีวิตและความรัก ตอนจบของเรื่องเปิดให้ตีความได้หลายแง่ จึงทำให้ผลงานชิ้นนี้ของชิงไกแตกต่างไปจากชิ้นอื่น ๆ ทั้งจะเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์ และยังให้บางคนที่นิยมชมชอบผลงานของเขาผิดหวังอย่างไม่ต้องสงสัย บางคนอาจรู้สึกว่าอนิเมะเรื่องนี้จบแบบยังไม่ได้ตอบโจทย์สักข้อ แต่ถ้าพิเคราะห์ถ้อยบรรยายบางส่วนในบทที่สองดู ลองพินิจดูว่าบทนั้นจบเช่นไร และว่าสรรพสิ่งลงตัวกันได้อย่างไร ก็จะพบแสงสว่างว่า ที่จริงแล้วการตอบโจทย์นั้นมิใช่ประเด็นเลย อนึ่ง แม้ [ตัวละครใน] เรื่อง เสียงเพรียกจากดวงดาว (Voices of a Distant Star) พยายามคงความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้ ส่วนในเรื่อง เหนือเมฆา...ที่แห่งสัญญาของเรา (The Place Promised in Our Early Days) ก็พยายามสานความสัมพันธ์กันใหม่ก็ตาม แต่ใน ยามซากุระร่วงโรย นี้เป็นความมุมานะจะก้าวเดินต่อไป ให้ความสัมพันธ์ในอดีตเป็นเบื้องหลัง ทิ้งวันวานไว้อย่างนั้น หาลู่ทางชื่นชีวันในปัจจุบัน ยิ่งกว่าจมปลักอยู่กับสิ่งที่พ้นมือไปแล้วตลอดกาล ฉะนั้น ในแง่นี้ ยามซากุระร่วงโรย จึงชื่อว่าเป็นงานของชิงไกที่นำเสนอความเป็นผู้ใหญ่และมีเงื่อนมีปมมากที่สุดในยามนี้"

อย่างไรก็ดี คริส เบเวอริดจ์ (Chris Beveridge) จาก เมเนีย.คอม ว่าอนิเมะเรื่องนี้แย่ตรงที่ใช้ชื่อไม่ตรงกับเรื่องเสียทีเดียว กับทั้ง "เวลาถึงจุดสำคัญ ๆ ของเรื่องแล้ว มักมีอัตราบิตต่ำขึ้น ๆ ทุกที ทำให้รู้สึกว่าภาพไม่ชัดและตะปุ่มตะป่ำมากไปหน่อย ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้สีสุกสกาวเยอะ สีพวกนี้รบกวนภาพเป็นอันมาก ทั้งยังชวนให้อารมณ์บิดเบือนไปพอ ๆ กับชื่อของภาพยนตร์เองด้วย"[21]

เรื่องอื้อฉาว แก้

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กรมประชาสัมพันธ์แห่งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับบริษัทหลันไห่เทคโนโลยี (Lanhai Technology) ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชันทางโทรทัศน์ เรื่อง ซินหลิงจือชวง (จีน: 心靈之窗; พินอิน: xīn líng zhī chuāng; อังกฤษ: Spirit's Window) ความยาวเกือบหนึ่งชั่วโมง แล้วนำออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นวิสาหกิจของรัฐบาลจีน โดยระบุว่า "รายการนี้ผลิตเพื่อเยาวชนจีน และเป็นแอนิเมชันสำหรับจะยกระดับศีลธรรมแห่งจิตใจ และปลูกฝังทัศนคติการใช้ชีวิตแบบใฝ่สูง"[22]

เพราะภาพอันสวยงามที่นำเสนอ ภาพยนตร์ดังกล่าวจึงได้รับความนิยมภายในประเทศอย่างรวดเร็ว ทั้งยังได้รับรางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยมประจำปีนั้นด้วย[22] อย่างไรก็ดี มีผู้สังเกตอย่างรวดเร็วเช่นกันว่า ภาพยนตร์นี้คัดลอกภาพจาก ยามซากุระร่วงโรย มาเป็นอันมาก แล้วตัดต่อแบบลวก ๆ เกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์จีน ก่อนจะแพร่หลายไปที่อื่น[22] ซึ่งทั้งรัฐบาลจีนและบริษัทหลันไห่เทคโนโลยีบอกปัดไม่แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้[22]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 ทีไอจีเอ (1 เมษายน 2554). "Scoop of Tiga: ยามซากุระร่วงโรย". สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2554. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. ร้านนายอินทร์ (ม.ป.ป.). (fF2OTk9yzAEkAAAANTc0Nzk0ODUtMjRkOS00ODU2LWI3ZDMtNGRmY2RhZWU2OGQwPMKch_DxNL6YXdlpDVAvf09limo1) S (ykq15c45ucpzd345vbn2p455))/ProductDetail.aspx?sku=BK116557236504301&AspxAutoDetectCookieSupport=1 "PRODUCT'S DETAIL: ยามซากุระร่วงโรย". สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2554. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help); ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  3. Animagonline.com (ม.ป.ป.). "ยามซากุระร่วงโรย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-02. สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม 2554. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 Martin, Theron (March 31, 2008). "5 Centimeters Per Second DVD". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
  5. "第20回「完成?」 - 「秒速5センチメートル」公式ブログ - Yahoo!ブログ". Blogs.yahoo.co.jp. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-29. สืบค้นเมื่อ 2010-05-24.
  6. "Yahoo! JAPAN - 秒速5センチメートル". 5cm.yahoo.co.jp. 2007-07-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-24. สืบค้นเมื่อ 2010-05-24.
  7. "Yahoo! JAPAN - 秒速5センチメートル". 5cm.yahoo.co.jp. สืบค้นเมื่อ 2010-05-24.
  8. 5 Centimeters Per Second (Japanese)
  9. "5 Centimeters Per Second Gets Manga Adaptation". Anime News Network. 2010-05-24. สืบค้นเมื่อ 2011-04-26.
  10. 10.0 10.1 Scheib, Ronnie (March 6, 2008). "Five Centimeters Per Second". Variety. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
  11. 11.0 11.1 "Director's notes" (ภาษาญี่ปุ่น). Yahoo Japan. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-07-17. สืบค้นเมื่อ 16 July 2006.
  12. Green, Scott. "AICN Anime - Latest From Anime Auteur Makoto Shinkai Picked Up For North America". Ain't It Cool News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-08. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
  13. "One more time, one more chance 『秒速5センチメートル』Special Edition 山崎まさよしのプロフィールならオリコン芸能人事典-ORICON STYLE" (ภาษาญี่ปุ่น). Oricon. สืบค้นเมื่อ 2010-07-25.
  14. "5 Centimeters Wins at Asia Pacific Screen Awards". Anime News Network. November 13, 2007. สืบค้นเมื่อ March 25, 2008.
  15. "5cm per Second Wins at Italy's Future Film Festival". Anime News Network. January 23, 2008. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
  16. "Japanese Animation DVD Ranking, July 18–July 24". Anime News Network. July 25, 2007. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
  17. "Amazon Japan Posts 2008's Top-10 DVDs, CDs, Toys". Anime News Network. December 3, 2008. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
  18. Beveridge, Chris (October 19, 2009). "10 Great Anime That Are Not Miyazaki". Mania.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-20. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
  19. Schilling, Mark (March 30, 2007). "A budding talent's delicate vision". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
  20. Dong, Bamboo (March 31, 2008). "Shelf Life - Spirits Dream Inside". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
  21. Beveridge, Chris (May 26, 2008). "Five Centimeters Per Second". Mania.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-10. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 "Chinese TV Animation Accused of Copying 5cm per Second (Updated)". Anime News Network. February 2, 2009. สืบค้นเมื่อ January 25, 2010.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้